การเมืองเรื่องศาสนา ในพระแก้วมรกต | สุจิตต์ วงษ์เทศ

พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ข้ามพรมแดนเผ่าพันธุ์ก่อนมีรัฐชาติ ซึ่งถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลทางศาสนาการเมือง หรือการเมืองเรื่องศาสนา

เริ่มแรกพระแก้วมรกตถูกสร้างให้เป็นศาสนา-การเมืองในวัฒนธรรมลาวลุ่มน้ำโขง ต่อมาถูกทำให้เป็นศาสนา-การเมืองในวัฒนธรรมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ศาสนาโดยกำเนิดมีการเมืองตั้งแต่ยุคศาสนาผี (เป็นศาสนาเก่าแก่ที่สุดในโลก และมีคนนับถือมากที่สุดในโลก) จนถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ (เห็นได้ชัดเมื่อพระเจ้าอโศกใช้พุทธศาสนาเพื่อการเมืองสมัยนั้น)

 

พุทธในล้านนา

ศาสนาพุทธในล้านนารับจากลังกา (ไม่อินเดีย) ผ่านเมืองละโว้ (ไทยสยาม), เมืองพัน (มอญ-พม่า), และอาจผ่านบ้านเมืองอื่นๆ อีกก็ได้ เพราะล้านนาอยู่ดินแดนภายในซึ่งไม่ติดทะเล

ล้านนารับศาสนาพุทธตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2000 มี 3 ระลอก พบความทรงจำเป็นร่องรอยและหลักฐานอยู่ในตำนานว่าแบ่งเป็น 2 นิกาย ได้แก่ นิกายลังกาวงศ์เก่า กับนิกายลังกาวงศ์ใหม่ [ข้อมูลพุทธศาสนาแผ่ถึงล้านนาได้จาก “บทนำเสนอตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่และเชียงตุง” ของ ประเสริฐ ณ นคร (ในหนังสือตำนานมูลศาสนาเชียงใหม่ เชียงตุง โดย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร และ ปวงคำ ตุ้ยเขียว สมาคมประวัติศาสตร์ฯ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2537 หน้า 1-13)]

1. ลังกาวงศ์เก่า แผ่ถึงล้านนา 2 ระลอก ดังนี้

ระลอกแรก ขึ้นไปจากเมืองละโว้ สมัยจามเทวี (มักเรียกทั่วไปว่าสมัยทวารวดี) ราวหลัง พ.ศ.1200

ระลอกสอง ขึ้นไปจากนครพัน (เมืองมอญ ในพม่า) ผ่านเมืองสุโขทัย, ไปเมืองลำพูน โดยพระมหาสุมณเถร แล้วเข้าเมืองเชียงใหม่ ราว พ.ศ.1912

มีศูนย์กลางอยู่วัดสวนดอก เมืองเชียงใหม่ ทำให้ลังกาวงศ์เก่าถูกเรียกว่า “ฝ่ายสวนดอก” นับถือพระพุทธสิหิงค์

2. ลังกาวงศ์ใหม่ แผ่ถึงล้านนาเป็นระลอกที่สาม (สุดท้าย)

ระลอกสาม ขึ้นไปจากลังกาโดยพระมหาธรรมคัมภีร์ (หรือญาณคัมภีร์) ผ่านอยุธยา พ.ศ.1972 แล้วขึ้นเมืองเชียงใหม่ ราว พ.ศ.1973

มีศูนย์กลางอยู่วัดป่าแดง เมืองเชียงใหม่ ทำให้ลังกาวงศ์ใหม่ถูกเรียกว่า “ฝ่ายป่าแดง” นับถือพระแก้วมรกต

 

ลังกาเก่า “พิพาท” ลังกาใหม่

พระสงฆ์สองฝ่ายลังกาวงศ์เก่า-ลังกาวงศ์ใหม่มีข้อพิพาทต่างกล่าวหาโจมตีซึ่งกันและกันโดยมีบอกในตำนานหนักไปทาง “รูปแบบ” ไม่ใช่ “เนื้อหา” ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะท้ายสุดแล้วรุนแรง จึงน่าจะขัดแย้งเกี่ยวกับ “แนวคิด” ซึ่งมีผลทางการเมือง เพียงแต่ขณะนี้ไม่พบหลักฐานตรงๆ จะบอกได้ว่าแนวคิดเรื่องอะไร? ต่างกันอย่างไร? คงพบแต่แนวคิดรวมๆ เน้นความเชื่อเรื่อง “ผู้มีบุญ” ว่าพระราชามาจาก “ผู้มีบุญ” ที่สั่งสมบุญบารมีไว้เมื่อชาติก่อน ทำให้ชาตินี้มีความมั่งคั่งจากการค้าขาย ซึ่งเท่ากับสามัญชนคนพ่อค้าสามารถเป็นกษัตริย์ได้ เพราะมั่งคั่งจากการสั่งสมเรื่อง “ผู้มีบุญ”

ฝ่ายสวนดอก (ลังกาวงศ์เก่า) กล่าวว่าพระสงฆ์แตกแยกกันเพราะมีฝ่ายป่าแดง (ลังกาวงศ์ใหม่) ต่อมาฝ่ายป่าแดง (ลังกาวงศ์ใหม่) กล่าวว่าฝ่ายสวนดอก (ลังกาวงศ์เก่า) แต่ไหนแต่ไรไม่เป็นพระภิกษุสักรูปเดียว เพราะมีข้อผิดพลาดสารพัด

ช่วงแรกฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่พ่าย แต่ช่วงหลังลังกาวงศ์ใหม่กลับพุ่ง-รุ่งเรือง

เจ้าสามฝั่งแถน กษัตริย์เชียงใหม่ขับพระสงฆ์ฝ่ายป่าแดง (ลังกาวงศ์ใหม่) ออกจากเชียงใหม่ พ.ศ.1977 ไปรุ่งเรืองอยู่ในเชียงราย, เชียงแสน, พะเยา, ลำปาง, เชียงตุง

เจ้าติโลกราชขึ้นเป็นกษัตริย์เชียงใหม่ (ต่อจากเจ้าสามฝั่งแกน) ยกย่องสนับสนุนฝ่ายลังกาวงศ์ใหม่รุ่งเรืองในล้านนา ตั้งแต่ พ.ศ.1984

 

ปะทะกันในตำนาน

ลังกาวงศ์เก่า (วัดสวนดอก) นับถือพระพุทธสิหิงค์ซึ่งหล่อด้วยโลหะทองสำริด ส่วนลังกาวงศ์ใหม่ (ฝ่ายป่าแดง) นับถือพระแก้วมรกตซึ่งแกะสลักจากหินเขียว แต่งตำนานว่าพระแก้วมรกตเหนือชั้น มั่นคง แข็งแรงกว่าพระพุทธสิหิงค์ เพราะโลหะทองสำริดถูกไฟหลอมทำลายได้ แต่พระแก้วมรกตถูกไฟหลอมทำลายมิได้ พบสัญลักษณ์ในตำนาน 2 เรื่องสอดคล้องกัน คือ ชินกาลมาลีปกรณ์กับรัตนพิมพวงศ์ มีความโดยสรุปว่าพระนาคเสนปรารถนาจรรโลงพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง ด้วยการจำลองเป็นรูปพระพุทธเจ้า แล้วรำพึงดังนี้

“ถ้าเราจะสร้างรูปจำลองพระพุทธด้วยทองคำหรือเงิน มนุษย์ในอนาคตเป็นคนลุอำนาจแก่ความโลภ มีสันดานเป็นคนบาปหนา จักกระทำอันตรายรูปจำลองพระพุทธเสีย อย่ากระนั้นเลยเราจะทำรูปจำลองพระพุทธด้วยแก้วมณีโดยฤทธิ์และมนต์”

[คัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์ (แปลว่าระเบียบกาลเวลาของพระพุทธเจ้า) ภาษาบาลี พระรัตนปัญญา ภิกษุชาวล้านนา เมืองเชียงใหม่ แต่ง พ.ศ.2060-2071 แสง มนวิทูร (แปล) กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2501 และพบข้อความทำนองเดียวกันใน รัตนพิมพวงศ์ (ตำนานพระแก้วมรกต) พระพรหมราชปัญญา แต่งภาษาบาลี ราว พ.ศ.2272 (มหาแสง มนวิทูร แปลภาษาไทย พ.ศ.2505) จากหนังสือ พระแก้วมรกต สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546]

 

ตำนาน

ตำนาน คือ ประวัติศาสตร์สังคมแบบชาวบ้านด้วยสำนวนชาววัด (เพราะตำนานส่วนมากแต่งโดยชาววัดซึ่งเป็นนักบวชหรือเคยเป็นนักบวช) แต่นักวิชาการโบราณคดีไทยขาดประสบการณ์การอ่านและประเมินค่าตำนานจึงมี “อคติ” ต่อตำนานและการใช้ตำนานเป็นหลักฐานอธิบายประวัติศาสตร์ไทย ส่วนนักปราชญ์ทั้งไทยและนานาชาติเลือกสรรตำนานเป็นหลักฐานอธิบายประวัติศาสตร์ เช่น

ยอร์ช เซเดส์ ใช้ตำนานพงศาวดารเล่าเรื่องเหตุการณ์ศึกสามพระนครอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราช, เมืองละโว้ (ลพบุรี) และเมืองหริภุญไชย (ลำพูน),

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ใช้ตำนานอธิบายประวัติศาสตร์หลาย เรื่อง เช่น พระร่วงกรุงสุโขทัย และท้าวอู่ทองกรุงศรีอยุธยา,

ดร.ประเสริฐ ณ นคร ใช้ตำนานมูลศาสตร์ฉบับต่างๆ อธิบายประวัติศาสตร์ล้านนา,

โปรเฟสเซอร์ทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐไม่ลังเลใช้ตำนานอธิบายประวัติศาสตร์ไทย จึงเคยเขียนบทความอธิบายไว้โดยมีผู้แปลภาษาไทยพิมพ์ในวารสารของมหาวิทยาลัยในไทย

ชุดข้อมูลความรู้เหล่านี้มีแบ่งปันเผยแพร่เป็นสาธารณะ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยบางแห่งไม่เคยรู้ไม่เคยอ่าน แล้วพาลวางอำนาจประกาศนักศึกษา “ห้ามอ่าน” ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดีไทย “ไม่เท่าทันโลก” ส่งผลถึงงานด้านการศึกษาและวัฒนธรรมมัก “ย้อนยุค” ของรัฐราชการรวมศูนย์ซึ่งไม่องอาจผึ่งผาย ไม่ก้าวหน้า ไม่ทัดเทียมนานาอารยประเทศ

สู่ขวัญในทุกวาระด้วยของขวัญเป็นหนังสือพระแก้วมรกต สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 มกราคม 2565 ราคา 580 บาท สั่งซื้อได้ที่ https://www.facebook.com/matichonbook