อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (7)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

กบเข็นรถลุงขึ้นทางหลังบ้าน

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (7)

 

พักฟื้น

ยาวนานตลอดชีวิต

3 ก.ย.2555-5 พ.ค.2561

บ่ายจัด ใบไม้เล็กๆ ส่ายใบพลิ้วต้านลมอยู่รายรอบ ฉันยืนอยู่ใต้ร่มหูกระจงต้นใหญ่หน้าบ้าน ใกล้บันไดอิฐห้าขั้น ทางขึ้นบ้านไม้หลังยาวที่ฉันเรียกมันว่าบ้านเศษไม้

ประตูบานคู่หน้าบ้านปิดสนิท ครึ่งบนของบานประตูเป็นกระจก ตีตารางประกบไว้ทั้งแนวนอนแนวตั้ง แบ่งกระจกเป็นเก้าช่อง เหนือบานประตูมีเศษไม้แกะสลักเป็นเลข ๒๒๐ เหนือตัวเลขมีแป้งขาวเจิมอักขระภาษาบาลีเป็นคำว่า ‘นะโมพุทธายะ’ หมายความว่าอย่างไรคุณต้องหาเอาเอง

บานประตูไม้ประกอบกระจกสีเข้มนั้นอาจกั้นภาพทุกอย่างภายในจากสายตาคนทั้งหลายได้ แต่ไม่สามารถกั้นภาพทั้งหลายนั้นจากสายตาฉันได้

ฉันเห็น เห็นภาพไม่ลืมเลือนในความทรงจำ วันที่เราทำบุญบ้าน ทำพิธีที่ห้องอเนกประสงค์ที่กว้างที่สุดในบ้าน ถวายภัตตาหารเพลที่โต๊ะอาหารที่อยู่ระหว่างหน้าห้องนั้นกับหน้าห้องครัว ฉันเสร็จ พระท่านกลับเข้าไปในห้องทำพิธีสวดอีกระยะสั้นๆ แล้วท่านก็ออกมาหน้าประตูบ้าน เจิมเลข ๒๒๐ และคาถา ‘นะโมพุทธายะ’ เหนือประตูที่ฉันกำลังยืนมองอยู่ขณะนี้

เจิมเสร็จอาจินต์ขอให้ท่านเจิมหน้าผากให้ด้วย ท่านก็เจิมจุดขาวๆ เหนือหน้าผาก เกือบชิดโคนผม อาจินต์มีจุดขาวที่หน้าผากนั่งคุยนั่งยิ้มอยู่ตลอดวัน

นึกถึงตอนนี้ก็ยังอดยิ้มไม่ได้

กบคอยตามดูแลลุง

ไม่เพียงแค่นั้น สิ่งที่ฉันเห็นทะลุบานประตูนี้ยังมีอีกเหลือที่จะจดจำ

ฉันเห็น อาจินต์นอนตะแคงซ้ายหันหน้าเข้าข้างฝา บนตั่งไม้ชิงชันหนาหนักมากที่สุดที่เคยมีตั่งเตียงใดๆ มา ตั่งนี้ตั้งอยู่ที่โถงบ้านตอนในหลังประตูใหญ่หน้าบ้าน ตอนหน้าเป็นเก้าอี้หวายนั่งดูทีวี ถัดเข้าไปตอนในมีตั่งนี้ตั้งชิดฝาด้านซ้าย คั่นตั่งกับที่ดูทีวีและรับแขกด้วยตู้หนังสือค่อนข้างเตี้ยตู้หนึ่ง ตอนปลายเท้าเลยตั่งไปเป็นเก้าอี้หวายอีกตัวหันหลังให้หน้าต่างสี่บาน

ตอนบ่ายๆ อาจินต์มักเอนกายอ่านหนังสือในเก้าอี้หวายตัวนี้ อ่านหนังสือ เล่นวิทยุเล็กๆ ฟังอะไรต่ออะไรจนเบื่อหรือง่วงแล้วก็จะย้ายลงไปนอนบนตั่ง

หลับไปตื่นไปจนพอแล้วก็เริ่มขยับตัว

ตื่นแล้ว ยกมือขวาแตะฝาผนังที่กั้นระหว่างครัวกับตั่ง ลูบฝาไปๆ มาๆ สักพักยกมือขึ้นวาดไปมาในอากาศรอบสองรอบ ไม่รู้ทำอะไร

“คุณลุงมาอาบน้ำได้แล้ว” เสียงกบดังมาจากห้องนอนที่อยู่ตรงข้ามกับตั่งนั้นเอง กบเตรียมการอาบน้ำในห้องน้ำที่อยู่ในห้องนอนนั้นแล้ว

อาจินต์ลดมือลงจากการวาดรูปในอากาศ ดูนาฬิกาข้อมือ สี่โมงเย็นแล้ว แล้วอาจินต์ก็ทำอย่างที่ได้รับการกำชับมาก่อนว่า เวลาจะลุก อย่าลุกนั่งทันที ให้ใช้มือซ้ายเอื้อมมายันขอบเตียงขวา ดันตัวลุก ขยับมาทางขอบเตียง เอื้อมมือดึง walker ที่วางไว้ข้างเตียงมาตั้งตรงหน้า สองมือจับขอบซ้ายขวาของ walker ค่อยๆ ยันตัวลุกยืน ขยับ walker ไปข้างหน้า ก้าวเท้าตาม

เสียงกึกกักๆ ดังไปไม่กี่ก้าว อาจินต์ก็พาตัวเองในชุดเสื้อยืดเก่าแก่ยืดย้วยกับกางเกงจั๊มเปอร์ขากว้างดูตลกๆ เข้าห้องไป

กางเกงชนิดนี้อาจินต์เพิ่งใส่เมื่อมาอยู่ที่นี่ ลูกศิษย์คนที่เด็กที่สุด – นายวีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ แนะนำว่าลุงต้องใส่แบบนี้ มันเป็นเหมือนกางเกงในคนสมัยก่อน ขาทั้งกว้างทั้งสั้นที่สุดที่อาจินต์เคยใส่ หลวม ไม่มีเป้า เอวเป็นยางยืด มันก็สะดวกสบายจริงสำหรับคนวัยนี้ที่จะใช้ใส่อยู่ในบ้านเลยโดยไม่ต้องมีอะไรทับ

หายเข้าไปในห้องน้ำในห้องนอนไม่นานมากนัก อาจินต์ก็ออกมาในชุดใหม่ คราวนี้เป็นกางเกงขายาว เสื้อยืดอย่างเดิมเก่าแก่เท่าเดิม หน้าขาวไปซีกหนึ่ง บางทีก็ประแป้งแก้มซ้าย หน้าผากข้างขวา บางทีก็ขาวมาครึ่งเดียวทั้งคางคิ้ว มันเป็นจิตรกรรมบนใบหน้าอาจินต์ฝีมือของยัยกบ

เดินกึกกักกึงกังมาถึงประตูใหญ่หน้าบ้าน ค่อยๆ ดึงบานมุ้งลวดเข้าข้างใน สอดตัวตาม walker ออกมาที่ระเบียงที่ต่ำกว่าพื้นบ้านอยู่ชั้นหนึ่ง เดินอีกไม่กี่ก้าวก็ถึงชุดเก้าอี้ไม้ไผ่ที่ระเบียง

นั่งเก้าอี้ตัวที่ติดม้ายาวหันมาทางฉัน ยกมือสูงเล็กน้อย พร้อมพยักหน้าทักทาย ฉันยิ้มให้ หมาแมวอย่างละตัวปรากฏขึ้นทันที แมวลายอยู่บนม้ายาวที่จะวางสำรับกับข้าว หมาขาวอยู่ข้างล่างประจำที่ แทบจะทันทีที่กบยกสำรับออกมาวาง

ทั้งสองตัวนี้มาจากไหนก็ไม่รู้ พอเรามาอยู่ที่นี่ ก็ขึ้นมาหา แล้วก็ไม่ไปไหนอีกเลย

อาจินต์หนาว ใส่เสื้อสำลี แต่นุ่งขาสั้น

เวลาอาหารเย็นของหนึ่งคนกับสองตัวผ่านไปอย่างช้าๆ คนทำให้ช้า แต่พอเสร็จแล้วทั้งสามชีวิตก็แยกย้ายอย่างรวดเร็ว สองตัวทำรวดเร็ว ไปไหนบ้างไม่รู้ แต่หนึ่งคนค่อยๆ ลุกลาก walker มาที่บันไดห้าขั้น ตอนนี้ฉันต้องไปช่วย บางทีก็ไม่ยอมให้ช่วย มันตลกไหมล่ะ คนแก่งุ่มง่ามคนหนึ่งใช้มือหนึ่งจับราวบันได อีกมือลาก walker ตามลงบันไดมาทีละขั้นๆ ไม่ให้ช่วยก็ไม่ช่วย อยากลงเองก็ลงเอง แต่เราก็ต้องประกบติดตาม ชนิดหลุดไม่ได้สักวินาทีเดียว

เฮอ ลงมาถึงพื้นจนได้

สบายแล้วทีนี้

จากตรงนี้ เดินด้วยสี่ขาไปเรื่อยๆ ช้าๆ แม่นยำ เดินกลับไปกลับมา จนเมื่อย แดดร่มลมตก แล้วอาจินต์ก็แวะนั่งบนม้านั่งริมทางที่ตั้งใจทำจนชิดขอบทางไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

ฉันเดินตามติดมาแล้วก็นั่งเบียดลงคนละด้านของม้านั่งตัวเดิม…

 

“น้อยเขาสร้างบ้านทางโทรศัพท์ สร้างมาปีหนึ่งไม่มีที่ให้คนแก่เดิน” อาจินต์ฟ้องตะป๊อด ลูกพี่ลูกน้องคนที่เป็นเหมือนน้องชายแท้ๆ คนเดียวที่ฉันมี ตะป๊อดเล่าไปหัวเราะไปให้ฉันฟังตั้งแต่ตอนน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 แล้วเราพาอาจินต์หนีน้ำมาอยู่ที่นี่เดือนกว่าก่อนจะกลับไปให้ช่างที่นี่เก็บงานที่คั่งค้าง

ตอนนั้น บ้านเพิ่งพออยู่ได้ ยังไม่เสร็จดี และบริเวณโดยรอบก็ยังไม่ได้ทำ หน้าบ้านตรงที่เรากำลังเดินอยู่นี้ เป็นพูนดินที่เขาเกลี่ยภูเขาให้เป็นพื้นเรียบตอนสร้างบ้านยังรอฉันให้ตัดสินใจว่าจะทำตรงนี้อย่างไร

ซึ่งฉันก็ตั้งใจจะให้เป็นถนนคอนกรีตที่ขับรถขึ้นลงส่งอาจินต์ให้ขึ้นบันไดหน้าบ้านได้เลยอยู่แล้ว เพราะถ้าเอารถเข้าจอดโรงรถใต้ถุนบ้านที่ทำไว้นั้น ต้องขึ้นบันไดจากตรงนั้นเก้าชั้น ซึ่งอาจินต์จะลำบากมาก ถ้าขึ้นมาตรงนี้ได้ก็ขึ้นด้านนี้ง่ายกว่ากันหลายเท่า

บันไดด้านนี้ทำให้เป็นขั้นถี่ๆ กว้างๆ ห้าขั้น ใช้ได้ และก็ใช้ถนนเป็นที่ขึ้นลงส่งอาจินต์คนเดียว คนอื่นจอดข้างล่าง จะได้ใช้ถนนเป็นลานเดินทำกายภาพของอาจินต์ได้ด้วย ซึ่งตะป๊อดก็เห็นด้วย เขาเป็นคนเดียวที่ขับรถท่องเที่ยวไปไหนๆ แทบทุกอาทิตย์แล้วแวะมาดูการก่อสร้างบ้านนี้หลายหน แล้วบอกใครๆ ว่าเจ้าของบ้านไม่มาดูเลย เขาต้องมาดูแทน

แล้วก็เหมือนเหตุบังเอิญอีกจนได้ที่เมื่อทำทางเดินเล่นให้อาจินต์เมื่อพฤษภาคม 2555 ต่อด้วยมิถุนายนทำแท็งก์น้ำฝนจนเสร็จ กลับเข้ากรุงเทพฯ 3 กรกฎาคม อยู่กรุงเทพฯ ถึง 25 กรกฎาคม อาจินต์ก็ปวดท้องเข้าโรงพยาบาลตัดลำไส้ที่ทะลุออกไปกว่าสิบเซ็นต์ ก็หมดสภาพ ต้องพักฟื้นทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลหลายอย่าง จนดีขึ้นก็ต้องกลับบ้าน แต่จะต้องมาทำกายภาพต่อที่โรงพยาบาลบ่อยมาก

มันเป็นความจำเป็นของโรงพยาบาลที่ต้องให้คนไข้ออกไปอยู่บ้าน แต่ก็ลำบากมากที่คนแก่คนหนึ่งที่ต้องดูแลคนแก่กว่าอีกคน ต้องพาไปโรงพยาบาลศิริราชแทบทุกวัน

“ทำไมไม่ไปอยู่กาญจน์ก่อนล่ะคะ ไปทำกายภาพที่โรงพยาบาลพระยาพหลฯ ที่นั่นมีแผนกกายภาพที่ทำได้ ลุงอาจินต์ไม่ได้ต้องทำแบบยากๆ ที่ต้องใช้เครื่องมือเยอะ”

หลานสาวผู้เป็นอาจารย์แพทย์กายภาพแนะนำ ตกลงเลยทำเรื่องส่งตัวอาจินต์เป็นทางการ

จริงสินะ มันเป็นความบังเอิญที่เหมือนวางแผนไว้เป็นขั้นเป็นตอน เหมาะเจาะพอดิบพอดีที่จะต้องไปอยู่แก่งเสี้ยน

3 กันยายน 2555 รับอาจินต์ออกจากโรงพยาบาลแล้วตรงไปแก่งเสี้ยนเลย ขบวนส่งอาจินต์ไปพักฟื้นไปถึงที่หมายก็บ่ายแล้ว มีรถพยาบาลหนึ่งคัน รถของพี่ชายพี่สาวที่ตามมาช่วยอีกคัน

กว่าจะจัดสัมภาระของคนป่วยเข้าที่ได้ก็เย็น ทั้งยา อุปกรณ์ล้างแผลหน้าท้อง ถุงมือ แพมเพิร์ส และอีกร้อยแปดกองเต็มพื้น รุ่งขึ้นต้องพากันไปหาตู้ใส่อุปกรณ์ทุกอย่างในเมืองกันมาอีกสองหลัง

บ้านพักผ่อนหลังนี้มีตู้เก่าเอามาจากกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ก่อนเพียงหลังเดียว ใส่เสื้อผ้าและของจุกจิกส่วนตัวสองคนก็เต็มแล้ว

 

อาจินต์ใช้ชีวิตที่นี่ ได้เดินออกกำลังเช้าเย็นทุกวันจนการเดินดีขึ้น เดือนแรกหมอนัดไปทำกายภาพที่โรงพยาบาลเกือบทุกวัน บริหารท่าที่เหมือนๆ กับท่าพื้นๆ ของเด็กนักเรียนที่เราเคยทำเมื่อเด็กๆ หลายท่า

เดือนต่อมาก็นัดห่างออกไป จนจบเดือนที่สามหมอก็ไม่นัดมาแล้ว แต่กำชับให้ทำเองที่บ้านทุกวัน เหนื่อยก็พักทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น

สรุปผลโดยรวมว่าน่าพอใจ ต่อไปถ้ามีอะไรไม่ปกติก็มาหาหมอได้เลย

อยู่บ้าน อาจินต์ขยันทำกายภาพทุกเช้าเย็นก็เฉพาะแต่การเดิน ท่าอื่นๆ ทิ้งหมด มีท่าเดียวที่ยังทำระหว่างเดินบ้างคือย่อเข่าขึ้นๆ ลงๆ นานๆ ที แต่ก็ทำแบบเห็นแล้วตลกพิลึก คือเดินๆ จับๆ walker อยู่ ก็หยุดย่อเข่ากึ๊กเดียวจบแล้วก็เดินต่อ เหมือนเด็กอนุบาลที่ย่อตัวขณะไหว้คุณครู น่าขัน

อีกอย่างที่อาจินต์จำได้และท่องเหมือนโศลกสำคัญในชีวิตทุกมื้ออาหาร ก็คือ…

“เคี้ยว อม ก้ม กลืน”

มันเป็นสิ่งเดียวที่หมอกายภาพสรุปให้จำง่ายและย้ำว่าให้ทำเป็นประจำ เพื่อไม่ให้สำลักอาหาร ซึ่งคนไข้อายุมากมักมีปัญหา อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า การกลืน ต้องกลืนทีละคำ ช้าๆ กลืนซ้ำ อย่าให้อาหารค้างในคอ กลืนขณะก้ม และกลั้นหายใจขณะกลืน ทำแบบนี้ไม่มีวันสำลัก

แรกๆ หลังจากเคี้ยวแล้ว อมแล้ว แล้วอาจินต์ก็ก้ม ก้มจริงจังจนตัวโค้งและพยายามกลืน ก็กลืนไม่เข้า ดูแล้วน่าขัน

“ไม่ต้องก้มขนาดนี้ก็ได้มั้งพี่”

นั่นแหละ จึงค่อยๆ ทำได้

ยังมีรายละเอียดของท่ากายบริหารที่หมอแนะนำสองอย่าง ให้บริหารทุกวัน

– บริหารสะโพก นอนสองเท้ายันก้นขึ้นสูง นับ 1-15 ทำเช้า กลางวัน เย็น ทีละ 10 ครั้ง

– บริหารหน้าขา เหนือเข่า กดเข่าลงเอง นับ 1 ถึง 5 ทำหลายๆ หน

หมอบอกว่าคุณป้าก็ทำได้ ควรทำ

ฉันนึกในใจว่า ป้าเดินขึ้นลงเขาวันละไม่รู้กี่รอบ น่าจะเกินพอด้วยซ้ำ

ขอบคุณคุณหมอ