คนมองหนัง : ‘The Hand of God’ : ภาวะเปลี่ยนผ่าน (ที่ไม่ธรรมดา) ของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘The Hand of God’

: ภาวะเปลี่ยนผ่าน (ที่ไม่ธรรมดา) ของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง

 

“The Hand of God” ผลงานการกำกับฯ ของ “เปาโล ซอร์เรนติโน” ผู้เคยได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปี 2014 (จากหนังเรื่อง “The Great Beauty”) คือหนึ่งในหนังใหม่ที่เพิ่งเข้าฉายผ่านแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์

พิจารณาที่แก่นแกนหลัก ภาพยนตร์อิตาเลียนแนว “ข้ามผ่านวันวัย” (coming of age) เรื่องนี้ มีความแตกต่างจากหนังแนวเดียวกันเรื่องอื่นๆ อยู่มากพอสมควร

เพราะในขณะที่ตัวละครนำวัยหนุ่มสาวจากภาพยนตร์แนว coming of age ส่วนใหญ่ มักได้ซึมซับบทเรียนหรือได้รับความรู้บางอย่าง หลังผ่านพ้นประสบการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เพื่อจะเติบโตและเดินหน้าต่อไป

ชายหนุ่มผู้เป็นตัวละครหลักของ “The Hand of God” กลับต้องสูญเสียหลายสิ่งหลายอย่าง (หลายคน) ในชีวิต โดยไม่ได้รับอะไรใหม่ๆ เป็นการแลกเปลี่ยน-ตอบแทนเสียทีเดียว

ณ ตอนท้ายของภาพยนตร์ เขาเพียงแค่กำลังออกเดินทางครั้งใหม่ ไปยังสถานที่แห่งใหม่ โดยไม่มีจุดมุ่งหมายและความปรารถนาแน่ชัด

ในภาพรวม นี่จึงเป็นการเติบโตเปลี่ยนผ่านที่แลดูโดดเดี่ยว เวิ้งว้าง และเคว้งคว้างอย่างยิ่ง

หากพิจารณาตรงรายละเอียด เรื่องเล่าว่าด้วยชายหนุ่มคนหนึ่งและบรรดาบุคคลแวดล้อมซึ่งใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ที่เนเปิลส์ ก็ถูกถักทอขึ้นจากองค์ประกอบอันเปี่ยมเสน่ห์และหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นสายสัมพันธ์ “ดีๆ ร้ายๆ” ในครอบครัวและเครือญาติแบบอิตาเลียน

การใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งเดียวกันของบารอนเนสชนชั้นสูงกับพนักงานธนาคารผู้ประกาศตัวเป็นคอมมิวนิสต์

ความลุ่มหลงในกีฬาฟุตบอล (ซอร์เรนติโนนำเอาเหตุการณ์ช่วงที่ “ดิเอโก มาราโดนา” ย้ายมาค้าแข้งกับสโมสรนาโปลี มาใช้เป็นบริบทสำคัญของหนัง) ความหลงใหลในศิลปะภาพยนตร์ การดำรงอยู่ของคติชนหรือตำนานปรัมปราพื้นบ้าน

เรื่อยไปถึงผู้คนที่ถูกคุมขังอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชและเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นแฝงน่าสนใจที่ถูกสอดแทรกไว้ใน “The Hand of God” ก็คือที่ทางของ “ความศักดิ์สิทธิ์” และ “ความเชื่อ” ของผู้คน ซึ่งยึดโยงอยู่กับความสามารถของนักฟุตบอลระดับ “เทพเจ้า” อย่างมาราโดนา และ “นักบวชน้อย” (Monaciello) ซึ่งเป็นภูตผีพื้นเมืองของอิตาลีตอนใต้

เมื่อเรื่องราวค่อยๆ ขมวดเกลียวแล้วคลี่คลาย “ความศักดิ์สิทธิ์” บางประการจะค่อยๆ ถูกกร่อนสลายหรือเสื่อมมนต์ขลังลง ทว่า “ความศักดิ์สิทธิ์/ความเชื่อ” บางอย่างกลับยังคงดำรงอยู่ไม่เสื่อมสูญ เพื่อฉุดรั้งประคับประคองไม่ให้ชะตากรรมของมนุษย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ต้องแหลกสลายลงไปอย่างไร้ความหวัง

ด้วยความที่มีตัวละครศูนย์กลางเป็นชายหนุ่ม ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจับจ้องเหล่าตัวละครสตรีผ่านมุมมองอันรุ่มรวย ชวนหลงใหล และลึกลับ ระคนกันไป

มีโมเมนต์น่าจดจำ ซึ่งหนังนำเสนอภาพเรือนร่างอันงดงามเย้ายวนใจของหญิงวัยกลางคนผู้มีบาดแผลในชีวิตคู่ ไปพร้อมๆ กับโชว์เรือนร่างอันอ้วนท้วนสมบูรณ์พูนสุขของผู้หญิงวัยใกล้เคียงกันอีกหลายราย

ตรงกันข้ามกับหนังแนวข้ามวันพ้นวัยส่วนมาก (แม้กระทั่ง “Call Me by Your Name”) ที่ตัวละครเด็กหนุ่มมักจะต้องหัดจีบหญิงสาววัยเดียวกัน

ตัวละครนำของ “The Hand of God” กลับมีพฤติกรรมเหล่หรือติดตามหญิงสาวคนโน้นคนนี้อยู่แว้บหนึ่ง ก่อนที่เขาจะเถลไถลออกนอกลู่ทาง เพื่อไปพานพบบุคคลและประสบการณ์ชุดอื่นๆ ต่อ โดยไร้เยื่อใยกับเพื่อนสาวเหล่านั้น

แต่ตัวละครหลักของหนังเรื่องนี้ก็ยังมีประสบการณ์คล้ายคลึงกับคนหนุ่มทุกยุค-ทั่วโลกอีกเป็นจำนวนมาก ที่ไม่อาจได้ครอบครองร่างกายและจิตใจของสตรีผู้เป็น “ความหลงใหลแรก” ของตนเอง เพราะเงื่อนไขข้อจำกัดนานาประการ (ตั้งแต่เงื่อนไขทางสังคม-วัฒนธรรม ไปจนถึงเงื่อนไขทางชีวอำนาจ)

และไปๆ มาๆ สตรีที่พระเอกได้มี “สัมพันธ์” ด้วย ก็กลับกลายเป็นตัวละครที่คนดูไม่เคยคาดคิดว่าเธอจะเข้ามารับบทบาท-หน้าที่เช่นนี้

ตัวละครหญิงอีกรายที่ผมประทับใจมากเป็นพิเศษ คือ พี่สาวของพระเอก ซึ่งมีพฤติกรรมชอบหมกตัวอยู่ในห้องน้ำแทบตลอดทั้งเรื่อง (เราจึงได้ยินแต่เพียงเสียงพูดของเธอ)

ทว่า ในที่สุด ตัวละครปริศนารายนี้ก็ได้ออกมาพบปะผู้ชม ณ ตอนท้ายของภาพยนตร์

ในซีนดังกล่าว หญิงสาวปรากฏตัวขึ้นพร้อมด้วยอารมณ์ความรู้สึกอันล้นปรี่ โดยที่บุคคลทั้งหลาย (ซึ่งกำลังสบสายตากับเธอผ่านจอภาพชนิดต่างๆ) ไม่อาจหยั่งรู้แน่ชัดว่ามวลอารมณ์ที่เอ่อท้นออกมานั้น กำลังสื่อสารถึงความในใจชนิดใดกันแน่

ระหว่างปีติ หลุดพ้น โศกสลด หรือไม่เหลือใคร?