‘พยัคฆ์’ ตกหลัง ‘เสือ’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘พยัคฆ์’

ตกหลัง ‘เสือ’

 

ปี2565 เป็นปีเสือ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายทหารจากกลุ่ม “บูรพาพยัคฆ์” ที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจจากการรัฐประหาร 2557 แล้วสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน

กำลังถูกจับตาว่า “พยัคฆ์ขี่หลังเสือ” จะมีชะตากรรมอย่างไร

จะเป็น “พยัคฆ์ตกหลังเสือ” หรือไม่

ซึ่งเรื่องของอนาคต คงมิอาจบอกได้ชัดๆ ว่าจะเป็นอย่างไร

แต่อดีตหมาดๆ อย่างปี 2564 ที่ผ่านมา

ก็น่าจะป็นสิ่งชี้ปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี

 

ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทำงานใกล้ชิดผู้นำประเทศ ตั้งฉายารัฐบาลและรัฐมนตรีประจำปี 2564 โดยตั้งฉายา พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “ชำรุดยุทธ์โทรม”

ให้ภาพสะท้อนถึงสิ่งที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี

ซึ่งหากเป็นเช่นนี้

อนาคตในปี 2565 การบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่ราบรื่นนัก

ไม่ราบรื่นดังที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงสาธารณะ “สรุปวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา มองอนาคตการเมืองไทยไปอย่างไรต่อปีหน้า” ในห้วงสัปดาห์ของปี 2564

โดยมีตัวแทนในกลุ่มภาคประชาชน “ชุดใหญ่” เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

อาทิ นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่ปรึกษา ครป. นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ที่ปรึกษา ครป. นักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธาน ครป. ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล รองประธาน ครป. ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ กรรมการ ครป. เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) นายสาวิทย์ แก้วหวาน กรรมการ ครป. อดีตเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

และนายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. (เฟซบุ๊ก : คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย https://www.facebook.com/147200658631637/posts/4952763641408624/)

 

พวกเขาแสดง 10 จุดบอดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นเหตุผลสำคัญว่าทำไมจึงไม่ควรบริหารประเทศได้ต่อไป คือ

1. ล้มเหลวในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปตำรวจ

2. ล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ-การเมือง ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เปิดกว้าง

3. ล้มเหลวในการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ

4. ล้มเหลวในการยึดหลักการสิทธิมนุษยชน มีการผลักดันกลับผู้อพยพลี้ภัยทางการเมือง อย่างไม่ไยดี

5. ล้มเหลวในกิจการต่างประเทศ ทั้งคบคิดกับเผด็จการทหารของพม่า ท่าทีต่อการประชุม COP 26 ท่าทีต่อการร่วมประชุมผู้นำทางการเมืองระดับสูง ว่าด้วยการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (HLPF@SDG 2030 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564) และต่อที่ประชุม UPR คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council เมื่อเดือนตุลาคม 2564)

6. ล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เอื้ออำนวยให้บรรษัททุนขนาดใหญ่มีการควบรวมกิจการ ทั้งด้านโทรคมนาคม ด้านการอุปโภคบริโภค ฯลฯ นำมาซึ่งการผูกขาด และคุกคามสิทธิของประชาชนอย่างรุนแรง

7. ล้มเหลวในการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ของสังคม มีการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อควบคุมองค์การพัฒนาเอกชน องค์การสาธารณประโยชน์ องค์การไม่แสวงหาผลกำไร

8. ล้มเหลวในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ใช้ท่าทีที่แข็งกร้าวรุนแรงในการจัดการปัญหาที่ละเอียดอ่อน สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในสังคม ฟ้องร้องคดี เพื่อปิดปากเยาวชนประชาชนผู้เห็นต่างจำนวนมาก

9. ล้มเหลวในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเฉพาะการเผชิญหน้ากับเยาวชนคนรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติ

10. ล้มเหลวในการสร้างธรรมาภิบาล และไม่ยึดถือหลักนิติธรรมในการบริหารประเทศ มีการตรวจสอบกลุ่มองค์กรที่เห็นต่างจากรัฐบาล

 

นอกจากปัญหาในเชิงการบริหารข้างต้นแล้ว

รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่ปรึกษา ครป. ยังมองในแง่มุมการเมืองอีกว่า

แม้รัฐบาลพยายามจะรักษาอำนาจให้ครบวาระ

แต่ที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์หมดคุณค่าและไม่สามารถเป็นเสาหลักของชนชั้นนำได้อีกแล้ว

เพราะการสำรวจของนิด้าโพลเมื่อต้นปีที่ผ่านมาความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จาก 29% ปัจจุบันอยู่แค่ 19% ซึ่งเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด

ความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐเองที่แข่งขันกันอย่างรุนแรงเพื่อคุมการนำภายในพรรคได้ ซึ่งแสดงให้เห็นการเล่นเกมอำนาจท่ามกลางความขัดแย้งและระส่ำระสายภายใน

นอกจากนั้น ปรากฏการณ์สภาล่มที่ล้มครั้งแล้วครั้งเล่า สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอในการกำกับ ส.ส.ในสังกัดของตนเอง แสดงว่าพลังของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประยุทธ์ และ 3 ป.อ่อนล้าลงทุกขณะ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคฝ่ายค้านในปีหน้า รัฐบาลจะเอาอยู่หรือไม่

นอกจากนั้น ยังมีเรื่อง พ.ร.บ.งบประมาณด้วย ที่อำนาจอยู่ที่ ส.ส.

รวมถึงข้อเสนอปลดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ออกไปล้วนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การสืบทอดอำนาจหมดลง แต่รัฐบาล 3 ป.จะยินยอมหรือไม่ เพราะจะเป็นจุดจบของตนเอง

“ชนชั้นนำควรจะตระหนักว่าสติปัญญาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานในการสร้างการยอมรับทางสังคมและจะสร้างความอับอายให้ชนชั้นนำเอง” นายพิชายระบุ

 

ซึ่งในแง่มุมทางการเมืองนี้ ถูกตอกย้ำโดยพรรคเพื่อไทย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกว่าการเมืองปี 2565 เสถียรภาพของรัฐบาลง่อนแง่นมาก

ด้วยปัจจัยดังนี้

ปัจจัยที่ 1 องค์ประชุมของสภาล่มหลายครั้ง เสถียรภาพรัฐบาลมีโอกาสที่จะแปรเปลี่ยน เพราะถ้ามีกฎหมายสำคัญเข้าสภา โอกาสที่จะไม่ผ่านสภาสูง

ปัจจัยที่ 2 วิกฤตต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามารุนแรงมาก ไม่ว่าจะวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิดเชื้อโอไมครอน ที่จะกระทบและขยายวงกว้าง

ปัจจัยที่ 3 บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 185 และมาตรา 264 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปีได้ และรัฐธรรมปี 2560 ก็เขียนชัดเจนในบทเฉพาะกาลในมาตรา 264 ดังนั้น ถ้าตีตามตัวบทกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์จะต้องหมดวาระลงในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 แต่ถ้าไม่ยินยอมก็ต้องอาศัยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หากวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ขาดคุณสมบัติก็ต้องหลุดจากตำแหน่ง ครม.ทั้งคณะก็ต้องหลุด

ปัจจัยที่ 4 วันที่ 31 มกราคม 2565 จะมีคำตัดสินชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ คดีเหมืองทองอัครา ฟ้องราชอาณาจักรไทย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปิดเหมือง หากถ้าประเทศไทยแพ้ก็ต้องรับผิดชอบตามคำร้อง จะกลายเป็นวิกฤตทันที

ปัจจัยที่ 5 เรื่องสิทธิเสรีภาพ รัฐบาลถูกมองว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างมาก

 

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทยยังออกแถลงการณ์ “ก้าวข้ามฝันร้ายและคราบน้ำตา 2564 สู่ความหวังและชีวิตใหม่ 2565”

โดยระบุถึงความล้มเหลวผิดพลาดซ้ำซากของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ตลอดปี 2564 ทำให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ภายใต้วิกฤตที่หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์

การประเมินสถานการณ์โรคโควิด-19 ผิดพลาด นำมาซึ่งการบริหารจัดการที่ล้มเหลว จนโรคแพร่ระบาดขยายวงกว้าง ระบบสาธารณสุขประเทศล่มสลาย

อีกทั้งยังยกระดับวิกฤตสุขภาพสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ประชาชนต้องตกงาน ขาดรายได้ สิ้นเนื้อประดาตัว อดอยาก

ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ ที่ผ่านมารัฐบาลผลาญงบประมาณแผ่นดินมหาศาลไปกับการเยียวยาฟื้นฟูที่ไม่มีประสิทธิภาพ

เงินกู้มหาศาลถูกใช้จ่ายไปอย่างไร้ค่า ทิ้งไว้เพียงภาระหนี้สินประเทศชาติและประชาชน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังคลั่งอำนาจ ตลอดปี 2564 มีการใช้อำนาจและกฎหมายที่บิดเบือน กลั่นแกล้ง คุกคามประชาชน นิสิต นักศึกษา ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างรุนแรง

รัฐบาลประยุทธ์มองประชาชนเป็นปฏิปักษ์และภัยต่อความมั่นคงที่รัฐจะต้องกำจัด

 

การมีจุดยืนมองประชาชนเป็นปฏิปักษ์นี้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564

มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปไม่น้อยกว่า 1,747 ราย คิดเป็นจำนวน 980 คดี

สิ้นสุดไปแล้ว 150 คดี 830 คดีอยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่างๆ

3 ข้อกล่าวหาสำคัญ ที่ถูกนำมาใช้กล่าวหาต่อผู้แสดงออกทางการเมือง คือ

ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

โดยแกนนำนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญๆ เผชิญข้อกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึง 25 ธันวาคม 2564 มากมาย อาทิ

“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 43 คดี

“ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก 30 คดี

อานนท์ นำภา 24 คดี

“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 24 คดี

“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา 19 คดี

เบนจา อะปัญ 19 คดี

ทั้งหมดไม่ได้ประกันตัว

ถือเป็นการใช้อำนาจรัฐแบบ “นิติสงคราม” ต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

นำไปสู่คำถามต่อรัฐบาลอย่างหนักว่าเป็นธรรมและเหมาะสมหรือไม่

 

เพราะเหตุนี้จึงมีคำถามถาโถมเข้าใส่ พล.อ.ประยุทธ์แห่งบูรพาพยัคฆ์ ที่ตอนนี้ประหนึ่ง “ขี่หลังเสือ”

และกำลังควบขี่ต่อไปในปี 2565 ท่ามกลางมรสุมรอบด้านทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจ สังคม การเมือง

ว่าจะสามารถประคับประคองตัวเองให้นั่งบนหลังเสือต่อไปได้หรือไม่

หรือจะมีเหตุที่ทำให้ “ตก” จากหลังเสือ

แน่นอน หากเป็นการ “ตก” ที่ไม่ใช่การพยายามประคองตัวลงจากหลังเสืออย่างนุ่มนวล

โอกาสที่นายทหารบูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะ “เจ็บตัว” หรือจบไม่สวย ในปีเสือ 2565 นี้ก็ได้!