เพลินเพลง Violins of Hope กับวง Reading Symphony Orchestra – RSO แห่งเมืองเรดดิ้ง เพนซิลเวเนีย/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มงคล วัชรางค์กุล

 

เพลินเพลง Violins of Hope

กับวง Reading Symphony Orchestra – RSO

แห่งเมืองเรดดิ้ง เพนซิลเวเนีย

 

เมื่อค่ำคืนของวันที่ 13 พฤศจิกายน 2021 ผมมีโอกาสได้ชมคอนเสิร์ตของวง Reading Symphony Orchestra – RSO ในรายการ Violins of Hope ณ Raja Theater โรงออร์เคสตราเก่าแก่ของเมืองเรดดิ้ง

ก่อนหน้าโควิด-19 ระบาด ผมซื้อตั๋วปีชมคอนเสิร์ตของ RSO ทุกรายการตลอดหลายปีต่อเนื่อง

มาถึงช่วงปีที่ผ่านมา 2020 ตอนที่ COVID-19 ระบาดหนัก วง RSO งดจัดคอนเสิร์ตตลอดปี ต่อมาในปีนี้เมื่ออเมริกามีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้กว้างขวาง เหตุการณ์ระบาดลดลง วง RSO จึงจัดแสดงคอนเสิร์ตตามปกติ ตั้งแต่ต้นปีเล่นมาหลายครั้ง แต่ผมยังไม่มั่นใจจึงยังไม่ได้เข้าชม

เพียงแต่ไปร่วมชมฟรีคอนเสิร์ต RSO ฉลองวันชาติอเมริกา 4th of July ที่ลานสนามหญ้าของบริษัทเทคโนโลยีใกล้บ้าน พร้อมชมการจุดพลุที่เป็นชุดใหญ่อลังการ เรียกขวัญผู้คนกลับคืนหลังถูกโจมตีจากโควิด

จนถึงงานคอนเสิร์ต Violins of Hope ครั้งนี้ ที่ผมเข้าชมด้วยความมั่นใจ

ไม่กลัวโควิดอีกต่อไป

ผู้เช้าชมเกือบทั้งหมดล้วนเป็น Seniors แต่งตัวเต็มยศ สวมงาม หรูหรา บางกลุ่มมาโดยรถบัสรับมาจากอพาร์ตเมนต์ผู้สูงวัย ส่วนมากอาวุโสกว่าเราสองคน ช่วยให้เรารู้สึกกระชุ่มกระชวยขึ้น

ทุกคน (รวมทั้งเราสองคน) ล้วนเป็นมนุษย์เดนตาย รอดจากโควิดมาได้จนถึงวันนี้

ตรงประตูเข้าโรงคอนเสิร์ตมีช่องสแกนตรวจอาวุธเหมือนสนามบิน ห้ามนำน้ำติดตัวเข้าไป ต้องไปซื้อด้านใน รวมทั้งเบียร์ ไวน์ และของขบเคี้ยว เช่น ข้าวโพดคั่ว

บางคนยืนจิบไวน์สังสรรค์รอเวลาเข้าโรงเพื่อคอนเสิร์ตเริ่มแสดง

ก่อนเริ่มต้นแสดง โฆษกประกาศว่า ผู้ชมทุกคนต้องสวม Masks ตลอดเวลา แล้วประกาศรายชื่อสปอนเซอร์สนับสนุนวง RSO ล้วนเป็นกิจการธุรกิจในเมืองเรดดิ้ง นำโดยโรงแรม Double Tree by Hilton, Boscov’s ห้างสรรพสินค้าของเมืองเรดดิ้ง, Sweet Street ร้านขนมหวานชื่อดังก้องโลก, Albright College มหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองเรดดิ้ง, Goggle Works Center for the Arts และ etc.

สปอนเซอร์หลักของคอนเสิร์ตคืนนี้ คือ Jewish Federation of Reading/Berks สหพันธ์ชาวยิวแห่งเรดดิ้ง/เบิร์กส์ (Berks เป็นชื่อเขต) เมืองเรดดิ้งมีชุมชนชาวยิวพำนักตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเมือง ปี 1748 หรือเมื่อ 273 ปีที่แล้ว สืบเชื้อสายกันต่อเนื่องมา

ดังนั้น เมื่อนักไวโอลินที่มาแสดง Pinchas Zukerman คือชาวยิว สหพันธ์ชาวยิวแห่งเรดดิ้ง/เบิร์กส์ จึงเข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักของงาน

Auschwitz Violin ไวโอลินจากค่ายกักกัน Auschwitz

Music Director หรือผู้อำนวยเพลงของ RSO ยังเป็น Andrew Constantine จากเมือง Manchester อังกฤษตั้งแต่ปี 2007 ตอนนี้เขาโอนสัญชาติเป็นอเมริกันแล้ว

Reading Symphony Orchestra เปิดรายการคืนนั้นด้วยการบรรเลงกับ Cello ฝีมือของ Amanda Forsyth ในเพลงของ Bruch ชื่อเพลง Kol Nidrei (for Cello and Orchestra)

Amada Forsyth เป็นชาวแคนาเดียน เธอเคยเป็นแชมป์ Canadian Juno Award – winning

เธอเป็นหนี่งในนัก Cellist ยอดเยี่ยมของอเมริกาเหนือ ร่วม Soloist กับวง Orchestra ชั้นนำในอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชียและออสเตรเลีย

การเล่น Cello ของ Amada Forsyth บรรเลงได้อย่างยอดเยี่ยม ได้รับเสียงปรบมือยาวนาน

ต่อด้วยไฮไลต์ของคอนเสิร์ต Violines of Hope เสียงปรบมือต้อนรับกึกก้องเมื่อ Pinchas Zukerman ขึ้นเวทีพร้อมกับไวโอลินของ Amnon Weinstein ผู้สร้างไวโอลินชื่อ Violins of Hope ให้กับ Pinchas Zukerman โดยเฉพาะ

Pinchas Zukerman เกิดที่ Tel Aviv, Israel เป็นนักไวโอลินที่มีชื่อเสียงมากว่า 5 ทศศตวรรษด้วยการเล่นไวโอลิน, viola soloist, เป็น conductor และ chamber musician เขามีชื่อขจรเป็นที่ยอมรับด้านอัจฉริยะน่าประทับใจทางเนื้อเพลงที่บรรเลง งดงามด้วยโทนเสียง การแสดงดนตรีที่ไร้ที่ติในกว่า 100 อัลบั้ม

เขาได้รับรางวัล Grammy@awards 2 ครั้ง และเข้ารอบ 21 ครั้ง

Highlights ของปี 2021-2022 เขาร่วมแสดงกับวง Israel Philharmonic, Barcelona Symphony Orchestra, Orchestre National de Lyon และ Dallas Symphony Orchestra

กับแสดงร่วมกับนัก cellist Amanda Forsyth ทั้งคู่ร่วมแสดงใน the English Chamber Orchestra, MAV Symphony Orchestra in Budapest, Prague Symphony Orchestra, Polish Radio Symphony Orchestra, Reading and New Bedford Symphonies

นอกจากนี้ Zukerman กับ Forsyth ยังร่วมแสดงกับวง Jerusalem String Quartet ในเดือนพฤศจิกายนทั่วอเมริกาและแคนาดา

ราตรีนั้น Pinchas Zukerman กับวง RSO กำนัลผู้ชมด้วยเพลงของ Bruch ใน Violin Concerto No1 in G minor, Op.26 เพลงนี้ยาว 26 นาที Zukerman โชว์ฝีมือเดี่ยวไวโอลินได้อย่างสุดยอด จบการบรรเลง คนดูยืน standing Ovation ทั้งโรง ปรบมือให้ยาวนาน

ในการแสดงครึ่งหลัง วง RSO เสนอเพลงของ Mahler ชื่อ Symphony No.1 in D major อย่างยิ่งใหญ่ ยอดเยี่ยม

The Secret Hate violin มีเครื่องหมายสวัสดิกะ และข้อความ Heil Hitler 1936

สูจิบัตรการแสดง Violins of Hope เล่าถึงประวัติ Violin Stories ที่สำคัญหลายตัว เช่น

The Star of David Violin ไวโอลินตัวนี้มีอายุราว 120 ปี เป็นไวโอลินตัว first class มีรูปดาวแห่งเดวิดทำด้วยไข่มุกประดับบนไวโอลิน เป็นที่เชื่อกันว่าเป็นของ klezmer musician

Auschwitz Violin เป็นไวโอลินของนักโทษที่เล่นใน men’s orchestra in Auschwitz แล้วรอดชีวิตมาได้ ต่อมาไวโอลินตัวนี้ถูกขายหลังสงครามให้กับ Abraham Davidowitz ผู้ช่วยเหลือการอพยพย้ายถิ่นของชาวยิว แล้วลูกชายเขาบริจาคให้โครงการ Violins of Hope และ Amon Weinstein ได้ซ่อมไวโอลินให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ นำมาใช้บรรเลงโดยนักดนตรียอดเยี่ยมทั่วโลก

Moshe Weinstein’s Violin ไวโอลินตัวนี้สร้างปี 1800 บริจาคโดย Moshe Weinstein ผู้เป็นพ่อของ Amon Weinstein ผู้ก่อตั้ง Violins of Hope สมัยวัยเด็กในยุโรปตะวันออก Moshe ต้องมนต์เสน่ห์ของเสียงไวโอลินที่เขาติดตามกองทหารออกไปบรรเลงนอกเมือง หลังจากโดนลากกลับบ้าน เขาเรียนการเล่นไวโอลินและการสร้างไวโอลิน ปี 1938 โมเช่อพยพมาปาเลสไตน์แล้วเปิดร้านไวโอลินใน Tel Aviv

ไวโอลินที่อุทิศให้ Pinchas Zukerman โดย Amnon Weinstein ผู้ก่อตั้ง Violins of Hope เจริญรอยตามพ่อ Moshe ที่เชื่อมั่นในประเพณีการช่วยเหลือเด็กอัจฉริยะให้เดินก้าวแรกบนเส้นทางดนตรี สร้างนักดนตรีเอกอย่าง Shlomo Mintz, Pinchas Zukerman, Yitzhak Perlman และคนอื่นๆ

The Secret Hate Violin ไวโอลินแห่งความเกลียดชังซ่อนเร้น

ไวโอลินตัวนี้เป็นของชาวยิว ส่งซ่อมเมื่อปี 1936 ช่างซ่อมเปิดไวโอลินแกะสลักไว้ด้านในข้างบนว่า “Heil Hitler 1936” พร้อมแกะเครื่องหมายสวัสดิกะขนาดใหญ่ในไวโอลิน แล้วส่งคืนเจ้าของที่นำมาเล่นอีกหลายปี โดยไม่ตระหนักรู้เห็นสัญลักษณ์ซ่อนเร้นนี้

หลายปีต่อมา ไวโอลินตัวนี้ขายให้ช่างไวโอลินที่วอชิงตัน ดี.ซี. เขาเปิดไวโอลินแล้วค้นพบสัญลักษณ์แห่งความเกลียดชัง แทนที่จะทำลายไวโอลิน เขากลับบริจาคให้โครงการ Violins of Hope เก็บรักษาไว้ แต่ไม่มีการซ่อมแซม หรือนำออกแสดงอีกต่อไป

ต้องบันทึกว่า ช่างสร้างไวโอลินชาวเยอรมันไม่ใช่นาซี แต่เป็นผู้ให้ความสนับสนุนนักดนตรีชาวยิวที่มีอัจฉริยะ เป็นลูกค้าที่อุทิศตนและเป็นเพื่อนน้ำมิตร

สูจิบัตรนี้ยังเล่าถึง Violins of Hope อีกหลายตัว แล้วปิดท้ายด้วยเรื่อง ไวโอลินที่เหวี่ยงออกมาจากรถไฟ (Thrown from a Train)

เดือนกรกฎาคม 1942 คนยิวหลายพันคนที่โดนจับในปารีส ถูกส่งขึ้นรถไฟบรรทุกวัว (cattle train) สู่ที่หมายทางตะวันออก คือค่ายกักกัน Auschwitz

ในตู้บรรทุกที่อัดแน่น มีชายคนหนึ่งถือไวโอลิน พอรถไฟหยุดที่ใดที่หนึ่งในระหว่างทาง คนงานฝรั่งเศสสร้างทางได้ยินเสียงพูดฝรั่งเศสจากรถไฟบอกว่า ที่ที่เขากำลังจะไปไม่ต้องการไวโอลิน ช่วยรับไวโอลินนี้ไว้ เพื่อมันจะได้ “มีชีวิตต่อไป” คนงานฝรั่งเศสรับไวโอลีนไว้

นานปีต่อมา หลังคนงานฝรั่งเศสเสียชีวิต พวกลูกเขาเจอไวโอลินที่ห้องใต้หลังคา และจำเรื่องที่พ่อเล่าถึงไวโอลินที่ถูกเหวี่ยงจากรถไฟนักโทษได้ จึงนำไวโอลินไปให้ช่างซ่อมไวโอลินชาวฝรั่งเศสพร้อมเล่าเรื่องราว

ช่างซ่อมไวโอลินติดต่อโครงการ Violins of Hope

ไวโอลินจึงกลับ “มีชีวิต” อีกครั้ง

ถือเป็น “บุญหู” ยิ่งนัก ที่มีโอกาสฟัง Pinchas Zukerman นักไวโอลินมือหนึ่งของโลก เดี่ยวไวโอลินจากหนึ่งใน Violins of Hope กับวง RSO นับว่าเป็นของขวัญวันเกิดอันล้ำค่า