เปิดศักราชใหม่ ‘ดิจิตอล แอสเซท’ คลังแปลงโฉมจากบัญชีบนอากาศ สู่ ‘ภาษี’ สร้างรายได้-ลดภาระรัฐ/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เปิดศักราชใหม่ ‘ดิจิตอล แอสเซท’

คลังแปลงโฉมจากบัญชีบนอากาศ

สู่ ‘ภาษี’ สร้างรายได้-ลดภาระรัฐ

 

ปี2565 จะเป็นปีที่ภาคธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงภาคการเงินและการลงทุน หลังจากเราเห็นธุรกิจปรับโฉมก้าวเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะโลกการเงิน ในปัจจุบันเราเห็นการก้าวเข้าสู่สินทรัพย์ดิจิตอล (ดิจิตอล แอสเซท) มาพร้อมกันทั้งรูปแบบการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และการลงทุน

หลังจากการระบาดโควิด-19 ได้เห็นโลกกลับตาลปัตร จากหน้ามือเป็นหลังมือแบบชัดเจน หลังจากเดิมเห็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจะอยู่ในหุ้น พันธบัตรรัฐบาล อสังหาริมทรัพย์ เป็นหลัก มายาวนานหลายสิบปี

แต่หลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ได้เห็นความเสี่ยงของสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

ไม่เว้นกระทั่ง “ทองคำ” ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหลุมหลบภัยของการเก็บรักษามูลค่าเงินตราในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตหรือในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง กลับเป็นการลงทุนที่ผันผวนจากราคาปรับขึ้นหรือลงอย่างรุนแรง อย่างปีนี้เคยต่ำสุดแตะ 1.4 หมื่นบาทต่อ 1 บาททองคำ และลดพรวดเดียว 4-5 พันบาท/บาทภายใน 3-4 เดือน

เมื่อลงทุนทองคำถูกมองว่ามีความเสี่ยง เช่นนั้น คนจึงต้องหาแหล่งลงทุนในช่องทางทางเลือกอื่นๆ มากขึ้น หวังลดเสี่ยงเม็ดเงินในมือ

จึงเกิดการลงทุนในอากาศ หรือการลงทุนกับดิจิตอล แอสเซท หรือสินทรัพย์ดิจิตอล เมื่อปากต่อปากต่อเงินลงทุนไม่สูงแต่ได้ผลตอบแทนดี แรกๆ ก็จะคุ้นชื่อ สกุลเงินดิจิตอลอย่างคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ดิจิตอล เพียงไม่กี่ปีกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่าเติบโตอย่างก้าวกระโดด

จากนั้นเมื่อมีการรับรู้โดยทั่วไป ก็ตามด้วยการผุดขึ้นของบริษัทให้บริการบริหารจัดการเงินดิจิตอล การช่วงชิงตลาดดุเดือด การแข่งขันก็เข้มข้น

ทำให้เกิดการต่อยอดหรือพัฒนาการใช้เหรียญดิจิตอลเสมือนเป็นเงินตรา ใช้ซื้อขายสินค้าหรือบริการเหมือนการใช้ธนบัตรหรือเงินเหรียญทดแทนเงินตราที่จับต้องด้วยมือ

 

ล่าสุดข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สรุปภาวะตลาดสินทรัพย์ดิจิตอล (ดิจิตอล แอสเซท) ณ วันที่ 24 ธันวาคม 2564 พบว่า ตลาดสินทรัพย์ดิจิตอลทั่วโลกมีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ประมาณ 2.15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 40.67% มาจากบิตคอยน์ และมีมูลค่าการซื้อขายล่าสุดอยู่ที่ 89. 61 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน มีบัญชีผู้ลงทุนทั้งหมด 1.77 ล้านบัญชี

โดยพบว่า มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่มาจากบุคคลธรรมดาในประเทศ

ย้อนหลัง 8 เดือนล่าสุด ได้แก่ เดือนพฤษภาคม มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 1.56 แสนล้านบาท มิถุนายน 6.1 หมื่นล้านบาท กรกฎาคม 5.2 หมื่นล้านบาท สิงหาคม 1.17 แสนล้านบาท กันยายน 9.7 หมื่นล้านบาท ตุลาคม 1.02 แสนล้านบาท พฤศจิกายน 1.93 แสนล้านบาท และธันวาคม 7.3 หมื่นล้านบาท

ส่วนนิติบุคคลเป็นกลุ่มต่างประเทศที่มีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อบัญชีสูงที่สุด ย้อนหลัง 8 เดือนล่าสุด ได้แก่ เดือนพฤษภาคม มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 772 ล้านบาท มิถุนายน 410 ล้านบาท กรกฎาคม 300 ล้านบาท สิงหาคม 415 ล้านบาท กันยายน 324 ล้านบาท ตุลาคม 291 ล้านบาท พฤศจิกายน 376 ล้านบาท

และธันวาคม 336 ล้านบาท

 

ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ดิ้นรนหาช่องทางเพิ่มรายได้จากเงินที่มีอยู่ในมือ หรือลงทุนเพื่อคงไว้ซึ่งมูลค่าของเงินในบัญชีไม่ให้ลดลง พร้อมกับความกังวลว่าการลงทุนแบบนี้จะยั่งยืนและปลอดภัยได้จริงหรือ และรัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ก็กำลังอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างภาษี เน้นการขยายกลุ่มฐานการเก็บภาษีมากขึ้น ก็ต้องตากับภาษีด้านการลงทุน ประกอบกับการคลังของประเทศต้องดิ้นรนหารายได้โปะงบรายจ่ายเพื่อการดูแลด้านสาธาณสุขและผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ที่เข้าปีที่ 3 แล้ว

ก่อนหน้านี้รายได้ของประเทศส่วนใหญ่มาจากเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลต้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชน จึงเลื่อนหรือผ่อนปรนการเก็บภาษีต่างๆ ออกไปก่อน จนทำให้รายได้จัดเก็บภาษีหายไปปีละ 2-3 แสนล้านบาท หรือรวมช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายได้รัฐหายไป 5-6 แสนล้านบาท

หนึ่งในการปรับปรุงโครงการภาษีก็มุ่งไปที่ธุรกิจที่มีอนาคตและสร้างรายได้สูง จึงเป็นที่มาของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เก็บจากการใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ซึ่งเป็นนักลงทุนข้ามชาติ

แนวคิดก็อยากให้เงินที่เกิดในไทยและหมุนเวียนในไทย ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 และเริ่มการจัดเก็บภาษี 23 ตุลาคมปีเดียวกัน

พบว่า เพียง 2 เดือน เกิดรายได้จากเก็บภาษีรวม 1,619 ล้านบาท คาดว่าปีงบประมาณ 2565 จะเกิดรายได้ถึง 7,000-8,000 ล้านบาท

อาจสูงกว่าเป้าเดิมตั้งเป้าไว้ 5,000 ล้านบาท

 

จากนั้นรูปแบบภาษีที่โยนหินถามทางก็มากอีกหลายรายการ ที่กำลังกระแสสังคมกำลังจับตามอง ว่าการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมคือ สินทรัพย์ดิจิตอล ที่มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล พ.ศ.2561 ซึ่งมีความชัดเจนว่า สินทรัพย์ดิจิตอล หากมีกำไรหรือมีผลตอบแทนจากส่วนนี้จะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร (capital gain) และบุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายคริปโทจะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยหากมีกำไรจากการซื้อและขายบิตคอยน์ก็เป็นหน้าที่ของผู้เสียภาษีที่จะต้องมายื่นแบบตามมาตรา 40(4)

ซึ่งในการยื่นแบบภาษีเงินได้ในเดือนมีนาคม 2565 สรรพากรจะมีช่องให้ติ๊กสำหรับผู้ที่มีกำไรจากการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี เพื่อให้ผู้เสียภาษีสำแดงเงินได้

หากใครมีรายได้แล้วหลบเลี่ยงไม่ยอมยื่น ก็มีฐานในการตรวจสอบเพื่อเอาผิดตามกฎหมายต่อไป

โดยปัจจุบันเราเห็นมีผู้สนใจลงทุนซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นเรื่องของกรมสรรพากรในการติดตามจัดเก็บให้ทัน

อีกประเด็นร้อน ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด คือ การเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (financial transaction tax) อัตรา 0.1% จากมูลค่าการขาย วงในกระทรวงการคลังชี้ชัดว่าจะเริ่มเก็บปี 2565 แน่นอน

โดยคาดว่าจะทำให้มีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยอ้างอิงภาษีหุ้นทั่วโลก ที่มีการเก็บ 2 รูปแบบ คือ transaction tax คือการเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ และ capital gain tax ภาษีกำไรจากเงินลงทุน หรือภาษีเงินได้จากการขายหลักทรัพย์

โดยหลายประเทศเก็บทั้ง 2 รูปแบบ

 

สําหรับไทยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อจัดเก็บ transaction tax ซึ่งเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งมีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 เนื่องจากต้องการโปรโมตตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่ในธุรกิจอื่นทั้งอสังหาริมทรัพย์ ธนาคาร และประกัน ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ดังนั้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับภาคธุรกิจอื่นๆ ต้องมีการจัดเก็บเพราะยกเว้นมา 30 ปีแล้ว โดยมองว่าการเก็บภาษีคริปโตเคอร์เรนซีและภาษีหุ้น ควรจะดำเนินไปด้วยกัน

แต่ในส่วนของหุ้นนั้นยังไม่มีกฎหมาย capital gain รองรับ ก็ต้องมีการออกกฎหมายก่อน แต่กรณีคริปโตเคอร์เรนซีมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว แต่ยังเป็นรูปแบบให้ผู้ซื้อขายเป็นคนยื่นแบบ

จากการให้ข้อมูลของนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากข้อมูลที่ศึกษาพบว่าหลายประเทศมีการเก็บภาษีหุ้นทั้ง 2 รูปแบบ

ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย เก็บภาษีขายหุ้น 0.1%, เวียดนาม เก็บภาษีขายหุ้น 0.1% และเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น 20%, มาเลเซีย เก็บเป็นอากรแสตมป์ทั้งการซื้อและขายหุ้น 0.1%, ฟิลิปปินส์ เก็บภาษีขายหุ้น 0.6% และเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น 15%, ฮ่องกง เก็บภาษีจากการขายและซื้อหุ้น 0.13%, ญี่ปุ่น เก็บกำไรจากการขายหุ้น 20.315%, เกาหลีใต้ ภาษีขายหุ้น 0.23% และเก็บกำไรจากการขายหุ้นกรณีครองน้อยกว่า 1 ปี เก็บภาษี 33% ถือเกิน 1 ปี เก็บภาษี 22% (กำไรไม่เกิน 300 ล้านวอน) ไต้หวัน เก็บภาษีขายหุ้น 0.3%

การจัดเก็บภาษีหุ้น ถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ช่วงที่สถานการณ์กำลังหน้าสิ่วหน้าขวานกับการเกิดขึ้นใหม่ของการแพร่ระบาดของโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน กับคำว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือ