พยัคฆ์ร้าย 2565 (1) ปีใหม่ เชื้อใหม่ รัฐบาลเก่า!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พยัคฆ์ร้าย 2565 (1)

ปีใหม่ เชื้อใหม่ รัฐบาลเก่า!

 

“โควิดได้ช่วยขยายความไม่เท่าเทียมทุกเรื่องที่ดำรงอยู่ในสังคม”

Melinda Gates (2020)

 

สังคมไทย 2565 น่าจะยังคงอยู่ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่อไป ซึ่งไม่แตกต่างจากหลายสังคมของโลกในปัจจุบัน

สภาวะเช่นนี้ทำให้รัฐบาลของหลายประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของการบริหารภาครัฐ และการจัดการทางสังคมชุดใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอาจจะไม่ต่างหลังสถานการณ์การระบาดใหญ่ในปี 2563 ต่อเข้าปี 2564 อันทำให้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ไทยตกอยู่ใน “วงล้อมของวิกฤต” ไม่จบ

ในปลายปี 2564 โลกยังคงเห็นการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่เป็นเชื้อตัวใหม่ หรือที่เรียกกันว่า “โอไมครอน” อันเท่ากับเป็นสัญญาณว่า การระบาดของไวรัสนี้ยังคงเป็นโจทย์สำคัญในปีใหม่ อีกทั้งยังคาดเดาไม่ได้ว่า การระบาดที่เกิดขึ้นจากปลายปี 2562 จะสิ้นสุดลงจริงเมื่อใด และเชื้อโอไมครอนจะเป็นจุดสุดท้ายของการระบาดหรือไม่…

คำถามเช่นนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกทิ้งค้างกับอนาคต อันทำให้เกิดคำถามในอีกมุมหนึ่งของปีนักษัตรว่า ในปี 2565 ซึ่งเป็น “ปีเสือ” ไทยจะเป็น “เสือทะยาน” หรือ “เสือลำบาก” หรือ “เสือติดบ่วงพราน”!

ดังนั้น บทความรับปีใหม่นี้จะทดลองนำเสนอถึงวิกฤตที่จะเกิดกับรัฐและสังคมไทยในยุคที่การระบาดยังไม่มีสัญญาณการสิ้นสุด และอาจกล่าวโดยสรุปว่า เสมือนกับไทยกำลังเผชิญกับ “สงครามต่อเนื่อง” ในอีกด้านหนึ่ง สงครามเหล่านี้ยังมีเงื่อนไข “ปีใหม่ เชื้อใหม่ รัฐบาลเก่า วิสัยทัศน์เก่า” อีกด้วย

การใช้ “วาทกรรมสงคราม” ก็เพื่อให้สอดรับกับผู้นำรัฐบาล ที่มาจากผู้นำกองทัพ อย่างไรก็ตาม ต้องขอทำความเข้าใจร่วมกันว่า สงครามเช่นนี้มิใช่สงครามในความหมายของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังระหว่างรัฐคู่พิพาท

หากคำว่าสงครามในบทนี้เป็นการใช้ภาษาในเชิงภาพลักษณ์

 

1) สงครามโรคระบาด : ปัญหาความมั่นคงด้านสาธารณสุข

สิ่งที่โลกและสังคมไทยกำลังเผชิญก็คือ ปัญหาวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งการระบาดที่เกิดขึ้นในวงกว้างทั้งในบริบทโลกและบริบทไทย จนอาจเปรียบเทียบได้กับภาวะของ “สงครามโรคระบาด” อันมีนัยหมายถึง “สงครามรูปแบบใหม่” ที่ผู้นำรัฐบาลไทยต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสงครามที่ข้าศึกไม่ปรากฏตัวตน และเป็นภัยคุกคามที่ไม่ปรากฏกำลังรบ

เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้การเตรียมรับมือกับสภาวะ “สงครามโรคระบาด” เป็นความท้าทาย ทั้งในมิติของความรู้และความสามารถของผู้นำรัฐบาลไทยอย่างยิ่ง (สงครามนี้มิได้มีนัยถึงสงครามเชื้อโรคที่กระทำโดยรัฐ ในแบบของ Biological Warfare)

ดังจะเห็นได้ว่าการระบาดที่เริ่มขึ้นในจีนในตอนปลายปี 2562 และขยายแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในต้นปี 2563 พร้อมกับการกลายพันธุ์ในปี 2564 และมีแนวโน้มถึงการกลายพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2565

ภาวะเช่นนี้ได้กลายเป็นวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญของโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งอาจจะไม่แตกต่างจากประวัติศาสตร์ของโรคระบาด เช่น ปัญหาไข้หวัดสเปนในยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตของคนเป็นจำนวนมาก

การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดวิกฤตขึ้นในหลายประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในจีนเองที่เป็นต้นทางของการระบาด ในยุโรป เช่น ในอิตาลี สเปน ฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี รวมทั้งในสหรัฐอเมริกาด้วย

การระบาดของเชื้อไวรัสชุดนี้บ่งบอกถึงปัญหา “ความมั่นคงด้านสาธารณสุข” (Health Security) อย่างมีนัยสำคัญ

และเท่ากับเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า การเตรียมรับมือกับโรคระบาดยังคงเป็นปัญหาสำหรับรัฐสมัยใหม่ในปัจจุบันเสมอ

ความเชื่อที่ว่า “ความเป็นสมัยใหม่” ของสังคมที่ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางแพทย์ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้มนุษย์สามารถต่อสู้และเอาชนะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ทุกชนิดนั้น อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไป เพราะสำหรับประเทศกำลังพัฒนาแล้ว ปัญหาโรคระบาดยังเป็นภัยคุกคามที่สำคัญ และเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงในหมู่ประเทศด้อยพัฒนาและยากจน

ฉะนั้น ผู้นำไทยอาจจะต้องตระหนักว่าความมั่นคงด้านสุขภาพเป็นประเด็นสำคัญ และต้องการการลงทุนจากภาครัฐอย่างเป็นระบบ จะคิดแต่การลงทุนในภาคส่วนของความมั่นคงทางทหารอาจจะไม่เพียงพอ

อีกทั้งผู้นำรัฐบาลต้องคิดถึงมาตรการในการรับมือที่มีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการออกแผนปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อหยุดยั้งการระบาดที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า

ทั้งยังต้องคิดถึงการเตรียมรับมือกับวิกฤตนี้ในปี 2565 เนื่องจากสังคมไทยปัจจุบันยังต้องเผชิญกับเชื้อกลายพันธุ์เดิมคือ “เชื้อเดลตา” แล้ว และเชื้อตัวใหม่คือ “โอไมครอน” ได้เริ่มปรากฏในสังคมไทยก่อนสิ้นปี 2564 และเชื้อทั้งสองจะเกิดการผสมผสานอย่างใดหรือไม่ในปี 2565

 

2)สงครามการบริหารรัฐ : ปัญหาความมั่นคงทางการเมือง

ในท่ามกลางการระบาดของเชื้อโควิด-19 รัฐบาลเผชิญกับแรงเสียดทานทางการเมืองจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องของขีดความสามารถใน “การบริหารจัดการวิกฤต” (crisis management)

ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่เชื่องช้า การออกมาตรการที่ไม่ชัดเจน ปัญหาการควบคุมพื้นที่การแพร่ระบาด การควบคุมบุคคลที่ติดเชื้อ การควบคุมการเข้าออกประเทศของบุคคล ตลอดรวมถึงการขาดแผนสนับสนุนที่จะรองรับต่อการออกมาตรการของรัฐบาล

นอกจากนี้ ในปี 2563 ต่อเข้าปี 2564 ประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อสถานะของรัฐบาลอย่างมากคือ “ปัญหาการบริหารจัดการวัคซีน” โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับวัคซีนบางชนิด และไม่มีท่าทีตอบรับกับวัคซีนบางชนิด

สิ่งเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนอย่างมีนัยสำคัญถึงประสิทธิภาพของรัฐบาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา

การสะสมของปัญหาเหล่านี้ทำให้สถานะของรัฐบาลติดลบ และตามมาด้วยการถูกวิจารณ์อย่างหนักในเวทีสาธารณะ อันทำให้เกิดข้อสรุปประการหนึ่งว่า “การบริหารวิกฤต” ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลนั้น หากฝ่ายรัฐไม่สามารถบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว สิ่งที่ตามมาจะเป็น “วิกฤตการบริหาร” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อีกทั้งสภาวะเช่นนี้อาจขยายตัวเป็น “วิกฤตศรัทธา” ในตัวเอง และผลสืบเนื่องจากปัญหาเช่นนี้จะขยับตัวไปสู่ประเด็น “ความมั่นคงทางการเมือง” เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลโดยตรง อันเป็นผลจากการลดลงของความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะความเชื่อมั่นต่อตัวนายกรัฐมนตรี ดังจะเห็นจากคะแนนเสียงสนับสนุนนายกรัฐมนตรีในการสำรวจประชามติไม่ได้สูงมากนัก

ดังนั้น หากพิจารณาถึงปัญหาประสิทธิภาพของการบริหารในเชิงมหภาคในปีใหม่ รัฐบาลจะเผชิญกับการตรวจสอบที่เข้มข้นทั้งในสภาและนอกสภา รวมถึงการดำเนินการของรัฐบาลในด้านต่างๆ จะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในการตรวจสอบมากขึ้น เพราะพรรคฝ่ายค้านและภาคสังคมในปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้น

อีกทั้งหากพิจารณาถึงอนาคตของปี 2565 รัฐบาลจะเผชิญกับ “สงครามเชื้อโรค” จากการระบาดทั้งของเชื้อ “เดลตา” และ “โอไมครอน” จนอาจคาดคะเนได้ว่า รัฐบาลจะเผชิญกับ “สงครามการบริหารวิกฤต” ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

 

3) สงครามเศรษฐกิจ : ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ในระดับมหภาคมีความชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของเชื้อโควิด จนเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (global economic recession) ดังจะเห็นได้ถึงการชะลอตัวของปัจจัยต่างๆ ในทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลก จนอาจกล่าวได้ว่าโลกหลังจากการระบาดครั้งนี้อาจนำไปสู่การจัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจของโลกใหม่ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกก่อนการระบาดก็อ่อนลงจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมาแล้ว

สภาวะเช่นนี้มีผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งในอีกส่วนหนึ่งเศรษฐกิจไทยเองก็ประสบกับปัจจัยลบที่เป็นดัง “แรงกระแทก” ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ คือปัจจัยที่หนึ่งเป็นผลพวงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยเอง

ปัจจัยที่สองมาจากผลกระทบจากสงครามการค้าและการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างสองรัฐมหาอำนาจใหญ่

ปัจจัยที่สามเป็น “แรงกระแทกใหญ่” อันเป็นผลจากการระบาดของเชื้อโควิด ที่ยังไม่เห็นถึงจุดสุดท้าย อันส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

และปัจจัยสุดท้ายคือขีดความสามารถของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค

ผลเช่นนี้ทำให้เห็นแนวโน้มในปีใหม่ว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะยังอยู่ในภาวะวิกฤต และอาจจะไม่แตกต่างจากแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สดใส ในอีกด้านของภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตรหลัก 5 ชนิด คือข้าว ข้าวโพด ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์ม

ดังจะเห็นว่าสินค้าเกษตรทั้งห้าชนิดไม่มีราคาดีอย่างที่เกษตรกรคาดหวัง ซึ่งในอีกด้านก็ส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิตของเกษตรกรโดยตรง ดังตัวอย่างของราคาข้าว ราคายาง และราคาปาล์ม ที่มีผลต่อทั้งเกษตรกรและสังคมโดยรวม

สงครามเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นเช่นนี้ต้องยอมรับมีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเห็นได้ชัดว่าความรุนแรงของปัญหาเกิดจากการปิดตัวลงของภาคธุรกิจในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจในระดับกลาง และระดับเล็ก (SME) ล้วนต้องแบกรับภาระอย่างหนัก จนหลายธุรกิจต้องปิดตัวลงอย่างถาวร ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคการผลิตหรือภาคบริการก็ตาม และนำไปสู่การตกงานครั้งใหญ่ในสังคม

ผลเช่นนี้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีปัญหา ข้อถกเถียงในเชิงเวลาก็คือ เศรษฐกิจไทยจะตกถึงจุดต่ำสุดเมื่อใด และเป็นความหวังว่าการตกถึงจุดต่ำสุดนั้น จะเป็นสัญญาณถึงการขยับตัวขึ้นอีกครั้ง

สิ่งที่ต้องตระหนักในอนาคตก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่รวดเร็วอย่างที่หวัง เพราะไม่เพียงจะต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น หากยังจะต้องอาศัยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลในอนาคตอีกด้วย

หรืออาจกล่าวได้ว่าสงครามเศรษฐกิจที่มีนัยถึง “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของรัฐบาลในปี 2565 และการพาเศรษฐกิจไทยให้กลับสู่ภาวะปกติให้ได้อย่างรวดเร็วจะเป็นประเด็นการเมืองที่สำคัญเช่นกัน และพรรคการเมืองที่สามารถทำให้ความคาดหวังทางเศรษฐกิจของประชาชนเกิดเป็นจริงได้ จะเป็นผู้กุมชัยชนะทางการเมือง (อาจไม่แตกต่างจากการเมืองกับฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตปี 2540)

จนอาจกล่าวได้ว่าการต่อสู้ในการนำเสนอแนวทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยจะเป็นประเด็นสำคัญของการแข่งขันทางการเมืองในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และแนวทาง “ประชานิยมสุดขั้ว” เช่นที่รัฐบาลปัจจุบันดำเนินการอยู่นั้น จะเป็นปัจจัยของชัยชนะทางการเมืองได้จริงเพียงใด