ปริศนาโบราณคดี : โคมปราสาท ของ “พระรัตนปัญญาเถระ” ผู้รจนา “ชินกาลมาลีปกรณ์”

ปีหน้า พ.ศ.2560 จะครบรอบ 500 ปี วรรณกรรมพุทธศาสนาชิ้นเยี่ยมแห่งล้านนา “ชินกาลมาลีปกรณ์” ซึ่งประพันธ์เมื่อปี พ.ศ.2060

ปราชญ์ผู้รจนาวรรณกรรมชิ้นนั้นมีชื่อว่า “พระรัตนปัญญาเถระ” เป็นพระชั้นผู้ใหญ่ระดับสังฆราชาในรัชสมัยของพระเมืองแก้ว หรือพระติลกปนัดดาธิราช (พ.ศ.2038-2068) แห่งอาณาจักรล้านนา

อาจกล่าวได้ว่า ระหว่างรัชกาลของพระเจ้าติโลกราช (พ.ศ.1984-2030) จนถึงสิ้นรัชกาลพระเมืองแก้ว ถือเป็นยุคทองของวรรณกรรมพุทธศาสนาล้านนาภาษาบาลีก็ว่าได้

กล่าวคือ แผ่นดินล้านนาเต็มไปด้วยภิกษุที่แตกฉานในการรจนาบาลีปกรณ์มากมาย พระนักปราชญ์ทั้งสองนิกาย “สวนดอกและป่าแดง” ได้แข่งขันกันนิพนธ์วรรณกรรมภาษาบาลีด้วยการรวบรวมเอานิทานพื้นบ้านพื้นเมืองมาแต่งเป็นสำนวนโวหารเยี่ยงชาวลังกา

ปรากฏผลงานมากมายยิ่งกว่าดินแดนอื่นใดในโลกพุทธศาสนายุคเดียวกัน ผลงานของท่านเหล่านั้นได้แพร่หลายไปยังอาณาจักรต่างๆ ทั่วอุษาคเนย์ ตลอดจนหลายประเทศทางตะวันตกด้วย

มีวรรณกรรมหลายเรื่องที่ทางคณะสงฆ์ไทยได้ใช้เป็นตำราเรียนภาษาบาลีจนกระทั่งปัจจุบันนี้


เกิดเชียงรายหรือลำปาง?

สําหรับอัตชีวประวัติของพระรัตนปัญญาเถระนั้น คนทั่วไปมักเข้าใจว่า หากท่านไม่ใช่ชาวลำพูนก็ต้องเป็นชาวเชียงใหม่แน่ๆ ทว่า ปัญหาเกี่ยวกับชาตสถานของพระรัตนปัญญาเถระ ยังมีความสับสนอยู่มาก ว่ามาตุภูมิดั้งเดิมของท่านนั้น เกิดที่เชียงรายหรือที่ลำปางกันแน่?

ไม่ว่าท่านจะเกิดที่ใด แต่ภายหลังเราจะรู้จักท่านในนาม “เจ้าสำนักวัดฟ่อนสร้อย” ในนครเชียงใหม่

ส่วนผลงานที่ท่านรจนานั้น ชิ้นที่โดดเด่นมีอยู่ 3 เรื่อง คือ

1. ชินกาลมาลีปกรณ์ พงศาวดารหรือประวัติความเป็นมาของพระพุทธศาสนา เริ่มแต่สมัยที่พระพุทธเจ้ายังทรงเป็นพระโพธิสัตว์จนถึงปัจจุบันชาติ การทำสังคายนาในชมพูทวีปและในศรีลังกา การสร้างเมืองสำคัญในล้านนา อาทิ หริภุญไชย เชียงใหม่ ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในล้านนา แต่ง พ.ศ.2060

2. วชิรสารัตถสังคหะ คัมภีร์ซึ่งประมวลที่มาของธรรมะที่สำคัญจากคาถาต่างๆ แต่ง พ.ศ.2078

3. มาติกัตถสรูปธัมมสังคณี คัมภีร์อธิบายความพระอภิธรรมโดยย่อ แต่งราว พ.ศ.2060-2065

โดยเฉพาะ “ชินกาลมาลีปกรณ์” ต้องถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกในบรรดาผลงานของท่านทั้งหมด และก่อนที่จะมีการชำระสัมมนาหรือ “วิพากษ์สารัตถะ” ของชินกาลมาลีปกรณ์กันอย่างเจาะลึก (ในโอกาสหน้าเร็วๆ นี้)

ขอโหมโรงนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ “โคมปราสาท” ในฐานะที่เป็นสมบัติชิ้นหนึ่ง (เท่าที่สืบค้นหาได้) ของพระรัตนปัญญาเถระก่อน

 

โคมป่อง-โคมปราสาท กับเจดีย์จุฬามณี

ชาวล้านนาเรียกโคมสำริดว่า “โคมป่อง” ส่วนโคมป่องที่ทำหลังคาทรงปราสาท ก็เรียกว่า “โคมปราสาท”

โคมป่อง และโคมปราสาท สร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์สำหรับจุดดวงประทีปถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์พระธาตุเจดีย์

โคมปราสาทชิ้นนี้ ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย จังหวัดลำพูน แต่ย้ายมาจากคลังพิพิธภัณฑ์เดิมของวัดพระธาตุหริภุญชัย

ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่า “พระธาตุหริภุญไชย” เป็นเสมือนสัญลักษณ์แห่งพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

การสร้างหรือถวายโคมปราสาทแด่พระธาตุนี้ สอดรับกับวรรณคดีชิ้นสำคัญเรื่อง “โคลงนิราศหริภุญไชย” รจนาโดยพระภิกษุชาวเมืองเชียงใหม่ราวปี พ.ศ.2060 ซึ่งไม่ปรากฏนาม แต่มีอายุร่วมสมัยกันกับพระรัตนปัญญาเถระคือในสมัยพระเมืองแก้ว ได้ยืนยันถึงความเลื่อมใสศรัทธาในพระเกศธาตุจุฬามณีของชาวล้านนา โดยอุปมาอุปไมยผ่านองค์พระมหาชินธาตุเจ้าหริภุญไชยว่า อร่ามเรืองไปด้วยทอง มีความงามเลิศลักษณ์ยิ่งนัก จักเป็นรองก็เพียงแต่เจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเทียบว่าพระธาตุหริภุญไชยคือจุฬามณี จึงเกิดประเพณีถวายโคมบูชาองค์พระธาตุ

 

Masterpiece

ศิลปะล้านนา ลังกา จีน

โคมปราสาทชิ้นดังกล่าวมีเลขทะเบียนวัตถุ 303/18 วัดขนาดความกว้างของฐาน 41.5 เซนติเมตร ความสูง 92.5 เซนติเมตร ทำด้วยสำริด และปิดทองล่องชาด

ตัวโคมประกอบด้วยสามส่วน ได้แก่

1. ส่วนฐานค่อนข้างสูง ทำเลียนแบบฐานเจดีย์ที่เรียกว่าฐานปัทม์หรือฐานบัว มีหน้ากระดานท้องไม้เกลี้ยง ไม่มีลวดบัวลูกแก้วประกอบ หากแต่ทำเป็นช่องลูกฟักเจาะโปร่งประดับไว้แทนด้านละสองช่อง ซึ่งลักษณะเช่นนี้เป็นที่นิยมใช้ในศิลปะล้านนาซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะจีน

2. ส่วนกลางเป็นการจำลององค์เรือนธาตุ ฉลุโปร่งเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาและดอกไม้มงคล โดยด้านหน้าของโคมปราสาททำเป็นประตูสี่เหลี่ยมช่องเล็กๆ สามารถเปิด-ปิดสำหรับนำดวงประทีปจุดวางไว้ด้านในได้ พื้นหลังของผนังเรือนธาตุทั้งหมดฉลุลายดอกไม้ และลายกระหนก สองข้างประตูทำเป็นรูปเทวดายืนเหนือฐานบัวแสดงอัญชลี ส่วนอีก 3 ด้าน ตรงกลางทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและภายในฉลุลวดลายดอกไม้สี่กลีบ บริเวณสันมุมทั้งสี่ของเรือนธาตุตกแต่งด้วยตัวนาคมีปีกทอดเลื้อยยาวลงมา

3. ส่วนบนเป็นหลังคาทรงปราสาทซ้อนกันสองชั้น ตามสันมุมของหลังคาสี่ด้านของทั้งสองชั้นนี้ยังคงมีนาคเลื้อยยาวลงมาสอดรับกับนาคขององค์เรือนธาตุ ส่วนยอดบนสุดทำเป็นกลีบดอกบัวตูม

 

“จารึกบนปล่องประทีป”

ความไม่ธรรมดาของโคมปราสาทชิ้นนี้ เนื่องมาจากมีตัวอักขระจารึกที่ระบุชัดว่าเป็นของ “พระรัตนปัญญาเถระ” ผู้รจนาชินกาลมาลีปกรณ์

บริเวณรอบฐานด้านนอกของโคมทั้ง 4 ด้าน พบจารึกตัวอักษรไทล้านนา แบบฝักขามฝังอยู่ในเนื้อสำริด

สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร ได้ถอดความตามภาษาพื้นเมือง ลงเลขทะเบียนรหัส ลพ. 42 เรียกชื่อว่า “จารึกบนปล่องประทีป” ไว้ดังนี้

“ศักราชได้ 870 ตัว รัตนะปัญญาเป็นเค้า มหาสามีสีระวิสุทธเจ้าอยู่วัดต้นแก้ว ชวนชักนักบุญชาวญางหวานทั้งหลาย หนวันตก วันออก ใต้เหนือ ได้ทองหื้อช่างหล่อเป็นผราสาทหลังนี้ 58,000 น้ำ มาไว้ให้เป็นปล่องทีป บูชาพระมหาธาตุเจ้า ตราบต่อเท่า 5,000 วัสสาดีหลีแล”

หรือแปลเป็นภาษาไทยกลางดังนี้

“จ.ศ.870 (พ.ศ.2051) พระรัตนปัญญา เป็นประธาน พร้อมด้วย พระมหาสวามีศีลวิสุทธิ์ วัดต้นแก้ว ชักชวนผู้มีศรัทธา ชาวยางหวานทั้งหลายที่อยู่ทิศตะวันตก ออก ใต้ และเหนือ ให้เก็บรวบรวมทองสัมฤทธิ์เพื่อหล่อรูปปราสาทน้ำหนัก 58,000 (ประมาณ 60 กิโลกรัม) สำหรับใช้เป็นประทีปบูชาพระมหาธาตุเจ้า (พระธาตุหริภุญไชย) ตราบจนถึง 5,000 วัสสะเทอญ”

นอกจากนี้แล้วที่แผ่นรองปล่องประทีปยังพบคำจารึกเขียนกำกับไว้อีกชั้นหนึ่งดังนี้

“ฯ ข้าหล่อโคมมาไว้บูชาพระมหาธาตุเจ้า ข้าปรารถนาเป็นอรหันตาตนหนึ่งในสำนักอริยเมตไตรยโพธิสัตว์เจ้าเรานี้เทอญดีหลีแล”

โคมปราสาทชิ้นนี้ จึงไม่ใช่เป็นวัตถุจัดแสดงธรรมดา หากเป็นสิ่งที่จับต้องได้ ประหนึ่ง “ตัวแทน” หรือ “เครื่องรำลึก” ถึง “พระรัตนปัญญาเถระ” บุคคลสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาของล้านนา