อาเซียน 2022 : อีเวนต์คึกคะนอง หรือปั่นป่วน/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
(L to R) Malaysia's Prime Minister Mahathir Mohamad, Myanmar State Counsellor Aung San Suu Kyi, Philippine President Rodrigo Duterte, Vietnam's Prime Minister Nguyen Xuan Phuc, Chinese Premier Li Keqiang, Singapore's Prime Minister Lee Hsien Loong, Thai Prime Minister Prayut Chan-O-Cha, Brunei Sultan Hassanal Bolkiah, Cambodian Prime Minister Hun Sen, Indonesia's President Joko Widodo and Laos Prime Minister Thongloun Sisoulith pose for a group photo before the start of the ASEAN-China summit on the sidelines of the 33rd Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) summit in Singapore on November 14, 2018. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

อาเซียน 2022

: อีเวนต์คึกคะนอง หรือปั่นป่วน

 

อาเซียนก้าวเข้าสู่ 2022 ด้วยเรื่องใหญ่ที่น่ายินดี ปีใหม่นี้ อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพการประชุม G 20 ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน ส่วนความตกลง Regional Cooperation on Economic Partnership-RCEP จะเริ่มดำเนินการ

เท่ากับว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นภูมิภาค เป็นเวทีและเป็นแพลตฟอร์มการประชุมสำคัญของโลกที่มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมน่าจะทั่วทุกมุมโลก

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นเวทีของการเจรจาเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและใช้เจรจาการเมืองของชาติต่างๆ ประเทศผู้จัดประชุมย่อมสร้างความประทับใจต่อผู้มาเยือน ผู้จัดย่อมได้รับเกียรติ

แต่หากเวทีการประชุมทำได้เพียงอีเวนต์ที่มีสีสัน ย่อมไม่ต่างจากโรงละคร โรงลิเก พาให้สนุกสนาน เพื่อลืมความจริงแห่งการแข่งขัน ผลประโยชน์ ความรัก/ความชัง อันเป็นความจริงแห่งการเมืองโลก

ผมมีข้อสังเกตที่ไม่ใช่ความกังวลและมองโลกร้ายเกินจริงต่ออาเซียน 2022

 

ความจริงพื้นฐานของภูมิภาค

แน่นอน การประชุม APEC เป็นการประชุมที่มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าทีเดียว ชาติต่างๆ เห็นความสำคัญของการประชุมนี้ และมีประเทศที่เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง โดยเฉพาะชาติมหาอำนาจจากภูมิภาคสำคัญในเอเชียแปซิฟิก แต่ผลการประชุมเป็นแค่การปราศรัย

ตรงกันข้ามกับ RECP นับเป็นความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะเรียกว่าน้องใหม่ก็ได้ เพราะจะมีการดำเนินการจริงๆ ปี 2022 นี่เอง ส่วนจำนวนประเทศที่เป็นพาร์ตเนอร์ก็มีไม่มาก

น่าสนใจว่า APEC ส่วน Comprehensive and Progressive Agreement Tran-Pacific partnership-CPTPP เป็นข้อตกลงเสรีทางการค้า (Free trade Area-FTA) ที่มีออสเตรเลียเป็นแกนนำ มีญี่ปุ่นและชาติต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสมาชิก ความตกลงทั้งสองนี้ ในความเป็นจริง ผลักดันและนำโดยชาติตะวันตกและค่ายที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ทั้ง APEC นำโดยสหรัฐอเมริกา ส่วน CPTPP นำโดยออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ลาออก แต่ต่อมาประธานาธิบดีโจ ไบเดน กลับเข้ามาเป็นสมาชิกอีกครั้ง ความตกลงทางการค้าเหล่านี้ จีนแทบไม่มีบทบาท ยิ่งจีนก็ไม่ได้เป็นสมาชิก

ดังนั้น จีนจะยิ่งผลักดันและเคลื่อนไหวอย่างสำคัญในปี 2022 โดยผลักดันผ่านความตกลงทางการค้าที่จีนก่อตั้งเองคือ RECP

ที่น่าสนใจมาก ยุทธศาสตร์ใหญ่ของจีนที่ไม่ได้เป็นแค่ความตกลงทางการค้าและการจัดประชุมด้านเศรษฐกิจคือ ข้อริเริ่ม หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative-BRI) ซึ่งจีนเป็นทั้งเจ้าของ (ผู้ก่อตั้ง) เจ้าของทุน (เงินทุน เทคโนโลกยีก่อสร้าง แรงงาน อื่นๆ) บริหารโครงการและรับประโยชน์โดยตรงจากยุทธศาสตร์นี้ด้วย

ดังนั้น ปี 2022 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเฉลิมฉลอง APEC และ CPTTP อย่างไรก็ตาม จีนก็จะเฝ้ามองอย่างตาไม่กะพริบว่า การเคลื่อนไหวของชาติตะวันตกและชาติเอเชียไปในทิศทางไหน แล้วจีนได้อะไรบ้าง

 

อาเซียนท่ามกลางการแข่งขัน

แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธการประชุมสำคัญในระดับโลกและภูมิภาคที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่มีอย่างน้อย 2 สิ่งที่เราควรตีประเด็นให้แตกก่อนคือ

ประการแรก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในทางเศรษฐกิจการเมืองโลกเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่อุดมไปด้วยการแข่งขันระหว่างพลังภายนอกโดยเฉพาะ ชาติอภิมหาอำนาจคือ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่นและรัสเซีย ในเวลาเดียวกัน ยังมีความร่วมมือและแข่งขันไปพร้อมๆ กันของชาติต่างๆ ในภูมิภาค การร่วมมือและแข่งขันที่เกิดจากฐานประวัติศาสตร์ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ พลังอำนาจแห่งชาติทั้งทางเศรษฐกิจ การเมืองและการทหาร

อาจมองในแง่ดีได้ว่า การแข่งขันต่างๆ เป็นพลังขับเคลื่อนหรือ drive พลวัตของภูมิภาค ดังนั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงยังมีพลังที่ดึงดูดชาติต่างๆ ทั่วโลก มากกว่าภูมิภาคที่เริ่มเสื่อมถอยและหมดพลังกลายเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์

ประการที่สอง อาเซียนเป็นแพลตฟอร์มทางการทูตที่สำคัญและมีพลังมาก ดังนั้น จึงควรพิจารณาถึงสาระและแก่นแท้ที่ขับเคลื่อนอาเซียนอยู่จริงๆ ด้วย แกนกลางที่น่าจะท้าทายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบทบาทอาเซียนน่าจะมีอะไรบ้าง

 

ดังพอสรุปคือ

ประธานอาเซียนคนใหม่ กัมพูชา

อาจกล่าวได้ว่า ประธานอาเซียนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสำคัญตามความสำคัญของอาเซียน ด้วยการริเริ่มการโน้มน้าวและกดดันของประธานอาเซียนมีผลต่อการตัดสินใจสำคัญของอาเซียน แล้วที่ผ่านมา อาเซียนกำลังเผชิญกับปัญหาการรัฐประหารเมียนมา ซึ่งกระทบต่อปัญหาภายในและต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างน่าสนใจ

กล่าวอย่างสรุป การรัฐประหารเมียนมาเมื่อกุมภาพันธ์ 2021 ก่อให้เกิดการต่อต้านจากหลากหลายฝ่ายภายในประเทศที่ต่อต้านการรัฐประหารของทหาร แล้วล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งที่นำโดยนางออง ซาน ซูจี ที่สำคัญนานาชาติต่างไม่ยอมรับและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารของทหารเมียนมา นานาชาติต่างเรียกร้องให้ทหารเมียนมาคืนอำนาจให้กับรัฐบาลของออง ซาน ซูจี ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและยุติการปราบปรามประชาชน ผู้ประท้วง

อาจมองในแง่ดีก็ได้ รัฐประหารเมียนมาพิสูจน์จุดยืนตรงกลาง (Centrality) ของอาเซียนครั้งสำคัญ เกือบทุกประเทศไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเมียนมาและการปราบปรามประชาชน

ประธานอาเซียน บรูไน แสดงบทบาทกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้เข้าร่วมประชุมอาเซียนครั้งต่างๆ เพราะรัฐบาลทหารเมียนมาปฏิเสธการปฏิบัติตามเงื่อนไข 5 ประการที่สัญญาจะปฏิบัติตามเพื่อคลี่คลายความขัดแย้งจากรัฐประหารในเมียนมา

บรูไน สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ร่วมกันกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ให้เข้าร่วมประชุมอาเซียน

บรูไนในฐานะประธานอาเซียน ไม่เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย หัวหน้าคณะรัฐประหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมอาเซียน และการประชุมครบรอบ 30 ปีจีน-อาเซียน แม้บทบาทประธานอาเซียนเยี่ยงบรูไนและการสนับสนุนของสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์จะเป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และถูกวิจารณ์ว่าสร้างความแตกแยกและไม่เป็นเอกภาพของอาเซียน แต่กลับเป็นการกระทำที่สะท้อนความเป็นจริงในอาเซียน เป็นการตัดสินใจลดปัญหาความขัดแย้งภายในอาเซียน

อาเซียนไม่ได้เป็นเสือกระดาษอย่างที่ถูกปรามาสจากหลายฝ่ายมานาน อาเซียนเห็นความสำคัญของประชาชน สิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังวางบทบาทอาเซียนตามหลักการสากล ในทางการเมือง บทบาทนำของบรูไนช่วยให้อาเซียนรอดพ้นจากการบอยคอตจากนานาชาติเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

แต่กัมพูชากลับไม่ต่อต้านและกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา

ที่สำคัญมากคือ ท่าทีของกัมพูชาสอดคล้องกับทางการจีนที่ไม่ได้กดดันรัฐบาลทหารเมียนมา เนื่องจากผลประโยชน์ของจีนในเมียนมาได้แก่ การค้า การลงทุนของจีนในเมียนมา

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เมียนมากลายเป็นสนามของสงครามตัวแทนของจีน เป็นสงครามการทูต เพื่อสกัดกั้นบทบาทและอิทธิพลของชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ประธานอาเซียนคนใหม่ กัมพูชา

กัมพูชาจะผลักดันญัตติจีนต่อเมียนมาและอาเซียน เหมือนกับที่กัมพูชาไม่ให้อาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมอาเซียนเรื่องทะเลจีนใต้ เมื่อกัมพูชาเป็นประธานอาเซียนปี 2012 ปี 2012 เป็นยิ่งกว่าปีที่แปลกประหลาดของอาเซียน แต่ปี 2012 เป็นปีแห่งความอัปยศของอาเซียน

ญัตติจีนของประธานอาเซียนคนใหม่ เริ่มต้นล่วงหน้าแล้ว เมื่อว่าที่ประธานคนใหม่ประกาศว่า สมาชิกทุกประเทศจะต้องได้รับเชิญเข้าประชุมอาเซียน แล้วการทูตลึกแต่ไม่ลับก็เกิดขึ้นตลอดเวลาจากนั้น จีนเคลื่อนไหวเพื่อหนุนว่าที่ประธานอาเซียนคนใหม่ รองประธานาธิบดี รัฐมนตรีกลาโหม รัฐมนตรีต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐเยือนภูมิภาคต่อเนื่อง

ญัตติจีนจะเริ่มต้นที่รัฐประหารเมียนมา ขยายไปสู่ปัญหาทะเลจีนใต้

นี่ไม่ใช่อีเวนต์ เป็นสงครามตัวแทนเลยครับ