ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
ผู้เขียน | เพ็ญสุภา สุขคตะ |
เผยแพร่ |
เดือนมิถุนายนเวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่ง อดไม่ได้ที่จะน้อมรำลึกถึงวันชาตกาลของสองปราชญ์ใหญ่แห่งสยามและล้านนา
ท่านแรกคือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประสูติวันที่ 21 มิถุนายน 2405
อีกท่านคือครูบาเจ้าศรีวิชัย ชาตะวันที่ 11 มิถุนายน 2421
เมื่อหลายปีก่อนในวาระเดียวกันนี้ ผู้เขียนเคยนำเสนอเหตุการณ์สำคัญยิ่งระหว่างสองปราชญ์ในมติชนสุดสัปดาห์มาแล้ว ว่าด้วยฉากที่ทั้งสองได้โคจรมาพบกันโดยบังเอิญ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2464 ณ วัดพระบรมธาตุดอยเกิ้ง อำเภอดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่
ขณะนั้น ครูบาเจ้าศรีวิชัย กำลังสร้างบันไดนาคเป็นทางขึ้นสู่พระธาตุดอยเกิ้ง ส่วนสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็กำลังเสด็จนิวัตกลับจากเชียงใหม่พร้อมด้วยพระราชชายา เจ้าดารารัศมี เพื่อไปกรุงเทพฯ โดยล่องแม่ปิง จึงแวะนมัสการพระธาตุดอยเกิ้งพอดี
ฉบับนี้ มีความภูมิใจที่จะนำเสนอประเด็น “ข้อค้นพบใหม่” ชวนฉงนอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งยังเป็นปริศนาที่ต้องช่วยกันขบคิดหาคำตอบ
นั่นคือ การพบภาพครูบาเจ้าศรีวิชัยถือพัด “ดำรงธรรม” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปรากฏในหนังสือ “สาส์นสมเด็จ” เล่มที่ 11 หน้า 244-246 (ฉบับพิมพ์ครั้งแรก)
ปริศนาดังกล่าวนั้นก็คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นำพัดดำรงธรรมมาถวายแด่ครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ไหน ตั้งแต่เมื่อไหร่ และอย่างไร
อีกทั้งยังมีประเด็นพ่วงเรื่อง ความหวาดระแวงของสมเด็จในกรม ต่อกรณีที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยอาจบูรณะวัดร้างโดยพลการจนทำให้รูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมเสียหาย โดยไม่ขออนุญาตจากกรมศิลปากร อีกหรือไม่?
เกรงครูบาเจ้าศรีวิชัยแอบบูรณะวัดเจ็ดยอด
สาส์นสองฉบับคือวันที่ 12 กันยายน และ 23 กันยายน 2480 จาก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะที่ยังประทับ ณ เกาะปีนัง (ลี้ภัยจากคณะราษฎรไปอยู่นอกประเทศ) มีไปถึง “หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์” อธิบดีกรมศิลปากร โดยได้แนบสำเนาสาส์นส่งไปยัง สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ด้วย
ฉบับแรกมีเนื้อหาที่ระบุว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยพยายามจะบูรณะวัดเจ็ดยอด หรือวัดมหาโพธาราม จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
“ฉันได้ยินไม่ช้ามานัก เมื่อปล่อยพระศรีวิชัยกลับไปมณฑลพายัพครั้งหลัง (หมายถึงปี 2479, เพราะการต้องอธิกรณ์ครั้งแรกอยู่ในช่วงปี 2463) เจ้าหลวงเมืองลำพูน (หมายถึงเจ้าจักรคำขจรศักดิ์) นิมนต์พระศรีวิชัยให้ไปอยู่วัดจามเทวี (จังหวัดลำพูน) ฉันก็รู้สึกยินดี โดยนัยหนึ่งที่วัดจามเทวีจะได้รับความทำนุบำรุงพ้นจากเป็นวัดร้าง แต่อีกนัยหนึ่งก็ยังเกิดวิตกขึ้น ด้วยเกรงพระศรีวิชัยจะไปซ่อมแปลงพระเจดีย์ละโว้ (หมายถึงเจดีย์เหลี่ยมทรงพีระมิด-สุวรรณจังโกฐ) ให้ผิดรูปและลักษณะของเดิม เหมือนอย่างไปซ่อมพระเจดีย์วัดสวนดอกที่เมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ยินว่ามีการซ่อมแซมวัดจามเทวีอย่างไรก็นิ่งอยู่
แต่เมื่อสองสามวันนี้ มีฝรั่งคนหนึ่งซึ่งอยู่เมืองเชียงใหม่ผ่านมาทางเมืองปีนัง เขาเป็นคนคุ้นเคยกับฉันมาแต่ก่อน จึงแวะมาหา ฉันถามเขาถึงโบราณวัตถุสถาน เขาบอกว่าพระศรีวิชัยกำลังจะปฏิสังขรณ์วัดเจดีย์เจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่ ฉันได้ยินก็ตกใจด้วยวัดเจดีย์เจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่ กับวัดพระยืนที่เมืองลำพูนเป็นหลักฐานสำหรับพิสูจน์พงศาวดารเกี่ยวข้องกับเมืองพุกาม และวัดจามเทวีเป็นหลักฐานสำหรับพิสูจน์พงศาวดารการเกี่ยวข้องกับเมืองละโว้ ถ้าแปลงรูปหรือลักษณะผิดไปเสียกับของเดิม ก็สิ้นหลักสอบพงศาวดารทั้ง 3 แห่ง
วัดที่เป็นหลักพงศาวดารในมณฑลพายัพ ฉันอยากให้รักษาไว้ตามลักษณะอย่างเดิม เป็นแต่ป้องกันอย่าให้ชำรุดหักพัง เช่นที่วัดจามเทวีนั้นก็มีแต่พระเจดีย์กับแนวพื้นวิหารของเดิมอยู่เท่านั้น ถ้ากั้นรั้วหรือทำกำแพงแก้วล้อมพระเจดีย์กับวิหารของเดิม ไว้เป็นส่วนหนึ่ง นอกเขตกำแพงแก้วออกมายอมให้พระศรีวิชัยจะสร้างโบสถ์ วิหารการเปรียญและกุฏีริถานได้ตามใจก็ดีหนักหนา วัดพระยืนนั้นเขารักษาดีอยู่แล้ว พระศรีวิชัยเห็นจะไม่ซ่อมแซม แต่ที่วัดเจดีย์เจ็ดยอดเมืองเชียงใหม่นั้นสำคัญมาก ต้องป้องกันเสียให้ทัน
ฉันได้ยินว่าเดี๋ยวนี้มีพระราชบัญญัติหรืออะไร ที่บังคับผู้จะปฏิสังขรณ์โบราณวัตถุให้ต้องขออนุญาตต่อรัฐบาลก่อน ถ้ามีเช่นนั้นการอนุญาตคงเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากร เกี่ยวมาถึงตัวหลวงบริบาลฯ ผู้เป็นเจ้าหน้าที่ส่วนโบราณคดี ควรบอกกำชับข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ และเมืองลำพูนให้เขารู้ว่าควรระวังอย่างไร
ท่านศรีวิชัยนั้นมีคุณมากในการปฏิสังขรณ์ เสียแต่แกอดแก้แบบของเดิมไม่ได้ ถ้าเป็นของใหม่หรือของสามัญก็ไม่พอเป็นไร แต่ถ้าแก้ของที่เป็นหลักพงศาวดาร ก็เหมือนทำให้เกิดฉิบหายต้องห้ามให้อยู่ แต่ห้ามโดยอัธยาศัยอย่าให้ถึงวิวาทกันถึงจะดี…”
อีกฉบับหนึ่งกล่าวว่า
“เรื่องวัดโบราณในมณฑลพายัพ ที่หม่อมฉันได้ทูลไปในจดหมายฉบับก่อนนั้น หม่อมฉันได้จดหมายของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ตอบมาแล้ว ว่าเขาได้ระวังอยู่แล้ว วัดจามเทวีที่พระศรีวิชัยไปอยู่นั้น เจ้าหลวงเมืองลำพูนขอให้พระศรีวิชัยทำวิหารตามแนวผนังเดิม เห็นว่าของเดิมเหลือเพียงแค่โคนผนังจึงอนุญาตให้ทำด้วยเกรงใจเจ้าลำพูน และไม่มีรูปวิหารเดิมหรือลวดลายที่จะรู้ว่าเป็นอย่างไรแล้วแต่พระเจดีย์ละโว้ที่เป็นของสำคัญในวัดนั้นได้ห้ามแล้วมิให้ไปซ่อมแซม วัดเจดีย์เจ็ดยอดที่เมืองเชียงใหม่ก็ว่าได้ห้ามไว้แล้ว”
อนึ่ง สาส์นทั้ง 2 ฉบับเขียนในปี 2480 เป็นระยะเวลานานกว่า 6 ปีแล้วที่สมเด็จในกรมทรงลี้ภัยไปต่างแดน แต่ระยะทางไม่อาจทำให้ท่านละทิ้งความห่วงใยต่อเรื่องศิลปวัฒนธรรมของสยามประเทศได้เลย
ข้อสังเกตและคำถามที่ตามมาคือ
1.”ฝรั่งที่อยู่เชียงใหม่และคุ้นเคยกับกรมพระดำรงฯ” คนที่เอาข่าวไปแจ้งให้พระองค์ทราบถึงปีนังนั้น คือใครกันหนอ สัญชาติอะไร เป็นนักโบราณคดีหรือเปล่า ทำไมสมเด็จในกรมไม่ทรงระบุชื่อ
2. สมเด็จในกรมทรงลี้ภัยไปปีนังราวปลายปี 2475 หลังจากนั้นก็ได้แต่ติดต่อกับหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และสมเด็จกรมนริศทางจดหมาย ดังนั้นแสดงว่าระหว่าง 2475-2480 พระราชบัญญัติคุ้มครองโบราณวัตถุ โบราณสถาน เพิ่งถือกำเนิดในช่วงที่สมเด็จกรมดำรงไม่ได้อยู่ในสยามแล้ว
3. ในยุคสมเด็จในกรม ยังไม่มีคำว่า “ศิลปะหริภุญไชย” ทรงรู้จักแต่คำว่า “ศิลปะละโว้” จึงยังไม่รู้จะเรียกเจดีย์ในวัดจามเทวีว่าอะไร
4. ในทรรศนะของท่านมองว่า เจดีย์วัดพระยืน ถ่ายแบบมาจากอนันทเจดีย์ที่กรุงพุกาม ซึ่งก็มีส่วนจริงอยู่ เพียงแต่ว่าเจดีย์วัดพระยืนองค์ปัจจุบันมิได้สร้างร่วมสมัยกับพุกาม (พุทธศตวรรษที่ 16-18) แต่เป็นการสร้างเสริมเติมแต่งขึ้นใหม่ในยุคพระญากือนา (ต้นพุทธศตวรรษที่ 20) จนกลายเป็นมณฑป 4 ด้าน และยังมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยเจ้าหลวงอินทยงยศโชติ (พุทธศตวรรษที่ 25)
5. สมเด็จในกรมทรงเรียกวัดเจ็ดยอดว่าวัดเจดีย์เจ็ดยอด และทรงตระหนักว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่งของเชียงใหม่
6. ภาพถ่ายครูบาเจ้าศรีวิชัย น่าสงสัยว่าใครเป็นผู้ถ่าย ถ่ายที่ไหน ใครส่งไปให้สมเด็จในกรมทอดพระเนตร ส่งโดยฝรั่งผู้นั้น หรือว่าโดยหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ หรือเป็นภาพเก่าดั้งเดิมในแฟ้มข้อมูลของสมเด็จกรมดำรงเองอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากไม่มีคำอธิบายที่มาของภาพ แต่มีข้อสงสัยว่า อาคารที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยยืนอยู่นี้ คือวัดเจ็ดยอดจริงหรือ (ตามคำบรรยาย) หรือว่าเป็นวิหารหลวงวัดจามเทวีขณะกำลังก่อสร้าง ก็ในเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยไม่สามารถบูรณะวัดเจ็ดยอดได้ หรือหากเป็นวัดเจ็ดยอดจริง จะมิเป็นการฝืนคำกล่าวของครูบาเจ้าศรีวิชัย ดอกล่ะหรือที่ว่า “ตราบน้ำแม่ปิงไม่ไหลย้อน จะไม่ไปเหยียบนครเชียงใหม่อีก” (กล่าวประโยคนี้ขณะต้องอธิกรณ์ครั้งสุดท้าย 2479)
7. พัดในมือครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นตาลปัตรแบบใด ทำไมไม่ใช่พัดใบตาลหรือพัดขนหางนกยูง?
8. มีการพาดพิงเปรียบเทียบกับวัดสวนดอก ซึ่งครูบาเจ้าศรีวิชัย เคยสร้างเจดีย์ทรงกลมครอบทับเจดีย์รายองค์หนึ่งที่เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์สุโขทัย เพราะสร้างโดยพระสุมนเถระ
สมเด็จหนึ่งสร้าง สมเด็จหนึ่งฉลอง
คือพัดรองดำรงธรรม
คําถามทั้งหมดผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตและถามตัวเอง บางข้อก็ไม่มีคำตอบ แต่ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดก็คือ
ภาพพัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถือนั้น คือ “พัดดำรงธรรม” พัดรองที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สั่งให้ทำถวายแด่พระคุณเจ้าในการฉลองพระชนมายุ 60 พรรษา ของพระองค์ (ปี 2465) ออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ปกติพัดที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถือนั้นหากไม่ใช่พัดใบตาลก็ต้องเป็นพัดขนนกยูง
นานๆ ทีจึงจักเห็นพัดรูปแบบอื่น โดยเฉพาะเล่มนี้เป็นพัดของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ตามธรรมเนียมการถวายพัดรองที่ระลึกในพิธีต่างๆ นั้น ไม่นิยมทำ “เผื่อ” หรือ “เกิน” อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัดรองในสกุลพัดฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครู ที่มีความละเอียด ซับซ้อนสวยงาม รวมถึงทำยาก ทั้งงานปัก งานเขียน หรืองานพิมพ์ ถ้าจะทำถวายพระ ต้อง “ตั้งใจ” แบบเจาะจงไปเลยว่าจะถวายพระรูปใดบ้าง
จากการที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยพบกันหนึ่งหนที่พระธาตุดอยเกิ้ง ในปี 2464 ครั้งนั้นครูบาเจ้าศรีวิชัยมอบพระรอดพร้อมพระพุทธรูปอินเดียหนึ่งองค์ให้สมเด็จในกรม (น่าจะขุดพบได้แถววัดร้างเมืองฮอด)
เหตุการณ์ครั้งนั้นน่าจะสร้างความประทับใจ เป็นไปได้ว่าในปี 2465 สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงมีความตั้งใจที่จะถวายพัด “ดำรงธรรม” เมื่อทรงบำเพ็ญพระกุศลพระชันษา 60 ให้แก่ครูบาเจ้าศรีวิชัย หนึ่งในพระภิกษุที่ทรงคุ้นเคยกันมาก่อน
คำแปลคาถาบนพัดมีดังนี้
“การไม่ทำบาป คือความชั่วทั้งปวง
การทำกุศล คือความดีให้พร้อมสรรพ
การทำจิต ให้ผ่องแผ้ว
เหล่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า”