เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /การเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

การเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป

 

การเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป ประโยคนี้มาจากบาลีบทปฐมพุทธภาษิต วรรคที่ว่า

ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง

ขึ้นต้นบทดังนี้

อะเนกะชาติสังสารัง สันธาวิสสัง อนิพพิสัง

แปลความดังนี้

เมื่อเรายังไม่พบญาณ ได้แล่นท่องเที่ยวไปในสงสารเป็นอเนกชาติ

คะหะการัง คะเวสันโต ทุกขา ชาติ ปุนัปปุนัง

แสวงหาอยู่ ซึ่งนายช่างปลูกเรือน คือตัณหาผู้สร้างภพ การเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป

นี้เป็นท่อนต้นของบทปฐมพุทธภาษิตจากสวดมนต์แปลฉบับสวนโมกข์

สมควรขยายความหรือถอดความเพื่อความเข้าใจในความหมายของคำสำคัญสองคำก่อน คือคำว่า “ทุกข์” หรือ “ทุกขา” กับคำว่า “ชาติ” หรือ “ชา-ติ”

 

ในที่นี้ ทุกข์ หมายถึง “ทนเป็นปกติอยู่ได้ยาก” คือสภาวะของจิตที่มิอาจนิ่งเป็นปกติตามสภาพเดิมแท้ได้

เปรียบจิตใจคนเราที่มักวิ่งวนสับส่ายเหมือนลิงถูกล่าม มันเฝ้าแต่เดินวนไปวนมาไม่อยู่นิ่งแม้สักวินาที จิตคนก็เป็นเช่นนั้น มันไม่เคยอยู่นิ่งแม้สักขณะจิตเดียว

จิตไม่อยู่นิ่งนี่แหละเรียกว่ามันเป็น “ทุกข์” คือไม่อาจเป็นปกติอยู่ได้

ที่จริงเป็นปกตินี้ไม่ต้องทน แต่การที่มันไม่อาจเป็นปกติได้จึงเรียกว่า “ทนอยู่ได้ยาก” จิตทนอยู่ได้ยากนี้คือ “ทุกข์”

ทุกข์แปลว่า “ทนอยู่ได้ยาก” โดยเพ่งไปที่จิตเป็นสำคัญ

 

อีกคำคือ “ชา-ติ” หรือ “ชาติ” ในที่นี้หมายถึงการ “เกิดขึ้น” ซึ่งมุ่งที่อาการเกิดขึ้นของสภาวะทางจิตนั่นเอง เกิดขึ้นครั้งหนึ่งก็ทำให้จิตไม่นิ่งอยู่ได้ คือ “ทุกข์” ที่ “ทนอยู่ได้ยาก” ครั้งหนึ่ง

จึงว่า “การเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป”

ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข ในความหมายนี้ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะมัน “ทนอยู่ได้ยาก” คือไม่อาจเป็น “ปกติ” อยู่ได้

“จิตปกติ” นี้เป็นเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา คือความสงบเย็นอันเป็นสภาวะที่เรียกว่า “นิพพาน”

สงบเย็นก็ไม่ใช่ว่า ไม่รู้สึกรู้สม หากหมายถึงสว่างรุ่งเรืองอยู่ด้วยปัญญา ดังศัพท์ว่า “ปภัสร” หรือ “ประภัสสร” อันเป็นสภาวะของ “สุญตา” ที่รู้ตื่นเบิกบานอยู่ด้วยธรรม อันเป็นความหมายโดยรวมของคำว่า “พุทธ”

 

อีกคำที่แทน “สุญตา” คือ “จิตว่าง”

จิตว่าง ไม่ได้แปลว่า ไม่มีจิต เหมือนมือว่าง ไม่ได้แปลว่า ไม่มีมือ ฉันใดฉันนั้น

คือมันว่างจาก “ความยึดมั่นถือมั่นในทางที่เป็นตัวเป็นตน”

นี้คือ “อนัตตา” หมายถึง “ไม่ใช่ตน”

อนัตตา ไม่ได้หมายถึง “ไม่มีตน” มันมีตัวตนอยู่ตามเหตุตามปัจจัยที่ปรุงแต่ง หากมันไม่ใช่ “ตน” ตามที่ “ยึดมั่นถือมั่น”

 

อีกคำที่สำคัญจากปฐมพุทธภาษิตนี้คือคำว่า “สังสาระ” หรือ “สงสาร”

อะเนกะชาติสังสารัง

สังสารังนี้คือ “สังสาระ” หรือสงสาร ซึ่งในที่นี้หมายถึงความหมุนเวียนหรือวนเวียน วกวนอย่างลิงถูกล่ามที่ไม่อยู่นิ่งนั่นแหละ

เหมือนจิตที่ไม่เคยอยู่นิ่งเป็นปกติ

มันเฝ้าแต่ปรุงแต่ง ปรุงขึ้นเป็นความคิดครั้งหนึ่งก็คือ ทุกข์ครั้งหนึ่ง ครั้งแล้วครั้งเล่าวนเวียนอยู่อย่างนั้น

นี้แหละ “อะเนกะชาติ” คือเกิดขึ้นหลายครั้งวนเวียนอยู่อย่างนั้น อยู่ในสังสาระซ้ำๆ ซ้ำซาก

สันธาวิสสัง อนิพพิสัง หมายถึง เมื่อยังไม่รู้ถึงความสงบคือนิพพาน อันเป็นสภาพดับทุกข์ที่จิตเข้าถึงความเป็นปกติแล้ว

คะหะการัง แปลว่า การปลูกเรือนหรือปรุงเรือน หมายถึงตัวการปรุงแต่งจิตที่ทำให้จิตไม่อยู่นิ่ง

คะหะการัง คะเวสันโต คือเฝ้าแสวงอยู่แต่การปรุงแต่งจิตอยู่นั่นแล้ว

การเกิดขึ้นซึ่งการปรุงแต่งครั้งแล้วครั้งเล่าในจิตนี่แหละคือตัวทุกข์

ทุกขาชาติ ปุนัปปุนัง การเกิดทุกคราว เป็นทุกข์ร่ำไป

 

บทท้ายคือ

คะหะการะกะ ทิฏโฐสิ ปุนะเคหัง นะกาหะสิ

นี่แน่ะนายช่างปลูกเรือน เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป

สัพพาเต ผาสุภา ภัคคา คะหะกูฏัง วิสังขะตัง

โครงเรือนทั้งหมดของเจ้า เราหักเสียแล้ว ยอดเรือนเราก็รื้อเสียแล้ว

วิสังขาระคะตัง จิตตัง ตัณหานัง ขะยะ มัธฌะคา จิตเองถึงแล้วซึ่งสภาพที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป มันได้ถึงแล้วซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา คือถึงนิพพาน

พระพุทธองค์ทรงปรารภถึงสภาวะแรกที่ตรัสรูด้วยบทปฐมพุทธภาษิต ดังรจนาคาถาบาลีอันไพเราะทั้งถ้อยคำและจังหวะจะโคนเป็นบทกวี

ให้เราได้ถอดรหัสธรรมยืนยันสัจธรรมความตื่นรู้

เขย่ายุคสมัย

 

ปฐมพุทธภาษิต

 

เมื่อยังไม่รู้เห็น เหมือนเช่นนี้

จิตวนเวียนอยู่กับที่ ไม่ไปไหน

เกิดเจ้าการปรุงแต่ง อยู่ร่ำไป

เกิดทีไร เป็นทุกข์ ไปทุกที

 

นี่แน่ะเจ้าผู้ชำนาญการปรุงแต่ง

เจ้าจะแปลงปรุงไม่ได้ ในทุกที่

ทุกโครงสร้างทั้งหลายบรรดามี

ของเจ้านี้ เราได้รื้อออกหมดแล้ว

 

จิตของเราเข้าสู่สภาพใหม่

มิมีใดพ้องพานมาผ่านแผ้ว

สิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย ไร้วี่แวว

จิตมุ่งแน่ว สู่สภาวะ พระนิพพาน ฯ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์