ฉัตรสุมาลย์ : ภิกษุณีในวัชรยาน

ในศตวรรษที่ผ่านมานี้ โลกมีพัฒนาการไปอย่างมาก

พุทธศาสนาเองที่มีนิกายใหญ่สองนิกาย คือ เถรวาทกับมหายานนั้น เมื่อจีนก้าวเข้าไปยึดครองทิเบต จนองค์ทะไลลามะ ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศทิเบตต้องลี้ภัยออกมาจากทิเบตใน ค.ศ.1959

ศาสนาพุทธแบบทิเบตหรือที่เรารู้จักกันในอีกนามหนึ่งว่าวัชรยานนั้น เดิมถูกจัดให้อยู่ภายใต้มหายาน

แต่นับจาก ค.ศ.1959 เป็นต้นมา พุทธศาสนานิกายวัชรยานเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในโลกภายนอกโดยเฉพาะในตะวันตก

จนปัจจุบันอาจจะกล่าวได้ว่า ในร้านหนังสือภาษาอังกฤษนั้น หนังสือในพุทธศาสนากว่าครึ่งจะเป็นพุทธศาสนานิกายวัชรยาน

ฉะนั้น เมื่อพูดถึงนิกายในพุทธศาสนา ปัจจุบันเราก็ต้องบอกว่ามีนิกายหลัก 3 นิกาย คือ เถรวาท มหายาน และวัชรยาน

 

ในสามนิกายนี้ มหายานเท่านั้นที่มีภิกษุณี ทั้งฝ่ายจีน และเกาหลี ส่วนเถรวาท ไม่มีทั้งสามเณรี และภิกษุณี ขณะที่วัชรยานมีสามเณรี แต่ไม่มีภิกษุณี

เมื่อโลกเปิดกว้างมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันมากขึ้น ผู้หญิงที่ศึกษาและให้ความสนใจพุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทั้งในนิกายวัชรยานและเถรวาทก็เริ่มมีคำถามมากขึ้นว่า ทำไมไม่มีผู้หญิงบวชเป็นภิกษุณีทั้งในเถรวาทและวัชรยาน

สำหรับวัชรยานนั้น เมื่อศาสนาพุทธเผยแผ่ไปยังโลกตะวันตก ผู้หญิงทั้งในอเมริกาและยุโรปหันมาสนใจพุทธศาสนามากขึ้น และจริงจังมากขึ้น ก็เริ่มออกบวชตาม

แต่ในสายวัชรยาน พระภิกษุท่านให้การบวชเพียงระดับสามเณรี

ชาวตะวันตกที่เป็นสามเณรีในสายวัชรยาน ก็ขอให้องค์ทะไลลามะพิจารณาการบวชภิกษุณี

คณะสงฆ์วัชรยานยังไม่มีเอกภาพในความพร้อมองค์ทะไลลามะก็เปิดโอกาสและแนะนำว่า สามเณรีที่บวชในสายวัชรยานนั้น สามารถไปบวชภิกษุณีได้จากไต้หวัน

 

สามเณรีชาวตะวันตกที่ออกบวชเป็นภิกษุณีรุ่นแรกๆ เป็นผู้นำของพุทธศาสนาหลายรูป เช่น ท่านเท็นซิน พัลโม ปีนี้อายุ 74 แล้ว ท่านเป็นชาวอังกฤษที่ออกบวชโดยเริ่มต้นจากการเป็นสามเณรีในสายทิเบต

ท่านมีชื่อเสียงมากที่สุด เพราะท่านตั้งใจปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยการไปบำเพ็ญเดี่ยวบนเทือกเขาหิมาลัยที่หนาวเย็นนานถึง 12 ปี (อ่านชีวประวัติของท่านได้ในเรื่อง Cave in the Snow มีแปลเป็นไทยแล้ว)

ท่านที่สอง คือ ท่านกรรมะ เล็กเช โสโม ปัจจุบันอายุ 73 เป็นชาวอเมริกันที่ออกบวชเป็นสามเณรีในสายทิเบต จากนั้นท่านไปบวชเป็นภิกษุณีทั้งในนิกายเกาหลีและไต้หวัน

ท่านภิกษุณีกรรมะ เล็กเช โสโม ร่วมกับผู้เขียน และท่านอัยยาเขมา (ชาวเยอรมัน) จัดการประชุมซึ่งต่อมารู้จักกันในนามศากยะธิดา ครั้งแรกที่พุทธคยาใน ค.ศ.1987

ศากยะธิดายังคงจัดการประชุมนานาชาติทุกสองปี ครั้งล่าสุด คือเมื่อเดือนมิถุนายน 2017 ที่ฮ่องกง

ท่านเรียนจบปริญญาเอกเมื่ออายุมากแล้ว และปัจจุบันก็ยังสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซานดิเอโก้

อีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทในงานการสร้างภิกษุณีมาตั้งแต่ต้น คือ ท่านคาโรล่า โรลอฟฟ์ เป็นชาวเยอรมันที่หันมาสนใจพุทธศาสนานิกายทิเบต และออกบวชเป็นสามเณรี

น่าสนใจว่าเดิมท่านเป็นพยาบาลที่ทำหน้าที่ดูแลคนไข้ไปกับรถพยาบาลกู้ชีพ

ชาวต่างชาติพวกนี้ มีอาจารย์เป็นชาวทิเบต ความจำเป็นอย่างหนึ่ง คือต้องเรียนภาษาทิเบต ทั้งสามรูปที่ว่ามานี้พูดภาษาทิเบตได้ทั้งสิ้น

สำหรับท่านนี้ เมื่อออกบวช ใช้ฉายาว่า ท่านจัมปา เซ็ดดรอน

ท่านจัมปาพูดและอ่านภาษาทิเบตได้ เป็นนักวิชาการเต็มตัว ท่านออกบวชเป็นภิกษุณีที่ไต้หวันในช่วง 1974

ท่านจัมปา เซ็ดดรอน นั้น องค์ทะไลลามะทรงไว้พระทัยมอบเงินจากค่าลิขสิทธิ์หนังสือของท่าน 50,000 สวิสฟรังก์ ให้เป็นเงินเริ่มต้นในการจัดการประชุม ค.ศ.2007 ที่ฮัมบวร์ก

การประชุมครั้งนั้น สามารถรวบรวมผู้ที่สนใจในประเด็นการบวชภิกษุณีหลายร้อยคน เฉพาะบทความทางวิชาการที่นำเสนอในการประชุมครั้งนั้น มากถึง 70 บทความ

ท่านจัมปาอายุน้อยกว่าสองรูปที่พูดมาข้างต้น

ในการประชุมครั้งนั้น สนใจเรื่องการนำเสนอการอุปสมบทภิกษุณีในสายวัชรยาน แต่ผลที่ออกมาปรากฏว่าเป็นแรงกระเพื่อมที่เกิดในสายเถรวาท ดังที่ต่อมามีการอุปสมบทภิกษุณีเถรวาทที่ออสเตรเลีย แต่ทางฝั่งทิเบตเองกลับเงียบหายไปกับสายลม

 

นอกจากสามรูปที่ว่ามานี้ ก็ยังมีท่านโชดรอน ชาวสเปน ที่มีสำนักสอนลูกศิษย์ของท่านอยู่ที่ซีแอตเติล อีกรูปหนึ่งสอนอยู่ในแคนาดา

เท่าที่ผู้เขียนรู้จัก น่าจะมีภิกษุณีที่เริ่มต้นจากการเป็นสามเณรีในสายทิเบต แล้วไปต่อยอดอุปสมบทในสายมหายานของไต้หวัน จำนวนเกือบ 10 รูป

ทีนี้ จะเล่าให้ฟังถึงปัญหาของท่าน

 

ทุกรูปที่เล่ามานี้ ได้รับการสอนและปฏิบัติในสายของทิเบต ซึ่งเรียกว่า พุทธศาสนาแบบทิเบต หรือวัชรยาน ในนิกายนี้ ถือพระวินัย มูลสรวาสติวาท เป็นกิ่งนิกายของสรวาสติวาท ที่อยู่ในกลุ่มใหญ่คือ เถรวาท

การสวด การปฏิบัติพิธีทางศาสนาที่ท่านเรียนมาล้วนเป็นแบบทิเบตจากครูบาอาจารย์ของท่านที่เป็นชาวทิเบต

เมื่อท่านไปรับการอุปสมบทมาจากฝ่ายมหายาน ซึ่งถือพระวินัยนิกายธรรมคุปต์ ท่านก็ต้องใส่จีวรแบบจีน ซึ่งท่านก็ใส่ในวันบวช แล้วก็กลับมาใส่จีวรแบบทิเบตอีกเมื่อท่านกลับคืนสู่วัดของท่าน

ผู้เขียน ในฐานะนักวิชาการ มีคำถามค้างใจว่า ท่านกลับมาใส่จีวรในนิกายวัชรยานที่ถือพระวินัยมูลสรวาสติวาทได้อย่างไร

ถ้าท่านบวชมาจากนิกายมหายานที่ถือวินัยของธรรมคุปต์ท่านต้องใส่จีวรตามแบบจีนถึงจะถูก

หรือพูดให้ชัด คือ ท่านไม่มีสิทธิ์ใส่จีวรของภิกษุณีในสายวัชรยานที่ถือวินัยนิกายมูลสรวาสติวาท

นี่คือความลักลั่นที่เป็นอยู่ และทุกคนปฏิบัติแบบนี้

 

ทําไมถึงเป็นแบบนี้ ก็เพราะว่า ภิกษุฝ่ายทิเบตไม่เอื้อเฟื้อที่จะทำให้ถูกต้องตามพระวินัยของมูลสรวาสติวาท ซึ่งบรรดาภิกษุณีเหล่านี้ เวลาที่ท่านอ่านปาฏิโมกข์ท่านก็มิได้อ่านปาฏิโมกข์ของธรรมคุปต์ แต่อ่านปาฏิโมกข์ของสรวาสติวาท (ของทิเบต)

ยิ่งไปกว่านั้น ท่านไม่ได้มีชีวิตที่อยู่ในปริบทของสังฆะ ท่านต่างคนต่างอยู่ เรียกว่า ภิกษุณีที่บวชตามสายมหายาน แต่ดำเนินชีวิตตามสายวัชรยานของทิเบตไม่น่าจะคงความเป็นสังฆะไว้ได้

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่แต่ละท่านล้วนมีความรู้ความสามารถ มีการศึกษาสูง ทั้งท่านกรรมะ เล็กเช โสโม (อเมริกา) และท่านจัมปา (เยอรมัน) ก็ได้ปริญญาเอกหลังจากที่ท่านบวชแล้วทั้งสิ้น ด้วยเห็นความสำคัญว่าเป็นภิกษุณีต้องมีฐานการศึกษาที่ดี แต่เมื่อไม่สามารถสร้างสังฆะได้ งานของท่านก็จะหมดไปในช่วงชีวิตของท่าน

นี่คือ ความแตกต่างระหว่างภิกษุณีสายทิเบต กับเถรวาท

 

เมื่อ พ.ศ.2550 องค์ทะไลลามะลงทุนมอบค่าลิขสิทธิ์หนังสือของท่าน 50,000 สวิสฟรังก์ ให้เป็นเงินทุนจัดการประชุมนานาชาติที่ฮัมบวร์ก เพื่อพูดคุยกันเรื่องการบวชภิกษุณีในสายสรวาสติวาทของทิเบต มีผู้เข้าร่วมจากทุกนิกาย ครั้งนั้น เป็นการประชุมนานาชาติที่เห็นภิกษุณีจากนิกายต่างๆ มากที่สุดก็ว่าได้

ในวันสุดท้ายองค์ทะไลลามะเสด็จมาร่วมบนเวทีเอง มีภิกษุ ภิกษุณีในทุกนิกาย 13 รูป ท่านธัมมนันทาเป็นคนที่พรรษาน้อยที่สุดบนเวที เสนอความคิดเห็นสนับสนุนให้นิกายทิเบตพิจารณาจัดการอุปสมบทภิกษุณีในสายทิเบต

เมื่อทุกรูปพูดจบ องค์ทะไลลามะหยิบเอกสารที่เตรียมมาอ่าน ใจความว่าต้องรอพระผู้ใหญ่ในทุกนิกาย

จบกัน แบบนี้ต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆ แหละ

แต่กลายเป็นว่า ความเคลื่อนไหวมาเกิดทางสายเถรวาท นำไปสู่การจัดการบวชภิกษุณีสายเถรวาทที่ออสเตรเลีย โดยการนำของพระอาจารย์พรหมวังโส จนภิกษุณีในออสเตรเลียตั้งคณะสงฆ์ได้สำเร็จในที่สุด