ฟื้นศรัทธา ‘นักการเมือง’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ฟื้นศรัทธา ‘นักการเมือง’

 

ความหมดอาลัยตายอยากกับการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้ในความรู้สึกของคนทั่วไป เชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่าสรุปออกมาแบบไหน

รูปธรรมที่ชัดสะท้อนจาก “ฉายา” ที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งให้

ฉายาของรัฐบาล คือ “ยื้อยุทธ์” ที่มีคำอธิบายว่า “รัฐบาลที่ยื้อแย่งกันเองทั้งในส่วนของอำนาจและตำแหน่ง โดยไม่สนใจประชาชน และการเดินหน้าประเทศถูกมองว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม และมองการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะผู้นำรัฐบาล จะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงต้องทำทุกอย่างเพื่อยื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อไป ไม่ว่าจะมีการชุมนุมขับไล่ไสส่งอย่างไร ใครไม่อยู่ แต่ พล.อ.ประยุทธ์อยู่”

ขณะที่ฉายาของนายกรัฐมนตรีคือ “ชำรุดยุทธ์โทรม” ที่มีคำอธิบายว่า “การบริหารราชการแผ่นดินตลอดทั้งปีที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ถือได้ว่าเป็นผู้ที่รับบทหนักที่สุดแห่งปี ถูกมองว่าล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริหารราชการ หรือแม้แต่เรื่องทางการเมือง ถูกโจมตีรอบด้าน แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะยังอยู่ในตำแหน่งได้ แต่ก็ทรุดโทรม เสื่อมสภาพไม่ว่าจะเป็นทางร่างกายหรือจิตใจ”

สภาพแบบนี้หากเป็นการเมืองปกติ มองไม่เห็นเหตุผลเลยว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อไปได้อย่างไร แต่อย่างว่า การดีไซน์โครงสร้างอำนาจโดยเอาเครื่องมือสืบทอดอำนาจไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่เพียงประเทศชาติและประชาชนจะต้องทนอยู่กับการบริหารจัดการที่พิกลพิการเท่านั้น

ที่หนักกว่าคือ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ถูกทำลายเยินจนแทบไม่เป็นความหวังว่าจะช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยดูดีขึ้นในการเมืองแบบไทยๆ

ด้วยเหตุนี้เอง ทั้งที่ความเอือมระอาต่อการบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจของผู้คนมากมาย แต่เมื่อตั้งคำถามกันว่าแล้วจะไปทางไหน กลับแทบไม่มีคำตอบ

 

อย่างที่ “นิดาโพล” ล่าสุดสำรวจ “คะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ 4/2564”

ในคำถามที่ว่า “วันนี้ท่านสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี” ร้อยละ 36.61 ตอบว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ คำตอบนี้เพิ่มจากร้อยละ 32.61 เมื่อไตรมาส 3

ที่ตอบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีร้อยละ 16.93 ลดลงจากครั้งที่แล้วที่ได้ 17.57

น่าสนใจ เพราะหลังจากเปิดตัวเข้าสู่สนามการเมือง “น.ส.แพรทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร” ขึ้นมาอยู่อันดับ 3 เลย

โดยมี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ไปอยู่อันดับ 4 จากร้อยละ 11.15 เหลือร้อยละ 5.51

ตามด้วย “พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส” ร้อยละ 4.07, “นายกรณ์ จาติกวณิช” ร้อยละ 2.36, “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ร้อยละ 2.24, “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” ร้อยละ 1.84

อีกร้อยละ 4.11 เป็นหัวหน้าพรรค และคนอื่นๆ ร่วมกัน

ผลสำรวจนี้หากจะตีความว่า ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังไม่มีนายกรัฐมนตรีอย่างที่หวังไว้ก็คงไม่ผิด

เมื่อการเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ การนำพาชีวิตประชาชนไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

แต่ด้วยโครงสร้าง และปฏิบัติการของชนชั้นผู้กุมกลไกอำนาจ จัดการเสียจนประชาชนแทบไม่เหลือศรัทธาที่มีต่อนักการเมือง

ขณะที่การพัฒนาประเทศหากจะประสบความสำเร็จต้องอาศัยแรงพลังที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน

และความร่วมมือจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความเชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อนักการเมือง