อัฟกานิสถาน : การกลับมาของฏอลิบาน (21)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

อัฟกานิสถาน

: การกลับมาของฏอลิบาน (21)

 

ความวุ่นวายในประเทศทำให้นายกรัฐมนตรีฮาฟีซุลลอฮ์ อมิน เริ่มแข็งข้อต่อตารากี และประสบความสำเร็จในการเข้าครองอำนาจ

ฮาฟีซุลลอฮ์พยายามช่วงชิงอำนาจคืนแต่ล้มเหลวในสมัยของอมิน นักการศาสนาถูกแรงกดดันจนต้องถอยห่างไปจากรัฐบาล ฝ่ายค้านถูกจับกุม เนรเทศ และถูกฆ่าไปมากมาย

โซเวียตตัดปัญหาด้วยการส่งบาบรัก กะม้าล เข้ามาปกครองเพื่อหยุดยั้งฝ่ายกบฏ

ปี 1979 ทหารโซเวียตจำนวน 20,000 นาย ยาตราเข้าสู่อัฟกานิสถาน โซเวียตให้เหตุผลในการเข้าสู่อัฟกานิสถานเอาไว้ดังนี้ คือ เพื่อต่อต้านการรุกรานจากสหรัฐ จีน ปากีสถาน เพื่อทำตามสัญญาที่มีกับอัฟกานิสถาน และจะถอนตัวทันทีเมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างสงบลง

เหตุผลอื่นๆ เป็นเรื่องของทรัพยากร เนื่องจากอัฟกานิสถานมีทั้งก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน รวมทั้งแร่ที่หายากและเป็นที่ต้องการอย่างลิเธียม

และเหตุผลทางยุทธศาสตร์ เพราะอัฟกานิสถานมีทำเลอยู่ใกล้ชิดกับแหล่งน้ำมันใหญ่ของโลกคืออ่าวเปอร์เซีย

ในช่วงนี้ประเทศต่างๆ เริ่มเข้ามาช่วยฝ่ายมุญาฮิดีนของอัฟกานิสถาน ด้วยเหตุผลต่างกัน สหรัฐเข้ามาอัฟกานิสถานเพื่อปกป้องการขยายตัวของคอมมิวนิสต์และปกป้องปากีสถาน เพราะปากีสถานอยู่ใกล้ชิดกับอ่าวเปอร์เซีย ในฐานะเมืองหน้าด่าน สหรัฐต้องเข้าปกป้องอัฟกานิสถานเพื่อมิให้โซเวียตเข้าถึงแหล่งน้ำมันและใช้ปากีสถานเป็นเส้นทางขนถ่ายอาวุธให้กบฏอัฟกัน

อิหร่านเข้ามาหนุนมุญาฮิดีนสายชีอะฮ์ ซึ่งมีฐานอยู่ที่ภาคกลาง พร้อมส่งอาวุธให้นักรบเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ ทั้งอิหร่านและปากีสถานก็ยังทำหน้าที่ด้านมนุษยธรรมด้วยการรองรับผู้ลี้ภัยชาวอัฟกันจำนวนนับล้านคนที่หลั่งไหลเข้าสู่สองประเทศ (2 ล้านห้าแสนคนในปากีสถาน 1 ล้านคนในอิหร่าน)

ผิดกับสถานการณ์เมื่อสหรัฐเข้าถล่มรัฐบาลฏอลิบานในปี 2001 ที่ทั้งอิหร่านและปากีสถานไม่ต้องการให้ผู้ที่ลี้ภัยซึ่งหลบหนีการถล่มของสหรัฐเข้ามาในประเทศของตน

นักวิเคราะห์ทั่วไปคาดการณ์ว่าจำนวนทหารสองหมื่นคนจากโซเวียตที่ได้ชื่อว่ามีอาวุธดีที่สุดของโลกในเวลานั้นคงใช้เวลาไม่นานเอาชนะนักรบมุญาฮิดีนได้

แต่ภูมิประเทศ ความทรหด จิตใจที่เข้มแข็งทำให้โซเวียตเอาชนะได้ยาก (ไม่ต่างกับที่ฏอลิบานเอาชนะกองกำลังของสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคม 2021 ที่ผ่านมา) ทหารของรัฐบาลอัฟกานิสถานเริ่มทิ้งฐานและลดจำนวนลงอย่างฮวบฮาบ ทหารโซเวียตพึ่งพาทหารรัฐบาลอัฟกานิสถานไม่ได้เลย

ปี 1985 โซเวียตส่งทหารที่ดีเยี่ยมของตนเข้ามาอีก แต่ไม่อาจสู้กับการต่อสู้แบบยอมตายของนักรบมุญาฮิดีนได้

ปี 1986 โซเวียตส่งนาญีบุลลอฮ์หัวหน้าตำรวจลับของอัฟกานิสถานเข้ามาแทนบาบรัก กะม้าล ซึ่งสุขภาพไม่ดี แต่สถานการณ์ยังย่ำแย่ต่อไป ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปากีสถาน อิหร่าน ฟินแลนด์ และสหประชาชาติใช้ความพยายามอย่างมากในการเจรจาเพื่อให้โซเวียตถอนกำลังรบออกจากอัฟกานิสถาน แต่โซเวียตยืนกรานที่จะอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไป

นักรบมุญาฮิดีนยังคงได้รับการช่วยเหลือจากสหรัฐอย่างต่อเนื่องและยิ่งรบนานวันเข้า โซเวียตก็มีแต่ความสูญเสียจึงตัดสินใจถอนทหารของตนออกจากอัฟกานิสถาน เมื่อปี 1986 นาญีบุลลอฮ์จึงสิ้นอำนาจลงในที่สุด เนื่องจากฝ่ายมุญฮิดีนของชาฮ์ มัสอูด บุกเข้าถึงตัวในกรุงคาบูล

บทบาทของรัฐบาลมาร์กซิสต์จึงยุติลงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

สิ่งที่น่าเสียใจที่สุดสำหรับชาวอัฟกานิสถานในเวลาต่อมาก็คือการแตกแยกกันของมุญาฮิดีนกลุ่มต่างๆ ที่เคยร่วมกันต่อสู้กับโซเวียตมาอย่างโชกโชนเพื่อเข้าครองกรุงคาบูล ทั้งสหประชาชาติและหลายประเทศพยายามยุติความขัดแย้งระหว่างมุญาฮิดีนกลุ่มต่างๆ แต่ก็จบลงด้วยความล้มเหลวเช่นเคย

ช่วงนี้ผู้นำกลุ่มต่างๆ ได้ผลัดกันขึ้นมาปกครองอัฟกานิสถานเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ความพยายามที่จะให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ดูเลือนรางออกไปทุกที สงครามระหว่างมุญาฮิดีนกลุ่มต่างๆ ดุเดือดรุนแรงเสียยิ่งกว่าสงครามที่พวกเขาทำกับโซเวียตมา 14 ปีเสียอีก

ความพยายามที่จะให้อัฟกานิสถานมีเสถียรภาพยังคงมาจากอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และปากีสถาน แต่ประสบความสำเร็จแค่เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น

 

ท่ามกลางการต่อสู้กันเองของนักรบมุฮาฮิดีนฝ่ายต่างๆ ที่เคยร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่เพื่อต่อต้านโซเวียตมาก่อนก็ได้เกิดกลุ่มนักรบนักเรียนขึ้นมาอย่างไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ในปี 1994 นักรบซึ่งเป็นนักเรียนเหล่านี้มีชื่อว่านักรบฏอลิบาน (หมายถึงนักเรียนศาสนา)

พวกเขาเป็นนักเรียนชาวอัฟกานิสถานที่เข้าไปเรียนศาสนาในภาคใต้ของปากีสถาน เพียงแค่หกเดือนของการจัดตั้งนักรบฏอลิบานก็บุกตะลุยอัฟกานิสถานและยึดเมืองสำคัญๆ ได้ถึงสามเมือง

จุดมุ่งหมายของนักรบฏอลิบานก็เหมือนๆ กับนักรบมุญาฮิดีนทุกฝ่ายคือต้องการให้อัฟกานิสถานใช้กฎหมายอิสลาม (Shariah law) อย่างเคร่งครัดในการปกครองอัฟกานิสถาน เนื่องจากนักรบฏอบิบานเป็นคนหนุ่ม จึงเต็มไปด้วยพลังและความหวัง

ในที่สุดคนหนุ่มเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จในการเข้ามาปกครองอัฟกานิสถานจนได้ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้ว

 

คําว่าฏอลิบานในภาษาอาหรับหมายถึงนักเรียนศาสนา แต่ในภาษาพุชตุนหมายถึง “ผู้แสวงหา” ฏอลิบานเข้าพิชิดกรุงคาบูลนครหลวงของอัฟกานิสถานได้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 1996 เข้าควบคุมสถานที่สำคัญของราชการได้ทั้งหมด รวมทั้งทำเนียบของประธานาธิบดีด้วย

กองทัพนักเรียนศาสนาสามารถเข้ายึดครองของอัฟกานิสถานได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เพราะฝ่ายรัฐบาลซึ่งรู้ว่าต้องพ่ายแพ้แน่แล้ว ไม่ต้องการการหลั่งเลือด (เหตุการณ์นี้คล้ายคลึงกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ฝ่ายรัฐบาลอัฟกานิสถานซึ่งได้รับการหนุนช่วยจากสหรัฐยอมแพ้ฏอลิบาน) แต่งานแรกที่เป็นผลงานฏอลิบาน ซึ่งสร้างความตะลึงพรึงเพริดให้แก่ชาวโลก ได้แก่การจับนาญีบุลลอฮ์ ซึ่งซ่อนตัวอยู่ที่กองบัญชาการของสหประชาชาติ

อดีตประธานาธิบดีหุ่นเชิดของโซเวียต ในช่วงทศวรรษ 1980 และน้องชายของเขาได้ถูกแขวนคอประจานกลางกรุงคาบูล

ฝ่ายฏอลิบานเชื่อว่านายนาญีบุลลอฮ์ เป็นสาเหตุให้อัฟกานิสถานเป็นดินแดนมิคสัญญี นาญีบุลลอฮ์เป็นผู้นำพาลัทธิคอมมิวนิสต์มาใช้ในอัฟกานิสถาน และเชิญชวนให้กองทัพโซเวียตเข้ามาห้ำหั่นกับชาวอัฟกัน แผ่นดินอัฟกานิสถานจึงนองไปด้วยเลือด

ดังนั้น กองทัพฏอลิบานจึงไม่มีความเสียใจในการแขวนคอนายนาญีบุลลอฮ์และน้องชายของเขาแต่อย่างใด พร้อมกับห้ามให้มีการจัดงานศพใดๆ ด้วย

 

จากความพ่ายแพ้ทำให้บุรฮานุดดีน ร็อบบานี ประธานาธิบดี กุลบุดดิน ฮิกมัดยาร์ นายกรัฐมนตรี และอะห์มัดชาฮ์ มัสอูด ผู้บัญชาการทหาร ต้องหลบหนีฏอลิบานไปตั้งทัพเพื่อสู้รบกับกองทัพฏอลิบานใหม่ในหุบเขาปัญชีร อันเป็นพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ

ผู้ที่สามารถนำกองทัพนักเรียนเข้าพิชิตกรุงคาบูลได้ในครั้งนี้คือมุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร และทันทีที่มีชัยเหนือฝ่ายรัฐบาลของร็อบบานี เขาก็ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งประกอบไปด้วยผู้นำชั้นสูงของฏอลิบาน 6 คน เรียกว่าสภาที่ปรึกษา (ซูรอ) ทันที โดยทหารทุกคนของรัฐบาลเก่าไดรับการนิรโทษกรรม ยกเว้นนักการเมืองและนายทหารบางนายที่กองทัพฏอลิบานอ้างว่ารู้เห็นเป็นใจในการเช่นฆ่าผู้คน

หากจะกล่าวถึงความสำเร็จของกองทัพนักเรียน (ฏอลิบาน) ก็ต้องนับว่าประสบความสำเร็จในการต่อสู้สูงมากเพราะใช้เวลาแค่เพียงสองปีก็สามารภจัดตั้งกองทัพและเข้าพิชิตกรุงคาบูลที่ฝ่ายมุญาฮิดีนกลุ่มต่างๆ ต้องใช้เวลาปลดแอกมาอย่างยากลำบากได้ และใช้เวลานานกว่าจะเอาชนะรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ปกครองอัฟกานิสถานยาวนานถึง 14 ปี

การขึ้นมาสู่อำนาจของนักรบฏอลิบานนั้นมีความน่าศึกษาอย่างยิ่งเพราะกองทัพนักเรียนศาสนาเหล่านี้เป็นเพียงนักเรียนชาวอัฟกานิสถานที่ศึกษาคัมภีร์กุรอานอยู่ในปากีสถาน แรงบันดาลใจของนักรบเหล่านี้ เกิดจากความเบื่อหน่ายที่เห็นความไม่ลงรอยกันระหว่างบุรฮานุดดีน ร็อบบานี ประธานาธิบดีที่ได้รับการหนุนช่วยจากชาฮ์ มัสอูด ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหาร และรอซูล ซัยยาฟ หนึ่งในผู้นำคนสำคัญของรัฐบาลร็อบบานีแห่งพรรคญะมาอัดอิสลามกับกุลบุดดีน ฮิกมัดยาร นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคหิซบีอิสลามมีโดยได้รับการหนุนช่วยจากกองกำลังของชาวอุซเบ็ก นำโดยนายพลรอชีด โดสดั้ม ที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางเหนือของอัฟกานิสถาน

กลุ่มมุญาฮิดีนของทั้งสองฝ่าย แม้จะอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน โดยฝ่ายหนึ่งเป็นประธานาธิบดีและอีกฝ่ายเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทั้งสองฝ่ายกลับเป็นปรปักษ์กันเอง จนต้องจับอาวุธเข้าต่อสู้กัน บ้านเมืองพังพินาศและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

จุดมุ่งหมายสำคัญของประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรีที่ทำการต่อสู้กันนั้นเป็นไปเพื่ออำนาจและการเข้าครองกรุงคาบูลอย่างถาวรมากกว่าจะเป็นการเดินตามอุดมการณ์การปกครองที่มีพื้นฐานทางศาสนาที่แต่ละฝ่ายนำมาอ้าง