‘โอไมครอน’ ป่วนโลกกว่า 1 เดือน มนุษย์รู้อะไรแล้วบ้าง/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

‘โอไมครอน’

ป่วนโลกกว่า 1 เดือน

มนุษย์รู้อะไรแล้วบ้าง

 

โควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” หรือ B.1.1.529 โคโรนาไวรัส SARS-Cov-2 สายพันธุ์ใหม่ที่องค์การอนามัยโลกเพิ่งบรรจุเป็น “สายพันธุ์ที่ต้องกังวล” เมื่อไม่นานมานี้ ถูกพบครั้งแรกที่ประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นับจนถึงวันนี้ก็ผ่านมากว่า 1 เดือนแล้วที่เชื้อไวรัส “โอไมครอน” เริ่มแพร่ระบาดไปได้อย่างรวดเร็ว เวลานี้แพร่กระจายไปแล้วมากกว่า 100 ประเทศ และสร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก

เที่ยวบินมากกว่า 2,000 เที่ยวบินต้องยกเลิกการเดินทาง เนื่องจากเริ่มมีเจ้าหน้าที่และลูกเรือเริ่มติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” หลายประเทศต้องหันกลับมาเพิ่มมาตรการควบคุมโรคให้เข้มข้นขึ้นอีกครั้งเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมนุษย์ก็ยังคงศึกษาโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนอย่างต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจและหาคำตอบที่จะนำไปสู่การรับมือกับการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

มีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนเกิดขึ้นมากมาย และใช้อธิบายธรรมชาติของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้อย่างต่อเนื่อง

แม้ในช่วงแรกงานวิจัยจะยังไม่ได้มีการประเมินบทความวิชาการ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างยังน้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีงานวิจัยที่มีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ที่จะช่วยตอบคำถามที่คนทั่วโลกอยากรู้

 

หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยจากมหาวิทยาลัย “อิมพีเรียล คอลเลจ” ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่พบว่าเชื้อโอไมครอนอาจทำให้คนป่วยหนักน้อยลงกว่าเชื้อสายพันธุ์เดลต้า

ทีมวิจัยใช้วิธีวิเคราะห์ผลการตรวจหาเชื้อแบบพีซีอาร์ ในอังกฤษ ระหว่างวันที่ 1-14 ธันวาคม พบว่า ผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโอไมครอนจนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลในช่วงเวลาดังกล่าว มีอัตราส่วนเพียง 20-25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยเมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ที่ติดเชื้อเดลต้าแล้ว ความเสี่ยงที่จะเข้าโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อโอไมครอนต่ำกว่าผู้ติดเชื้อเดลต้า ระหว่าง 40-45 เปอร์เซ็นต์

ผลวิจัยดังกล่าวตรงกันกับข้อมูลจากประเทศ “เดนมาร์ก” ที่พบว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าถึง 3 เท่าตัว

ขณะที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของ “สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพ” ของอังกฤษรายงานว่า ผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน มีโอกาสที่จะป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้าถึง 50-70 เปอร์เซ็นต์

ด้านสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ (เอ็นไอซีดี) ของแอฟริกาใต้ จุดกำเนิดของสายพันธุ์โอไมครอน ก็มีงานวิจัยเผยแพร่เช่นเดียวกัน โดยศึกษากลุ่มตัวอย่างที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโอไมครอนในแอฟริกาใต้ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม จนถึง 30 พฤศจิกายน พบว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลน้อยกว่าผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ ถึง 80 เปอร์เซ็นต์

และมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลเพราะติดเชื้อเดลต้า ถึง 70 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยใน “สกอตแลนด์” ซึ่งใช้วิธีการติดตามผู้ป่วย 125,500 คนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยในจำนวนนั้นมีผู้ติดเชื้อโอไมครอนอยู่ด้วย 22,205 คน โดยราวครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ติดเชื้อโอไมครอนทั้งหมด เป็นประชากรอายุต่ำกว่า 40 ปี

เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนของผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลของกลุ่มที่ติดเชื้อกลายพันธุ์อื่นและกลุ่มที่ติดเชื้อโอไมครอนแล้ว พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโอไมครอนที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมีอัตราส่วนต่ำกว่าถึง 68 เปอร์เซ็นต์

 

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า เชื้อโอไมครอนเองนั้น ทำให้อาการรุนแรงน้อยกว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากมีตัวแปรอย่างการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มประชาการที่มีเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น ในอังกฤษประชากรมากกว่าครึ่งเคยติดเชื้อโควิด-19 และอาจมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติแล้ว เช่นเดียวกับแอฟริกาใต้ที่ติดเชื้อกันไปแล้วถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่นับผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วอีกกว่า 30 เปอร์เซ็นต์

มีงานวิจัยจาก “มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์” ประเทศอังกฤษ และงานศึกษาวิจัยใน “ฮ่องกง” ให้คำอธิบายเอาไว้ด้วยว่า เชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนนั้นแบ่งตัวเร็วมากขึ้นกว่าสายพันธุ์อื่นๆ มากในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังการติดเชื้อ และนั่นก็เป็นคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมโอไมครอนจึงมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยระบุว่าหลังจากติดเชื้อและเข้าสู่เนื้อเยื่อปอดมนุษย์แล้วกลับมีการแบ่งตัวที่ช้าลง และนักวิจัยคาดว่านั่นส่งผลให้ความรุนแรงของโรคลดน้อยลงนั่นเอง

 

ในเรื่องของประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีต่อสายพันธุ์โอไมครอนนั้น งานวิจัยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงข้อมูลจากหลายๆ ประเทศบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า ภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วนั้นมีประสิทธิภาพในการต่อต้านเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนลดลงเมื่อเทียบกับการใช้ต่อต้านสายพันธุ์เดลต้า อย่างไรก็ตาม วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพดีในการป้องกันอาการรุนแรง ขณะที่การฉีดบูสเตอร์นั้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโอไมครอนได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ยังมีรายงานอาการของผู้ติดเชื้อโอไมครอนที่แตกต่างไปจากสายพันธุ์อื่นๆ ด้วย เช่น จมูกอาจจะไม่สูญเสียการได้กลิ่นเหมือนสายพันธุ์เดิมๆ ผู้ติดเชื้อมีอาการไอแห้ง ไข้สูง ปวดหลังล่าง รวมไปถึงมีอาการ “เหงื่อออกในเวลากลางคืนจำนวนมาก” แม้ห้องจะมีอากาศเย็นก็ตาม

นั่นคือข้อมูลบางส่วนที่โลกรับรู้เกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่แตกต่างออกไป และยังคงสร้างความกังวลไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอนก็คือการป้องกันตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ของมนุษย์ทุกคนบนโลกที่ยังคงต้องสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ

และแน่นอนว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังคงเป็นวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะสายพันธุ์ใดๆ ได้ดีที่สุดอยู่นั่นเอง