สร้าง Soft Power ใหม่ คือ การปฏิวัติ : สังคมใหม่ในสายตาของนักศึกษา มธก./My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

สร้าง Soft Power ใหม่ คือ การปฏิวัติ

: สังคมใหม่ในสายตาของนักศึกษา มธก.

 

“เมื่อได้ทำการรัฐประหารแล้ว งานที่จะกระทำต่อไปเป็นงานปฏิวัติ…” (กิจจา วัฒนสินธุ์, 2482)

 

ภายหลังการประวัติ 2475 ระบอบประชาธิปไตยที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่เปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางความคิดและพื้นที่ให้การฉลองรัฐธรรมนูญทุกวันที่ 10 ธันวาคม จนเป็นงานเฉลิมฉลองที่สำคัญของเหล่าพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยในช่วง 2475-2484

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจัดการนำเสนอความใฝ่ฝันออกมาเป็นความเรียงฉลองรัฐธรรมนูญ โดยมีคณะกรรรมการตัดสินเรียงความ ประจำปี 2482 ประกอบด้วย เดือน บุนนาค พระราชธรรมนิเทศ สัญญา ธรรมศักดิ์ พระยาอนุมานราชธน เชื้อ พิทักษากร เสริม วินิจฉัยกุล วิจิตร ลุลิตานนท์ ไพโรจน์ ชัยนาม อำพัน ตัณฑวรรธนะ และนิพนธ์ วิลัยรัตน์ เลขานุการคณะกรรมการประกวดในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมีหัวข้อว่า “รัฐนิยมส่งเสริมความวัฒนาของชาติไทยในระบอบรัฐธรรมนูญอย่างไร” โดยมีผู้ส่งระดับผลงานระดับอุดมศึกษา จำนวน 67 คน

การปฏิวัติวัฒนธรรมตามรัฐนิยม และภาพวาดผลงานเหม เวชกร ในนิตยสาร สร้างตนเอง 2485

เรียงความของกิจจา วัฒนสินธุ์ (เจียง อิ๊วติ๊ดหลี, 2452-2522) ได้การตัดสินให้ได้รับรางวัลที่ 1 เขามีพื้นเพที่ฉะเชิงเทรา มาเรียนต่อที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส และโรงเรียนปทุมคงคา (2470) เคยทำงานบริษัทบอร์เนียว ต่อมากลับมาช่วยงานโรงสีของครอบครัว จากนั้น สมัครเป็นตำรวจภูธร ระหว่างนั้นเรียนกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมายไปด้วย สอบได้เนติบัณฑิต (2476) เป็นที่ปรึกษาเทศบาล จังหวัดฉะเชิงเทรา (2477) ด้วยปรารถนาอยากเป็นผู้แทนราษฎรที่บ้านเกิด และจบรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (2483) มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เคยเป็นผู้แทนราษฎรฉะเชิงเทรา 2 สมัย (2489, 2491) เคยเป็นเลขานุการรัฐมนตรียุติธรรม (2490) และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตราธิการ (2491) ชีวิตหลังพ้นตำแหน่งทางการ คลุกคลีกับหอการค้าไทยอย่างยาวนานจนได้เป็นประธานสภาหอการค้า

หนทางหนึ่งในการเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนสมัยนั้นว่าเป็นเช่นไร เราจะลองเดินเข้าไปในความใฝ่ฝันในรูปความเรียงที่เขาส่งเข้าประกวด

สำหรับภูมิหลังของกิจจา เป็นไปได้ว่า เมื่อครั้งเขายังหนุ่มแน่น คงเป็นหนี่งในกลุ่มนักศึกษากฎหมายที่ให้การสนับสนุนการปฏิวัติ 2475 อย่างเข้มแข็งในการพิทักษ์ประชาธิปไตยจากปรปักษ์ คงเคยร่วมเดินขบวนของเหล่านักเรียนกฎหมายหลายร้อยคนเรียกร้องให้รัฐบาลพระยาพหลฯ ลงโทษพระยามโนปกรณ์ฯ ที่ปิดสภาและการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ และคงช่วยปราบกบฏบวรเดชของคณะกฎหมาย ดังเห็นในภาพถ่ายที่เขาติดเหรียญปราบกบฏบวรเดช (2476) รวมทั้งในหนังสืองานศพของเขายังกล่าวถึงความเรียงที่เขาเคยส่งประกวดในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2482 อย่างภาคภูมิใจอีกด้วย

จากภูมิหลังของเขาทำให้เราเข้าใจความมุ่งมั่นในการสนับสนุนประชาธิปไตยของเขาได้ไม่ยาก

กิจจา วัฒนสินธุ์ มหาบัณฑิตทางรัฐศาสตร์ จาก มธก. และผลงานเรียงความของเขา 2482

ในสายตาของกิจจา เขาเห็นว่า “เมื่อได้ทำการรัฐประหารแล้ว งานที่จะกระทำต่อไปเป็นงานปฏิวัติ หลักสำคัญของการปฏิวัติก็คือ การสร้างชาติใหม่ ตามแนวหลัก 6 ประการ…งานสร้างชาติที่จะนำประโยชน์มาสู่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวงก็คือ งานอบรมจิตใจชนชาวไทยให้มีจริยา มรรยาทของอารยชน มีความรู้สึกผิดชอบและเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง”

สำหรับเขาแล้ว การสร้างค่านิยมและความเชื่อใหม่ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่รัฐบาลคณะราษฎรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ในการปลูกฝังความรักชาติ และการอุทิศตนเพื่อชาติเป็นรากฐานสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลต้องการสร้างให้เกิดขึ้นในหมู่พลเมืองตามรัฐนิยม

กิจจาเห็นว่า รัฐนิยมและพระราชนิยมมีความเหมือนกันตรงที่ให้ประชาชนปฏิบัติตาม แต่มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ พระราชนิยมเป็นพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์แต่ผู้เดียวที่ “บัญชาสั่งให้อำมาตย์ราชมนตรีและไพร่ฟ้าปฏิบัติการให้ต้องด้วยพระราชประสงค์” แต่รัฐนิยมนั้น “เป็นมติของรัฐที่ตั้งขึ้นโดยอนุโลมตามมติมหาชนเป็นประเพณีนิยมประจำชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีนิยมนี้ โดยปกติรัฐบาลเป็นผู้ริเริ่มออกแบบให้เป็นประเพณีเสียชั้นหนึ่งก่อน เมื่อแพร่หลายแน่นแฟ้นแล้ว จึงกลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีสืบไป… เพราะระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลจะต้องบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามมติมหาชน หยั่งเสียงประชาชนเป็นหลักแห่งการบริหาร” (กิจจา วัฒนสินธุ์, 2481)

ด้วยเหตุที่ “ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ นับเป็นการเปลี่ยนอย่างสำคัญ เป็นการเปลี่ยนแปลงชีวิตจิตใจของประชาชาติเลยทีเดียวหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าการปฏิวัติ การปฏิวัติของรัฐบาลในระบอบใหม่ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า มิได้มุ่งไปทางแบบ คือ เปลี่ยนมือผู้ถืออำนาจการปกครอง แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างอันเกี่ยวกับทางการเมืองและประชาคม ตลอดจนนิสัยใจคอของชนชาวไทยให้เข้าสู่ระบอบใหม่”

กิจจาติดเหรียญปราบกบฏบวรเดชและหนังสือที่คณะกฎหมายแจกงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476

เขาวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่รัฐบาลคณะราษฎรดำเนินการสร้างชาติด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นใหม่ เนื่องจาก “รัฐบาลได้มองเห็นภัยแห่งความเสื่อมโทรมวัฒนธรรมของชาติ หากปล่อยให้อยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปแล้ว ในที่สุด ชาติจะถึงซึ่งความดับสูญเป็นแน่แท้ ด้วยเหตุนี้ จึงได้ผูกโครงเป็นรัฐนิยมขึ้น วางเป็นแนวทางศึกษาเพื่อปลูกฝังอบรมให้ชาวไทยมีจิตใจแน่นแฟ้นมั่นคง เป็นที่นิยมชมชอบอย่างชาติอื่นเขาโดยสมบูรณ์”

ดังนั้น เขาเห็นว่า รัฐนิยมนั้นตั้งขึ้นจากความต้องการของสาธารณชนที่ปรารถนายกระดับสภาวะของตนให้ดีขึ้นและเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยที่คำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อันเป็นเป็นหลักที่เป็นแนวทางการบริหารประเทศของรัฐบาล

รัฐนิยมสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้พลเมืองไทยมีอารยะ

สําหรับเขาแล้ว รัฐนิยม คือ การปฏิวัติค่านิยมและวัฒนธรรมใหม่ให้กับประชาชนอันสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยที่คำนึงถึงมติมหาชนเป็นสำคัญที่มีรัฐธรรมนูญยืนยันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคให้กับประชาชนอย่างกว้างขวาง อีกทั้งสร้างความรักและภูมิใจในความเป็นชาติ รวมถึงการส่งเสริมสินค้าของคนไทยอีกด้วย

รัฐนิยมทำให้คนตระหนักในเอกราช ความปลอดภัยและเกียรติของชาติไทย เขาเห็นว่า การรักษาเอกราชให้ชาติปลอดภัยเป็นผลงานของคนไทยทุกคน เหตุที่เราต้องเคารพธงชาตินั้น เพราะว่า “เพลงชาติก็ดี ย่อมมีความหมายถึงการรวมวิญญาณของคนไทยทั้งชาติ เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงกิจการอันดีงามของอดีตชน รำลึกถึงวีรชนที่ได้ล่วงลับไปแล้ว…”

เขาเห็นว่า รัฐนิยมสร้างเอกภาพให้กับความรักชาติ เขายกตัวอย่างว่า ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลเมืองยังไม่เข้าใจว่า เราทั้งหลายล้วนเป็นประชาชนชาวไทยด้วยกัน ประเทศจึงขาดความเป็นอีนหนึ่งอันเดียวกันอันเป็นเหตุให้กำลังของชาติอ่อนแอลง อีกทั้งในระบอบเก่าเรียกคนที่อาศัยในดินแดนต่างๆ ว่า ไทย ลาวและแขก ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าเป็นคนละพวกคนละหมู่ มิได้เกิดความเป็นพวกเดียวกัน แต่รัฐบาลระบอบใหม่ตระหนักดีถึงการเหยียดหยามที่มีมาแต่เดิม จึงปฏิวัติเพื่อสร้างเอกภาพขึ้นใหม่ด้วยประกาศรัฐนิยมมิให้เรียกชาวไทยตามเชื้อชาติตามแบบเดิม แต่ให้เรียกทุกคนว่า ไทย

กล่าวโดยสรุป กิจจาเห็นว่า มรดกของความเชื่อที่ตกทอดจากระบอบเก่ามีผลต่อการปกครองประชาธิปไตย ดังนั้น เขาจึงสนับสนุนการปฏิวัติค่านิยม และวัฒนธรรมขึ้นใหม่ภายหลังการปฏิวัติ 2475 ที่รัฐบาลสามารถยกชาติไทยให้หลุดพ้นจากสำนึกที่เสื่อมโทรมตกต่ำที่ถูกปลูกฝังมาแต่เดิม หากพูดด้วยภาษาปัจจุบัน คือ เขาเห็นว่า หัวใจสำคัญในการปฏิวัติ คือ การสร้าง Soft Power ขึ้นใหม่นั่นเอง