กรองกระแส/การนิ่ง ความเงียบ จาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ “พลานุภาพ”

กรองกระแส

การนิ่ง ความเงียบ จาก ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ “พลานุภาพ”

ไม่เพียงแต่สภาวะ “นิ่ง” อันดำรงอยู่ภายในพรรคเพื่อไทยจะนำไปสู่สภาวะ “ไม่นิ่ง” ต่อ “กรณี 25 สิงหาคม”

หากในที่สุดแล้ว สถานการณ์นี้ได้สะท้อนลักษณะการต่อสู้อย่างเห็นได้ชัด

เท่ากับเป็น “มิติ” ใหม่ ในทาง “การเมือง”

นับแต่ปลายเดือนกรกฎาคมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สังคมเห็นการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักจากทางด้านของ คสช. ทางด้านของรัฐบาล

แต่มองไม่เห็น “อะไร” จากทางด้านของพรรคเพื่อไทย

อย่างมากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปยังพื้นที่ภาคกลางและใน กทม.

คือการเข้าวัด ไหว้พระและขอพร

คนของพรรคเพื่อไทยออกมายืนยันว่า “เราไม่มีจุดยืนของพรรคและไม่มีการเตรียมการใดๆ ในเรื่องนี้” เช่นเดียวกับคนของ นปช. ที่ออกมายืนยันว่า “จะไม่มีการเมืองทั้งบนดินและใต้ดิน ไม่มีการปลุกระดมใครเข้ามา”

คำถามก็คือ แล้วจำนวนมวลชน 3,000-3,500 ตามการคาดหมายของทหารและตำรวจมาได้อย่างไร

ความเคยชิน การเมือง

จาก 2516 ถึง 2557

สังคมไทยมีบทเรียนทางการเมืองตั้งแต่การเคลื่อนไหวก่อนและหลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ต่อเนื่องมาล่าสุดคือการเคลื่อนไหวก่อนการรัฐประหารสำคัญ 2 ครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นก่อนเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นก่อนเดือนพฤษภาคม 2557

เราล้วนต่างเห็น “เจ้าภาพ” อย่างเด่นชัดว่าก่อนสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เป็นใคร ก่อนสถานการณ์เดือนกันยายน 2549 เป็นใคร ก่อนสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2557

แต่ก่อนวันที่ 25 สิงหาคม เหมือนกับชัด แต่ก็ไม่ชัด

ชัดเพราะทางด้านกลไกอำนาจรัฐออกมาระบุ “จากการข่าวพบว่า ขยับกันทั้งประเทศ มีการระดมคนชักชวนกันมา ปากต่อปาก ชวนกันมาจังหวัดละ 10-20 คนทั้งประเทศ มีเพียง 10 จังหวัดเท่านั้นที่ไม่ระดมคนมา ที่เหลือมากันหมด แต่บอกไม่ได้ว่าเป็นแนวร่วมกลุ่มไหน”

คำถามก็คือ หากเป็นจริงตาม “การข่าว” กลไกอำนาจรัฐไม่ว่า กกล.รส. ไม่ว่าผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ว่านายอำเภอ ไม่ว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ว่าผู้บริหาร อปท. ปล่อยมาได้อย่างไร ปล่อยให้เล็ดลอดเข้ามายังบริเวณหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อย่างไร

เท่ากับยืนยันว่า การเคลื่อนไหวนี้ดำเนินไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรใด พรรคการเมืองใด

การต่อสู้ มิติใหม่

ต่อสู้ในความเงียบ

นับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา เหมือนกับว่าพรรคเพื่อไทยมิได้ต่อสู้ แข็งขืนใดๆ ในทางการเมือง

ตกอยู่ในสภาพตั้งรับและยอมรับมาโดยตลอด

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในสถานะถูกกระทำ ตั้งแต่การเสนอถอดถอนโดย ป.ป.ช. ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นก็นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

หากมองจากบทเรียนเมื่อเดือนเมษายน 2552 และโดยเฉพาะบทเรียนเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 พรรคเพื่อไทยและพันธมิตรคือ นปช. น่าจะมีการขับเคลื่อน แต่ก็ไม่มีอะไร

อาจเป็นเพราะเกรงกลัวต่ออำนาจอันแข็งแกร่งของ คสช. อาจเพราะเอกภาพภายในพรรคเพื่อไทย เอกภาพภายใน นปช. แทบไม่เหลืออยู่ในความเป็นจริง เพราะไม่สามารถทำกิจกรรมอะไรได้เลยในทางการเมือง

สถานการณ์จึงขับเคลื่อนจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งมาถึงสถานการณ์ในวันที่ 25 สิงหาคม

ท่าทีของ คสช. และของรัฐบาลเหมือนกับว่าจะมีการต่อสู้แข็งขืนจากพรรคเพื่อไทยและ นปช. คนเสื้อแดง แต่ก็ไม่สามารถค้นพบอะไรได้นอกจากสภาพการยอมรับเหมือนที่เคยยอมรับ ด้านหลักจึงเป็นความนิ่งและความเงียบมากกว่าการเคลื่อนไหว

หรือว่าการนิ่งและความเงียบจะกลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมือง

กรณี 25 สิงหาคม

บทเรียน การเมือง

ไม่ว่าการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะออกมาอย่างไร

แต่กรณีก็ได้สร้าง “ปรากฏการณ์” ในทางการเมืองขึ้นมาแล้ว

เหมือนกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะไม่สู้ในเรื่องนี้ เหมือนกับพรรคเพื่อไทยจะไม่มีมติว่าจะขับเคลื่อนไหวอย่างไรในเรื่องนี้ เหมือนกับ นปช. ซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดอย่างยิ่งในเรื่องนี้จะอยู่ในความนิ่งและอยู่ในความเงียบ

กระนั้น การนิ่งและความเงียบนี้ก็สร้างความหวั่นไหวให้เป็นอย่างสูงจากการแสดงออกของ คสช. และของรัฐบาล