จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (32) สังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่ง (ต่อ)/เงาตะวันออก วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (32)

สังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมสมัยซ่ง (ต่อ)

 

เศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับภาคเกษตรทั้งโดยตรงและโดยอ้อมในอีกภาคหนึ่งคือ การทอผ้าและโรงงานพลังน้ำ (water mills) โดยการทอผ้าในที่นี้คือ เทคนิคหลอดด้ายผ้าไหมที่ค้นพบโดยสองสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งทำให้ได้ด้ายไหมน้ำหนักสูงถึง 2,869 กรัม

เครื่องทอผ้าที่มีเทคนิคที่ดีขึ้นนี้ได้ถูกนำไปใช้กับการทอผ้าชนิดอื่นๆ เช่น จำพวกป่านหรือกัญชง จากนั้นราชวงศ์หยวนก็ได้ต่อยอดให้เป็นเครื่องทอผ้าที่มีความยืดหยุ่นและแข็งแรงมากขึ้น

ส่วนโรงงานพลังน้ำของจีนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานย้อนกลับไปถึงราชวงศ์ฮั่นนั้น มาในยุคนี้โรงงานพลังน้ำได้พัฒนามากขึ้นจนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้กว้างขึ้น

โดยเฉพาะการนำมาใช้ขับเคลื่อนเครื่องโม่หินที่มีขนาดใหญ่ที่บดธัญพืชต่างๆ ก่อนที่จะถูกส่งเข้าไปในเครื่องผัดข้าวที่ใช้แรงลมเป่า

หลังจากนั้นก็จะมีเรือมารับผลผลิตเหล่านี้เพื่อนำส่งไปยังตลาดต่อไป

 

การเดินทางของสินค้าและผู้คน

แผนที่ของราชวงศ์ซ่งสองฉบับที่ทำขึ้นเมื่อ ค.ศ.996 และ ค.ศ.1006 ทำให้ได้รู้ว่า จีนได้ก้าวมาถึงจุดสูงสุดของการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมและการเดินทางก็ในยุคนี้

แผนที่ดังกล่าวทำให้เห็นว่า มีการเดินทางทางน้ำผ่านคลองขุดขนาดใหญ่ (ต้าอวิ้นเหอ, the Grand Canal) เป็นหลักแล้วเชื่อมต่อกับคลองหรือแม่น้ำสายอื่นๆ กับการเดินทางทางบก

ทั้งสองทางนี้ต่างเชื่อมกันอย่างเป็นระบบทั่วจักรวรรดิ และสนองตอบต่อการเดินทางของบุคคลและการค้าขาย

ในสมัยถังได้เชื่อมเอาถนน สะพานหิน และเรือข้ามฟากเป็นเครือข่ายเดียวกัน แต่พอมาถึงสมัยซ่งเส้นทางเหล่านี้ได้กลายเป็นที่ตั้งของบ้านพักส่วนบุคคล ภัตตาคาร สถานบริการชำระล้าง ที่ต่างอำนวยความสะดวกให้แก่นักเดินทางทุกกลุ่มได้พึ่งพาระหว่างทาง โดยเฉพาะถนนในยุคนี้ได้ขยายให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น และทำให้การสัญจรลดความหนาแน่นลง

ทั้งยังมีความปลอดภัยสูงสำหรับพ่อค้าที่เดินทางไปค้าขายยังต่างถิ่น เพราะทุกๆ 2.5 กิโลเมตรจะมีการสร้างป้อมเพื่อเฝ้าระวังตลอดเส้นทาง ป้อมเหล่านี้อาจสร้างด้วยดินเป็นเนิน ไม้ หรือหิน โดยพ่อค้าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมความปลอดภัยนี้ร้อยละ 2 จากมูลค่าสินค้าของตน

การเดินทางไปต่างถิ่นที่อยู่ไกลยังได้รับความร่มรื่นจากต้นไม้สองข้างทางอีกด้วย ต้นไม้เหล่านี้ปลูกขึ้นตามนโยบายของราชสำนัก แต่จะเป็นไม้พันธุ์ใดย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่

เช่น ถ้าเป็นชายแดนแถบภูมิภาคมณฑลเหอเป่ยจะเป็นต้นเอล์ม (elm, ไม้ในตระกูลอัลมัส, ulmus) หรือต้นหลิวทั้งสองฝั่งถนน เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็ยังมีการปลูกไม้พันธุ์อื่นๆ ตลอดเส้นทางสำหรับผู้เดินสารที่ได้รับการปรับผิวถนนให้เรียบแล้ว โดยใน ค.ศ.1116 มีการบันทึกว่า ที่มณฑลซื่อชวนมีการปลูกไม้สนเพื่อการนี้ราว 338,000 ต้น

 

เส้นทางคมนาคมจากที่กล่าวมานี้ไม่เพียงรับใช้การเดินทางของผู้คนเท่านั้น หากยังส่งสินค้านานาชนิดให้ได้กระจายไปยังถิ่นต่างๆ ทั่วทั้งจักรวรรดิอีกด้วย หากไม่นับสินค้าเกษตรที่ได้กล่าวไปแล้ว สินค้าที่เป็นแร่ธาตุอย่างเช่น ทองแดง ทองคำ เหล็ก เงิน ก็ถูกนับรวมเอาไว้ด้วยเช่นกัน

แร่ธาตุเหล่านี้ถูกนำไปแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์หรือเป็นสินค้าในรูปแบบต่างๆ โดยเหล็กกับทองแดงจะถูกนำไปแปรรูปเป็นเหรียญกษาปณ์ ส่วนเงินและทองคำถูกนำไปแปรรูปเป็นเงินแท่งและทองแท่ง

กล่าวเฉพาะเหล็กแล้วถูกนำไปแปรรูปมากที่สุด เช่น อาวุธ เสื้อเกราะ เกือกม้า เพลาล้อ มีด สิ่ว ตะปู กุญแจ หม้อ กระทะ ขวานด้ามเล็ก (hatchets) จอบ พลั่ว ใบมีดสำหรับคันไถ ขวาน (axes) หัวค้อน

ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ สำหรับคนงานและผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม แร่อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติรัฐจะเป็นผู้ควบคุมผ่านการเก็บภาษี เหล็กกับทองแดงจะเก็บภาษีร้อยละ 10 เงินกับทองคำร้อยละ 20 และเจ้าของจะต้องขายผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากแร่เหล่านี้ให้แก่รัฐ

ตัวเลขในปี ค.ศ.1065 สะท้อนถึงความสำคัญของแร่เหล่านี้ว่า จำนวนแหล่งผลิตเครื่องใช้โลหะที่มีอยู่ 271 แห่งในจีนขณะนั้นมี 123 แห่งหรือร้อยละ 44 ที่เป็นโรงงานถลุงเหล็กและทองแดง และ 84 แห่งถลุงเงิน

โดยภาษีที่เก็บได้จากผลิตภัณฑ์เหล็กจะมีน้ำหนักของเหล็กระหว่าง 5,000 ถึง 10,000 ตัน พอถึง ค.ศ.1078 เพิ่มเป็นระหว่าง 17,000 ถึง 20,000 ตัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของราชวงศ์ซ่งได้เป็นอย่างดี

และส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ทัศนคติ และค่านิยมที่มีลักษณะเฉพาะของยุคนี้ตามมาด้วย

 

สังคมวัฒนธรรมและค่านิยม

แม้จีนในยุคซ่งจะมีด้านที่รุ่งเรืองและสร้างสรรค์อยู่ไม่น้อยก็ตาม แต่ยุคนี้ก็มีด้านที่มืดมนอยู่เรื่องหนึ่งคือ การสร้างค่านิยมที่ผิดๆ เกี่ยวกับการรัดเท้า (foot binding) ของผู้หญิง ว่าการรัดเท้าจนลีบเล็กคือค่านิยมหนึ่งของความงามที่หญิงทุกคนพึงถือปฏิบัติ

ค่านิยมการรัดเท้าเริ่มเกิดในหมู่ชนชั้นสูงก่อน หลังจากนั้นก็แพร่เข้าไปจนเป็นที่นิยมในครอบครัวดีๆ ของจีน

การรัดเท้านี้จะเริ่มทำกันในขณะที่หญิงยังเด็ก โดยเท้าของเด็กหญิงจะถูกห่อหุ้มด้วยผ้าที่พันรัดนิ้วเท้า จนทำให้นิ้วเท้ามิอาจเติบโตได้ตามธรรมชาติ แต่จะถูกกดดันอยู่ในผ้าที่พันอยู่เป็นเวลานานปี จนนิ้วทั้งหมดจะคดงองุ้มผิดรูปอย่างที่ควรจะเป็น

และความจริงแล้วก็คือการทำให้นิ้วเท้าพิการ และด้วยรูปลักษณ์ที่พิการนี้ เท้าของหญิงจะถูกสวมด้วยรองเท้าผ้าไหม ที่ล้วนมีสีสันและลวดลายที่แตกต่างหลากหลาย

การที่เริ่มรัดเท้าตั้งแต่ที่หญิงยังเด็กนี้ก็เพราะในวัยเด็กกระดูกเท้าของหญิงยังอ่อน ง่ายต่อการที่จะเปลี่ยนรูปลักษณ์ของเท้าให้เป็นไปตามต้องการ กระทั่งเวลาผ่านไปหลายปีนิ้วที่งองุ้มและเล็กมากจะถูกเรียกว่า “ปทุมทอง” (golden lotus)

ตามรูปลักษณ์ที่คล้ายดอกบัวตูม