นิธิ เอียวศรีวงศ์ | ภาษา

นิธิ เอียวศรีวงศ์

“จักรวาลนฤมิตร” จาก Metaverse เป็นศัพท์บัญญัติอันสุดท้ายของราชบัณฑิต หลังจากมีมาเป็นขบวนยาวเหยียด ที่สร้างความขบขันและบ่อนทำลายความชอบธรรมของการบัญญัติศัพท์ของตนลงหมด

เหตุผลของการบัญญัติศัพท์ที่ผมได้ยินมาตั้งแต่ยังเรียนปริญญาตรีก็คือ เพราะความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วที่สังคมไทยต้องเผชิญ ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมขึ้นจำนวนมาก จึงต้องมีใครสักกลุ่มหนึ่งเป็นผู้กำหนดชื่อของสิ่งนั้นๆ ให้ตรงกัน ถ้าไม่ทำ คนไทยจะพูดกันไม่รู้เรื่องในเวลาอีกไม่นานข้างหน้า เพราะต่างใช้คำอย่างสับสนจนสื่อความกันไม่ได้ แล้วจะให้ใครเป็นคนกลุ่มนั้นได้ดีไปกว่าราชบัณฑิตล่ะครับ

แต่คนไทยก็อยู่ร่วมกันมาด้วยภาษาที่สื่อกันได้สบายๆ ก่อนจะมีราชบัณฑิตเกิดขึ้นในโลกมาหลายร้อยหลายพันปีแล้ว แม้สิ่งใหม่ๆ ที่มาปรากฏขึ้นยังไม่มากเหมือนปัจจุบัน แต่ก็มีสิ่งใหม่ๆ โผล่เข้ามาในสังคมไทยอยู่ตลอดมาอย่างแน่นอน แล้วทำไมสังคมไทยจึงยังสื่อความกันได้ตลอดเล่าครับ

แล้วศัพท์บัญญัติอย่างจักรวาลนฤมิตรนั้น (และอื่นๆ อีกมาก) ไม่ทำให้สับสนหรือครับ

ในบรรดาเหตุผลที่ให้ความชอบธรรมแก่การกระทำต่างๆ นั้น เหตุผลนี้ดูจะห่วยระดับน้องๆ ของเหตุผลที่กองทัพใช้ในการทำรัฐประหารทุกครั้ง

ก่อนที่ราชบัณฑิตจะมอบหมายภารกิจบัญญัติศัพท์ให้ตนเอง ผู้บัญญัติศัพท์ใหญ่สุดของประเทศคือกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ในพระนิพนธ์บทความที่พูดถึงเรื่องนี้ นอกจากอธิบายเหตุผลทางภาษาของแต่ละศัพท์ที่บัญญัติขึ้นแล้ว ท่านก็ทรงทราบอย่างดีว่า ไม่ว่าจะคิดดีคิดละเอียดมาอย่างไร ผู้ตัดสินว่าจะใช้ศัพท์บัญญัตินั้นหรือไม่คือเจ้าของภาษาไทย ท่านใช้คำว่า “ติด” บางศัพท์ที่ท่านบัญญัติขึ้นก็ติด บางศัพท์ก็ไม่ติด คือไม่มีใครเขาใช้ตาม แต่ท่านก็ไม่ได้สรุปความคิดถึงขั้นที่จะบอกได้ว่า ทำไมถึงติดและทำไมถึงไม่ติด

อย่างน้อยตอนที่ท่านเขียนบทความเหล่านั้น ท่านก็ยอมรับว่านายของภาษาไทยคือคนไทย ไม่ว่าใครจะเรียนหนังสือเชี่ยวชาญด้านภาษามาแค่ไหน เขาก็เป็นเพียงผู้เสนอความเห็นเท่านั้น

อันที่จริงราชบัณฑิตจะทำอย่างนั้นบ้างก็ได้ และอาจทำได้ดีกว่าด้วย เท่าที่ผมนึกออกก็เช่น

ในปัจจุบัน ก่อนที่ราชบัณฑิตจะผลิตศัพท์บัญญัติคำใดขึ้นมา มีคนอื่นโดยเฉพาะนักวิชาการได้บัญญัติขึ้นก่อนแล้ว ในเชิงทดลอง ยิ่งมีนักวิชาการจำนวนมากที่เขียนบทความในภาษาไทย ก็ยิ่งมีศัพท์บัญญัติเชิงทดลองหลายคำมาก เช่น นอกจากคำว่า “วาทกรรม” ซึ่งบัญญัติขึ้นจากคำว่า discourse ในแนวคิดของนักคิดสำนักหลังสมัยใหม่ของยุโรป ก็ยังมีศัพท์บัญญัติอื่นๆ อีกหลายคำที่มีผู้ประดิษฐ์ขึ้น

ราชบัณฑิตน่าจะมีคนหรือกลุ่มคนที่คอยเก็บรวบรวมศัพท์บัญญัติเหล่านี้ เพื่อติดตามดูว่าคำไหนจะติดหรือไม่ติด และในฐานะนักวิชาการ จะวิพากษ์วิจารณ์ตามความเห็นส่วนตัวว่าคำไหนบัญญัติได้ดีหรือไม่ดีอย่างไรก็ได้ แต่ไม่บังคับให้ใครเชื่อ จนแน่ใจแล้วว่าคำไหนในบรรดาที่ถูกบัญญัติขึ้นหลายคำนั้น “ติด” อย่างชัดเจน ก็เก็บลงบัญชีศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิต จะเป็นบัญชีต่างหากหรือรวมเข้าไปในพจนานุกรมก็ได้

ถ้าทำอย่างนั้น คนไทยก็ยังคงเป็นเจ้าของภาษาไทยอยู่ต่อไป ไม่เป็นสมบัติของคนส่วนน้อยที่คนไทยต้องหยิบยืมมาใช้เท่านั้น

อันที่จริง วิธีที่ง่ายกว่าการบัญญัติศัพท์คือทับศัพท์ภาษาต่างประเทศไปเลย (ดังเช่นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งอาจจะออกเสียงไม่ตรงกับภาษาเดิมก็ไม่เป็นไร เพราะมันกลายเป็นคำญี่ปุ่นไปแล้ว) แต่ชนชั้นนำไทยกลับไม่ชอบวิธีทับศัพท์ เสด็จในกรมพระองค์ที่ผมกล่าวถึงมีความเห็นว่า การทับศัพท์หรือยืมคำต่างประเทศมาใช้โดยตรงจะทำให้สังคมเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ยากที่จะกำหนดจังหวะและขนาดของความเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น เราจึงควรหาทางบัญญัติศัพท์ในภาษาไทยขึ้นใช้แทนคำที่ต้องยืมเหล่านั้น

ยิ่งคิดก็ยิ่งเห็นปัญญาญาณอันลึกซึ้งของท่านนะครับ ถ้าเราเรียกรัฐบาลว่ากัดฟันมัน (government) ป่านนี้เราคงมองรัฐบาลเป็นเรื่องของอำนาจ ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างหนัก เพราะอาจมีอันตรายแก่รัฐและประชาชนได้ แต่เพราะเราไปเรียกว่ารัฐบาล จึงทำให้มองเห็นว่ามันมีหน้าที่อภิบาลรัฐ กลับไปเกิดความวางใจกับสิ่งที่ไม่ควรวางใจด้วยประการทั้งปวง

อย่างไรก็ตาม ผมรู้ดีว่าข้อเสนอแนะของผมให้ราชบัณฑิตบัญญัติศัพท์ด้วยการฟังเสียงชาวบ้านเป็นเรื่องเพ้อฝัน ในฐานะหน่วยงานหนึ่งของรัฐสมัยใหม่และรัฐรวมศูนย์ อย่างไรเสียภาษาก็ต้องถูกกำหนดกะเกณฑ์และควบคุมอย่างใกล้ชิด เพราะภาษาคือพื้นที่สำคัญ (เสียยิ่งกว่าศาลากลางจังหวัด) ในการควบคุมความแตกต่างหลากหลายของท้องถิ่น และการดิ้นรนเป็นอิสระจากการควบคุมจากรัฐของผู้คน

รัฐสมัยใหม่อันมีลักษณะรวมศูนย์ ทั้งในยุโรปและรัฐอาณานิคมเอเชีย ล้วนต้องสถาปนาภาษาแห่งชาติขึ้น โดยเปิดเผยตรงไปตรงมา หรือโดยทางปฏิบัติ ความจำเป็นที่รัฐและประชาชนต้องสื่อสารระหว่างกันมีเพิ่มขึ้นอย่างเหลือล้น เมื่อเทียบกับรัฐโบราณ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีภาษา “กลาง” อันหนึ่งสำหรับการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่ถ้าเรามองเฉพาะความจำเป็นด้านการบริหารเพียงอย่างเดียว ก็อาจบดบังมิติด้านอำนาจในกระบวนการสถาปนาภาษา “กลาง” ขึ้น ดังจะเห็นได้ว่า ส่วนใหญ่ของภาษาที่ถูกเลือกให้ใช้เป็น “มาตรฐาน” มักไม่ใช่สำเนียงภาษาที่มีคนใช้มากที่สุด (เช่น ภาษาอีสาน) แต่กลับเป็นภาษาในสำเนียงของชนชั้นนำต่างหาก

ยิ่งไปกว่าการเลือกสำเนียงใดเป็นภาษาแห่งชาติ คือการบังคับผ่านการศึกษาและสื่อมวลชน (ซึ่งก็เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่สำนึกแห่งชาติกำลังก่อตัวเช่นกัน) ที่จะทำให้ผู้ซึ่งคล่องในสำเนียงนั้นได้เปรียบ อย่างมากในบางกรณี และไม่น้อยในบางกรณี ลองนึกถึงสมัยที่ผมเป็นเด็ก ก่อนที่ภาษากรุงเทพฯ จะแพร่หลายในอีสานหรือภาคเหนือ เด็กที่นั่นจะต้องแปลความหมายของแบบเรียนทุกเล่ม ในขณะที่ผมซึมซับความหมายได้โดยไม่รู้สึกตัว ใครจะอ่านหนังสือออกเร็วกว่ากัน

หนักขึ้นไปกว่านี้คือ เพียงไม่นานมานี้ เด็กในภาคใต้ตอนล่าง พูดมลายูท้องถิ่นเป็นภาษาน้ำนมเพียงภาษาเดียว จะให้พ่อแม่ของเขาส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐซึ่งพูดแต่ภาษาซึ่งฟังไม่รู้เรื่องได้อย่างไร (ยังไม่พูดถึงเนื้อหาของหลักสูตรที่ลำเอียงข้าง “สิแย” อย่างไม่ลืมหูลืมตา) ความนิยมส่งลูกหลานเข้าเรียนปอเนาะและตาดีการ์ย่อมเป็นปรกติธรรมดาไม่ใช่หรือ

อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชอบเล่าว่า เมื่อมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ครั้งแรก ตอบคำถามครูในชั้นเรียนประโยคเดียว เพื่อนร่วมชั้นเฮกันลั่นเลย เพราะท่านพูดภาษาไทยแบบราชบุรี คือ “เหน่อ” อย่างน่าขันในหูของเด็กกรุงเทพฯ นั่นยังดีกว่าเด็กอีสาน, เด็กเหนือและใต้ ที่ไม่กล้าพูดเลยเพราะไม่มั่นใจว่าจะพูดภาษากลางได้ถูกหรือไม่

รัฐรวมศูนย์ยึดเอาภาษาซึ่งเป็นพื้นที่ต่อรองสำคัญสุดของคนในส่วนภูมิภาคไปหมด เท่ากับปิดปากคนเหล่านั้น และในหลายกรณีก็เท่ากับปิดหูปิดตาด้วย เพราะไม่มีทางรู้ หรือยากที่จะรู้ ข่าวสารบ้านเมืองจากสื่อมวลชน ไม่ว่าของรัฐหรือเอกชนได้ ความเหลื่อมล้ำของชนบทกับเมือง เริ่มต้นที่ภาษาก่อน สิทธิในการเปลี่ยนแปลง (หรือที่เรียกว่า “พัฒนา”) จึงไม่มีทางเป็นของคนที่ไม่คล่องภาษากรุงเทพฯ ต้องให้คนซึ่งคล่องภาษามาตรฐานเป็นผู้คิดและตัดสินใจให้เสมอ

มองภาษาจากแง่อำนาจ ก็จะเข้าใจนโยบายด้านภาษาของรัฐไทยได้ดี ทำไมจึงต้องชุมนุมราชบัณฑิตมากำหนดให้ใช้คำอะไรแทนความคิดอะไรในภาษาต่างประเทศ ทำไมภาษาไทยของครูภาษาไทยจึงสอนแต่เรื่องถูก-ผิด ไม่ให้ความสำคัญแก่การใช้ภาษาอย่างมีพลังและประสิทธิภาพ (จนทำให้คนไทยไม่กล้าพูดหรือเขียนอะไรเพราะกลัวพูดผิดเขียนผิด… เสรีภาพมีอันตรายเพราะอาจใช้ “ผิด” ได้) ทำไมจึงต้องมีวุฒิบัตรแก่คนไทยที่จะมีอาชีพเป็นโฆษกในสื่อมวลชน ทำไมรัฐบุรุษไทยจึงไม่เห็นด้วยที่จะใช้ภาษามลายูเป็นสื่อการสอนในโรงเรียนชั้นประถมของภาคใต้ตอนล่าง ทำไมวรรณคดีแห่งชาติจึงไม่มีวรรณคดีของอีสาน, เหนือ, ใต้ และทำไมอื่นๆ อีกมาก

แต่คนไทยก็เหมือนคนอื่นๆ ทั้งโลก คือไม่ยอมรับการบังคับกดขี่โดยดุษณี กลับดิ้นรนแหกคอกทางภาษาไปในทางต่างๆ การนำเอาสำนวนท้องถิ่นเข้ามาปนกับภาษาไทยกลางก็เป็นส่วนหนึ่งซึ่งทำกันมานานแล้ว (เช่น ไปโลด, ลำขนาด, แซบอีหลี ฯลฯ) การรื้อฟื้นอักษรและภาษาท้องถิ่นกลับมาเรียนกันใหม่ปรากฏในทุกภาค แต่ก็ไม่ถึงกับสร้างงานเขียนขึ้นใหม่ (เพราะมันอาจจะสายเกินไปแล้ว)

ภาษาเขียนของไทยแปรไปใกล้ภาษาพูดมากขึ้น นี่อาจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาษาอื่นๆ ทั่วโลก แต่ภาษาพูดเปิดรับสำนวนใหม่ที่ประชาชนเจ้าของภาษาคิดขึ้นเอง (ไม่ได้มาจากราชบัณฑิต) จากสำนวนภาษาถิ่น หรือแม้แต่จากภาษาต่างประเทศได้ง่ายขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภาษาพูดเปิดกว้างและยืดหยุ่นกว่าภาษาเขียน จึงตกอยู่ใต้การบังคับควบคุมได้ยากกว่า

ในปัจจุบัน สำนวนใหม่เกิดขึ้นรวดเร็วจนคนที่ไม่มีโอกาสสื่อสารกับคนวัยอื่นอย่างกว้างขวางเช่นผมตามไม่ทัน เมื่ออ่านงานเขียนในสื่อโซเชียลจึงพบศัพท์ที่ไม่รู้ความหมายอยู่บ่อยๆ ต้องจำไปถามคนอื่นที่รอบรู้คำเหล่านี้มากกว่าเสมอ อันที่จริงสำนวนใหม่เหล่านี้หลายคำ ไม่ใช่คำที่ถูกใช้เพื่อให้เท่ แต่เป็นคำที่อ้างถึงอารมณ์ใหม่, ความสัมพันธ์ใหม่, ประสบการณ์ใหม่ ฯลฯ ซึ่งไม่อาจหาคำไทยที่มีมาแต่เดิมทดแทนได้ จำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมากเช่นนี้แปลว่าอะไร? ผมคิดว่ามันแปลว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้เป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงจนเกินกว่ารัฐจะควบคุมจังหวะหรือขนาดได้เสียแล้ว เรื่องจะทับศัพท์หรือไมทับศัพท์นั้นเป็นเรื่องล้าสมัยไปโดยสิ้นเชิง จะเรียกว่า Metaverse หรือจักรวาลนฤมิตรก็ไร้ความสำคัญทางด้านอำนาจทั้งคู่

ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงการแหกคอกทางภาษาครั้งมโหฬารของการประท้วงในท้องถนนช่วงนี้ ไม่แต่เพียงคำหยาบซึ่งเป็นการละเมิด linguistic propriety หรือความเรียบร้อยเหมาะสมทางภาษาเท่านั้น ผมคิดว่าการจัดวางตัวตนทางภาษา (เช่น ระหว่างผู้พูดกับผู้ที่ถูกพูดถึง หรือพูดด้วย) คือความตั้งใจจะละเมิดความเรียบร้อยเหมาะสมโดยตรง ไม่ใช่ความเรียบร้อยเหมาะสมทางภาษาเท่านั้น แต่เป็นความเรียบร้อยเหมาะสมทางสังคมเลยทีเดียว กระทบถึงมาตรฐานของความสัมพันธ์เชิงช่วงชั้นตามประเพณีไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรอำนาจ การเรียกผู้ดำรงตำแหน่งสูงทางการเมืองว่าวรนุช ไม่ใช่การ “ด่า” แต่เป็นการลดสถานภาพตามประเพณีของเขามาให้เท่ากับเพื่อนของผู้พูด และนายกรัฐมนตรีของสังคมประชาธิปไตยก็ไม่ควรเป็นอะไรมากกว่านั้นไม่ใช่หรือ

ขึ้นชื่อว่าความเรียบร้อยเหมาะสม ไม่ว่าในทางใด คือการควบคุมอย่างหนึ่งทั้งนั้น

ภาษาไทยกำลังอยู่ในช่วงที่ตื่นเต้นเร้าใจที่สุดช่วงหนึ่ง