คลี่ปมจลาจล ‘คุกกระบี่’ อ้างไม่พอใจคุม ‘โควิด’ เผาวอด-จนท.ตรึงเข้ม จับตามาตรการล้อมคอก/อาชญา ข่าวสด

อาชญา ข่าวสด

 

คลี่ปมจลาจล ‘คุกกระบี่’

อ้างไม่พอใจคุม ‘โควิด’

เผาวอด-จนท.ตรึงเข้ม

จับตามาตรการล้อมคอก

 

กลายเป็นปัญหาที่ลุกลามรุนแรง ที่มีจุดเริ่มต้นจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด

สำหรับเหตุจลาจลที่เรือนจำกระบี่ เมื่อผู้ต้องขังกลุ่มหนึ่ง เกิดหวาดผวาเมื่อพบนักโทษติดโควิด แต่ไม่ได้มีมาตรการแยกกักที่ชัดเจน

จนกลายเป็นการก่อความรุนแรง จนเจ้าหน้าที่ต้องระดมกำลังปราบปราม หลายคนบาดเจ็บจากกระสุนยาง ต้องขนย้ายนักโทษส่วนหนึ่งอย่างทุลักทุเล

ตามมาด้วยการก่อเหตุวางเพลิงเผาทรัพย์เรือนนอนภายในเรือนจำ ใช้เวลาร่วม 3 วันเหตุการณ์ถึงจะสงบ

ที่เหลือต่อจากนี้คือการฟื้นฟูความเสียหายของเรือนจำกระบี่ การดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง

และต้องตอบคำถามถึงมาตรการดูแลนักโทษ โดยเฉพาะผู้ป่วยโควิดภายในเรือนจำให้มีความเหมาะสมเพียงพอ

ไม่ให้เกิดเหตุลักษณะดังกล่าว และสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียขึ้นอีก

เดือดจลาจลคุกกระบี่

เหตุการณ์ระทึกขวัญครั้งนี้เกิดเมื่อกลางดึกวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่านักโทษชายภายในเรือนจำจังหวัดกระบี่ กว่า 400 คนก่อเหตุจลาจลขึ้น เริ่มโดยการทำลายข้าวของภายในเรือนนอน และพยายามปีนกำแพง เจ้าหน้าที่ใช้กระสุนยางยิงสกัดเพื่อระงับเหตุ

โดยกลุ่มผู้ต้องขังเรียกร้องแก้ปัญหากรณีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนกว่า 300 คน จากจำนวนนักโทษทั้งหมด 2,159 คน ที่ถูกกักตัวอยู่ในเรือนจำ ออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่นำโดยนายพุฒิพงษ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าฯ กระบี่ และ พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ อุ้ยคำ ผบก.ภ.จว.กระบี่ ที่เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ตั้งตัวแทนเข้าเจรจา เบื้องต้นให้นำนักโทษที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง 14 คนออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม

พร้อมส่งเจ้าหน้าที่สวมชุดพีพีอีเข้าไปเคลื่อนย้าย แต่กลุ่มนักโทษที่ก่อเหตุยังคงขว้างปาสิ่งของเป็นระยะ ทำให้ผู้คุมต้องถอนกำลังออกจากเรือนจำ เพราะเกรงอันตราย และใช้เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธปืนยิงกระสุนยางคุมเชิงโดยรอบ และยิงกระสุนยางใส่เพื่อระงับยับยั้งเหตุ พร้อมนำตัวนักโทษที่ถูกกระสุนยางบาดเจ็บส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาล

ต่อมาช่วงเวลา 01.00 น.ของวันที่ 17 ธันวาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร กว่า 700 นาย ควบคุมสถานการณ์ ปิดล้อมรอบเรือนจำ เพื่อไม่ให้มีผู้ต้องขังหลบหนี ต่อมา เวลา 01.30 น. ต้องย้ายผู้ต้องขังหญิงออกจากเรือนนอน 268 คนไปอยู่ที่เรือนจำชั่วคราว จ.กระบี่น้อย ป้องกันการจับตัวประกัน

ขณะที่นายพุฒิพงศ์ระบุถึงการเจรจากับกลุ่มนักโทษที่ก่อเหตุจลาจลว่า ทราบว่ามีแกนนำไม่ถึง 20 คน ปลุกระดมนักโทษร่วม 300 คน ก่อเหตุ โดยอ้างเหตุของการมีผู้ติดเชื้อโควิดภายในเรือนจำหลังจากตรวจเอทีเค มีผลเป็นบวกกว่า 300 คน

ซึ่งจากการเจรจาให้เจ้าหน้าที่พยาบาลเรียกนักโทษตามรายชื่อ เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด พร้อมแยกกลุ่มผู้ป่วยเป็นสีเขียวไม่รุนแรงให้เข้ารักษาตัวที่ห้องพักผู้ต้องขังหญิง สีเหลืองให้แยกไปรักษาและกักตัวที่เรือนจำภูเก็ต เพื่อให้ผู้ต้องขังที่เหลือและไม่ได้ป่วยโควิดได้แยกกันอยู่ในส่วนของเรือนจำชาย

เหตุการณ์เหมือนจะเริ่มสงบ แต่ในที่สุดช่วงเย็นวันที่ 17 ธันวาคม ก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นซ้ำอีก คราวนี้มีการก่อเหตุเผาทำลายอาคาร ต้องระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเทศบาลเมืองกระบี่ และ อบจ.กระบี่ เข้าฉีดน้ำสกัดเพลิง แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดการเผาทำลายเรือนนอนไม้เก่าอีกรอบ

สถานการณ์เดือดขึ้นเรื่อยๆ!!

ย้ายนักโทษ-สั่งเร่งคลี่ปม

เมื่อสถานการณ์ไม่สงบ นายอายุตม์ สิทธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ก็บินด่วนลงพื้นที่ จ.กระบี่ พร้อมระบุว่า หลังจากเกิดเหตุจลาจล ได้ทำตามข้อตกลงด้วยการย้ายผู้ป่วยโควิดออกนอกเรือนจำแล้ว และไม่มีข้อเรียกร้องอะไรอีก แต่ที่เกิดเหตุปะทุขึ้นอีกรอบ เนื่องจากมีนักโทษบางคนวางแผนต้องการหลบหนีออกจากเรือนจำ ทั้งนี้ พบว่าในกลุ่มที่ก่อเหตุมีหัวโจก 31 คน

หลังจากเหตุการณ์ลุกลาม เจ้าหน้าที่คอมมานโด ตำรวจ-ทหาร และชุดควบคุมฝูงชน ประสานกับเจ้าหน้าที่เรือนจำกระบี่ กว่า 100 นาย ทยอยบุกเข้าไปในเรือนจำเพื่อควบคุมสถานการณ์ จากนั้นควบคุมตัวแกนนำทั้งหมดนำออกมาขึ้นรถเรือนจำและนำไปแยกขังตาม สภ.ต่างๆ ของจังหวัดกระบี่และส่งต่อไปยังเรือนจำเขาบิน

จนเหตุการณ์คลี่คลายไปได้ในช่วงสายของวันที่ 18 ธันวาคม โดยเจ้าหน้าที่ต้องปิดถนนหน้าเรือนจำจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่สามแยกหน้าโรงเรียนอิศรานุสรณ์ ไปจนถึงวงเวียนหน้าโรงเรียนอุตรกิจ ห้ามไม่ให้รถทุกชนิดที่ไม่เกี่ยวข้องวิ่งผ่านหน้าเรือนจำจังหวัดกระบี่ เพื่อให้กำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพิเศษ พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่กองร้อยควบคุมฝูงชน ทหาร ตำรวจ และอาสารักษาดินแดนจังหวัดกระบี่ กว่า 300 คน ปฏิบัติภารกิจในการขนย้ายนักโทษไปยังเรือนจำต่างๆ

โดยยอดผู้ต้องขังเดิมของเรือนจำจังหวัดกระบี่ รวมทั้งสิ้น 2,423 ราย ซึ่งได้ถูกย้ายไปเรือนจำต่างๆ ได้แก่ เรือนจำกลางเขาบิน จำนวน 38 ราย เรือนจำจังหวัดภูเก็ต จำนวน 415 ราย เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช จำนวน 570 ราย เรือนจำอำเภอนาวี จำนวน 100 ราย และทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา จำนวน 1,002 ราย ทัณฑสถานหญิงสงขลา จำนวน 263 ราย

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบอาคารเรือนนอนซึ่งมีโครงสร้างเป็นไม้ โรงครัว และห้องสวัสดิการได้รับความเสียหาย ยืนยันจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่มีผู้ต้องขังเสียชีวิต แต่มีเพียงผู้ต้องขังบางคนที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกลวดหนามบาด และพยายามหลบหนีภายในเรือนจำ

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ระบุว่า สั่งการให้นายอายุตม์ ประสานกับจังหวัดกระบี่ และร่วมตรวจสอบในประเด็นที่เกิดขึ้น โดยให้ร่วมทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาให้จบโดยเร็ว และกำชับเรื่องการขนย้ายผู้ต้องขังที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องทำอย่างละเอียดถี่ถ้วน

ส่วนการที่ผู้ต้องขังนำเรื่องโควิด-19 มาอ้างเป็นเหตุในการก่อจลาจลนั้น ข้อเท็จจริงคือในเรือนจำจังหวัดกระบี่มียารักษาโควิดและยาฟ้าทะลายโจรเตรียมพร้อมอยู่แล้ว และมีเพียงพอสำหรับผู้ต้องขังทุกคน รวมถึงมาตรการควบคุมและรักษาโควิดก็มีเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งในชั้นการตรวจสอบอย่างละเอียดคงต้องรอทางกรมราชทัณฑ์เป็นผู้แถลงให้ทราบอย่างเป็นทางการเป็นระยะ

พิสูจน์ให้ได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากเรื่องโควิดจริงหรือไม่ หรือมีเรื่องอะไรที่เป็นวาระซ่อนเร้น

ย้อนเหตุวุ่นโควิดเรือนจำ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องการตรวจรักษาโควิดในเรือนจำ เพราะก่อนหน้านี้ก็เกิดกรณีที่รุ้ง-น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ที่ออกมาระบุว่าติดโควิดในเรือนจำ ทัณฑสถานหญิงกลาง เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 พร้อมเปิดเผยการดูแลคัดกรองภายในเรือนจำว่าไม่เปิดเผยข้อมูลใดๆ และไม่มีการเว้นระยะห่าง

จนกระทั่งกรมราชทัณฑ์ต้องออกมายอมรับและเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดเรือนจำ ที่พุ่งสูงจนสถานการณ์ขณะนั้นน่าเป็นห่วงอย่างมาก

ไม่เพียงแค่นั้น ตัวเลขสถิติการแหกคุกของผู้ต้องขังก็เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความหละหลวมในพื้นที่แรกรับ อย่างกรณีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 นายประพัฒน์ หนูปาน อายุ 26 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด หลบหนีออกจากเรือนจำจังหวัดพัทลุง ก่อนถูกตำรวจวิสามัญ ด้วยอาวุธปืนขนาด 9 ม.ม. เข้าบริเวณลำตัวรวม 3 นัด

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นักโทษชาย 4 ราย คือ 1.นายวัชรินทร์ จันทร์บูรณ์ 2.นายภัทรดนัย หรือราชันย์ สื่อศิริธำรงค์ 3.นายธนดล ตันติวนิชนม์เจริญ 4.นายกฤษฎา คงขาว ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้ต้องหายาเสพติด หนีออกจากเรือนจำกลางเพชรบูรณ์ อ้างว่ากลัวติดโควิดในเรือนจำ

ที่เรือนจำจังหวัดสุพรรณบุรี 5 นักโทษ ประกอบด้วย 1.นายอนิวัติ์ อนุสี อายุ 25 ปี 2.นายปริญญา มูลสิงห์ อายุ 30 ปี 3.นายจิระโชติ ฉิมเพชร อายุ 19 ปี 4.นายสาคร เหมือนทิพย์ อายุ 39 ปี และ 5.นายอาทิตย์ กลิ่นขจร อายุ 24 ปี โดยทั้งหมดเป็นนักโทษที่แยกออกมาเพื่อตรวจคัดกรองโควิด นอกกำแพงเรือนจำ ปีนหนีออกทางฝ้าเพดาน

สุดท้ายก็หลบหนีไม่รอด เจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมได้ และมีผู้ต้องขังติดต่อขอมอบตัว ก่อนส่งทั้งหมดไปขังที่เรือนจำที่มีระบบควบคุมสูงที่เขาบิน จ.ราชบุรี

11 ธันวาคม 2564 1.นายวัชระ นะโมมั่น อายุ 28 ปี 2.นายเอกราช แป้งกลั่น อายุ 18 ปี 3.นายวีรเชษฐ์ เทพชู อายุ 28 ปี 4.นายนัถกร มาตรวังแสง อายุ 24 ปี 5.นายไพฑูรย์ มีคลองแบ่ง อายุ 36 ปี 6.นายบำรุง วงศ์สว่าง อายุ 43 ปี 7.นายพัชรวุฒิ มูลทองสงค์ อายุ 38 ปี 8.นายจำรูญ คล้ายสุบรรณ อายุ 33 ปี 9.นายพานิช บัวศร อายุ 35 ปี ใช้ใบเลื่อยตัดเหล็กทำการตัดซี่ลูกกรงห้องขังเรือนนอน 1/5 แล้วหลบหนีไปออกจากเรือนจำชั่วคราวทุ่งน้อย (มทบ.11) ต.ทุ่งน้อย อ.เมือง นครปฐม ซึ่งเป็นผู้ต้องขังเข้าใหม่ ที่ถูกแยกกักตัวตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19

แม้ทั้งหมดจะหนีไม่รอด ถูกติดตามจับมาได้ แต่ก็ส่งผลให้เกิดคำถามถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย และการดูแลผู้ต้องขังโควิด ที่อาจจะไม่ดีพอจนเกิดความไม่พอใจ

ซึ่งก็ต้องรอดูมาตรการใหม่ๆ ที่จะออกมาแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดความความรุนแรงอันจะนำไปสู่ความสูญเสียที่น่าเศร้าอีก