เกมการเมือง ‘สภาล่ม’ รัฐบาลประมาทถึงขั้นล้ม เสียง พปชร.หายอีก ‘สิระ’ พ้น ส.ส./บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

เกมการเมือง ‘สภาล่ม’

รัฐบาลประมาทถึงขั้นล้ม

เสียง พปชร.หายอีก ‘สิระ’ พ้น ส.ส.

 

ปัญหาองค์ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เจอสภาพล่มกันแทบจะทุกสัปดาห์ หลังเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) จาก “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ถูกศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากคดีสนามฟุตซอลในพื้นที่โคราช มาเป็น “นิโรธ สุนธรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. เข้ามาทำหน้าที่แทนตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายนเป็นต้นมา

เกมการเมืองเกี่ยวกับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรดูจะเข้มข้นมากขึ้น ทำให้ต้องลุ้นกับสภาพองค์ประชุมสภาจะล่มหรือไม่ล่ม กันทุกการประชุม

หากนับตั้งแต่ประธานวิปรัฐบาลคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่ประสานงานการประชุมสภามา 6 ครั้ง การประชุมรัฐสภา 2 ครั้ง พบว่าประชุมทั้ง 8 ครั้ง การประชุมเกิดปัญหาสะดุด 2 ครั้ง

เริ่มจากครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาลงมติร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง (ฉบับที่…) พ.ศ…. ทั้งที่วิปของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันไว้ว่าต้องลงมติให้ผ่านวาระดังกล่าวไปก่อน แล้วจึงปิดประชุม

แต่สภาพที่เกิดขึ้นในห้องประชุม เมื่อประธานที่ประชุมนัดตรวจสอบองค์ประชุม แล้วเห็นสภาพสมาชิกอยู่ในห้องประชุมแบบร่อยหรอ เช็กองค์ประชุมอย่างไรก็คงไม่ถึงกึ่งหนึ่ง คือ 238 คน จาก ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนี้ คือ 475 คน จึงต้องชิงปิดประชุมไปก่อน ยอมรับสภาพองค์ประชุมสภาล่มไปโดยปริยาย

ส่วนที่ครั้งสอง เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การประชุมครั้งนี้ยังไม่ทันจะเข้าสู่วาระ ก็ถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านวัดพลัง เสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ ทำให้สภาล่มอีกครั้ง หลังฝ่ายค้านไม่พอใจการอภิปรายเสียดสีของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค พปชร. ที่อภิปรายกล่าวหาว่า ฝ่ายค้านขาดประชุม ทั้งที่ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายเสนอนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ และไม่แสดงตนแม้จะมาเข้าร่วมประชุมด้วย ถือเป็นการเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป เนื่องจากการรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของ ส.ส.ทุกฝ่าย

ทำให้ฝ่ายค้านไม่พอใจ จุดชนวนให้สภาล่มดังกล่าว

 

การประชุมล่มที่ผ่านมา นอกจากสาเหตุสำคัญที่สมาชิกขาดประชุม และติดภารกิจลงพื้นที่ในช่วงวันศุกร์ ที่ปกติจะงดการประชุม แต่เมื่อมีการนัดประชุมเพิ่มในวันศุกร์ ส.ส.ที่มีภารกิจและรับปากกับชาวบ้านว่าจะลงพื้นที่ดังกล่าวไว้แล้ว จึงขาดประชุมกันหลายคน

อีกทั้งการนัดประชุมเพิ่มในวันศุกร์ มักจะเป็นการพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ของคณะต่างๆ ที่พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่จะเห็นชอบตามรายงานของ กมธ. และมักจะไม่มีการตรวจสอบองค์ประชุม ส.ส.จึงคิดว่าน่าจะไม่มีปัญหาองค์ประชุมล่ม

เว้นแต่กรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่เห็นด้วย อย่างการประชุมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา จึงต้องมีการลงมติชี้ขาด ส่งผลให้ต้องเช็กองค์ประชุม และปรากฏว่าการมีสมาชิกจากพรรคร่วมรัฐบาลขาดการประชุมหลายคน และฝ่ายค้านเห็นว่าตามธรรมเนียมการประชุมสภา หน้าที่รักษาองค์ประชุมของสภา จะเป็นของฝ่ายที่มีเสียงข้างมาก นั่นคือ ฝ่ายรัฐบาล

เมื่อ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลขาดประชุมกันหลายคน ฝ่ายค้านจึงงัดเกมการเมืองมาดัดหลังไม่ร่วมแสดงตนเป็นองค์ประชุมให้ ส่งผลให้ที่ประชุมสภาล่มอีกครั้ง

 

แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ และถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของการทำงานร่วมกันระหว่างวิปทั้งสองฝ่าย นั่นคือ ท่าทีและการประสานงานของประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ ที่มักมีปัญหาในการพูดคุยและทำความเข้าใจในข้อตกลงเกี่ยวกับระเบียบวาระการประชุมสภาในแต่ละสัปดาห์ รวมทั้งการพูดจาพาดพิง ส.ส.ฝ่ายค้านในหลายครั้ง

โดยเฉพาะประเด็นที่วิปฝ่ายค้านยังติดใจในการทำหน้าที่ของประธานวิปรัฐบาล เนื่องจากญัตติ และระเบียบวาระ โดยเฉพาะร่างกฎหมายที่พรรคร่วมฝ่ายค้านอยากเสนอให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุมสภา ก่อนนั้น มักถูกเสียงข้างมากของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โหวตไม่ให้นำระเบียบวาระของพรรคร่วมฝ่ายค้านขึ้นมาพิจารณาบ้าง

รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลยังใช้เสียงข้างมากโหวตเลื่อนระเบียบวาระเรื่องอื่นมาลัดคิวระเบียบวาระ รวมทั้งเรื่องสำคัญของฝ่ายค้านอยู่บ่อยครั้ง จนพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่พอใจ

ทั้งๆ ที่ผ่านมา การประสานงานของประธานวิปรัฐบาลในก่อนหน้านั้น จะเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ยอมให้กับวิปฝ่ายค้านได้เสนอญัตติ หรือการอภิปรายในบางเรื่องอยู่บ้าง

เพราะสุดท้ายเวลาโหวตญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ไม่ผ่านความเห็นชอบ เนื่องจากแพ้เสียงข้างมากของพรรคร่วมรัฐบาล

จนวิปฝ่ายค้านต้องงัดเทคนิคทางการเมืองมาใช้ในเกมการประชุมสภาของพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมา พรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมลงชื่อและแสดงตน ร่วมรักษาองค์ประชุมสภาให้เดินหน้าต่อ ไม่ต้องเจอกับปัญหาที่ประชุมสภาล่มบ่อยครั้งในช่วงที่มีการเปลี่ยนตัวประธานวิปรัฐบาล

โดยเทคนิคที่พรรคร่วมฝ่ายค้านนำมาใช้แก้เกม ดัดหลังพรรคร่วมรัฐบาลนั้นคือ การเสนอนับองค์ประชุมแบบขานชื่อเรียงตามตัวอักษร เพื่อป้องกันการนับองค์ประชุมแบบเสียบบัตรแสดงตน เนื่องจากอาจมีสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลบางท่านเสียบบัตรแทนเพื่อนสมาชิกที่ไม่อยู่ในห้องประชุม

นอกจากนี้ ในการแสดงตนในที่ประชุม จะให้เป็นหน้าที่ของพรรคร่วมรัฐบาลในการรวบรวมเสียงมาแสดงตนในการรักษาองค์ประชุมให้ครบกึ่งหนึ่ง โดยฝ่ายค้านจะไม่ร่วมแสดงตนช่วยรักษาองค์ประชุมให้ หากวิปรัฐบาลยังไม่ปรับท่าทีในการทำงานร่วมกัน

 

แม้เสียงของสภาในขณะนี้มี ส.ส.ทั้งสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 475 คน แบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 268 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 207 คน ด้วยเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลจะมีมากกว่า 59 เสียง แต่ในการเข้าประชุมสภาจริง มักมี ส.ส.มาประชุมกันไม่ครบ ทั้งขาดประชุม ลาประชุมบ้าง ตัวเลขปลอดภัยของพรรคร่วมรัฐบาลคือ จะต้องมี ส.ส.เข้าร่วมประชุมสภาในแต่ละสัปดาห์ต้องไม่ต่ำกว่า 238 เสียง ซึ่งจะขาดประชุมต่อวันได้ไม่เกิน 30 คนต่อวัน

แต่ในเมื่อที่ประชุมสภาอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมากของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ตามธรรมเนียมปฏิบัติหน้าที่รักษาองค์ประชุมจึงเป็นความรับผิดชอบของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล

ยิ่งการเมืองในระดับแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาลยังไร้เอกภาพอยู่เช่นนี้ ย่อมส่งผลถึงองค์ประชุมสภา และเสถียรภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากผู้มีอำนาจในรัฐบาลและผู้รับผิดชอบงานสภา ยังไม่ลงมาแก้ปัญหาองค์ประชุมสภาล่ม ถึงแม้จะล้มรัฐบาลไม่ได้ แต่จะเป็นรอยด่างให้รัฐบาลเสียความชอบธรรมในการรักษาองค์ประชุมสภาได้

ยิ่งถึงคิวกฎหมายสำคัญๆ ของรัฐบาลที่ต้องเข้าที่ประชุมสภา ขอความเห็นชอบ ทั้งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566

ต้องเจออุบัติเหตุไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา ย่อมส่งผลให้รัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระในปี 2566 ได้เหมือนกัน

 

ขณะที่ปัญหาองค์ประชุมสภา ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก

เสียงของฝ่ายรัฐบาลจากพรรค พปชร.ก็มีอันต้องหายไปอีก 1 เสียง

อันสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยให้นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. เขต 4 พรรค พปชร. มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6)

ตามที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และ ส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าชื่อต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา จากกรณีที่นายสิระเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำ โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา

ซึ่งแม้นายสิระจะต่อสู้โดยอ้างนับประโยชน์จากการล้างมลทิน เมื่อปี 2559 แต่ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากชี้ว่าไม่อาจลบล้างความผิดทางอาญาได้ จึงถือว่านายสิระเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวันในคดีฉ้อโกง ทำให้ขาดคุณสมบัติต้องห้ามการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(10) ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ 101(6) นับตั้งแต่วันเลือกตั้ง คือวันที่ 24 มีนาคม 2562

 

การเสียนายสิระไปครั้งนี้ แม้จะแค่เสียงเดียว

แต่ต้องไม่ลืมว่า นายสิระที่เป็นเด็กในคาถาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. มีบทบาทเป็นองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล เป็นตัวเดินเกมทางการเมือง คอยชน คอยปะทะฝ่ายค้าน ทั้งในห้องประชุมสภาและกรรมาธิการ

เมื่อต้องสูญเสีย “ตัวจี๊ดจ๊าด” ไปเช่นนี้

ย่อมทำให้เกมในสภาของฝ่ายรัฐบาลในการต่อกรกับฝ่ายค้าน โดยเฉพาะคอยชน คอยประท้วง ยามเมื่อมีการเล่นเกมนับองค์ประชุม ลดฮวบลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

เพิ่มความเสียเปรียบให้พรรคฝ่ายรัฐบาลมากยิ่งขึ้นไปอีก