คำ ผกา | สังคมอุดมความเขลา

คำ ผกา

สํานวนไทยที่ฉันชอบมากคือสำนวนที่ว่า “รู้น้อยพลอยรำคาญ” อันหมายถึงคนไม่ค่อยมีความรู้ หรือมีความรู้ครึ่งๆ กลางๆ รู้อะไรนิดๆ หน่อยๆ แต่เข้าใจว่าตนเองรู้มาก ก็จะชอบไปแสดงภูมิ สั่งสอน อวดอ้างวิชาความรู้ของตนเองให้คนอื่นฟัง (ฉันเองก็เป็นบ่อย)

จนเป็นเหตุให้คนอื่นรำคาญความรู้น้อยแต่พูดมากนั้นได้ และมีนัยว่า คนที่รู้มาก รู้จริง จะไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยไปแสดงโวหารสั่งสอนใคร เพราะคนที่รู้มาก รู้จริง ส่วนใหญ่จะตามมาด้วยความเข้าใจโลก เข้าใจชีวิต รวมไปถึงเข้าใจคน “รู้น้อย” หรือเพิ่งตื่นความรู้ใหม่ๆ เลยพูดเยอะ คนรู้มาก รู้ลึก รู้จริง จึงชอบมีความเมตตาต่อผู้อื่นสูง ไม่ค่อยไปแหก หรือไปทำให้ใครที่รู้น้อยแต่พูดมากขายหน้าโดยใช่เหตุ

หรือบางที คนก็มักจะเปรียบเทียว่า ปี๊บหรือกระป๋องอะไรที่มันกลวงๆ เวลาไปตีมันจะดังมาก ส่วนอะไรที่แน่นๆ ตันๆ เต็มๆ เสียงจะไม่ดังโฉ่งฉ่างให้หนวกหู

คน “รู้น้อยพลอยรำคาญ” นั้นมีเยอะ เหตุแห่งความรู้น้อยพลอยรำคาญมีหลายเหตุ บางคนอาจเป็นคนเก่ง มีทักษะ มีความสามารถ จับพลัดจับผลูประสบความสำเร็จในชีวิต เลยเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนเก่ง พูดอะไรไปคนต้องฟัง แต่ลืมไปว่าไอ้ที่เก่งและประสบความสำเร็จนั้นเป็นความเก่งบางเรื่อง ไม่ใช่ทุกเรื่อง

เช่น อาจเป็นวิศวกรที่เก่งมาก ทำธุรกิจประสบความสำเร็จมาก แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นจะเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ วรรณคดี การเมือง สังคม ต่างประเทศ

แต่ช่วยไม่ได้ คนเก่งคนนั้นไม่รู้ตัวว่าตัวเองไม่เก่งทุกเรื่อง ไปที่ไหนก็ชอบคุยเขื่อง สั่งสอน เปิดเล็กเชอร์ให้คนฟัง

แถมบางทียังตบท้ายว่า “ดูผมเป็นตัวอย่างนี่ ทำให้ได้แบบผบ รู้ให้มากอย่างที่ผมรู้ รับรองจะประสบความสำเร็จเหมือนผม”

สังคมแบบสังคมไทยเป็นสังคมที่ส่งเสริมวัฒนธรรมแบบ “รู้น้อยพลอยรำคาญ”

การศึกษาแบบ “ไทย” เป็นการศึกษาที่เอาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลก

เราไม่ได้เรียนว่ากว่าจะกลายเป็นประเทศและชาติที่เรียกว่า “ไทย” เราเป็นอะไรมาก่อน ในภูมิภาคนี้ประกอบไปด้วยอาณาจักร แว่นแคว้นอะไร มีผู้คนกลุ่มชาติพันธุ์ไหน ศาสนาใด มีความหลากหลายอย่างไร และเชื่อมโยงสัมพันธ์เปลี่ยนแปลงผ่านการค้า การสงคราม โรคระบาด และการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไรบ้าง

เราไม่เคยเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่เราเป็นส่วนหนึ่งของพลวัตทางประวัติศาสตร์ของภูมิภาค การค้าทางบก ทางทะเล

การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านปีพุทธศักราช ทำให้เราไม่เคยได้วางพลวัตทางประวัติศาสตร์ก่อนจะกลายมาเป็น “ประเทศไทย” ในทศวรรษที่ 1930s กับประวัติศาสตร์โลก

ไม่เพียงเท่านั้น การศึกษาไทยที่ไม่เคยมีโอกาสลืมตาอ้าปากออกจากระบอบเผด็จการ อำนาจนิยม โรงเรียนไทย ไม่ได้เป็นเพียง state apparatus ตามที่อัลธูร์แซร์ อธิบายว่า โรงเรียนคือกลไกของรัฐสมัยใหม่ในการหล่อหลอมพลเมืองของรัฐชาติ – เราอาการหนักกว่านั้น – โรงเรียนไทยไม่ได้เป็นแม้แต่เครื่องมือของรัฐชาติสมัยใหม่ แต่เป็นเครื่องมือของรัฐอาณาจักรที่สวมรอยลงมาโครงสร้างอำนาจของอาณานิคม

สิ่งที่รัฐไทยทำกับประชาชน คือทำตัวประหนึ่งเป็น “เจ้าอาณานิคม” ที่ปกครอง “คนพื้นเมือง” แต่งตั้งคนพื้นเมืองที่ยอม “เชื่อง” ต่ออำนาจอาณานิคม และร้อยก้นคนเหล่านี้ไว้ใช้ด้วยการสร้างระบอบอุปถัมภ์ขึ้นมาสวมทับอีกที และให้คนพื้นเมืองเหล่านี้ไป “ปกครอง” คนพื้นเมืองด้วยกันเป็นทอดๆ

และปล่อยให้ระบบอุปถัมภ์นี้แปลงร่างเป็นรัฐมาเฟีย แสวงหาผลประโยชน์ผ่านการเรียกค่าคุ้มครอง ค่าส่วย การคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ โดยการรู้เห็นเป็นใจจากอำนาจรัฐใหญ่ที่ทำตัวเป็นเจ้าอาณานิคมนั่นเอง

โรงเรียนไทยจึงเป็นแบบจำลองการใช้อำนาจของเจ้าอาณานิคมต่อคนพื้นเมือง ทั้งการควบคุมร่างกายผ่านเครื่องแบบ ทรงผม ไม่ใช่ “เครื่องแบบ” ที่เป็นแค่ยูนิฟอร์ม แต่เป็นเครื่องแบบ และทรงผมที่ถูกออกแบบมาแล้วว่า ให้เป็นไปเพื่อลดทอนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนเหล่านั้น ไม่ใช่เครื่องแบบ ทรงผมที่จะส่งเสริมบุคลิกภาพ สร้างความสง่างาม หรือแม้แต่ความคล่องตัวในการใช้ชีวิต ทรงผมเกรียนๆ ของเด็กชายนั้นใกล้เคียงกับทรงผมของนักโทษและสำหรับฉันมันคือ “ความรุนแรง” ที่กระทำต่อเด็กอย่างถึงที่สุด

แต่ทั้งหมดนี้ “ชาวอาณานิคม” ที่ถูกล้างสมองมาอย่างหมดจด กลับมองว่านี่คือ “ระเบียบวินัย”

ผ่านเครื่องแบบ ทรงผม พิธีกรรมต่างๆ ในโรงเรียนที่เน้นการใช้อำนาจผ่านลำดับชั้นต่ำสูง ผู้ใหญ่ ผู้น้อย การลงโทษที่เน้นการประจาน การทำให้อาย เหล่านี้ล้วนทำลาย “ความเป็นมนุษย์” ที่พึงมีเจตจำนงเสรีเป็นของตนเอง แต่ได้สร้าง “ไพร่พล” ที่เรียนรู้มาแต่อ้อนแต่ออกว่า การสมยอมต่ออำนาจ การสอพลอต่ออำนาจ การทำตามคำสั่งของผู้มีอำนาจอย่างเคร่งครัดจะนำมาซึ่งความสำเร็จของชีวิต

และจะสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีกถ้าสามารถไป “ฟ้อง” หรือแจ้งเบาะแสต่อผู้ใหญ่ว่า มีใครที่ “กบฏ” ต่ออำนาจนั้นบาง ทำได้เยี่ยงนี้ ยิ่งได้บำเหน็จรางวัล

พิธีกรรมทางกายภาพทั้งหมดในระบบโรงเรียนไทยทำลายต่อมความเป็นมนุษย์ที่ “คิด” เป็นลงแล้ว “เนื้อหา” ที่ใช้สอนในโรงเรียนก็มุ่งเน้นสอนให้มีความรู้ในเชิงเทคนิค ทักษะเพื่อนำไปใช้ทำงาน มากกว่าจะสอนให้ “คิด”

เราจึงไม่มีการเรียนคณิตศาสตร์ในฐานะที่มันเป็น “ปรัชญา” หรือแม้กระทั่ง “ตรรกะ” เราเน้นการสร้างหมอ วิศวกร ครู นักบัญชี ที่เน้นความชำนาญ แต่ไม่สนใจเรื่อง “องค์ความรู้”

พูดง่ายๆ คือ ระบบการศึกษาไทยเน้นการสร้าง “โฟร์แมน” ของแขนงต่างๆ ให้ระบบราชการของรัฐอาณานิคม

แต่ตั้งใจละเลยการศึกษาที่เน้นการแสวงหาความรู้ ศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดของปรัชญา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ตรรกศาสตร์

จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราทุกผู้ทุกคนมีแนวโน้มจะเป็นพวก “รู้น้อยพลอยรำคาญ” กันหมดเกือบยกประเทศ

นอกจากระบบการศึกษาที่ทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของเราแบบที่เราไม่รู้ตัวแต่เสือกภูมิใจ อย่างที่ชอบแซวกันว่า คนไทยภูมิใจในความเป็นทาส เรายังมีชีวิตอยู่กับโฆษณาชวนเชื่อว่า ความเป็นทาสของเรานั้นคือคุณสมบัติที่เริ่ดที่สุด คือสิ่งที่ทำให้เราไม่เหมือนใคร คือสิ่งที่ทำให้เราดีกว่าใคร เหนือกว่าใครในโลกหล้า

อีพวกที่ไม่เข้าใจความเป็นทาสคือพวกป่าเถื่อน อนารยะ

และถ้ามีคนต่างชาติ หรือฝรั่งผิวขาวโง่ๆ (ซึ่งมีจริงๆ) มาสมาทานอุดมการณ์นี้ของเรา (คล้ายๆ พวกฮิปปี้ที่หนีไปอยู่อินเดียแล้ว romanticized ภูมิปัญญาชาวบ้าน ศาสตร์ตะวันออกต่างๆ) เราก็จะรีบยกมาเป็นเคสตัวอย่างว่า เห็นไหม ฝรั่งเขายังมาชื่นชอบวิถีไทยๆ ของเราเลย แล้วทำไมคนไทยต้องอยากไปเดินตามก้นฝรั่งด้วย

ส่วนคนไทยที่ได้ไปอยู่ ไปเรียน หรือทำงานต่างประเทศ จำนวนหนึ่งก็พกเอากะลาใบเล็กๆ ของตนเองไปด้วย แล้วก็เที่ยวไปรู้น้อยพลอยรำคาญใส่คนอื่น ไปคุยโม้โอ้อวด ทับถมว่า ชาติอื่นไม่มีอารยะบ้าง ไม่มีศาสนาบ้าง ไม่มีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ยาวนานบ้าง ไม่มีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์อย่างที่เรามีบ้าง

ผลโดยรวมคือคนไทยที่ผลผลิตของระบบการศึกษาแบบนี้ โดยเฉพาะคนในรุ่นเบเบี้บูมเมอร์ที่ความสำเร็จในหน้าที่ การงานของพวกเขาอยู่ในระบบอุปถัมภ์ของระบบรัฐราชการอาณานิคมเกือบเต็มร้อย และอยู่ในยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต การเรียนรู้ของพวกเขาแทบจะผ่านโฆษณาชวนเชื่อร้อยละร้อย

ส่วนเจน x ก็อาการหนักไปอีกแบบ เพราะด้วยระบบการศึกษาแบบกะลาไทยๆ ที่คนเหล่านี้ถูกหล่อหลอมมาให้ยึดติดกับชื่อเสียงของโรงเรียน มหาวิทยาลัยที่ตัวเองจบมา ผ่านระบบรับน้องโซตัสในมหาวิทยาลัย ความเหลื่อมล้ำของโครงการการปกครองแบบรัฐอาณานิคม ทำให้มีกลุมชนชั้นกลางที่หลุดไปเป็น “ขี้ข้า” ของโครงสร้างอาณานิคม

ซึ่งคนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “ชนชั้นนำ” คอนเน็กต์กันผ่านสมาคมศิษย์เก่า รุ่นพี่ รุ่นน้อง การอุปถัมภ์กันเข้าสู่ระบบราชการ การทำงานบริษัทเอกชน รัฐวิสาหกิจ ต่อกันเป็นทอดๆ

และมาเจอกับยุคฟองสบู่เศรษฐกิจกับรัฐบาลประชาธิปไตยเต็มใบในช่วงสั้นๆ คนเหล่านี้จำนวนหนึ่ง นอกจากรู้น้อยพลอยรำคาญแล้ว ยังหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบานทางการเมือง กลายเป็นพวกเกลียดการคอร์รัปชั่น การโกงกินของนักการเมือง ความโง่เขลาของคนชนบท

และกลายเป็นผู้สนับสนุนการทำรัฐประหารของไทยในกาลต่อมา

ลักษณะอันโดดเด่นของคนเหล่านี้คือ ด้วยความที่เป็นขี้ข้าระดับท็อป และมองว่าตนเองเป็น “ชนชั้นนำ” ด้วยการที่สังกัดในกลุ่มผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี

ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจากโครงสร้างสังคมกึ่งศักดินากึ่งเมืองขึ้นกึ่งระบบอุปถัมภ์นายว่าขี้ข้าพลอย

คนเหล่านี้จึงไม่พยายามจะ “รู้จักโลก” และคิดว่า ความรู้ที่ตนเองมีอยู่นั้นคือ สุดยอดของความรู้ ความถูกต้อง

คนเหล่านี้เสพ “สื่อ” หรืออ่านหนังสือที่ถูกเขียน ถูกปรุงมาแล้วโดยนักเขียน นักวิชาการที่ก็เป็นคนอีหรอบเดียวกัน

แน่นอนว่า ความรู้เหล่านี้ถูกคัดกรองมาให้ถูกจริตคนไทยที่เชื่อจริงจังว่า ชาติไทยเรานี้ดีกว่าใครในโลก ศาสนาพุทธแบบไทยดีที่สุด อาหารไทยดีที่สุด ภูมิปัญญาไทยดีที่สุด พระพุทธเจ้าของเรานี้ขนาดไอน์สไตน์ยังต้องยอมแพ้ หนังสือแนวๆ นี้จะได้ใจคนไทยมากเป็นพิเศษ

และคนรู้น้อยพลอยรำคาญเหล่านี้เมื่อได้เป็นใหญ่เป็นโต ก็จะไม่มีใครขัดใจ มีแต่คนยกหางให้ท้าย

เพราะการยกหางให้ท้ายจะนำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

เอกลักษณ์ของไทยอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนรู้น้อยพลอยรำคาญ แต่มากด้วยอำนาจ เช่น วันดีคืนดีได้เป็นใหญ่ในแผ่นดินขึ้นมาก็มักเข้าใจว่า เป็นใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยความรู้ ความสามารถ บารมี สติ และปัญญาที่เหนือกว่าคนอื่น

จากนั้นก็สำคัญตัวเองผิด คิดว่าหน้าที่ของผู้บริหารบ้านเมืองคือการออกไปสั่งไปสอนประชาชนที่ยังโง่และยากจนอยู่

ในฐานะที่รู้มากกว่า จึงต้องการสอน บอกความรู้ใหม่ๆ เช่น การเลี้ยงไก่เพื่อลดค่าใช้จ่าย การมีลูกแล้วฟันผุ เพราะลูกดึงแคลเซียมไปจากแม่ การเอาตัวรอดจากน้ำท่วมด้วยการสร้างบ้านในที่สูง หรือการจับปลามาขายหากนาถูกน้ำท่วม ค่าใช้จ่าย การปลูกหมามุ่ยส่งออก การออกแบบสินค้าตามความต้องการของตลาด ไม่ใช่ออกแบบตามใจฉัน

หลายครั้งก็มองว่า การไปพบปะประชาชนคือการไปหยอกล้อ พูดจาขำขัน เพื่อแสดงความเป็นกันเอง เมื่อถูกวิจารณ์ก็ไม่เข้าใจว่าทำอะไรผิด อุตส่าห์ลดตัวไปหยอกล้อเบอร์นี้ พวกเธอต้องปลื้มฉันสิ

จนป่านนี้คนรู้น้อยพลอยรำคาญแต่มากด้วยอำนาจและแวดล้อมด้วยผู้คนที่มุ่งประจบสอพลอก็คงไม่รู้ว่าโลกภายนอกนั้นเป็นอย่างไร และพฤติกรรมของตนเองนั้นน่าขันขนาดไหนในสายตาชาวโลก

ส่วนสังคมไทยโดยรวมนั้นทุกองคาพยพของฝ่ายผู้ถือครองอำนาจอยู่ก็ต้องทำทุกวิถีทางที่จะธำรงไว้ซึ่งความโง่เขลานี้สืบไป เพื่อผดุงไว้ซึ่งความชอบธรรมของอำนาจที่ไม่เป็นธรรมนี้สืบไป