‘พวงทอง-ประจักษ์’ ประสานเสียง ‘คูหาเลือกตั้ง’ เปลี่ยนการเมืองไทยได้/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

เปลี่ยนผ่าน

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

 

‘พวงทอง-ประจักษ์’ ประสานเสียง

‘คูหาเลือกตั้ง’ เปลี่ยนการเมืองไทยได้

 

สัปดาห์ก่อน รายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ในช่องยูทูบมติชนทีวี เพิ่งสัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นอกจากประเด็นสำคัญว่าด้วยวาระย่างเข้า 8 ปีของ “ระบอบประยุทธ์” แล้ว ทางรายการยังชวนนักวิชาการทั้งคู่สนทนาเรื่อง “การเลือกตั้ง” ในฐานะ “ช่องทางการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

ซึ่งมีเนื้อหาสาระดังต่อไปนี้

 

อาจารย์ประจักษ์ยืนยันว่าจากประสบการณ์ของหลายประเทศ ระบอบเผด็จการจะถูกโค่นล้มได้ผ่านสองช่องทาง ช่องทางแรก คือ การโค่นล้มเผด็จการผ่านการประท้วงบนท้องถนน อย่างที่สอง คือ การล้มเผด็จการผ่านคูหาเลือกตั้ง

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. ประเมินว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ถือเป็นเดิมพันที่สูงมากสำหรับพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเหตุผลหลายข้อ

ข้อแรก พรรคการเมืองทหารหรือพรรคการเมืองของคณะรัฐประหารมักไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง (แม้แต่ในการเลือกตั้ง 2562 พรรคพลังประชารัฐก็ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับสอง)

ทั้งในแง่การหาเสียงไม่เก่ง ความล้มเหลวในการบริหารประเทศสมัยได้ครองอำนาจเป็นรัฐบาล รวมถึงความแตกแยกภายใน “พรรคแนวรวมการเฉพาะกิจ” ซึ่งกลุ่มก๊วนหลายก๊กทะเลาะ-ขัดแย้งกันเอง

ประการถัดมา “พรรคพลังประชารัฐ” ในปี 2565 นั้นจะไม่เหมือนกับ “พรรคพลังประชารัฐ” ในปี 2562 เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็มีบางกลุ่มก้อนที่กระเด็นออกจากพรรคไป เช่น กลุ่ม กปปส.เดิม กลุ่มสี่กุมาร หรือแม้แต่ขั้วธรรมนัสที่ระหองระแหงกับขั้วอำนาจอื่นๆ และนายกรัฐมนตรี

ประการสุดท้าย อาจารย์ประจักษ์ย้ำเตือนถึงปัจจัยสำคัญที่มองข้ามไม่ได้

“อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้ที่เราพูดกัน การเลือกตั้งครั้งที่แล้วมันเกิดก่อนโควิด ตอนนี้เรากำลังจะมาพูดถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่รัฐบาลนี้ผ่านการบริหารโควิดมาแล้ว

“มีคนตายสองหมื่นกว่าคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และก็เป็นการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็น ด้วยระบบสาธารณสุขที่ดีแบบไทย แต่การบริหารของรัฐที่ล้มเหลวและเรื่อง (ปัญหาการจัดหา-กระจาย) วัคซีน มีคนติดเชื้อสองล้านกว่าคน เศรษฐกิจที่มันพังทลาย คนว่างงาน เด็กจบใหม่ที่หางานทำไม่ได้

“โควิดมันเปลี่ยนการเมืองทั่วโลก อย่าลืม ไม่มีการเมืองประเทศไหนมันหยุดนิ่งเหมือนเดิมได้ เมื่อมันผ่านวิกฤตโควิดมาแล้ว ทรัมป์ยังกระเด็นออกจากอำนาจไปเพราะโควิดนั่นแหละ

“ฉะนั้น ถ้าการที่เป็นรัฐบาลแล้วลงมาป้องกันแชมป์สู้ศึกเลือกตั้งด้วยการที่ล้มเหลวในการบริหารจัดการโควิด ผมคิดว่ามันจะเป็นศึกหนักทีเดียวของพลังประชารัฐและ พล.อ.ประยุทธ์”

 

ส่วนอาจารย์พวงทองกล่าวถึงความวิตกกังวลของใครหลายคนที่มองว่านโยบายประชานิยมชนิด “แจกแหลก” ของรัฐบาลพลังประชารัฐ จะก่อให้เกิดแต้มต่อ-ความได้เปรียบในสนามเลือกตั้ง ด้วยมุมมองที่แตกต่าง

โดยตั้งข้อสังเกตว่าแม้ประชาชนจำนวนมากจะยอมรับเงินจำนวนเล็กน้อยที่รัฐบาลแจกผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ แต่พวกเขาไม่ได้ยอมรับรัฐบาลชุดนี้ และไม่ได้ต้องการจะถูกมองเป็นเหมือน “ขอทาน” ไปตลอดชีวิต

ตรงกันข้าม ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการโครงการขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้น จนส่งผลให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์ที่เป็นกอบเป็นกำในระยะยาวมากกว่านี้

ทว่าจุดที่อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นห่วง กลับเป็นเรื่องการจัดการอำนาจของ “ฝ่ายประชาธิปไตย” หลังชนะศึกเลือกตั้งมากกว่า

“ที่อยากฝากไว้ก็คือถ้าฝ่ายประชาธิปไตยเป็นรัฐบาล สิ่งที่ต้องทำคือ คุณต้องทำทุกอย่างที่จะเริ่มขุดรากถอนโคนตัวระบอบ เบื้องต้นเลย ขุดเรื่องคอร์รัปชั่น เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าไอ้ตัวระบอบที่มันขาดการตรวจสอบ ในที่สุดแล้ว มันสร้างภาระให้กับประชาชนอย่างไร

“ไม่ต้องพูดถึงว่าหลายปีที่ผ่านมา เราสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหรือสูญเสียชีวิตของประชาชนไปในช่วงโควิดอย่างไร ดิฉันว่า (สำหรับ) รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อันนี้เป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยเปิดพื้นที่ให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น”

 

เมื่อสอบถามว่าการปฏิบัติงานขององค์กรอิสระต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นขวากหนามอีกด่านของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่?

อาจารย์พวงทองตอบว่า แม้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์เช่นนั้น แต่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจก็ต้องคำนึงถึงสิ่งที่อาจอุบัติขึ้นตามมา

เช่น ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง แต่กลับถูกยุบพรรคอีกหน ก็มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะผลักให้ “คนเสื้อแดง” ไปผนึกรวมกำลังกับ “คนรุ่นใหม่” เต็มตัว

ขณะที่อาจารย์ประจักษ์ยอมรับว่าองค์กรอิสระทั้งหลายอยู่ใน “เครือข่ายอำนาจ” ของ “ระบอบประยุทธ์” และบุคลากรส่วนใหญ่ในองค์กรก็ถูกแต่งตั้งขึ้นมาตอน คสช.ครองอำนาจ

ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นตัวกำหนดบทบาทของบรรดาองค์กรอิสระอีกทีหนึ่ง โดยถ้าพรรคการเมืองต่างขั้วเอาชนะกันในระดับ “เสียงปริ่มน้ำ” สังคมก็จะได้เห็นการใช้อำนาจขององค์กรเหล่านี้

แต่หากมีพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” องค์กรอิสระก็จะเข้ามาแทรกแซงผลเลือกตั้งไม่ได้ เพราะอาจก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชน

 

เมื่อมีแฟนรายการสอบถามถึงแนวคิดที่มองว่า “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคก้าวไกล” ไม่ควรตัดคะแนนกันเองในสนามเลือกตั้งทุกระดับ

อาจารย์พวงทองทักท้วงว่า การแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยนั้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปไตย ก็ลงแข่งกันเองในสนามเลือกตั้งเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ “คนเสื้อแดง” ซึ่งถูกสังหารหมู่มาตั้งแต่ปี 2553 จึงไม่เห็นด้วยกับคำพูดทำนองว่า การที่พรรคก้าวไกลส่งผู้สมัครลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นั้น จะกลายเป็นการตัดคะแนนฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเอง

“ถ้าสมมุติว่าคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งคนเชียร์เยอะ เกิดไม่ชนะขึ้นมา เป็นความผิดของก้าวไกลอย่างนั้นเหรอ? ทำไมไม่คิดว่าคุณชัชชาติเองก็ไม่สามารถที่จะสร้างคะแนนนิยมได้เหนือผู้สมัครคนอื่น จึงไม่มีโอกาสได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ดิฉันคิดว่าเรื่องตัดคะแนนกันเป็นเรื่องปกติ

“เพราะถ้าคุณเริ่มบอกว่าก้าวไกลอย่าลงผู้ว่าฯ กทม. (เพราะ) ไปตัดคะแนนคุณชัชชาติ ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่าคุณชัชชาติสนิทกับพรรคอะไร แล้วมวลชนพรรคไหนที่สนับสนุนเขาอยู่ มันก็จะเป็นก้าวต่อไปว่าในการเลือกตั้งระดับชาติ ก้าวไกลก็ไปแย่งที่นั่ง ไปเอาเสียงของเพื่อนมาเป็นของตัวเอง ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นการพูดที่ไม่แฟร์

“เสียงเลือกตั้งไม่มีใครผูกขาด เปลี่ยนได้เสมอ เสียงของเรา เราเป็นโหวตเตอร์ เราเปลี่ยนอยู่เสมอ ไม่ได้มีใครมาบอกให้เราเลือกใคร ดิฉันคิดว่าประชาธิปไตยที่ดี มันต้องมีทางเลือก แข่งกันที่นโยบายสิ”