2021 ปีแห่งการต้องทบทวนตัวเอง ของ Facebook/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

2021 ปีแห่งการต้องทบทวนตัวเอง

ของ Facebook

 

ปี 2021 ที่ผ่านมาน่าจะเป็นอีกปีที่ Facebook ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายไปไม่น้อย

ตั้งแต่การตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทให้เป็น Meta เพื่อให้สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ก้าวไปไกลมากกว่าแค่การเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ไปจนถึงการถูกอดีตพนักงานนำเอกสารออกมาเปิดโปงพฤติกรรมผิดจริยธรรมของบริษัทที่ทำให้ชื่อเสียงของ Facebook ที่ไม่ค่อยสู้ดีอยู่แล้วได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีก

Frances Haugen อดีตพนักงาน Facebook ผู้ออกมาแฉให้ความเห็นกรณีที่ Facebook มุ่งผลักดันเมตาเวิร์สให้เกิดขึ้นว่า Facebook มักจะเลือกการขยายธุรกิจเข้าไปครอบคลุมพื้นที่ใหม่ๆ มากกว่าจะทุ่มเทสรรพกำลังไปกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ณ ปัจจุบันและทำให้ระบบความปลอดภัยพื้นฐานดีขึ้นกว่านี้

สิ่งที่ Haugen เคยออกมาเปิดโปงก็คืออัลกอริธึ่มของ Facebook ที่ตั้งใจออกแบบมาให้กระตุ้นอารมณ์โกรธของผู้ใช้โดยทำแม้กระทั่งการส่งเสริมถ้อยคำประเภท Hate speech เพื่อเพิ่มยอดรีชและยอดไลก์ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับโพสต์ต่างๆ เหล่านั้นให้ได้มากที่สุด

ยิ่งคนใช้เวลาอยู่บน Facebook มากเท่าไหร่ Facebook ก็ได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นเท่านั้น

จนนำมาสู่เหตุการณ์บุกยึดทำเนียบขาวของกลุ่มผู้สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

 

แพลตฟอร์ม Facebook ยังถูกนำไปโยงเข้ากับอาชญากรรมอีกหลายประเภท บางรูปแบบก็เป็นสิ่งที่ฉันเองก็นึกไม่ถึงว่ามีอะไรแบบนี้เกิดขึ้นด้วย

อย่างเช่น ผลการศึกษาล่าสุดที่ชี้ว่าอาชญากรใช้ Facebook เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนกลเม็ดเคล็ดลับเกี่ยวกับการขโมยชิ้นส่วนจากโบราณสถาน

นักอาชญาวิทยาที่มีชื่อว่า Samuel Andrew Hardy ได้ลองศึกษาวิธีการต่างๆ ที่โจรเหล่านี้ใช้ในการลักลอบขโมยโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะในคาบสมุทรบอลข่านทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป

เขาใช้วิธีสกัดและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากทั้ง Facebook และ Instagram รวมถึงแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่าง Etsy และ eBay ด้วย ก็พบว่ามีอาชญากรถึง 8,516 คนที่ทำงานร่วมกันในการหาซื้ออุปกรณ์ ช่วยกันระบุว่าโบราณสถานไหนที่เข้าไปขโมยของได้ง่าย และยังช่วยชี้เป้ากลุ่มลูกค้าที่จะสนใจรับซื้อด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มโจรเหล่านี้ก็ยังใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการแบ่งปันวิธีเอาตัวรอดจากการถูกเจ้าหน้าที่จับและยังให้คำแนะนำกันว่าจะลักลอบนำของที่ขโมยมาผ่านศุลกากรอย่างไรให้ปลอดภัย

แถมยังเล่นมุขขำขันกันเองว่าการขโมยของแบบนี้ไม่นับเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรอกตราบใดที่ไม่ถูกจับได้เสียก่อน

การลักลอบขโมยของจากโบราณสถานเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นรุนแรงโดยเฉพาะในประเทศที่ประสบอุบัติภัยร้ายแรงอย่างเฮติ อิรัก หรือเยเมน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศเหล่านี้เท่านั้น เพราะตัวเลขของการค้าขายของโบราณผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะทำให้พิพิธภัณฑ์หรือโบราณสถานต่างๆ ต้องปิดตัวลงชั่วคราวแต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหานี้ลดน้อยลงแต่อย่างใด

ซึ่งการค้าขายผิดกฎหมายออนไลน์ที่เกิดขึ้นนี้ส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Facebook นี่แหละ

 

ATHAR Project หรือกลุ่มที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการลักลอบค้าของโบราณออกมากล่าวประณาม Facebook ว่านอกจาก Facebook จะล้มเหลวในการตรวจสอบ ปล่อยให้โจรตั้งกลุ่มขนาดใหญ่บน Facebook ที่มีสมาชิกระดับหลายแสนแล้วก็ยังรับมือด้วยการลบสิ่งที่เป็นหลักฐานทางอาชญากรรมสงครามไปเสียอีก

ATHAR ทวีตภาพแคปเจอร์หน้าจอซึ่งเป็นโพสต์ที่โจรแชร์กันในกลุ่มบน Facebook โดยเป็นภาพถ่ายของกระเบื้องโมเสกในซีเรีย ภาพนี้แสดงให้เห็นว่ากลุ่มโจรได้ลักลอบเข้าไปในพื้นที่ได้สำเร็จและกำลังปฏิบัติการโจรกรรมอยู่อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นหลักฐานที่สามารถใช้ในการเอาผิดได้

อย่างไรก็ตาม Facebook กลับเลือกรับมือเรื่องนี้ด้วยการลบภาพทั้งหมดทิ้งไปเฉยๆ ATHAR บอกว่านับเป็นการทำลายหลักฐานและขัดขวางการดำเนินการทางกฎหมายไปอย่างไม่น่าให้อภัย

นักวิจัยจากกลุ่มนี้บอกว่าเป็นเรื่องที่น่าโมโหมากๆ ที่ Facebook ลบหลักฐานที่ผู้กระทำผิดเป็นคนโพสต์เองทิ้งไปแบบนี้ ทำให้นอกจากจะตามหาสมบัติโบราณที่ถูกขโมยไปคืนกลับมาไม่ได้แล้วก็ยังตามจับตัวคนร้ายไม่ได้อีกด้วย

 

นี่ถือเป็นปัญหาระดับโลกที่ Facebook ยังเลือกวิธีจัดการได้ไม่ถูกต้องนัก

ส่วนปัญหาที่ฉันเจอด้วยตัวเองก็ยังคาราคาซังและสร้างความเสียหายอยู่ทุกวันนี้แม้ว่าจะไม่ใช่ในสเกลที่ใหญ่ในระดับเดียวกันก็ตาม

คลิปวิดีโอรีวิวของฉันหลายคลิปโดยเฉพาะคลิปรีวิวนาฬิกา Apple Watch Series 6 ถูกกลุ่มมิจฉาชีพขโมยไปใช้หลอกขายของให้กับกลุ่มผู้ใช้งาน Facebook ชาวไทยนับครั้งไม่ถ้วน

โจรกลุ่มนี้เอาคลิปไปโฆษณาว่าเป็นนาฬิกาที่ราคาพิเศษเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันทำให้ส่งสินค้าออกไปขายไม่ได้ตามปกติทำให้ขายได้ในราคาที่ถูกมาก

มีเหยื่อจำนวนมากที่หลงเชื่อและติดต่อไปซื้อ บางคนพอจ่ายเงินและได้รับของปลอมไปก็ส่งข้อความมาต่อว่าฉันว่าไปโกหกเขาทำไม

หากฉันเข้าไปคอมเมนต์เตือนใต้โพสต์หลอกลวงนั้นก็จะถูกผู้ดูแลเพจลบคอมเมนต์ทิ้งทันที

ฉันพยายามติดต่อ Facebook ทุกวิถีทาง ทั้งแชต ทั้งส่งข้อความผ่านระบบ ทั้งอีเมลหลายต่อหลายครั้งเพื่อให้ Facebook ช่วยลบคลิปก่อนที่จะสร้างความเสียหายมากไปกว่านี้

ประสบการณ์การติดต่อ Facebook ทุกครั้งทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า Facebook เป็นหน่วยงานที่ติดต่อยากมาก และคนที่จะร้องทุกข์เรื่องอะไรนั้นต้องมีความอดทนสูงมากจริงๆ

คำตอบกลับที่ฉันได้รับก็คือ “หลังจากที่เราได้พิจารณาดูแล้วก็พบว่าโพสต์ดังกล่าวไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบของ Facebook แต่อย่างใด”

มิไยว่าฉันจะโต้เถียงกลับไปกี่ครั้ง ทุกครั้งคนตอบอีเมลจะเป็นคนละคนกันเสมอ และจะตอบเหมือนๆ กัน โดยมีเนื้อความโดยย่อก็คือ “ดูให้แล้ว ช่วยอะไรไม่ได้”

ทุกวันนี้ก็ยังมีคนถูกหลอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่เพจหลอกลวงพวกนี้ก็แตกหน่อเป็นไฮดรา เปลี่ยนชื่อเป็นเพจใหม่ๆ และยิงโฆษณาหลอกขายของที่ไม่มีอยู่จริงต่อไป

โดยมี Facebook ที่รับเงินโฆษณานั่งมองอยู่เฉยๆ

 

ฉันเข้าใจดีว่าต้องมีคนที่คิดว่าจะให้ Facebook ตรวจสอบทุกอย่างที่เกิดขึ้นในหมู่ผู้ใช้งานกว่า 2 พันล้านคนไหวได้อย่างไรในเมื่อ Facebook ใหญ่ขนาดนั้น

ในความคิดเห็นของฉันก็คือ ไหวค่ะ ทำได้ค่ะ ถ้าหากว่า Facebook ยอมลงทุนมากพอ ยอมได้กำไรน้อยลง และใส่ใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น จ้างคนดูแลเนื้อหาเพิ่ม วางไกด์ไลน์ให้แน่นหนา รอบคอบ และสมเหตุสมผลกว่าที่ผ่านมา เรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น

อุดรอยรั่วเดิมที่เคยมี หาทางป้องกันรอยรั่วใหม่ๆ มันก็จะไปถึงจุดที่ Facebook เป็นแพลตฟอร์มที่ดีกว่าทุกวันนี้ได้แน่นอน

ถ้าหาก Facebook สามารถพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้สามารถทำให้ดีขึ้นได้ด้วยเจตนารมณ์ที่โปร่งใสกับผู้ใช้งาน ผู้ใช้งานอย่างเราก็จะสบายใจขึ้น

ที่จะก้าวเข้าไปสู่เมตาเวิร์สพร้อมๆ กับ Facebook