ล้านนาคำเมือง ชมรมฮักตั๋วเมือง : “กาดหลวง”

ล้านนาคำเมือง  ชมรมฮักตั๋วเมือง

สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า กาดหลวง

กาด หมายถึง ตลาด กาดหลวง คือ ตลาดวโรรส

กาดหลวง ตั้งอยู่ที่ ถนนวิชยานนท์ ต.ช้างม่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นจุดที่เชื่อมต่อระหว่างถนนช้างม่อยและถนนวิชยานนท์

โดยมีกาดเจ๊กโอ้วตั้งอยู่ทางทิศเหนือฝั่งถนนช้างม่อย

ทิศใต้ติดตรอกเล่าโจ๊ว

ทิศตะวันออกติดถนนวิชยานนท์ฝั่งกาดต้นลำไย

และทิศตะวันตกติดถนนข่วงเมรุ

โดยกาดทั้งสามตั้งขึ้นในช่วงที่การค้าทางเรือมีความเจริญมาก มีท่าเรือสำคัญคือ คุ้มท่า ตั้งอยู่หน้าเจดีย์กิ่ว (ปัจจุบันคือกงสุลอเมริกัน) เป็นท่าเรือสำหรับจอดของเจ้าหลวง และเรือหางแมงป่อง เป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญ เมื่อมีรถไฟมาถึงเชียงใหม่ และมีสะพานข้ามแม่น้ำปิง ทำให้มีผู้คนจำนวนมากทั้งชาวพื้นเมือง ชาวจีน และชาวซิกข์ มาตั้งร้านค้าทำมาหากินจึงทำให้กาดทั้งสามแห่งเติบโตขึ้นอย่างมาก

ในอดีตกาดหลวงคือข่วงเมรุหรือที่ปลงศพ และที่เก็บพระอัฐิของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติ

แต่หลังจากที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จกลับมาเยี่ยมจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีพระราชดำริให้ย้ายพระอัฐิไปบรรจุไว้ที่วัดสวนดอก

ต่อมาได้รวบรวมเงินส่วนพระองค์และเงินจากเจ้าอินทโรรสฯ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น มาลงทุนสร้างตลาดขึ้นในบริเวณข่วงเมรุและได้พระราชทานชื่อว่า “ตลาดวโรรส” ตามพระนามของเจ้าอินทวโรรส

แต่มักเรียกกันในชื่อว่า “กาดหลวง” ซึ่งหมายถึงตลาดของเจ้าหลวง หรือตลาดที่มีขนาดใหญ่

 

หลังจากเจ้าดารารัศมีสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ.2476 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้ตั้งบริษัทเชียงใหม่พาณิชย์ จำกัด ขึ้นมาบริหารจัดการ โดยมีผู้ร่วมทุนเป็นเจ้านายในสกุล ณ เชียงใหม่

ต่อมา เจ้านายบางท่านได้โอนขายหุ้นบางส่วนให้ห้างหุ้นส่วนอนุสาร เชียงใหม่ เพื่อเข้าไปช่วยพัฒนาและบริหารงานตลาดให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยมี ศ.อัน นิมมานเหมินท์ แห่งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัทออกแบบต่างชาติทำการค้นคว้าและออกแบบสร้างให้เป็นตลาดเต็มรูปแบบและมีความทันสมัย และพัฒนาคู่กับกาดต้นลำไย

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511 ได้เกิดไฟไหม้กาดวโรรสและกาดต้นลำไยเสียหาย และถือเป็นการสิ้นสุดของตลาดวโรรสในยุคแรก

อีกทั้งเจ้านายสกุล ณ เชียงใหม่ไม่ได้มีความประสงค์จะลงทุนทำตลาดต่ออีก จึงโอนขายให้แก่ห้างหุ้นส่วนอนุสารเชียงใหม่

และบริษัทอนุสาร จำกัด จึงได้สร้างตลาดขึ้นมาใหม่โดยทำเป็นตลาดแนวสูงที่ใช้พื้นที่ได้คุ้มค่า สวยงามและทันสมัยที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ มีบันไดเลื่อนตรงกลางตลาด

โดยเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2515 เป็นที่จับจ่ายใช้สอยของประชาชนชาวเชียงใหม่และผู้มาเยือน

 

ตัวอาคารมีสามชั้น มีชั้นใต้ดินและชั้นลอย มีแผงร้านค้าประมาณ 500 แผง

รอบๆ ตลาดมีร้านขายผ้า เป็นเมตร และเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ชั้นใต้ดิน ขายอาหารและเครื่องดื่ม เด่นที่ขนมจีนซึ่งมีหลายร้านให้เลือก

ชั้น 1 จำหน่ายของฝากและของที่ระลึก มีพวกอาหารพื้นเมือง เช่น น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู หมูยอ ผักสดและผลไม้เมืองหนาว

ชั้นลอย มีส่วนที่เป็นเขียงหมู และด้านหน้าที่ขายเสื้อผ้า รองเท้า และพวกเครื่องนอน ชั้น 2 ขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า กระเป๋า เครื่องสำอาง และรับจ้างตัดเย็บผ้า ชั้นลอย 2 ขายเสื้อผ้าพื้นเมือง และรองเท้าแฟชั่น ปัจจุบัน ลานตรงกลางจัดเป็นลานโปรโมชั่น ขายสินค้าลดราคา

ชั้น 3 จำหน่ายเสื้อผ้าพื้นเมืองและเสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า มีร้านขายอาหารและเครื่องดื่มตามสั่ง และห้องสมุดสำหรับเด็ก

ปัจจุบันแม้ว่าจะมีห้างสรรพสินค้าตั้งขึ้นทั่วเมือง แต่ชาวเชียงใหม่ยังผูกพันกับกาดหลวง กาดเจ๊กโอ้ว และกาดต้นลำไย

เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของของชาวเชียงใหม่แล้ว ยังเป็นแหล่งซื้อขายและท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาซื้อของฝากจากเมืองเชียงใหม่หรือล้านนาทั่วภาคเหนือ

กาดหลวงบ่าเก่า

แปลว่า กาดหลวงหรือตลาดวโรรสในสมัยก่อน