เศรษฐกิจ/ขสมก.เดินหน้าพลิกวิกฤตหนี้แสนล้าน จับตาประมูลเมล์เอ็นจีวี 489 คันรอบใหม่ ระวังติดหล่ม!!

เศรษฐกิจ

ขสมก.เดินหน้าพลิกวิกฤตหนี้แสนล้าน

จับตาประมูลเมล์เอ็นจีวี 489 คันรอบใหม่ ระวังติดหล่ม!!

ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทันทีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดลองวิ่งรถเมล์ 8 เส้นทางใหม่ จากทั้งหมดที่มี 269 เส้นทางตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.)

เพราะนอกจากจะนำตัวอักษรภาษาอังกฤษมากำหนดสายรถเมล์แทนภาษาไทยจนทำเอาหลายคนออกอาการมึนงงแล้ว

ที่พูดถึงกันเป็นจำนวนมากคงเป็นการนำสติ๊กเกอร์สีไปแปะติดไว้เฉพาะด้านหน้าของรถเมล์ เพื่อบ่งบอกว่าเป็นรถเมล์เส้นทางไหน ตามแผนใหม่ของ ขสมก. ที่ต้องการใช้สัญลักษณ์สีเข้ามาแทนพื้นที่การเดินรถในเส้นทางเดียวกัน คือ

1. พื้นที่ทางทิศเหนือ ย่านรังสิต บางเขน มีนบุรี ใช้สีเขียว

2. ทิศใต้ ย่านปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์ ใช้สีแดง

3. ทิศตะวันตก ย่านพระประแดง พระราม 2 ศาลายา ใช้สีเหลือง

และ 4. ทิศตะวันออก ย่านหมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม ใช้สีน้ำเงิน

จนหลายคนเห็นแล้วก็รู้สึกได้ถึงความล้าสมัย เชย ดูเก่า จนไม่อยากใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม การทดลองครั้งนี้ จะใช้เวลา 1 เดือนเท่านั้น คือ สิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2560 จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้มาไปปรับปรุงเพื่อให้ตรงใจประชาชนผู้ใช้บริการมากขึ้น

การปรับเปลี่ยนของ ขสมก. ครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองได้ จากปัจจุบันที่มีภาระหนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาท โดยจากข้อมูลปี 2558 พบว่า ขสมก. มีรายได้รวมประมาณ 8 พันล้านบาท แต่กลับมีค่าใช้จ่ายถึง 1.28 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุน 4.79 พันล้านบาท ทำให้หนี้สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี

ทางออกที่จะช่วยพลิกฟื้นวิกฤตในครั้งนี้ได้จึงต้องเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จเท่านั้น

และนอกจากการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์แล้ว แผนฟื้นฟูกิจการที่สำคัญของ ขสมก. ยังมีเรื่องการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ (เอ็นจีวี) 489 คัน

ซึ่งรถเมล์ใหม่ดังกล่าวถือเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างกำไรให้กับ ขสมก.

เพราะเมื่อได้รถเมล์ใหม่มาแล้ว จะมีการติดตั้งระบบตั๋วโดยสารอัตโนมัติ (อีทิกเก็ต) เพื่อให้บริการผู้โดยสารแทนพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการให้บริการลงได้

ขณะเดียวกันก็จะสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะช่วยดึงดูดประชาชนให้หันมาใช้รถเมล์มากขึ้นด้วย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7-11 สิงหาคมที่ผ่านมา ขสมก. ได้เปิดขายซองเอกสารประกวดราคารถเมล์เอ็นจีวี 489 คันรอบใหม่แล้ว โดยใช้ราคากลางของบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาครั้งก่อนแต่ไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามระยะเวลาที่กำหนดเป็นราคากลาง คือ 3,389,710,819.50 บาท ปรากฏว่ามีเอกชน 3 รายซื้อซอง ได้แก่ 1.บริษัท ไทย เทคโนโลยี แอนด์ เดเวลอปเมนท์ จำกัด 2.บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด และ 3.กิจการร่วมค้า JVCC นำโดยบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)

ราคากลางดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ งบประมาณการจัดซื้อรถเมล์ที่มาจากเงินกู้ วงเงินประมาณ 1,735,549,998 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และงบประมาณการจ้างซ่อมบํารุงรักษารถโดยสารงบดําเนินงานของ ขสมก. ที่ตั้งไว้ในแต่ละปี วงเงิน 1,654,160,821.50 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตามขั้นตอนนั้นได้เปิดให้เอกชนยื่นเอกสารการประกวดราคาวันที่ 24 สิงหาคม จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติในวันที่ 1 กันยายน และเปิดให้ผู้มีสิทธิ์ยื่นเสนอราคาแข่งขันกันในวันที่ 8 กันยายน คาดว่าจะสามารถพิจารณาคัดเลือก และนําเสนอรายชื่อผู้ชนะการประมูลให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. พิจารณาอนุมัติได้ในวันที่ 20 กันยายน

จากนั้นจึงจะเชิญเอกชนผู้ชนะมาลงนามในสัญญา เบื้องต้นกำหนดรับมอบรถภายใน 90 วัน หลังจากวันลงนามสัญญาหรือประมาณปลายเดือนธันวาคม 2560 นี้

ส่วนกรณีที่เบสท์ริน สามารถซื้อซองได้นั้น ทางผู้บริหาร ขสมก. ระบุว่า สามารถทำได้เนื่องจากขณะนี้คดีฟ้องร้องระหว่างเบสท์ริน และ ขสมก. ยังไม่สิ้นสุด ศาลยังไม่มีการชี้ขาด

ในเรื่องนี้ นายประยูร ช่วยแก้ว ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันรอบใหม่พร้อมซ่อมแซมและบำรุงรักษา ได้เปิดขายซองประกวดราคาไปแล้ว มีบริษัทเอกชนสนใจซื้อซองประกวดราคาทั้งหมด 3 ราย จากนั้นก็จะเปิดให้เอกชนยื่นซองประกวดราคา และแข่งขันเสนอราคาผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในวันที่ 8 กันยายน

เมื่อได้บริษัทเอกชนที่ชนะแล้วจะนำเสนอให้บอร์ด ขสมก. อนุมัติ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในเดือนกันยายน จากนั้นส่งมอบรถได้ภายในปลายเดือนธันวาคมนี้ ดังนั้น จะมีรถเมล์ใหม่เข้ามาวิ่งให้บริการประชาชนในช่วงปีใหม่นี้ได้ทันพอดี

อย่างไรก็ตาม กรณีที่บริษัทเบสท์ริน ซึ่งเป็นผู้ชนะในโครงการดังกล่าวครั้งที่ผ่านมา ได้เข้าซื้อซองประกวดราคาด้วยนั้น ก็ต้องพิจารณาว่าปฏิบัติตามระเบียบพัสดุอย่างถูกต้องหรือไม่

เช่น ต้องไม่เป็นผู้ทิ้งงาน ไม่ถูกขึ้นบัญชีดำ เป็นต้น

หากปฏิบัติตามระเบียบถูกต้องก็มีสิทธิ์เหมือนกับบริษัทอื่นทั่วไป

ด้าน นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคมด้านขนส่ง และอดีตรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ตนดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญากับบริษัทเบสท์ริน และได้แจ้งว่าเป็นผู้ทิ้งงานด้วย

แต่ทางฝ่ายอนุกฎหมายของ ขสมก. แจ้งว่าควรต้องให้บริษัทเบสท์ริน ได้มาชี้แจงก่อน

ดังนั้น นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ในฐานะรักษาการ ผอ.ขสมก. จึงได้ยกเลิกคำสั่งว่าเป็นผู้ทิ้งงาน และยกเลิกการขึ้นบัญชีดำบริษัทเบสท์ริน ไปแล้ว

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้จัดหารถใหม่ประมาณ 1,000 คัน โดยประกอบภายในประเทศนั้น มีความเป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้ ขสมก. มีแผนจัดหารถเมล์ใหม่ แบ่งเป็น รถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน รถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) 200 คัน รถเก่าที่อยู่ในสภาพดีที่สามารถนำมาปรับปรุงใหม่ 646 คัน และรถใหม่อีก 1,665 คัน

โดยกลุ่มรถใหม่นี้น่าจะสามารถดำเนินการให้เกิดการประกอบรถภายในประเทศได้ แต่ตัวเครื่องยนต์ และแชสซีอาจต้องนำเข้า ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรม และการจ้างงานในประเทศได้ โดยอาจต้องทยอยทำ 6 เดือนแรก 1 ล็อต ดังนั้น ประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี ก็จะได้รถใหม่กลุ่มนี้ทั้งหมด

ท้ายที่สุดการจัดซื้อได้สำเร็จตามแผนที่วางไว้จริงหรือไม่ ยังไม่มีใครกล้าฟันธง นั่นก็เพราะผ่านมาหลายรัฐบาลก็ยังไม่มีใครสามารถผลักดันจนนำรถใหม่มาวิ่งให้ประชาชนได้แม้แต่คันเดียว!!