ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2564 - 6 มกราคม 2565 |
---|---|
เผยแพร่ |
ไทม์เอาต์/จริงตนาการ [email protected]
ห้ามแฟนบอลเข้าสนาม
แนวทางที่กลับไม่ได้-ไปไม่ถึง
หลายประเทศในยุโรปได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอก ยิ่งครั้งนี้ โอไมครอน ที่กลายพันธุ์ใหม่ ติดง่ายขึ้นกว่าเดิม ถึงแม้ว่าอาจจะไม่รุนแรงเหมือน เดลต้า แต่ก็สร้างความวิตกให้กับประชาชนอย่างมาก
ฟุตบอลลีกอาชีพก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะมีนักเตะจากหลายสโมสรติดเชื้อ โดยเฉพาะที่อังกฤษ ทีมระดับพรีเมียร์ลีกก็ยังขอเลื่อนการแข่งขันกันถ้วนหน้า ลีกรองลงมาก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทำให้เริ่มมีแนวคิดที่จะกลับมาแข่งขันแบบไม่ให้แฟนบอลเข้าชมเกมในสนามอีกครั้ง
การแข่งขันแบบปิดเคยใช้ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในยุโรปเมื่อปีที่แล้ว ถึงแม้จะลดการติดเชื้อไปได้ แต่ก็มีผลเสียกับทุกทีม เพราะไม่มีรายได้จากการขายบัตรเข้าชมเกมในสนาม ทีมในพรีเมียร์ลีกพอจะเอาตัวรอดได้ เพราะมีค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหาศาล
แต่ทีมลีกรองลงมาไม่ได้มีรายได้มากเท่านี้
ลีฮูส์ ผู้จัดการทีม ควีนส์ปาร์ก เรนเจอร์ส ทีมในลีกแชมเปี้ยนชิพ กล่าวว่า ถ้าแข่งแบบปิดจะทำให้หลายสโมสรเจอปัญหาอีก และมีการเตือนกันไว้แล้วว่าอาจจะทำให้ต้องยุบสโมสรไปเลย เพราะโรคระบาดครั้งนี้จะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าทุกอย่างจะเข้าสู่สภาวะปกติ
เอียน อีแวตต์ ผู้จัดการทีม โบลตัน ในลีกวัน ไม่ได้มองถึงเรื่องของการเงิน แต่มองว่าการที่ไม่มีแฟนบอลในสนามส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของนักเตะอย่างมาก เมื่อไม่สามารถสร้างบรรยากาศที่ควรจะเป็นได้ ไม่อยากให้กลับไปแข่งขันแบบปิดอีกแล้ว ดังนั้น จึงต้องช่วยกันประคองสถานการณ์ให้ยังแข่งขันแบบมีแฟนบอลในสนามได้ต่อไป
ไรอัน สปาร์ก ซีอีโอของ แบรดฟอร์ด ซิตี้ ทีมในลีกทู มองว่า ถ้าจะให้เตะแบบปิดควรยกเลิกฤดูกาลนี้ไปจนกว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนเข็มบูสเตอร์แล้ว
สตีฟ คาวานาจห์ ซีอีโอของ มิลวอลล์ ทีมในลีกแชมเปี้ยนชิพ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการแข่งแบบไม่ให้กองเชียร์เข้าสนาม หรือลดจำนวนผู้ชมลง ก็มีผลเสียกับสโมสรอยู่ดี ถือเป็นช่วงเวลาอันมืดมนของวงการฟุตบอล ทุกคนได้เห็นแล้วจากการตัดสินใจแข่งแบบปิดเมื่อฤดูกาลก่อน มิลวอลล์ต้องไปหากู้เงินและมีหนี้เพิ่มขึ้นอีก 8 ล้านปอนด์ที่ยังต้องหาเงินมาใช้หนี้อยู่
“อย่าปล่อยให้แค่ทีมในพรีเมียร์ลีกตัดสินใจเรื่องนี้เพียงฝ่ายเดียว เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับทีมในลีกรองลงมา มันควรจะพูดคุยกันก่อนตัดสินใจ และช่วยทีมเล็ก เพราะถ้าพรีเมียร์ลีกไม่ทำ ทีมในลีกอื่นก็จะเสี่ยงมากๆ” คาวานาจห์กล่าว
คีแรน แม็กไกวร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจฟุตบอล เปิดเผยว่า ฤดูกาลที่แล้วทีมต่างๆ ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้อย่างหนัก เพราะการห้ามแฟนบอลเข้าสนาม แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีหนี้มากขึ้น เซาธ์แฮมป์ตันก็ต้องกู้เงินเพิ่ม ต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 9 เปอร์เซ็นต์ หลายสโมสรห้ามเสริมทีมเลย ยิ่งถ้ามองในรูปแบบพีระมิด ทีมในลีกวันหรือลีกทู รอดวิกฤตที่ปิดสนามแข่งขันมาได้เพราะแผนการช่วยเหลือที่พรีเมียร์ลีกให้ทีมในลีกแชมเปี้ยนชิพ, ลีกวัน, ลีกทู กู้เงินมาประคองสโมสรได้
สถานการณ์ของฟุตบอลอาชีพในอังกฤษตอนนี้ถือว่ากลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะหยุดเตะไม่ได้ เพราะกระทบต่อโปรแกรมในภาพรวม ปิดสนามแข่งก็ไม่ได้ เพราะหลายทีมจะสูญเสียรายได้ แต่เมื่อเตะต่อไป ก็มีหลายทีมที่ไม่พร้อม เพราะนักเตะและสตาฟฟ์โค้ชติดเชื้อโควิดหลายคน เมื่อเป็นแบบนี้ นักเตะหลายคนก็ออกมาติงว่า ไม่เห็นจะมีใครใส่ใจสวัสดิภาพและสุขภาพของนักเตะ มีแต่มองถึงเรื่องผลประโยชน์มาก่อนทั้งนั้น
ไม่ว่าจะตัดสินใจแบบไหน ก็มีข้อเสียมากมายอยู่ดี