‘ชัชชาติ-สุชัชวีร์’ ยังเป็นตัวยืนชิงผู้ว่าฯ กทม. กปปส.ต่อสาย ‘ตู่’ ขอร่วมแข่ง มาดามแป้งลงสนาม?-ก้าวไกลมีเซอร์ไพรส์?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘ชัชชาติ-สุชัชวีร์’

ยังเป็นตัวยืนชิงผู้ว่าฯ กทม.

กปปส.ต่อสาย ‘ตู่’ ขอร่วมแข่ง

มาดามแป้งลงสนาม?-ก้าวไกลมีเซอร์ไพรส์?

 

เป็นการเลือกตั้งที่น่าจับตาไม่น้อย แม้จะยังไม่ถูกกำหนดวันชัดเจน แต่ก็มีการคาดการณ์ไว้ว่าน่าจะเกิดขึ้นกลางปี 2565 สำหรับศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ แทนที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 จวบจนถึงวันนี้

หลังจากถูกแช่แข็งมาหลายปีกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เปรียบเสมือนจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่หลายพรรคการเมือง รวมถึงผู้สมัครอิสระ เตรียมส่งคนในสังกัดลงชิงเก้าอี้สำคัญตัวนี้

บุคคลที่ปรากฏชื่อเป็นแคนดิเดตลงชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แล้วได้รับกระแสตอบรับอย่างท่วมท้น หนีไม่พ้น ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ที่คราวนี้ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. ใน ‘นามอิสระ’ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองใด

ล่าสุด ได้เปิดทีมงาน “พิจิตต รัตตกุล” อดีตผู้ว่าฯ กทม. และมีเสียงขานรับจาก “สุหฤท สยามวาลา” ที่พร้อมสนับสนุน

 

ขณะที่พรรคการเมืองที่ครองเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.มาอย่างเหนียวแน่นอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ได้ ‘ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์’ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มาเป็นแคนดิเดตหลัก

แต่ทว่าเปิดตัวยังไม่ทันครบ 24 ชั่วโมง ก็เจอเข้ากับดราม่ารับน้องอย่างหนัก หลังพลั้งปากเล่าประวัติส่วนตัว จบปริญญาเอกจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ โปรเฟสเซอร์เฮอร์เบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ ดร.เอ้พูดเสียงดังฟังชัดว่าเป็นหลานแท้ๆ ของ ‘อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์’ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก และตัวเองยังถือว่าเป็นทายาทสายตรงไอน์สไตน์คนเดียวในแผ่นดินไทยอีกด้วย ก่อนจะมีการชี้แจงในภายหลังว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจมาตลอดว่าเป็นเรื่องจริง เพราะรุ่นพี่ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกัน ไม่มีเจตนาใช้เพื่อหาเสียงแต่อย่างใด

ส่วนพรรคพลังประชารัฐก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งใครลงชิงเก้าอี้ในครั้งนี้ แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวว่า ‘พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา’ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นแคนดิเดต แต่ก็ถอนตัวไป ซึ่งคาดว่าเป็นการหลีกทางให้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ที่เป็นทั้งรุ่นพี่และเป็นผู้บังคับบัญชาเก่า หรือจะเป็น ‘ผู้ว่าฯ หมูป่า-ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร’ ที่ถูกทาบทามจากผู้ใหญ่ภายในพรรค แต่ท้ายที่สุดก็ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าคุณสมบัติยังไม่เหมาะสมเพียงพอ และไม่ถนัดไปเข้าพื้นที่หัวใจของประเทศ ขอดูแลพี่น้องภูมิภาคจะดีกว่า

หลังการประกาศถอนตัวของผู้ว่าฯ หมูป่า ก็มีกระแสข่าวลือว่าจะมีการพิจารณาชื่อ ‘นางนวลพรรณ ล่ำซำ’ หรือ ‘มาดามแป้ง’ ผู้จัดการฟุตบอลทีมชาติไทย และซีอีโอบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด มาเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นคนที่มีชื่อเสียงในแวดวงสังคมเป็นอย่างดี

เรื่องนี้ ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ออกมาปฏิเสธ

รวมถึง ‘นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องที่พรรคจะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่ตัวผู้สมัครด้วย ต้องเป็นคนที่ประชาชนยอมรับ ศรัทธา เชื่อมั่น เพราะที่ผ่านมาในอดีต การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กับพรรคแกนนำรัฐบาล ผลออกมาก็ไม่ได้สัมพันธ์กัน

และคิดว่ายังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้เปิดตัว เช่นกลุ่ม กปปส. จึงอยากให้ติดตามดูก่อน

 

ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการเสนอชื่อมาดามแป้งจะยังไม่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้สร้างความกังวลใจให้กับทางนายสุชัชวีร์แต่อย่างใด ล่าสุดขณะลงพื้นที่ย่านดินแดง ก็ได้กล่าวถึงกระแสข่าวที่พรรคพลังประชารัฐอาจให้การสนับสนุนมาดามแป้ง ว่า เป็นโชคดีของชาวกรุงเทพฯ มีคนเก่งอาสามาพัฒนากรุงเทพฯ แต่สำหรับตนนั้น จะขอมุ่งลงพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนเข้าใจวิสัยทัศน์ของตน ที่ต้องการให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีสวัสดิการทันสมัย และไม่มีความกังวลใดๆ

ขณะเดียวกันก็มีรายงานข่าวว่า ‘นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อดีตแกนนำ กปปส. และ ‘นายสกลธี ภัทธิยกุล’ รองผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้าพบนายกรัฐมนตรีเป็นการส่วนตัว ซึ่งคาดว่าเป็นการเข้าไปหารือถึงการส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

โดยเฉพาะนายสกลธีที่มีการคาดการณ์ว่าอาจจะลงสมัครลงชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. โดยมีพลังประชารัฐให้การสนับสนุน

ฟาก ‘พรรคก้าวไกล’ พรรคการเมืองที่สามารถครองใจฐานเสียงคนรุ่นใหม่ได้ไม่ใช่น้อย แม้จะยังไม่มีการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร มีเพียงแค่การกำหนดวันเปิดตัวที่จะมีในช่วงกลางเดือนมกราคม 2565 แต่ก็คาดว่าน่าจะมีเซอร์ไพรส์เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

 

แต่ที่ชัดเจนที่สุดในตอนนี้ ก็คือกระแสความนิยมของสองผู้สมัคร ‘ชัชชาติ’ กับ ‘สุชัชวีร์’ ที่กลายเป็นคู่แข่งคนสำคัญกันไปเสียแล้ว อย่างตัวชัชชาติเองก็ได้ใจคนส่วนใหญ่ เห็นได้จากผลสำรวจจากโพลต่างๆ อาทิ สวนดุสิตโพล ทำการสำรวจว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด พบว่า ร้อยละ 56.72 ระบุ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รองลงมา ร้อยละ 29.60 ระบุ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 10.62 ระบุ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

แม้กระแสความนิยมของชัชชาติจะมาแรงไม่หลุดโพล ด้วยการเปิดตัวอย่างชัดเจนมานาน ลงพื้นที่จริงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า การเปิดตัวของสุชัชวีร์ที่มาพร้อมกับดราม่าใหญ่ ก็สามารถครองพื้นที่สื่อได้อย่างมาก

นาทีนี้แคนดิเดตคนสำคัญของสนามเลือกตั้งครั้งนี้ จึงกลายเป็นชื่อของ ‘ชัชชาติ-สุชัชวีร์’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เว้นเสียแต่ว่าพลังประชารัฐจะสามารถทาบทามคนดังในข่าวลือมาร่วมได้ หรือก้าวไกลที่เปิดตัวผู้สมัครได้เซอร์ไพรส์สุดๆ

 

ประเด็นนี้ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ได้วิเคราะห์ถึงประเด็นศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในรายการ เดอะ โพลิติก ไว้อย่างน่าสนใจ ท่ามกลางศึกระหว่าง ‘ชัชชาติ’ กับ ‘สุชัชวีร์’ และความไม่ชัดเจนของพลังประชารัฐและก้าวไกล โดยใจความช่วงหนึ่งระบุว่า

“ในด้านกลับกันจะประมาทไม่ได้ว่า เสียงของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2562 นั้นอาจจะเทมาเข้าก้าวไกลหมดก็ได้ เพราะ อ.ชัชชาติอาจไม่เป็นที่รู้จักของเด็กรุ่นใหม่กว่าเมื่อหลายปีก่อนที่ยังเป็นบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีและจักรวาล หรือขวัญใจเจนวายก็อาจเป็นได้ และอาจมีหลายคนที่อยากเป็นแบบ ดร.พี่เอ้อีก ที่สำคัญแรงกดดันที่ลงสู่ก้าวไกลในตอนนี้คือ ถ้าก้าวไกลตัดสินใจส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คะแนนย่อมจะมีส่วนตัดกับคะแนน อ.ชัชชาติที่อย่างน้อยมาจากเพื่อไทย และอีกหลายส่วน ซึ่งผู้สนับสนุนก้าวไกลหลายคนก็มองว่ามันเป็นวิถีประชาธิปไตยที่ทำได้ แต่ผู้สนับสนุนพรรคบางส่วนก็มองเชิงยุทธศาสตร์มากกว่า ว่าในภาพรวมอาจจะทำให้คะแนนเกลี่ยกันแล้วแพ้ทาง ปชป. หากพลังประชารัฐตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

และที่สำคัญคะแนนของผู้สมัครผู้ว่าฯ ของก้าวไกล ถ้าน้อยกว่าคะแนนการเลือกตั้งทั่วไปในรอบที่แล้ว หรือไม่ชนะขาดในศึกครั้งนี้ก็อาจส่งผลให้เกิดคำถามต่อความนิยมของพรรค ซึ่งเรื่องนี้อาจจะจริงและไม่จริงก็ได้ แต่ก็จะต้องเหนื่อยอีกนิด ขณะที่เพื่อไทยเขาตัดใจทิ้งเกมนี้แล้วหันไปสนับสนุน อ.ชัชชาติอย่างเงียบๆ แต่ทุกคนรู้ไปก่อนแล้ว”

ผู้สมัครอีกคนที่ไม่ควรมองข้าม คือ รสนา โตสิตระกูล ที่ประกาศตัวมานาน และมีประเด็นเรื่องการตรวจสอบคอร์รัปชั่นที่ชัดเจน และเคยเป็น ส.ว.จากการเลือกตั้งของ กทม.มาก่อน (คะแนน 743,397) ดังนั้น คะแนนในส่วนพรรคอื่นๆ คือ เกือบห้าแสนแปด หรือร้อยละ 17.81 หรือคะแนนบางส่วนจาก ปชป. และ พปชร. ก็อาจส่งผลให้เกมพลิกได้ เพราะคุณรสนาก็เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มเสื้อเหลืองมาก่อน และก็เป็นสีเสื้อที่เคยส่งผลเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้ว”

ถือเป็นเรื่องที่ชวนลุ้นและชวนให้ติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าเลือกตั้งคราวนี้ท้ายที่สุดใครจะอยู่หรือไป และที่สำคัญคนกรุงจะได้ใครมาเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่เสียที