ฝันร้ายของผู้นำที่ปักกิ่ง : ถ้าทรัมป์กดปุ่มนิวเคลียร์ถล่มจีน?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ฝันร้ายของผู้นำที่ปักกิ่ง

: ถ้าทรัมป์กดปุ่มนิวเคลียร์ถล่มจีน?

 

สัปดาห์ก่อนผมเขียนถึงบทสนทนา ณ นาทีวิกฤตระหว่างนายพลมาร์ก มิลเลย์ (Gen Mark Milley) ประธานเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐกับนายพลหลี่ จั๊วเฉิง ประธานเสนาธิการทหารของกองทัพจีน

ณ จุดที่มีความวุ่นวายอันเกิดจากกลุ่มสาวกของโดนัลด์ ทรัมป์ บุกตึกรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคมปีนี้

สองวันหลังจากนั้น นายพลมะกันคนนี้ต่อสายฉุกเฉินถึงนายพลหลี่เพื่อจะยืนยันว่าความวุ่นวายที่ฝ่ายจีนเห็นในตึกรัฐสภานั้นยังอยู่ใน “ภาวะที่ควบคุมได้”

จีนหวั่นว่าทรัมป์กลัวแพ้เลือกตั้งให้ไบเดนถึงขนาดที่อาจจะสร้างสถานการณ์ระดับโลกด้วยการโจมตีจีนเพื่อสร้างตนเป็นวีรบุรุษให้คนอเมริกาเลือกตนกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง

ในหนังสือชื่อ “Peril” ที่เพิ่งตลาดโดยนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ Bob Woodward และ Robert Costa นั้นมีรายละเอียดเบื้องหลังช่วงประวัติศาสตร์นี้ที่น่าสนใจ…และน่าตกใจ…ยิ่ง

นักข่าวทั้งสองเขียนว่านายพลมิลเลย์เองไม่เชื่อว่าทรัมป์ต้องการจะก่อสงคราม แต่ดูจากพฤติกรรมของทรัมป์หลังผลการเลือกตั้งออกมาแล้วแพ้โจ ไบเดน เขาอยู่ในสภาพจิตที่รวนเรและผิดปกติไม่น้อย

ทรัมป์ตะโกนโวยวายใส่คนรอบข้างด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดอย่างน่ากลัว

ในภาวะจิตใจที่ไม่รู้จักคำว่า “รู้แพ้รู้ชนะ” นั้น นายพลมิลเลย์เกิดความประหวั่นพรั่นพรึงขึ้นมว่าทรัมป์อาจจะตัดสินใจทำอะไรที่คาดไม่ถึงก็ได้

ทรัมป์เคยสั่งให้ทหารอเมริกันถล่มอิหร่าน, โซมาเลีย, เยเมนและซีเรียมาก่อนแล้ว

“ผมเคยเตือนท่านประธานาธิบดีทรัมป์มาก่อนแล้วว่าไม่ว่าท่านจะสั่งให้ถล่มจุดไหนหรือเป้าหมายอะไรก็ตามก็อาจพบว่าสหรัฐตกอยู่ในภาวะเปิดสงครามได้ทั้งนั้น” นายพลมิลเลย์เคยกล่าวไว้

ความหมายของคำเตือนนั้นก็คือว่าถ้าผู้นำสหรัฐตัดสินใจทิ้งระเบิด ณ จุดใดก็จงเตรียมพร้อมที่จะรับสถานการณ์ที่จะลามไปถึงขั้นการเกิดสงครามครั้งใหญ่ระดับภูมิภาคหรือแม้แต่ในระดับสากลได้

เพราะไม่มีใครเชื่อว่าวอชิงตันจะจำกัดการทำลายล้างเฉพาะจุดที่ปรากฏต่อสาธารณชนเท่านั้น

อเมริกาต้องการเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของคนอื่นด้วยการใช้อาวุธที่ตนมีเหนือกว่าคนอื่นๆ

นายพลหลี่ จั๊วเฉิง

อีกทั้งมีทฤษฎีของนักวิชาการด้านยุทธศาสตร์ทางทหารบางสำนักที่บอกว่า

ประเทศที่เป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งจะไม่ยอมให้หมายเลขสองขยับใกล้ตนจนถึงขั้น “หายใจรดต้นคอ”

อย่างที่เห็นจีนกำลังสำแดงฤทธิ์เดชอยู่ขณะนี้

เมื่อเบอร์หนึ่งหวั่นว่าเบอร์สองจะมาแทนที่ตน สิ่งที่นักวิชาการค่ายนิ้ประเมินก็คือจะต้องเกิดสงคราม

แต่จะเป็นสงครามในรูปแบบไหนเป็นเรื่องของแต่ละยุคแต่ละสมัย

หากจะวิเคราะห์ตามแนวทางนี้ “สงคราม” ที่ว่านี้ก็จะระเบิดขึ้นแล้วระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่ง

เป็นสงครามในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่สงครามการค้า, สงครามไซเบอร์, สงครามวัฒนธรรม และสงครามจิตวิทยา

ที่แน่ๆ คือสงครามข่าวสารเพื่อฟาดฟันอีกฝ่ายหนึ่งนั้นได้เกิดขึ้นมายาวนานพอสมควรแล้ว

 

สีจิ้นผิงประกาศว่าไม่มีใครหรือประเทศไหนจะสามารถยับยั้งการเติบใหญ่ของจีนได้

ช่วงหลังนี้ผมสังเกตว่าจีนไม่ค่อยจะย้ำประโยคเดิมที่ว่า “จีนจะเติบใหญ่อย่างสันติ”

หรือที่เคยใช้คำว่า Peaceful Rise of China

ตรงกันข้ามเมื่อจีนเห็นว่าสหรัฐพยายามจะมา “แทรกแซง” กิจการภายในของจีนในประเด็นไต้หวัน, ฮ่องกงและซินเจียง ก็ยิ่งทำให้วาทะจากปากคำของสี จิ้นผิง ยิ่งร้อนแรง

คำว่า “เติบใหญ่อย่างสันติ” ถูกแทนที่โดย “ก้าวกระโดดไปข้างหน้าโดยไม่มีใครมาขัดขวางได้”

เป็นภาษาที่เข้มข้นและอหังการ…พร้อมที่จะต้องรับการเผชิญหน้ากับสหรัฐหากอเมริกา “ข้ามเส้นสีแดง” ในความสัมพันธ์

อันหมายถึงการที่จีนเตือนสหรัฐอย่าได้ก้าวล่วงสิ่งที่ปักกิ่งถือว่าเป็นอธิปไตยทางการเมืองและความมั่นคงของตน

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์จลาจลในตึกรัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 มกราคม ผู้นำทหารจีนกลับมีความห่วงว่าอเมริกาอาจจะทำ “สงคราม” กับตนโดยไม่เกี่ยวกับเรื่องระหว่างประเทศ

หากแต่จะเป็นการที่ทรัมป์ตัดสินใจทำอะไรห่ามๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของคนอเมริกันจากผลการเลือกตั้งมาเป็นวิกฤตระดับโลก

จีนไม่ต้องการทำสงครามที่เกิดจากเหตุผลของการเมืองภายในของอเมริกา

เพราะสำหรับผู้นำทางทหารแล้ว นี่คือสถานการณ์ที่อยู่นอกกรอบของ “ฉากทัศน์” ปกติแห่งความขัดแย้งระหว่างสองยักษ์ใหญ่

แม้ว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่จะกำลังหมกมุ่นอยู่กับปัญหาความรุนแรงของสาวกทรัมป์บุกตึกรัฐสภา แต่ในฐานะนายทหารอาวุโสที่สุดของกองทัพสหรัฐ นายพลมิลเลย์เริ่มมีความกังวลอย่างหนักว่าหากทรัมป์ตัดสินใจทำอะไรเพี้ยนๆ โลกอาจจะเข้าสู่ภาวะความสุ่มเสี่ยงอย่างสูง

สถานการณ์เปราะบางอย่างนี้แหละ หากมีการตีความผิดหรือประเมินความเสี่ยงที่ออกนอกลู่นอกทาง ทรัมป์อาจจะทำให้โลกตกอยู่ในภาวะอันตรายอย่างยิ่งก็ได้

นายพลมาร์ก มิลเลย์

ในฐานะที่ต้องทำหน้าที่ของนักวางแผนทางทหารระดับโลก นายพลมิลเลย์ต้องคิดหาทางป้องกันไม่ให้คนที่กำลังจะต้องย้ายออกจากทำเนียบขาวก่อให้เกิดวิกฤตโลกให้ได้

สถานการณ์พลิกผันอย่างรวดเร็วในช่วงนั้น ในหลายแง่หลายมุมนั้นอาจจะไม่มีใครสามารถควบคุมเหตุการณ์ให้อยู่ในกรอบที่ควรจะต้องกำกับได้

ภาพเก่าที่ย้อนกลับมาหลอนนายพลมิลเลย์นาทีนั้นคือ

เหตุการณ์เดือนตุลาคม ปี 1962 ช่วงที่สหรัฐกับสหภาพโซเวียตต่างฝ่ายต่างเกือบจะกดปุ่มนิวเคลียร์ใส่กันกรณีการเผชิญหน้าว่าด้วย “วิกฤต 13 วันกรณีคิวบา”

วันนี้มันคือภาพความน่าหวาดเสียวระหว่างสหรัฐกับจีน

นายพลมิลเลย์ไม่รู้ว่าจีนกำลังคิดอะไรอยู่ ไม่รู้ว่าปักกิ่งจะตัดสินใจก้าวต่อไปอย่างไร

 

นักข่าวทั้งสองเขียนตอนหนึ่งว่า

“จากประสบการณ์ 39 ปีในกองทัพบกที่ผ่านการทำสงครามมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน นายพลมิลเลย์รู้ดีว่าศัตรูที่อันตรายที่สุดก็คือศัตรูที่กำลังตกตื่นและเชื่อว่ากำลังจะถูกโจมตี…”

ณ วันนั้นศัตรูที่ว่านี้คือจีน

นายทหารมะกันคนนี้วิเคราะห์ว่าหากจีนในฐานะศัตรูของสหรัฐเชื่อว่ากำลังจะถูกคู่แค้นหมายเลขหนึ่งโจมตี จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ปักกิ่งก็อาจจะเลือกยุทธวิธีได้สองแบบคือ โจมตีศัตรูก่อนที่ศัตรูจะโจมตีเรา

หรือที่เรียกว่า first-move advantage

เพราะในภาวะที่ยักษ์ใหญ่มีอาวุธทำลายล้างสูงเช่นนี้ ใครเป็นผู้ถูกโจมตีก่อนอาจจะไม่มีโอกาสตอบโต้เลยก็ได้

ทางเลือกที่สองอาจจะเป็นการใช้ยุทธวิธีแบบ Pearl Harbor (7 ธันวาคม 1941) ที่ญี่ปุ่นเคยใช้กับสหรัฐ อันนำไปสู่การดึงให้อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองอย่างเต็มตัว

ไม่ว่าจีนจะเลือกใช้ยุทธการใดก็ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอย่างอเมริกาทั้งสิ้น

คำถามใหญ่สำหรับนายพลสหรัฐคนนี้ในวันนั้นก็คือถ้าทรัมป์ซึ่งยังมีอำนาจในฐานะประธานาธิบดีอีก 2 สัปดาห์ (เหตุเกิด 6 มกราคม…โจ ไบเดน จะรับตำแหน่ง 20 มกราคม 2021) กดปุ่มนิวเคลียร์ถล่มจีน ใครจะสามารถระงับยับยั้งได้

คำถามเช่นนี้ไม่เคยเกิดมาก่อนในประวัติศาสตร์ของสหรัฐ

แต่วันนั้นนายพลมิลเลย์ต้องเผชิญกับวิกฤตที่ไม่เคยมีบทเรียนหรือประสบการณ์ในกองทัพมาก่อนเลย

(สัปดาห์หน้า : ย้อนนาทีชวนสยอง : ถ้าทรัมป์จะกดปุ่มนิวเคลียร์ นายทหารมะกันห้ามได้ไหม?)