ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 ธันวาคม 2564 - 6 มกราคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังลับแลมีอรุณรุ่ง |
ผู้เขียน | ธงทอง จันทรางศุ |
เผยแพร่ |
เมื่อท่านทั้งหลายหยิบมติชนสุดสัปดาห์เล่มนี้ขึ้นมาอยู่ในมือ ปีใหม่พุทธศักราช 2565 ก็มายืนยิ้มเผล่อยู่ข้างหน้าแล้ว
ก่อนจะพูดคุยกันเรื่องอื่นต่อไป ขออนุญาตอำนวยอวยชัยให้ผู้อ่านทุกท่านปลอดภัยไร้โรค พบแต่สิ่งซึ่งดีงามรื่นรมย์ตลอดปีและตลอดไปนะครับ
ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา เสียงปี่เสียงกลองสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ดังขึ้นครึกโครมพอสมควรแล้ว มีการประกาศตัวผู้สมัครทั้งแบบที่เป็นผู้สมัครอิสระและเป็นผู้สมัครสังกัดพรรคการเมืองสองสามราย และในเดือนมกราคมนี้ก็คงจะมีเพิ่มขึ้นอีกพอสมควร
ที่สนุกและมีสีสันคือนอกจากมีการประกาศตัวผู้สมัครแล้ว ยังมีการประกาศตัว “ผู้ไม่สมัคร” ด้วย ที่เห็นชัดแล้วหนึ่งรายคือท่านที่มีฉายาว่าท่านผู้ว่าฯ หมูป่า ซึ่งคาดเดากันว่ามีพรรคการเมืองใหญ่ไปทาบทามท่านมาลงศึกเลือกตั้งสำคัญครั้งนี้
แต่ท่านก็นกรู้และปฏิเสธไปอย่างสวยงาม บัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นเลยครับ
ขอแสดงความนับถือ
ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น รัฐบาลซึ่งเป็นคนมีหน้าที่จะต้องออกปากว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ยังนิ่งเงียบ เป็นเหตุให้คนทั้งหลายรวมทั้งผมด้วยนึกนินทากันให้ครึกครื้นว่า รัฐบาลจะยังไม่ประกาศให้มีการเลือกตั้งจนกว่าแน่ใจว่าพรรครัฐบาลหาผู้สมัครเจอและผู้สมัครคนนั้นจะต้องได้รับชัยชนะเสียด้วย
ระหว่างรอเวลาอยู่อย่างนี้ เรามานึกทบทวนความเป็นมาของกรุงเทพมหานครกันสักหน่อยไหมครับ
แรกทีเดียวใครๆ ก็รู้อยู่ว่า เมื่อ 240 ปีมาแล้ว คือเมื่อพุทธศักราช 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเป็นพระมหานครราชธานีแห่งใหม่แทนกรุงธนบุรีที่มีอายุยืนยาวอยู่ 15 ปีภายหลังจากการสูญเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อพุทธศักราช 2310 นามเต็มของราชธานีใหม่นี้เป็นชื่อยืดยาวตามขนบของไทย มีแต่ถ้อยคำที่เป็นสิริมงคลและแสดงลักษณะเฉพาะของพระนคร ขึ้นต้นด้วยคำว่า “กรุงเทพมหานคร”
ยุคแรกเริ่มทีเดียวคนทั่วไปจะเรียกเมืองแห่งนี้ว่าอะไรนั้น ผมไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะเกิดไม่ทัน ฮา!
แต่ก็เดาว่าน่าจะเรียกกันได้หลายอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็นบางกอก พระนคร กรุงเทพฯ ที่แน่ใจสุดๆ ก็ต้องเป็นเรื่องราวตอนที่ผมเกิดแล้ว ทะเบียนบ้านผมเมื่อ 60 ปีก่อน บ้านผมอยู่ที่อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ถ้าเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้สะพานพระพุทธยอดฟ้าไปอีกฝั่งหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้าม ฟากข้างโน้นก็เป็นจังหวัดธนบุรีครับ
นั่นหมายความว่าในยุคสมัยที่ผมเกิดและเป็นเด็ก ทั้งพระนครและธนบุรีต่างมีฐานะเป็นจังหวัดเหมือนกันกับจังหวัดอื่นๆ อีก 70 กว่าจังหวัดทั่วทั้งประเทศ มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งไปจากกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกว่าจังหวัดนั้น
ผมแน่ใจว่าจังหวัดพระนครมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งมาจากกระทรวงมหาดไทย เพราะในบ้านของผมยังมีหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพคุณปานจิตต์ อเนกวณิช ที่ลงประวัติผู้วายชนม์ไว้โดยแจ้งชัดว่าท่านเคยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครอยู่ยุคหนึ่ง เป็นหลักฐานอ้างอิงได้แม้จนทุกวันนี้
หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่เชื่อมโยงถึงกันเกี่ยวกับประเด็นนี้ คือทางฝั่งธนบุรีซึ่งเป็นจังหวัดธนบุรีนั้นมีศาลากลางจังหวัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงเชิงสะพานพระพุทธฯ ใกล้กันกับวัดประยุรวงศาวาส เป็นอาคารคอนกรีตหลังคาทรงไทย เหมือนกันกับศาลากลางจังหวัดอื่นๆ ทั่วทั้งประเทศที่สร้างในยุคเดียวกัน
ผมยังได้เคยไปติดต่อราชการที่ศาลากลางแห่งนี้ครั้งหนึ่ง จึงจำได้ติดตาติดใจ แต่ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเดี๋ยวนี้ยังอยู่หรือไม่ วันหลังต้องแวะไปดูสักหน่อย
จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีอยู่อย่างนี้มาช้านานจนผมเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ปฏิวัติยึดอำนาจจากนายกรัฐมนตรีถนอม กิตติขจร ในปี 2514
ไม่ต้องขยี้ตาครับ ทุกท่านอ่านถูกและผมก็เขียนถูกแล้ว เดือนพฤศจิกายนปี 2514 จอมพลถนอม หัวหน้าคณะปฏิวัติแกใช้นิ้วจี้เอวจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรีให้ออกจากตำแหน่ง มันเขาล่ะ
ปฏิวัติแล้วไม่ช้านานจอมพลถนอมก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า เป็นสองจังหวัดอยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำนี่ลำบากสิ้นดี สมควรจะนำมารวมกันและตั้งชื่อใหม่ว่า นครหลวงกรุงเทพธนบุรี นับว่าเป็นชื่อแบบรักพี่เสียดายน้อง แต่คนก็บ่นกันมากครับว่าเรียกยากเขียนยากจริงๆ
ดังนั้น จึงอดทนใช้ชื่อว่านครหลวงกรุงเทพธนบุรีกันอยู่ได้ประมาณสักปีหนึ่ง คราวนี้จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ว่า “กรุงเทพมหานคร” ตั้งแต่ราวปีพุทธศักราช 2515 เป็นต้นมา นับถึงปีนี้ก็ครบครึ่งศตวรรษพอดี ตำแหน่งหัวหน้าสูงสุดของกรุงเทพมหานครนั้นก็เปลี่ยนไปมา บางยุคสมัยก็เป็นการแต่งตั้ง บางยุคสมัยก็เป็นการเลือกตั้ง
ถ้าถามหาว่ายุคไหนเป็นผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้งก็ไม่ต้องดูอื่นไกล ไปยืนอยู่หน้าเสาชิงช้าเช้าวันพรุ่งนี้ ก็จะเห็นตัวเป็นๆ ของผู้ว่าฯ แต่งตั้งได้ไม่ยากครับ
ถ้าใครมาถามผมว่าระหว่างผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งกับผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง ผมชอบแบบไหนมากกว่ากัน
แหม! อันนี้ไม่น่าถามกันเลย ถามเหมือนไม่รู้จักกันอย่างนั้นแหละ
ในทัศนะและประสบการณ์ของผม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งย่อมมีธรรมชาติที่จะรู้ร้อนรู้หนาว และฟังเสียงของประชาชนมากกว่าผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการแต่งตั้ง เมื่ออยู่ใกล้ชาวบ้านและฟังชาวบ้านให้มาก นโยบายหรือแผนงานอะไรก็จะเป็นคำตอบหรือกิจกรรมที่สนองประโยชน์ของชาวบ้านเป็นหลัก ไม่ใช่การสนองตัณหาหรือความต้องการของใครคนใดโดยเฉพาะ
กรุงเทพฯ ของเราเป็นบ้านเมืองใหญ่โต เป็นเมืองติดอันดับนานาชาติ ปัญหาก็มีหลายระดับและมีความซับซ้อน แค่นึกถึงเรื่องปัญหาการจราจร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาความปลอดภัย และอื่นๆ อีกมากมาย แค่คิดถึงปัญหาก็เป็นปัญหาแล้ว
ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งก่อนเข้าไปนั่งทำงานแถวเสาชิงช้าหรือละแวกดินแดงก็ต้องเดินจนเมื่อยแล้วเมื่อยอีก เดินไปตามตรอกซอกซอย เดินไปตามถนนสายใหญ่ พบคนที่ทำงานแถวสีลมสาทร พวกแม่ค้ากล้วยปิ้งที่ตลาดเสนานิคม ฯลฯ พบกับคนมากหน้าสารพัด และล้านแปดความต้องการ
และระหว่างหาเสียงก็ต้องสะดุดฟุตปาธที่เป็นหลุมเป็นบ่อทั่วกรุงหัวคะมำกันบ้างล่ะน่า
คนที่เคยเดินสะดุดฟุตปาธหัวคะมำย่อมอยากจะทำฟุตปาธที่มีคุณภาพได้มาตรฐานให้ชาวบ้านเดิน ต่างจากคนที่มีราชรถ (ถัง) มาเกย ความรู้สึกหนาวร้อนก็ย่อมแตกต่างจากคนทั่วไปเป็นธรรมดา เพราะไม่เคยเดินสะดุดฟุตปาธ
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อนะครับว่า แค่มองฟุตปาธและคิดเพ้อเจ้อไปเรื่อยๆ ก็เป็นคติสอนใจได้เหมือนกัน
เรื่องฟังชาวบ้านให้มากและทำงานให้ตรงใจชาวบ้านนี้ ใช้ได้ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด
ใครไม่ฟังชาวบ้าน ไม่สนใจเสียงประชาชน ขอให้เดินสะดุดหัวคะมำทุกวัน
อิอิ