ท่องเที่ยวไทย ใต้เงา ‘โอไมครอน’/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ท่องเที่ยวไทย

ใต้เงา ‘โอไมครอน’

 

บทความว่าด้วยแหล่งท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของนิวยอร์กไทม์สเมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา สะท้อนความจริงอันเจ็บปวดของแหล่งท่องเที่ยวระดับ “ฮอต สปอต” ของโลกในย่านนี้ได้อย่างเอกอุ

เริ่มตั้งแต่บาหลี เกาะที่รุ่มรวยวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติของอินโดนีเซีย ที่กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จาก 19 ประเทศ อีกครั้งมาตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา

แต่ตลอดเดือนธันวาคมนี้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาถึงเพียง 2 คน!

และถ้านับตลอดทั้งปี 2021 นี้ มีชาวต่างชาติเดินทางมาถึงบาหลี ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก” เพียง 45 คนเท่านั้น

ดายุ อินดะห์ หัวหน้าแผนกมาร์เก็ตติ้งของสำนักงานการท่องเที่ยวบาหลี ยอมรับตรงไปตรงมาว่า เธอไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า ทั้ง 45 คนที่ว่าเป็นนักท่องเที่ยวหรือไม่ หรือเป็นเพียงนักเดินทางที่บังเอิญผ่านทางมา

นิวยอร์กไทม์สบอกว่า ที่มาเลเซียมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนลังกาวี เกาะท่องเที่ยวพักผ่อน เพียง 200-300 คน นับตั้งแต่รัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยว “บางส่วน” ในเวลาไล่เลี่ยกัน

ห่างจากเป้าหมายของทางการท้องถิ่นที่ตั้งเอาไว้ที่ระดับหลายพันคนมากมายนัก

 

เปรียบเทียบกันแล้ว สถานการณ์ในไทยยังคงดีกว่าเพื่อนบ้านเหล่านี้ โดยนิวยอร์กไทม์สระบุว่า ในเดือนพฤศจิกายน นักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 100,000 คนเดินทางเข้าไทยมา หลังจากมีการประกาศโครงการ “เทสต์ แอนด์ โก” ไม่ต้องกักตัวอีกต่อไปสำหรับนักท่องเที่ยวที่ผ่านการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบถ้วนแล้ว

ตัวเลขที่ว่า ดีกว่าใครๆ อยู่ก็จริง แต่ถ้ามองภาพรวมแล้ว ปีนี้ทั้งปีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยไม่ถึง 270,000 คน จิ๊บจ๊อย กระจ้อยร่อยเหลือเกิน เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 2019 ซึ่งมากมายถึง 40 ล้านคน

ที่เวียดนาม ตัวเลขของทางการแสดงให้เห็นว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2019 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมากถึง 1.8 ล้านคน แต่ปีนี้หลงเหลือเพียงไม่กี่สิบคนเท่านั้นเอง

การกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เคยสร้างความหวังเล็กๆ น้อยๆ ให้กับบรรดาโรงแรม ที่พักในท้องถิ่น, ผู้ประกอบการการท่องเที่ยว และธุรกิจอีกเป็นจำนวนมากที่พึ่งพาอาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว จึงไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง

 

สจวร์ต แม็กโดนัลด์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Travelfish.org สำหรับให้ข้อมูลและคำแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า ข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ดี, ค่าธรรมเนียมและเที่ยวบินที่ขาดหายไป โดยเฉพาะไดเร็กต์ไฟลต์ ทำให้การเดินทางมาท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ ในยามนี้ ถ้าไม่ “มุ่งมั่นตั้งใจ” อย่างเด็ดเดี่ยวจริงๆ ก็จะรู้สึกทันทีว่า “กระบวนการทุกอย่างดูซับซ้อนและสับสน” มากจนเกินไป สำหรับการท่องเที่ยวทริปสั้นๆ เช่นนี้

นิวยอร์กไทม์สบอกว่า ปัญหาส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็คือ การขาดหายไปของนักท่องเที่ยวชาวจีน “แหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวสำคัญของภูมิภาค”

เหตุผลก็คือ ทางการจีนวางกฎเกณฑ์เข้มงวดอย่างมากสำหรับใครก็ตามที่เดินทางออกไปยังต่างประเทศในยามนี้ รวมทั้งการกำหนดกักตัว 14 วันในทันทีที่เดินทางกลับมา

ผลก็คือ น้อยคนมากที่จะยอมเสียเวลาออกมาท่องเที่ยวต่างแดน

แม็กโดนัลด์บอกด้วยว่า การขาดหายไปของเที่ยวบินตรง ก็ส่งผลอย่างมาก ตัวอย่างเช่น กรณีของกัมพูชากลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พร้อมกับยกเลิกการกักตัว ในกรณีที่ได้รับวัคซีนครบแล้วและผ่านการตรวจหาเชื้อแล้ว

ปัญหาก็คือ ไม่มีเที่ยวบินตรงมายังกัมพูชา ทำให้ใครก็ตามที่ต้องการเดินทางไปที่นั่น ต้องผ่าน “ฮับ” การเดินทางประเทศอื่นๆ ก่อน ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือมาเลเซียก็ตาม แล้วก็ต้องเผชิญกับมาตรการ “คัดกรอง” เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

ข้อเท็จจริงที่น่ากังวลต่อเนื่องไปในอนาคตก็คือ ตัวอย่างที่นิวยอร์กไทม์สหยิบยกขึ้นมาแสดงไว้เหล่านี้ ยังไม่ได้พิจารณานำเอาปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของโอไมครอนเข้าไปร่วมด้วย

สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศยุโรปกำลังเผชิญปัญหาที่เกิดจากโอไมครอนอย่างหนัก ถึงขนาดที่บอริส จอห์นสัน ไม่ยอมลั่นปากว่าจะไม่ล็อกดาวน์อีกครั้ง ทั้งๆ ที่แรงกดดันทางการเมืองจากพรรคตนเองทวีขึ้นมหาศาล ในขณะที่บางประเทศ อย่างเช่น เนเธอร์แลนด์ ล็อกดาวน์ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

ที่สหรัฐอเมริกา แหล่งที่มาของนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของไทยในเวลานี้ การแพร่ระบาดของโอไมครอนก็พุ่งพรวด จาก 13 เปอร์เซ็นต์เป็น 73 เปอร์เซ็นต์ ภายในระยะเวลาเพียงสัปดาห์สองสัปดาห์

โอไมครอนจึงกลายเป็นเงาทะมื่นสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศไทย ไม่เฉพาะในตอนนี้ แต่ยังลามไปจนถึงปีหน้าอีกด้วย