ไม่พลิกโผ กสทช.ชุดใหม่ จับตาโปรเจ็กต์ร้อน ประมูลดาวเทียม-ดีล ‘ทรู-ดีแทค’/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

ไม่พลิกโผ กสทช.ชุดใหม่

จับตาโปรเจ็กต์ร้อน

ประมูลดาวเทียม-ดีล ‘ทรู-ดีแทค’

 

สิ้นสุดการรอคอย เมื่อที่ประชุมวุฒิสภาลงคะแนนเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ ใช้เวลาในการลงคะแนนและนับคะแนนนานเกือบ 3 ชั่วโมง

ผลปรากฏว่า มีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 5 คน (เรียงตามลำดับคะแนน) ได้แก่

1.ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์) ให้ความเห็นชอบ 213 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 4 คะแนน ไม่ออกเสียง 6 คะแนน

2. พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง) ให้ความเห็นชอบ 212 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 5 คะแนน ไม่ออกเสียง 6 คะแนน

3. ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค) ให้ความเห็นชอบ 210 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 6 คะแนน ไม่ออกเสียง 7 คะแนน

4. รศ.ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.(ข) ด้านเศรษฐศาสตร์) ให้ความเห็นชอบ 205 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 11 คะแนน ไม่ออกเสียง 7 คะแนน

และ 5. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน) ให้ความเห็นชอบ 196 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 19 คะแนน ไม่ออกเสียง 8 คะแนน

ส่วนอีก 2 คน ได้รับความเห็นชอบน้อยกว่า 124 คะแนน จึงเป็นผู้ไม่ได้รับความเห็นชอบเป็นกรรมการ กสทช. คือ นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ (ด้านกิจการโทรคมนาคม) ให้ความเห็นชอบ 63 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 145 คะแนน ไม่ออกเสียง 15 คะแนน และ ร.ท.ธนกฤษฏ์ เอกโยคยะ (ด้านอื่นๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.(ก) ด้านกฎหมาย) ให้ความเห็นชอบ 60 คะแนน ไม่ให้ความเห็นชอบ 142 คะแนน ไม่ออกเสียง 21 คะแนน

 

ผลโหวตที่ได้ เป็นไปตามกระแสก่อนหน้านี้ ที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า วุฒิสภาอาจโหวตให้ผ่านไม่ครบทั้ง 7 ด้าน แต่จะให้ผ่าน 5 ด้าน เพื่อให้กรรมการ กสทช.ปฏิบัติหน้าได้ก่อน หลังจากกระบวนการสรรหายืดเยื้อมานาน

หากย้อนกลับไปเส้นทางสรรหา กสทช. ถือว่ายืดเยื้อยาวนานทีเดียว โดยมีการสรรหากรรมการ กสทช.เกิดขึ้นถึง 3 รอบ โดยรอบแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ตอนนั้นมีผู้สมัครมากถึง 86 คน คัดเลือก 14 คน รวม 7 ด้าน และส่งชื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

แต่กระบวนการสรรหาก็ต้องจบลงเมื่อ สนช.มีมติไม่เลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช.เสนอชื่อมา โดยให้เหตุผลว่า ขาดคุณสมบัติและมีความประพฤติไม่เหมาะสม

ส่วนรอบที่ 2 เริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อปลายปี 2563 รอบนี้ก็ยังได้รับความสนใจล้นหลาม มีผู้สมัครถึง 80 คน จากนั้นคณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ก็คัดเหลือ 14 คน รวม 7 ด้าน พร้อมส่งชื่อให้วุฒิสภาพิจารณาคุณสมบัติ

พร้อมกระแสเรื่องปัญหาการตีความของกฎหมายว่า การตรวจสอบคุณสมบัติเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา กสทช. หรือวุฒิสภา สุดท้ายการสรรหารอบ 2 ก็สิ้นสุดลงเมื่อ พ.ร.บ กสทช.ฉบับใหม่ประกาศใช้เมื่อต้นปี 2564 ส่งผลให้การสรรหา กสทช.รอบนี้ถูกล้มไปโดยปริยาย

ขณะที่ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ก็มีเพิ่มความชัดเจน โดยใช้อำนาจคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร ก่อนส่งให้วุฒิสภา

หลังจากนั้น กระบวนการสรรหารอบ 3 ก็เริ่มต้นอีกครั้งด้วยการประกาศรับสมัครเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 โดยรอบนี้ก็มีผู้สมัครถึง 78 คน ซึ่งระหว่างทางแม้ต้องขยายระยะเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 7 คน แต่ก็ถือว่าเดินหน้าถึงฝั่ง

 

ขณะที่ขั้นตอนหลังจากนี้ ตามมาตรา 20 ระบุว่า ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่ง หรือมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึง 4 คน เมื่อมีผู้ได้รับเลือกจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่า 5 คนแล้ว หรือเมื่อจำนวนผู้ได้รับเลือกรวมกับกรรมการ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่รวมแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 คน ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจัดให้ผู้ได้รับเลือก หรือผู้ได้รับเลือกและกรรมการ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว แต่กรณีประชุมร่วมกัน เพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ แจ้งผลให้ประธานวุฒิสภาทราบ เพื่อแจ้งต่อนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

เท่ากับว่า ขณะนี้ได้กรรมการ กสทช. 5 คนที่พร้อมทำหน้าที่ทันที กับสารพัดภารกิจที่ต้องเร่งจัดการ หลังจากตกร่องกระบวนการสรรหายาวนานถึง 4 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ กสทช.คือกลไกสำคัญในการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งสร้างการเติบโตภายใต้เศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งเทคโนโลยี 5 G ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

โดยภารกิจนี้ กสทช.ต้องเร่งผลักดัน ส่งเสริมระบบนิเวศการใช้ 5 G ในทุกมิติ โดยเฉพาะผลจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เร่งให้เทคโนโลยีมีบทบาทต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

อีกทั้งมีภารกิจเร่งด่วนอีก 2 เรื่อง คือ การเดินหน้าจัดประมูลวงโครจรดาวเทียม และคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz

“พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กสทช.ชุดใหม่มีเรื่องเร่งด่วน 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.จัดประมูลใบอนุญาตการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เนื่องจากอายุวิศวกรรมของไทยคม 4 จะหมดในอีก 2-3 ปี หากล่าช้า จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมดาวเทียม เพราะไม่ใช่แค่ประมูลเสร็จแล้วจะยิงดาวเทียมได้เลย ถ้าช้าอาจโดนสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union – ITU) ยกเลิกสิทธิการใช้วงโคจร และ 2.การประมูลคลื่น 3500 MHz

หากย้อนกลับมาที่การประมูลวงโคจรดาวเทียม ถือว่าเคยเตรียมจัดขึ้นแล้ว หลังจากไทยคมสิ้นสุดสัมปทาน โดยขณะนั้น พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ที่เป็นรองเลขาธิการ กสทช. ก็เร่งดำเนินการ มีวางกรอบเวลาชัดเจน มีกำหนดประมูลเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2564 และขอเลื่อนออกมาเป็นวันที่ 28 สิงหาคม 2564

อีกจุดพลิกประมูลนี้ที่สำคัญ คือ จดหมายทักท้วงจากเจ้ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ขอให้รอ กสทช.ชุดใหม่ก่อน ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการสรรหา

ท้ายสุด กสทช.ชุดรักษาการ ตัดสินใจยกเลิกการประมูล โดยให้เหตุผล “ต้องกลับไปทบทวนหลักเกณฑ์ประมูลให้เปิดกว้าง เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม” เนื่องจากมีเพียงบริษัทลูกของไทยคม (ทีซี สเปซ คอนเน็ค) รายเดียวที่ยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูล จากที่มีผู้สนใจขอรับเอกสารประมูลไป 3 ราย คือ มิวสเปซ, ทีซี สเปซ คอนเน็ค และ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ

 

ไม่เพียงเท่านั้น เผือกร้อนที่กำลังรอ กสทช.ชุดใหม่ แบบสดๆ ร้อนๆ ก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู และกลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ประกาศสร้างความร่วมมือทางธุรกิจร่วมกัน โดยมีแผนจะปรับโครงสร้างธุรกิจ และจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้น

ดีลนี้ กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เพราะเกรงว่า หากการควบรวมเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพราะจะเหลือผู้ให้บริการเพียง 2 ราย จากปัจจุบันที่มี 3 ราย ขณะเดียวกันก็เกรงว่าจะทำให้เกิดการผูกขาดตลาด และราคาค่าบริการก็จะลดลงช้า

เมื่อสังคมแสดงความกังวล ว่าดีลนี้จะกระทบต่อการใช้บริการ ทำให้กราฟความคาดหวังต่อบทบาทของ กสทช.พุ่งขึ้น

แต่สิ่งที่ กสทช.ชุดรักษาการทำได้คือ แค่ออกหนังสือเรียกให้ทั้งสองบริษัทเข้ามาชี้แจง และกำชับให้ทั้งสองบริษัทต้องรักษาสัญญาณและคุณภาพการให้บริการกับผู้ใช้บริการของทั้งสองค่ายเท่านั้น

ดีลนี้ก็จะเชื่อมโยงกลับมาที่การประมูลคลื่น 3500 MHz ซึ่งก่อนหน้านี้ ดีแทคพยายามดันเต็มที่เพื่อจะใช้คลื่นนี้มาทำ 5 G โดยให้เหตุผลว่า เป็นมาตรฐานโลกในการทำ 5 G ดังนั้น หากความร่วมมือทางธุรกิจสำเร็จ จัดประมูลได้ ผู้ที่เข้าร่วมประมูลก็อาจจะลดลง หรือเหลือแค่ 2 ราย คือ เอไอเอส และบริษัทใหม่ของดีแทค-ทรู

เกมนี้เมื่อผู้เล่นลด การแข่งขันก็จะลดลง ก็ย้อนกลับมาที่รายได้ของรัฐที่จะได้จากค่าประมูลก็จะลดลงตามไปด้วย

เท่ากับว่า กสทช.ชุดใหม่ 5 คน แม้สามารถผ่านด่านสรรหาที่กินเวลาเกือบ 4 ปีมาแล้ว ก็ยังต้องเผชิญกับภารกิจใหญ่ที่รอให้สังคายนาอีกเพียบ โดยเฉพาะดีลทรู-ดีแทค ถือเป็นภารกิจเรียกความเชื่อมั่น พร้อมแสดงศักยภาพของ กสทช.ชุดใหม่ ให้สมกับการรอคอย