ยื้อยุทธ์ทรุดโทรม/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ยื้อยุทธ์ทรุดโทรม

 

ในห้วงเวลาแห่งความหวังและความสุขกับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ “โอไมครอน” เขย่าโลกดับฝันผู้คนอีกครั้ง

แม้แต่รัฐบาลไทยที่บริหารจัดการสถานการณ์ผิดพลาดมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า คราวนี้ก็ยังต้องรีบ “กลับหลังหัน” เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตจากโควิดกระจอก

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพิ่งจะแถลงว่านายกรัฐมนตรีมีนโยบายพลิกโฉมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกันจริงจังตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนเป็นต้นไป ทั้งยังตั้งเป้าให้เน้นตลาดยุโรป อเมริกา พร้อมกับจะเพิ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศที่เสี่ยงต่ำให้มากขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

จากนั้นเตรียมเปิดประเทศเต็มรูปแบบหวังจะฉุดเศรษฐกิจให้ขึ้นจากก้นเหวตั้งแต่ 1 มกราคม 2565

มีความหมายในทางการเมืองคือ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา อยากจะถูไถลากยาวไปให้ถึงสิ้นวาระในปี 2566

แต่เพียงแค่ยี่สิบกว่าวันต่อมาเท่านั้น ลิ้นก็พลิก หัวคะมำ และเท้าแพลง !

โอมายก๊อด-โอไมครอน !!

 

ยังไม่ทันได้เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาส เพียงสัปดาห์เดียวก่อนเข้าสู่ปี 2565 รัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่อาจสัประยุทธ์กับโอไมครอนเสียแล้ว จำต้องพลิกแผน ยกเลิกงานรื่นเริงสังสรรค์ทั้งหมด

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดชนิดโอไมครอนเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่า “จุดเริ่มต้น” มาจากนักเดินทางต่างประเทศโดยเฉพาะจากโซนยุโรป

มีความเป็นไปได้ว่า ในไตรมาสแรกของปี 2565 สถานการณ์โควิดอาจจะเข้าสู่ภาวะคับขันอีกครั้ง

ส่งสัญญาณในทางการเมืองว่า รัฐบาลประยุทธ์จะยื้อยุดลากยาวออกไปด้วยความยากลำบาก

จะว่าไปแล้ว รัฐบาลนี้ไม่ได้มีฝีไม้ลายมือในการบริหารจัดการวิกฤตเลยด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิดระบาด ฝุ่นละออง ภัยแล้ง น้ำท่วม การจราจร

ยังไม่ต้องไปนับปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สลับซับซ้อน

ความเชื่อถือที่มีต่อรัฐบาลจึงลดต่ำลงมาตลอด

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 นางสาวไตรศุลี รองโฆษกรัฐบาลคนเดียวกันนี้ก็เคยแถลงเอาไว้ว่า สถานการณ์ระบาดของโควิดอยู่ในเกณฑ์ที่รัฐบาลควบคุมได้ดี จึงมีนโยบายเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวราว 10 ล้านคนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564

ที่จริงการมีแผนที่เดินทางและมีเป้าหมายนับเป็นเรื่องที่ควรและดี แต่ “แผนที่” กับ “เป้าหมาย” ต้องมิใช่การละเมอเพ้อพก หากแต่ต้องมีที่มาจากข้อมูลสถิติที่เชื่อถือได้และได้ประมวลอย่างสอดประสานเข้ากับความรู้ประสบการณ์กับจินตนาการจนออกมาเป็นแผนงานและแนวทางดำเนินงาน

 

“ประยุทธ์” เคยละเมอตั้งแต่เมื่อกลางเดือนมิถุนายน 2564 ว่าจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน แต่พลันที่สิ้นเสียงประกาศนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในประเทศก็เพิ่มทวีคูณเป็นประวัติการณ์

ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจาก “ปีละ 3 พันกว่าคน” เป็น “วันละ 1 หมื่นกว่าคน”

สถิติคนตายจากปีละ 60 คน เพิ่มขึ้นเป็นวันละกว่า 200 คน

แผนเพ้อๆ ไม่อาจนำไปสู่เป้าประสงค์

ทุกคนสามารถวิเคราะห์ได้ว่า แผนเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือราวกลางเดือนตุลาคม 2564 ของประยุทธ์นั้น “ไม่อาจเป็นจริง” !

และเมื่อถึงเวลา “ไตรศุลี” ก็รับบัญชาจากนายกฯ ให้แถลงใหม่อีกคราว่า “วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นจุดเริ่มต้น” เปิดประเทศ ตั้งเป้าจะรับนักท่องเที่ยวให้ได้ 10 ล้านคน

การเปิดประเทศเท่ากับต่อลมหายใจให้เศรษฐกิจและอายุของรัฐบาลประยุทธ์ให้ได้ผ่านพ้นปี 2565 ไป เพื่อล่วงสู่ปี 2566 จะได้สิ้นสุดตามวาระ

 

ถึงแม้ในปี 2565 นี้ “ประยุทธ์” จะต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญที่พวกเดียวกันเขียนเอาไว้ว่า “บุคคลจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 8 ปี” ประยุทธ์ก็ดูจะยังมั่นใจว่า “มีทางดิ้น”

หรือว่า ประยุทธ์จะมิใช่ประยุทธ์ !?

หรือว่า ประยุทธ์ซึ่งก่อการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2557 กับประยุทธ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นมา จะต้อง “ตีความ” ว่าเป็นคนละประยุทธ์กัน

ถึงแม้ประยุทธ์แรก กับประยุทธ์หลัง จะมีชื่อสกุลว่า “จันทร์โอชา” เช่นเดียวกัน แต่ “ประยุทธ์แรก” นั้นเป็นผู้นำจากกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ฉีกรัฐธรรมนูญ และล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ส่วน “ประยุทธ์หลัง” นั้นเป็นประยุทธ์ที่ผุดงอกจากรัฐสภาที่ “ประยุทธ์แรก” แต่งตั้ง ส.ว. 250 คนเอาไว้ให้ แล้วทุกท่านก็พร้อมเพรียงกันยกมือเลือก “ประยุทธ์” ขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี”

ถ้าประยุทธ์แรก กับประยุทธ์หลัง เป็นคนละคนกัน “บุคคลนี้-ประยุทธ์หลัง” ก็ยังเป็น “นายกรัฐมนตรี”ไม่เกิน 8 ปีเป็นแน่แท้

ประยุทธ์หลังจึงยังคงมีความหวัง

 

การตั้งฉายาของผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลที่ว่ารัฐบาลยื้อยุทธ์หรือ “ชำรุดยุทธ์โทรม” แม้จะแค่ถากๆ พอถลอกๆ อย่างมีน้ำใจ แต่ก็พอจะสะท้อนสังคมได้รู้เท่ารู้ทัน

บนเส้นทางอำนาจการเมืองที่ช่วงชิงมาตั้งแต่พฤษภาคม 2557 ประยุทธ์กับพวกลิดรอนเสี้ยนหนามเหี้ยนเตียนสิ้น ถึงวันนี้ จะต้อง “ทน” หากผลีผลามกระโดดหนีจะตกอยู่ในสภาพคนขี่เสือตามสำนวนโบราณ – อันตรายอย่างยิ่งเมื่อคิดจะลงจากหลังเสือ

เรื่องราววิกฤตต่างๆ ทั้งจากการระบาดของโควิดระลอกแล้วระลอกเล่า ปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าหนักหน่วง คนตกงานเพิ่มขึ้น คนจนเพิ่มขึ้น สังคมเสื่อมโทรม ปัญหาจากระบบการศึกษา ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายที่อยุติธรรมล้วนแต่กระจ้อยร่อย

ที่ประยุทธ์ผู้ยื้อยุดใส่ใจจริงจังก็คือการดำรงอยู่อย่างมั่นคงยั่งยืนของรัฐบาลคณะ 3 ป.กับพวกพ้องบริวาร

ไม่มีแล้วบทเพลง ขอเวลาอีกไม่นาน…

อยากจะอยู่ให้ยาวนานเคียงข้างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไปไม่มีเสื่อมคลาย !?!!