จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ผู้ชายกับดอกไม้ / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ขอบคุณภาพประกอบจาก ปกหนังสือเรื่อง อิเหนา (พิมพ์ครั้งที่ 17) สำนักพิมพ์แสงดาว

 

 

ผู้ชายกับดอกไม้

 

ใช่ว่าผู้หญิงเท่านั้นที่ชอบดอกไม้ ผู้ชายก็ชอบและใช้ประดับกายไม่ต่างกัน ความนิยมนี้มีมาแต่สมัยสุโขทัย ดังที่วรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวถึงบุรุษชาวอุตตรกุรุทวีปว่า

“อันว่าฝูงผู้ชายอันอยู่ในแผ่นดินอุดรกุรุนั้นโสด รูปโฉมโนมพรรณเขานั้นงามดั่งบ่าวหนุ่มน้อยอันได้ยี่สิบปี มิรู้แก่มิรู้เถ้า เขาหนุ่มอยู่ดั่งนั้นชั่วตนทุกๆ คนแล …ฯลฯ… แลแต่งแต่ตัว เขาทากระแจะแลจวงจันทน์น้ำมันอันดี แลมีดอกไม้หอมต่างๆ กัน เอามาทัดมาทรงเหล้น แล้วก็เที่ยวไปเหล้นตามสบาย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

คำว่า ‘ทัด’ หมายถึง เอาสิ่งของหรือดอกไม้เหน็บหูตรงบริเวณที่เรียกว่า ทัดดอกไม้

“อักขราภิธานศรับท์” อธิบายคำว่า ทัดดอกไม้, เหน็บดอกไม้ไว้ที่หู, ทรงดอกไม้. คือ คนเอาดอกไม้เหน็บไว้ที่หูนั้น, พวกเจ้าชู้ทัดดอกไม้เที่ยวเล่น.”

 

วรรณคดีสมัยอยุธยาเรื่อง “กาพย์ห่อโคลง” ของพระศรีมโหสถ เล่าถึง ชายแต่งกายเต็มที่ มีดอกไม้ทัดหูไปเกี้ยวหญิง ดังนี้

 

“ลางชายลายนุ่งเกี้ยว              ยกย่างเลี้ยวเอี้ยวโอนดู

ดอกไม้ใส่ห้อยหู                          พรั่งพรูบ่ายม่ายเมียงหญิง ฯ

ลางชายลายนุ่งเกี้ยว               เกไล

ยกย่างพลางจงใจ                         จ่อชู้

ทัดเพยียเขี่ยกันไร                        เพราะเพริด (เพยีย, พเยีย = พวงดอกไม้)

เมียงม่ายกลายกลางสู้                    เสียดส้องแลหา ฯ”

 

ความนิยมประดับดอกไม้ไปเกี้ยวสาว ยังมีให้เห็นทั่วไปในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ เริ่มจากเรื่อง “พระอภัยมณี” บรรยายถึงศรีสุวรรณว่า

 

“ห้อยอุบะมะลิลาสวมมาลัย               หมายจะไปเกี้ยวชู้ได้ดูงาม”

(อุบะ คือ ดอกไม้ที่ร้อยเป็นสายแล้วเข้าพวงอย่างพู่สำหรับห้อยกับมาลัย)

ดวงไม้หอมที่นำมาร้อยเป็นอุบะนอกจากมะลิลา ยังมีอีกหลายชนิด ดังที่บทละครรำ เรื่อง “อิเหนา” กล่าวถึงสังคามาระตาว่า

 

“ห้อยอุบะบุปผาจำปาสด                  เหน็บกฤชคมกรดไม่มีสอง”

 

การประดับประดาด้วยดอกไม้มิได้จำกัดแค่หนุ่มๆ เช่น ศรีสุวรรณ และสังคามาระตาเท่านั้น แม้สูงวัยอย่างระตูหมันหยา พระบิดานางจินตะหราก็ยังไม่เว้น ดังที่กวีบรรยายว่า

 

“ห้อยอุบะตันหยงส่งกลิ่นฟุ้ง               ครั้นรุ่งก็สด็จจรจรัล”

ในที่นี้เป็นอุบะดอกพิกุล (ตันหยง = พิกุล)

 

น่าสังเกตว่าตัวละครเยาว์วัยก็ใช้ดอกไม้ประดับเส้นผม ดังที่บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” เล่าถึงพระมงกุฎกุมารน้อยเด็ดดอกสายหยุดให้พระลบ

 

“สององค์ลดเลี้ยวเที่ยวประพาส                รุกขชาติดาษดื่นรื่นร่ม

สายหยุดย้อยระย้าน่าชม                       เด็ดมาแซมผมให้น้องชาย”

 

ครั้งหนึ่งนางสุวรรณมาลีได้เก็บดอกไม้ทัดหูให้สินสมุทร ดังจะเห็นได้จากเรื่อง “พระอภัยมณี”

 

“นางเลือกเก็บอังกาบกุหลาบซ้อน            มาแซมจอนทัดหูให้กุมาร

 

นอกจากดอกไม้แซมผม ทัดดอกไม้และพวงอุบะแล้ว ยังนิยมนำดอกไม้มาร้อยเป็นมาลัยสวมรอบผมจุกแทนเครื่องประดับอีกด้วย

ดังที่ท้าวสิงหลตรัสแก่นารายณ์ธิเบศร์ พระนัดดาในบทละครนอกเรื่อง “ไชยเชษฐ์” ว่า

 

“เก็บบุปผามาบ้างหรือไม่เล่า                   ให้แม่เขาร้อยมาลัยใส่จุก”

 

ดอกไม้ที่มอบให้นี้แทนความรักความปรารถนาดีที่มีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นความเคารพรักที่มีต่อนักบวช ความรักฉันญาติมิตร หรือความรักฉันชู้สาวก็ตาม

ในวรรณคดีเรื่อง “รามเกียรติ์” เมื่อพระรามคลั่งสั่งให้ฆ่านางสีดา นางหนีไปพึ่งพระวัชมฤคฤๅษีที่ในป่า ซึ่ง ‘จัดแจงอาศรมศาลาลัย ให้นางอยู่หลังในใกล้กุฎี’ กิจวัตรประจำวันของนางก็คือ

 

“ปฏิบัติวัฏถากพระนักสิทธิ์                   เช้าเย็นเป็นนิจไม่เหนื่อยหน่าย”

 

ทุกวันนางจะหิ้วกระเช้าเข้าป่าเพื่อเก็บผลไม้มาถวายพระฤๅษี

 

“โน้มกิ่งปริงปรางมะเฟืองไฟ                  เก็บลูกสุกใส่กระเช้าน้อย

ที่มือเอื้อมไม่ถึงพึ่งเหลืองห่าม เอาไม้ง่ามเลี้ยวลอดสอดสอย”

นอกจากผลไม้ก็มีดอกไม้

 

“นางเด็ดดอกบุปผาระย้าย้อย               หวังจะร้อยถวายพระนักธรรม์”

 

โดยเฉพาะหนุ่มๆ สาวๆ ดอกไม้ที่กรองร้อยด้วยตนเอง เป็นตัวแทนความรักและความพึงใจที่มีให้กันได้เป็นอย่างดี ดังเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงพฤติกรรมทอดสะพานสานสัมพันธ์ของสาวชาวเมืองกุเรปัน ดาหา กาหลังและสิงหัดส่าหรีไว้ว่า

 

“ลางพวกพึ่งดรุณรุ่นสาว                       เจ้าบ่าวไปปลูกหอขอสู่

บ้างลอบลักรักเร้นเป็นชู้                       หมากพลูพวงมาลัยให้กัน”

 

การร้อยดอกไม้ให้น้องและคนรัก ลักษณะงานฝีมือและความทุ่มเทต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ดังกรณีของนางสะการะหนึ่งหรัดร้อยดอกไม้ให้ผู้ที่เป็นเสมือนน้องชาย และชายคนรัก

 

“เมื่อนั้น                                 นางสะการะหนึ่งหรัดสาวสวรรค์

ให้รักใคร่ในองค์ปันหยีนั้น                   จึงบรรจงแตระมาลี

ทำสิ้นฝีมือนางแล้ววางไว้                    ตั้งจิตคิดจะให้ปันหยี

พวงหนึ่งนั้นแตระแต่พอดี                   เทวีจะให้อุณากรรณ”

 

‘แตระแต่พอดี’ คือ ร้อยมาลัยงดงามตามสมควร ไม่ต้องใช้ฝีมือมากมาย ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ดังที่กวีบรรยายว่า

“เมื่อนั้น                                อุณากรรณรับพวงบุหงา

ทรงทัดแล้วถวายบังคมลา                  ออกมายังท้องพระโรงชัย”

 

เมื่ออุณากรรณไปแล้ว นางสะการะหนึ่งหรัดจึงนำ ‘พวงมาลัยสร้อยสนจำปา’ ที่มีรูปทรงงดงามและมีวิธีการร้อยอย่างประณีตทุกขั้นตอน อันเกิดจากนาง ‘บรรจงแตระมาลี’ ร้อยมาลัยสุดฝีมือ ทั้งยังเพิ่มความพิเศษสุดโดยใช้

 

“อุหรับร่ำรสคนธ์ปนปรุง                     ให้หอมฟุ้งประทิ่นกลิ่นกล้า

แล้วส่งให้บาหยันกัลยา                      อย่าช้าเร่งรีบเอาไป”

 

วิธีนำพวงมาลัยงามวิจิตรหอมกรุ่นไปให้ก็ปิดๆ ปังๆ หลายทอดหลายต่อแข่งกับเวลา เริ่มจากนางพี่เลี้ยงเก็บอย่างมิดชิดด้วยการ ‘เอาอุบะซ่อนใส่กลีบสไบ แล้วรีบคลาไคลไปทันที’ ไปนั่งคอยพี่เลี้ยงของปันหยีที่ทิมริมวังแล้ว ‘ส่งห่อมาลีให้ทันที’ ประสันตารับมาแล้วก็รีบเอาไปส่งถึงห้องนอนปันหยี

 

‘ทูลว่าสร้อยสนจำปา พระธิดาถวายพระภูมี’

 

มิใช่หญิงเท่านั้นที่สื่อความในใจด้วยดอกไม้ ชายก็ไม่ต่างกัน นิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” เล่าถึง ‘มาลัยนาค’ (ทำเป็นรูปพญานาคสองตัวกอดรัดกัน) ที่พระลักษณวงศ์จงใจร้อยถวายเจ้าหญิงยี่สุ่น ประณีตตั้งแต่เลือกสรรดอกไม้ไปจนถึงประดิษฐ์ลวดลายด้วยดอกไม้ต่างชนิดเพื่อสื่อความในใจอย่างเปิดเผย

 

 “พระทรงศักดิ์เลือกเก็บมาลากรอง

ร้อยสลับกลับก้านเป็นนาคเกี้ยว              ตลบเลี้ยวกอดกรหงอนผยอง

พระร้อยลิ้นด้วยกลีบจำปาทอง               ตาทั้งสองสอดใส่มะกล่ำกลม

ดอกยี่สุ่นเป็นพื้นไว้ยืนที่                       แล้วสอดสีดอกเทียนเป็นเศียรสม

เอารักซ้อนซ้อนกลีบเป็นเกล็ดกลม          แซกสุกรมมาลุดีมะลิลา

แล้วแต่งสารสอดไส้เป็นไส้นาค               ดูหลากหลากมาลิศเป็นปริศนา”

 

เมื่อนางยี่สุ่นได้รับพวงมาลัย ความตั้งใจของผู้ร้อยก็คุ้มเหนื่อยบรรลุเป้าหมาย เพราะผู้รับ ‘ให้หวั่นหวั่นหวามหวามความสวาท นุชนาฏนิ่งนึกเสน่หา’

ดอกไม้กับผู้ชายไปกันได้สบายมาก