คำ ผกา | การเมืองเรื่องการให้

คำ ผกา

คุณูปการอย่างหนึ่งของโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ของตูน บอดี้สแลม คือการทำให้สังคมไทยหันมาตั้งคำถามเรื่องการให้, การบริจาค และหน้าที่ของการมีองค์กรการกุศลอีกครั้งหนึ่ง

ในทางศาสนาถ้าใครเคยอ่านพระคัมภีร์จะคุ้นเคยกับคำสอนที่ว่า “การให้ย่อมเป็นสุขกว่าการรับ”

ส่วนในทางศาสนาพุทธนั้นมีทั้งเรื่องการทำบุญกับวัด กับศาสนา และการทำทานกับเพื่อนมนุษย์

ทว่า “การให้” ที่อยู่ในมิติของศาสนา เช่น ศาสนาพุทธนั้นถือว่าทั้งการทำบุญและการทำทานเป็นการเพิ่ม “เนื้อนาบุญ” ให้แก่ผู้ให้ ยิ่งให้ยิ่งสะสมแต้มบุญได้มาก และนั่นหมายความว่าแต้มบุญที่สะสมไว้จะสั่งผลให้เรามีชีวิตสุขสบาย คลาดแคล้วจากเคราะห์

และเมื่อเกิดใหม่อีกครั้งในชาติหน้าเราก็ได้เกิดมาอย่าง “ผู้มีบุญ” เช่น ได้เกิดในครอบครัวที่ดี เกิดกับพ่อแม่ที่ดี เกิดในครอบครัวที่มั่งคั่งสืบๆ ไป เกิดมาแบบคาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด เกิดมามีผิวพรรณผุดผ่อง หน้าตาสวยหล่อ แบบที่เรามีคำชมกันแบบไทยๆ ว่า “ดูผิวพรรณเหมือนลูกผู้ลากมากดี” หรือ “ผิวสวยสมกับเป็นลูกคนมีชาติมีตระกูล”

ในวัฒนธรรม “โบราณ” การ “ให้” จึงเกี่ยวกับผู้รับน้อยกว่าผู้ให้ พูดง่ายๆ ว่าการทำทาน การบริจาค เป็น business หรือเป็นธุระของผู้ให้ เป็นผลประโยชน์ของผู้ให้ เป็นการสะสมบุญบารมี เป็นการให้คนอื่นเพื่อตนเองจะได้ผลประโยชน์จากการ “ให้” นั้น

ส่วนผู้รับที่อาจเป็นคนจน คนยากไร้ คนที่ไม่ข้าวกิน นั้นมีฟังก์ชั่นเป็น “สะพานบุญ” ผลตอบแทนที่สะพานบุญเหล่านี้ได้รับก็คือ ได้ข้าว ได้เงิน (จากการให้ทาน) ได้สิ่งของที่ผู้ใจบุญนำมามอบให้

ดังนั้น ในสังคมที่เชื่อเรื่องการสะสมเนื้อนาบุญจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เป็นสะพานบุญ

แล้วก็เชื่ออีกว่า คนจนเอย ขอทานเอย ก็ถูกลิขิตมาจาก “บุญกรรม” ของชาติที่แล้ว เช่น ชาติที่แล้วเป็นเศรษฐีขี้งก ไม่เคยทำบุญทำทาน ขอทานมาขอเงินก็ไล่ออกจากบ้านเหมือนหมูเหมือนหมา ชาตินี้เลยเกิดมาเป็นขอทาน ทำหน้าที่เป็น “สะพานบุญ”

หากทำหน้าที่เป็นสะพานบุญที่ดี ได้เงินได้ทองจากที่คนรวยมอบให้แล้วเจียดไปทำบุญไหว้พระบ้าง สะสมแต้มบุญไปทีละเล็กทีละน้อย ชาติหน้าอาจได้เกิดมาในสถานะที่ดีกว่าเดิม

ล่วงมาจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีปฏิบัติเช่นนี้ก็ยังคงมีพลังขับเคลื่อนสังคมอยู่อย่างมหาศาล

เราทำบุญ เราทำทาน เราบริจาค เราไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้าในวันเกิด หรือปีใหม่ ทั้งด้วยความรู้สึกว่าเราโชคดีที่มีชีวิตดีกว่าคนอื่นจึงควรแบ่งปันบ้าง

ทั้งคิดว่า เอาน่า เอาเงินไปช่วยคนยากไร้ดีกว่าเอาเงินไปถวายวัด เพราะพระสมัยนี้ทำตัวไม่ค่อยน่าถือเอาเสียเลย

ขณะเดียวกันก็แอบๆ คิดว่าการทำบุญทำทานนี้จะเป็นการสะเดาะเคราห์ ส่งผลให้การใช้ชีวิตของเราราบรื่น ปราศจากอุปสรรค (มั้ง) หรืออย่างน้อยก็รู้สึกว่า อ่ะ ฉันก็ได้ทำคุณงามความดีกับเขาบ้าง อือม รู้สึกดีกับตัวเองจังเลย

หรือแม้กระทั่งจะรู้สึกว่า สังคมแม่งโคตรไม่ยุติธรรม ทำไมเรามีบ้านอยู่ มีรถขับ มีงานทำ แล้วมีคนร่วมสังคมกับเราอีกส่วนหนึ่งโคตรลำบาก และเราก็สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย

เฮ้อ ทำอะไรไม่ได้ อย่างน้อยได้บริจาค ได้สมทบทุนมูลนิธินี้ นั้น โน้น เพื่อช่วยคนก็ยังดีวะ – คลายความรู้สึกไปได้บ้าง อะไรบ้าง

การทำทาน การให้ การบริจาค การตั้งมูลนิธิเพื่อช่วยเหลือคน เป็นเพียงการสำเร็จความใคร่ทางศีลธรรม และไม่ช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เป็นการเลี้ยงไข้ หล่อเลี้ยงการมีคนจนไว้เป็นวัตถุแห่งทานของผู้มั่งคั่งเท่านั้น – เสมอไปหรือไม่?

ถ้าถามแบบนี้ฉันก็ต้องตอบว่าไม่จริง

ก่อนที่จะตอบว่าไม่จริงก็ต้องอธิบายว่ารูปแบบของการทำการกุศล การบริจาค และการให้ในสังคมสมัยใหม่นั้นมีอยู่อย่างหลากหลาย และความหลากหลายนี้เกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมการเมือง

หลายๆ มูลนิธิ หลายๆ องค์กรก็ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของตนเองตามบริบทของสังคมและตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งคำถามด้วย เพราะการให้ในรูปแบบของการสงเคราะห์ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเกือบร้อยปีแล้วว่าเป็นการ “ให้” ที่ล้าหลัง เห็นแก่ตัว ทำเพื่อสนองตัณหาของคนรวยที่อยากสะสมบารมีเป็นนักบุญ

จากนั้นองค์กรการกุศลเกือบทั้งโลกก็ปรับกระบวนการทำงานของตนว่าเราจะไม่ทำงาน “สังคมสงเคราะห์” อย่างเดียวแล้วนะ เราต้องทำงาน “พัฒนา” ด้วย จึงเป็นที่มาของการทำ “องค์กรพัฒนาเอกชน” ที่ไม่แสวงหาผลกำไรขึ้นมาเยอะแยะไปหมด หรือที่เราเรียกว่า NGOs

หรืออภิมหาเศรษฐีของโลก ตั้งแต่มูลนิธิของร็อกกี้เฟลเลอร์ มูลนิธิฟอร์ด ก็ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อมุ่งเน้นการให้ทุนนักวิทยาศาสตร์ไปทำการวิจัยการเกษตร ให้ทุนนักวิชาการไปศึกษาในสาขาต่างๆ เพื่อลดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ หรือให้ทุนการศึกษากับนักศึกษา นักวิชาการจากประเทศด้อยพัฒนาเพื่อจะได้มีความรู้กลับไปพัฒนาประเทศชาติของตนเอง

และหลายนวัตกรรมบนโลกใบนี้ก็เป็นผลมาจากทุนสนับสนุนการวิจัยจากมูลนิธิเหล่านี้ เช่น การผสมพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อโรค ความแห้งแล้ง ได้ผลผลิตสูงมาก จนทำให้คนจนในหลายประเทศรอดพ้นจากความแห้งแล้ง อดอยาก เป็นต้น

ถามว่า แล้วอภิมหาเศรษฐีเหล่านี้ทุ่มเงินนับพันล้านหมื่นล้านไปกับการทำการกุศลทำไม?

เพราะเรายังมีรายชื่อของอภิมหาเศรษฐีที่ทำการกุศลระดับพันล้าน หมื่นล้านหลายคนไม่ว่าจะเป็นบิลล์ เกตส์ หรือวอร์เรน บัฟเฟตต์

ตอบอย่างตื้นเขินที่สุดก็คือ เมื่อเรามีเงินเป็น “ล้านล้าน” หากจะเจียดสักพันล้าน สองพันล้านไปกับการสร้างสิ่งที่เรียกว่า legacy หรือ “ตำนาน” ของเรา ของแบรนด์เรา ตระกูลเรา ที่ส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ – สิ่งนี้ไม่ใช่การลงทุนที่แพงเลย และไม่มีใครเสียหายอะไรเลย ทุกคนวิน-วินหมด

เราได้ช่วยคนเกือบค่อนโลก ขณะเดียวกันเราก็มี legacy ที่เงินซื้อไม่ได้

เศษเงินของอัครอภิมหาเศรษฐีโยนไปในประเทศเล็กๆ ที่แสนยากจนที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่ยากจนสักประเทศในแอฟริกาอาจจะมีมูลค่ามากกว่าจีดีพีของทั้งประเทศ เพียงแค่นี้คุณก็กลายเป็นเศรษฐีใจบุญในตำนาน

แต่ช้าก่อน แล้วอะไรที่ทำให้คนแบบคุณร่ำรวยมหาศาลเบอร์นั้น?

และในระหว่างเส้นทางแห่งความร่ำรวยนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่คุณไม่ได้เหยียบย่ำใคร หรือคุณไม่ได้ทำให้ใครอีกค่อนโลกต้องกลายเป็น “คนจน” หรือเจ็บปวดจากวิธีทำธุรกิจของคุณ?

เป็นไปได้หรือไม่ว่า ระหว่างเส้นทางแห่งความร่ำรวยระดับเมกะรวยนั้นคุณไม่ได้ฉกทึ้งทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อากาศบริสุทธิ์ หรือไม่ได้มีส่วนในการสร้างขยะมหาศาลไว้แก่โลกใบนี้?

หรือคุณไม่ได้มีส่วนในการสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีส่วนการสร้างสงครามขึ้นมา ณ จุดใดจุดหนึ่งบนโลก จนเกิดคลื่นของผู้ตกทุกข์ได้ยากจากสงคราม และผู้ลี้ภัยที่ต้องพลัดที่นาคาที่อยู่?

มันก็ต้องมีแหละ แต่ก็จะไม่มีใครอยากพูดถึงคุณในแง่นั้นเท่ากับการได้พูดถึงคุณในแง่ของนักบุญผู้สมถะ เศรษฐีที่ใช้เงินสามในสี่ของทรัพย์สินตนเองมาทำการกุศล (เพราะเงินอีกหนึ่งในสี่ที่มีก็ใช้ไปอีกสิบชาติก็ยังไม่หมด)

ยังไม่นับผลประโยชน์ตรงไปตรงมาในเรื่องภาษี หรือการเป็นใบเบิกทางสู่อภิมหาคอนเน็กชั่นที่กลายเป็นทุนสังคม การเมือง วัฒนธรรม อันมีค่ามากกว่า “เงิน”

และนี่ไม่ใช่มิติทางศีลธรรม คุณธรรมเท่านั้น เพราะองค์กรการกุศลเหล่านั้นและเศรษฐีใจบุญเหล่านี้ ไม่ได้แค่ทำงานสังคมสงเคราะห์ง่อยๆ อีกต่อไป พวกเขายกระดับมาเป็นผู้สนับสนุนหรือผู้ให้ทุนแก่องค์กรพัฒนาเอกชน หรือเป็นผู้ทำโครงการวิจัย ทำงานพัฒนาด้วยตนเองทั้งในประเทศของตนและในประเทศด้อยพัฒนา จนได้ชื่อว่าเป็น activist philanthropist หรือเป็นนักบุญที่เป็นนักขับเคลื่อนสังคมด้วย

อ้าว แล้วไม่ดีตรงไหน?

ใช่แล้ว ในประเทศประชาธิปไตยร้อยเปอร์เซ็นต์ เขามีคำถามแบบนี้ นั่นคือ นี่คือการเข้าไปทำงานที่มันควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาล – ก็ฟังดูดีนะ เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลไง

พูดอีกก็ถูกอีก แต่คำถามที่นักรัฐศาสตร์และนักสังคมวิทยาสนใจคือ ในสังคมประชาธิปไตย รัฐบาลมันต้องมี accontability หรือความรับผิด รับชอบต่อ voters หรือผู้ที่เลือกตัวเองมาเป็นรัฐบาล

คำถามคือ แล้วองค์กรการกุศลที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม การเมือง ไปพร้อมๆ กันเนี่ยะ มันมี accountability ต่อใคร?

และกิจกรรมของพวกเขา เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อความเข้มแข็งของประชาธิปไตยในระยะยาว?

นี่เป็นคำถามที่ไปไกลกว่าที่เราถกเถียงเรื่อง “พี่ตูน” กันมาก

เพราะไม่ได้เถียงแค่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือไม่?

แต่ถามแม้กระทั่งองค์กรการกุศลที่ทำงานเชิง “รุก” พยายามแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยซ้ำว่า เฮ้ย ระยะยาวมันจะไม่เป็นประชาธิปไตยหรือบ่อนทำลายหลักการประชาธิปไตยหรือไม่?

อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เน้นที่ “ความถูกต้องดีงาม”

แต่หลักการมันคือโลกเรานี่มีหลายกลุ่มผลประโยชน์ หลายความต้องการอยู่ร่วมกัน (แบบที่ประยุทธ์ชอบบ่นว่า นายกฯ คนเดียวจะทำถูกใจคนทั้งเจ็ดสิบล้านคนได้อย่างไร)

ทีนี้จุดลงตัวของประชาธิปไตยไม่ได้อยู่ที่อะไรถูกต้องหรือดีที่สุด แต่คืออะไรที่เป็น “ฉันทามติ” ของเสียงส่วนใหญ่ ก็ต้องเลือกสิ่งนั้น ต่อให้มันไม่ใช่สิ่งที่ “ถูก” ที่สุดก็ตาม

ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจึงเป็นการทำงานตาม “ฉันทามติ” ของเสียงส่วนใหญ่ หรือ voters

พูดง่ายๆ ว่าทำงานตามวาระหรือ agenda ที่ voters ขึ้นมาให้ จะถูก จะผิด จะเลว จะดี วัดกันที่ accountability เท่านั้น กับการที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจตลอดไปชั่วกาลนาน

แต่นักบุญที่ทำงานพัฒนาขับเคลื่อนสังคมด้วยวาระหรือ agenda ของตนเองที่เป็นเจ้าของเงิน และเราปฏิเสธไม่ได้ว่า “นักบุญ” ที่เป็น activist ไปด้วยพร้อมๆ กันนี้ล้วนแต่มีอุดมการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปีกซ้ายสุดไปจนขวาสุดโต่ง

หรืออาจมีบางคนที่อยู่ๆ ไปอินกับกระแสนิวเอจจิตวิญญาณจบลงด้วยการไปให้ท้ายกลุ่มศาสนาลัทธิสุดโต่ง เป็นต้น

หรืออยู่ๆ มีอัครเศรษฐีนักบุญและนักขับเคลื่อนทางสังคมทุ่มเงินเป็นหมื่นล้านต่อต้านการกินเนื้อสัตว์ ต้องการเปลี่ยนคนทั้งโลกให้เป็นวีแกน ขบวนการอะไรเทือกนี้ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่า ด้วยการเซ็ตอะเจนด้าของตัวมันเองไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มี accountabily ต่อใครเลยนอกจากตัณหาของตนเอง

นี่คือตัวอย่างของดีเบตว่า “การให้” ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย

ไม่นับคำถามพื้นๆ เช่น ความโปร่งใสในการจัดการเงิน หรือต้นทุนค่าบริหารจัดการองค์กรที่มักสูงกว่า “เงิน” ที่ใช้ไปกับการช่วยคนยากจนหรือคนที่ปัญหาจริงๆ

เช่น องค์กรที่ช่วยผู้ลี้ภัยใช้เงินไปกับการซื้อโฆษณาสื่อและจ้างทูตสันถวไมตรีที่เป็นดาราดังมากเกินไปหรือเปล่า และจำเป็นไหม

หรือแม้กระทั่งเงินเดือนบุคลากร บุคลากรขององค์กรการกุศลระดับเวิลด์คลาสที่อยู่เพนต์เฮาส์เดือนละสามแสน ด้วยเงินบริจาคห้าบาทสิบบาทจากคนเป็นแสนเป็นล้านคนที่บริจาคเพราะอยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ลำบาก

เขียนมาทั้งหมดก็เพราะไม่อยากจะพูดปากเปียกปากแฉะเถียงในเรื่องเดิมๆ ว่าจะวิ่ง จะบริจาคอะไรก็ได้ทั้งนั้นแหละ หากจะช่วย address สักนิดว่าต้นตอของความระยำตำบอนของประเทศนี้มันอยู่ที่ไหน และเหตุผลที่ต้องออกมาช่วย ออกมาวิ่งก็เพราะรัฐบาลมันตำบอนจนนิ่งดูดายไม่ได้

นอกจากนั้น ก็แค่อยากจะตอบคำถามคนที่ชอบมาเถียงว่า ประเทศไหนๆ ก็มีองค์กรการกุศล – เออ ก็มีแหละ และเขาก็ยังไม่เลิกตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์กันแรงๆ

อีกทั้งคำถามของเขาก็ไปไกลและกระตุกต่อมคิดสติปัญญา

ไม่ใช่ถูกวิจารณ์นิดๆ หน่อยๆ ก็คุยคายน้อยใจคนดีถูกบั่นทอนกำลังใจ เสียใจเหลือเกิน

และถ้ามั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำก็แค่ทำต่อ การวิจารณ์ก็เป็นธุระของคนวิจารณ์เพื่อสร้างบทสนทนาสร้างความแข็งแกร่งกันทางความคิด สติปัญญากันต่อ ก็เท่านั้น

ย้ำอีกครั้งว่า การวิจารณ์ การวิพากษ์ ไม่ใช่การเซ็นเซอร์หรือการพยายามหยุดหรือห้ามไม่ให้ใครทำอะไร ตราบเท่าที่มันไม่ใช่อาชญากรรม

แต่ เอ่อ การสนับสนุนการรัฐประหารเป็นอาชญากรรมด้วยตัวของมันเองอย่างไม่มีเงื่อนไขนะ เผื่อไม่ทราบ