‘โนรา’ ภาคใต้ ได้จากภาคกลาง ต้นทางไม่ใช่นาฏศิลป์อินเดีย | สุจิตต์ วงษ์เทศ

โนราปัจจุบันเป็นการแสดงอย่างหนึ่งทางภาคใต้ ที่รับไปจากละครชาวบ้านของภาคกลางเรื่องนางมโนห์รา สมัยอยุธยา (“โนรา” เป็นคำกร่อนจาก “มโนห์รา” ชื่อนางเอกละครเรื่องพระสุธน นางมโนห์รา) มีความเป็นมาสรุปอย่างกว้างๆ ดังนี้

1.ละครชาวบ้านเป็นประเภท “ชายจริง หญิงแท้” เล่นปนกันเป็นสามัญ มีกำเนิดและพัฒนาการจากการละเล่นในพิธีกรรมเลี้ยงผี, เข้าทรง, แก้บนทางศาสนาผีเมื่อหลายพันปีมาแล้ว เพื่อวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์ให้ชุมชนมั่งคั่งด้วยพืชพันธุ์ว่านยาข้าวปลาอาหาร และกำจัดโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

การละเล่นในพิธีกรรม ได้แก่ เต้นฟ้อนยืด-ยุบเคลื่อนไหวต่อเนื่องด้วยลีลาเนิบช้า พบหลักฐานเก่าสุดเป็นลายสลักบนภาชนะสำริด นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมร่วมซึ่งพบทั่วไปในโลกหลายพันปีมาแล้ว ได้แก่ สวมหน้ากาก สัญลักษณ์เข้าทรง (พบภาพเขียนหน้ากากบนเพิงผาในไทย) และสวมเล็บปลอมแสดงพลังอำนาจเหนือธรรมชาติ (ยังพบทั่วไปในกลุ่มเกาะต่างๆ)

ศาสนาผีเกี่ยวข้องความเชื่อเรื่องขวัญ ซึ่งมีในคน, พืช, สัตว์, สิ่งของ, อาคารสถานที่ (“ขวัญ” ทางศาสนาผีไม่ใช่ “วิญญาณ” ของศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย ความเชื่อแตกต่างอย่างสิ้นเชิง) ส่วนเข้าทรงเป็นพิธีเชิญผีฟ้า คือผีบรรพชนของคนในตระกูลภาษาไท-ไต (ต้นตอภาษาไทย) แต่คนบางกลุ่มเรียกผีแถน (“แถน” หมายถึง ฟ้า)

2. ราชสำนักอยุธยารับการละเล่นละครชาวบ้านไปพัฒนาเป็นละครหลวง (หรือละครใน) คนเล่นเป็นเจ้าต้องมีเครื่องสวมศีรษะเรียกเทริด แต่ไม่สวมเสื้อ

จากนั้นรับการร่ายรำศักดิ์สิทธิ์จากอินเดีย ใช้ร่ายรำในพิธีกรรม (เช่น ไหว้ครูและครอบ) และประกอบการละเล่นเป็น “ท่าตาย” ไม่เป็นท่าหลักในการรำเล่นเป็นเรื่อง พระรถ นางเมรี และพระสุธน นางมโนห์รา

พระรถ นางเมรี เป็นภาคต้นของนิทานบรรพชนลาวและกำมุ (ขมุ) ส่วนภาคปลายคือ พระสุธน นางมโนห์รา แพร่หลายบริเวณลุ่มน้ำโขง แล้วแผ่ขยายตามเส้นทางการค้าดินแดนภายในลงลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อเล่นละครชาวบ้านแล้วถูกพัฒนาเป็นละครหลวง จึงเป็นที่นิยมอย่างยิ่งทั้งในราชสำนักและในหมู่ประชาชนชาวเมืองสมัยอยุธยา

ละครยอดนิยมสมัยกรุงเก่า มีคนดูมากและเล่นต่อเนื่องยาวนานคือเรื่องนางมโนห์รา (ต้นตอชื่อ “โนรา”) มีบทละครแต่งเป็นกลอนรุ่นเก่าสมัยอยุธยาเขียนบนสมุดข่อย มีนางมโนห์ราเดินเรื่องหลักพร้อมตัวละครแวดล้อมคับคั่ง โดยเน้นความสนุกสนานหัวหกก้นขวิด และไม่ให้ความสำคัญการร่ายรำ (แต่การแสดงโนราทุกวันนี้ให้ความสำคัญการร่ายรำ โดยไม่เล่นเป็นที่สนุกสนานตามบทละครเรื่องนางมโนห์รา)

[พระสุธน นางมโนห์รา เป็นคำบอกเล่าเก่าแก่ของคนหลากหลายชาติพันธุ์ลุ่มน้ำโขง ต่อมาปราชญ์นักบวชล้านนา-เชียงใหม่ ยกไปแต่งเป็นภาษาบาลีเลียนแบบชาดกจากอินเดีย (จึงเรียก “ชาดกนอกนิบาต” หมายถึง ไม่ใช่ชาดกแท้จริงจากอินเดีย) ส่วนล้านนา-เชียงใหม่ล้วนอยู่ในวัฒนธรรมลาว เช่นเดียวกับล้านช้าง-หลวงพระบาง เพราะมีบรรพชนในตำนานเดียวกันจากขุนบรมเมืองแถน]

 

3. ละครยอดนิยมเรื่องพระสุธน นางมโนห์รา บรรดาประชาชนสมัยอยุธยารับรู้ทั่วไปในชื่อ “นางมโนห์รา” แพร่หลายผ่านเมืองเพชรบุรีลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช มีความทรงจำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่าขุนศรัทธาเป็นตัวละครของพระเทพสิงหร ซึ่งเป็นบุตรของนางศรีคงคาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาขุนศรัทธาเอาละครเรื่องนางมโนห์ราไปหัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช แล้วกลายเป็นต้นแบบ “โนรา” สืบมา จากนั้นชื่อนางศรีคงคา, พระเทพสิงหร, ขุนศรัทธา ได้รับยกย่องเป็นครูโนรา

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่าโนราเป็นละครชาวบ้านอยุธยาซึ่งแพร่หลายลงไปเล่นที่เมืองนครศรีธรรมราช ดูจากเครื่องแต่งตัวเป็นพยานสำคัญว่าเป็นของเกิดแบบอย่างจากราชธานีแล้วแพร่หลายลงไป ได้แก่ นุ่งสนับเพลาเชิงกรอมถึงข้อเท้า นุ่งผ้าหยักรั้งจีบโจงไว้หางหงส์ สวมเครื่องอาภรณ์กับตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ และศีรษะสวมเทริดเป็นเครื่องแบบต้นแต่งตัวท้าวพระยามาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เหมือนรูปภาพครั้งกรุงเก่าซึ่งมีรูปเทวดาจำหลักบนซุ้มพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ในพิพิธภัณฑ์อยุธยา และรูปเทวดาที่เขียนไว้หลังบานประตูพระอุโบสถวัดใหญ่เมืองเพชรบุรี

(สรุปจากหนังสือ ละครฟ้อนรำ พระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2546 หน้า 224-225)

 

4. หลังกรุงแตก พ.ศ.2310 สังคม-วัฒนธรรมและการเมืองไม่เหมือนเดิม กรุงรัตนโกสินทร์ปรับเปลี่ยนการละครโดยให้ “ละครใน” ยืนเครื่องใส่ชฎา, นุ่งผ้า, สวมเสื้อ เล่นเรื่องต่างๆ ของละครชาวบ้านเพื่อความสนุกสนาน ได้แก่ ไกรทอง, สังข์ทอง เป็นต้น แล้วเรียก “ละครนอก” (บางทีระบุว่าเล่นด้วยผู้ชายล้วน ซึ่งน่าสงสัย) กระตุ้นขุนนางมีคณะละครแบบนี้บ้าง รับจ้างเล่นแก้บนในชุมชนทั่วไป

แต่โนราภาคใต้ไม่ทำตามการปรับเปลี่ยนละครของกรุงเทพฯ จึงสวมเทริดเหมือนที่ทำมาแต่เดิมครั้งกรุงศรีอยุธยา

 

5. โนราภาคใต้ต่อมาปรับเปลี่ยนแบบแผนการแสดง ได้แก่ (1.) เน้นร่ายรำเป็นหลัก แต่ไม่เล่นดำเนินเรื่องเป็นละครเต็มเรื่องนางมโนห์รา (2.) เครื่องแต่งตัวให้ความสำคัญการประดับประดาด้วยลูกปัดหลากสี (3.) การร่ายรำผสมผสานจากภายนอก เช่น จากอินเดียใต้ ด้วยลีลาพิเศษพิสดารลึกล้ำโลดโผนเพื่อดึงดูดความสนใจจากคนดู

เทริด

เทริดเป็นเครื่องสวมศีรษะของท้าวพระยาในราชสํานักอยุธยา มีต้นเค้าแรกสุดเป็นกะบังหน้าในประติมากรรมแบบเขมรตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ.1400

ความสําคัญของเทริดในภาคกลางยังเห็นได้จากต้องมีเทริดตั้งบูชาบนแท่นเชิญศีรษะศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ในพิธีไหว้ครูและครอบโขนละคร

ท่ารำ

ท่ารำหลักของโนรา คือ ฟ้อนยืด-ยุบ เนิบช้า ซึ่งมีพัฒนาการสืบเนื่องจากฟ้อนดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว เป็นวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ พบทั่วไปทั้งแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ (ในกลุ่มตระกูลชวา-มลายู) หลังจากนั้นรับท่ารำศักดิ์สิทธิ์จากอินเดียมาผสมกลมกลืนด้วยการปรับเข้ากับท่ารำหลัก (คือฟ้อนยืด-ยุบ เนิบช้า) ส่วนบางท่ารำจากอินเดียทำเป็น “ท่าตาย” ไม่ใช้ทั่วไป แต่เลือกใช้รำโอกาสพิเศษ (เช่น ไหว้ครู)

หลักฐานเก่าสุดอยู่ในคำไหว้ครู (โนราชาตรี) ที่ตกทอดจากกรุงเก่า มีท่ารำ 12 ท่า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกไว้ในพระนิพนธ์ 2 เล่ม ได้แก่ ตำนานเรื่องละครอิเหนา (พ.ศ.2464) และ ตำราฟ้อนรำ (ประกอบลายเส้นและภาพถ่าย พ.ศ.2466) มีรวมพิมพ์ในเล่มเดียวกันชื่อ ละครฟ้อนรำ (สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2546)

นาฏศิลป์อินเดียไม่มีอิทธิพลเหนือท่ารำโนราชาตรี เพราะนาฏศิลป์อินเดียโดยมากมีลีลาเคลื่อนไหวรวดเร็วรุนแรงเร่าร้อน (เช่น ท่ารำศิวนาฏราช) ดังนั้น ที่ว่าท่ารำโนรามีต้นตอจาก “กถะกลิ” ของอินเดียใต้ จึงไม่จริง

โนรา 12 เรื่อง

โนราดั้งเดิมเล่นดำเนินเรื่องตามประเพณีละครชาวบ้านสมัยก่อน แต่มักคัดเลือกไว้ 12 เรื่อง ได้แก่ (1.) พระสุธน นางมโนห์รา (2.) พระรถ นางเมรี (3.) ลักษณวงศ์ (4.) โคบุตร (5.) ดาราวงศ์ (6.) พระอภัยมณี (7.) สังข์ทอง (8.) จันทโครพ (9.) สินราช (10.) สังข์ศิลป์ชัย (11.) ยอพระกลิ่น (12.) ไกรทอง

การแสดงมี 2 แบบ ได้แก่ (1.) เลือกแสดงเรื่องใดเรื่องหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ หรือ (2.) แสดงย่ออย่างรวบรัดทั้ง 12 เรื่อง จึงเรียก “จับบทสิบสอง” โดยแต่ละเรื่องร้องกลอน 1 บท (มี 4 วรรค) รวม 12 บท เท่านั้น

โนราทุกวันนี้ปรับเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม จึงไม่ควรด่วนสรุปว่าโนราในอดีตมีทุกอย่างเหมือนโนราปัจจุบัน เพราะไม่เป็นเช่นนั้น

เพลงดนตรี

เพลงดนตรีมีต้นตอจากวัฒนธรรมร่วมอุษาคเนย์ประกอบด้วยเครื่องมือหลัก 3 อย่าง ได้แก่ ฆ้อง, กลอง, ปี่ (เครื่องมืออื่นๆ เพิ่มเข้ามาสมัยหลัง)

“ปี่โนรา” ในภาคกลางเรียก “ปี่นอก” แพร่หลายเก่าสุดบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาและโตนเลสาบ กัมพูชา (เชื่อกันว่ามีต้นตอจากแคนที่มีเต้าแคน เพราะปี่นอกมีส่วนที่ป่องตรงกลางเหมือนเต้าแคน)

ทำนองเพลงโนราได้จากละครที่แพร่หลายสมัยอยุธยา, ธนบุรี, รัตนโกสินทร์ ได้แก่ เพลงช้า (โนราเรียกเพลงโทนละครรำซัด), เพลงเร็ว, เพลงเสมอ, เพลงเชิด, เพลงโอด, เพลงลงสรง, เพลงโลม

“โนราชาตรี” ผมเคยเขียนนานแล้วอยู่ในหนังสือ “ร้องรำทำเพลง” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2532) หลังจากนั้นพบข้อมูลเพิ่มหลายเรื่องและความคิดปรับเปลี่ยนหลายอย่างอยู่ในหนังสือ “โขน, ละคร, ลิเก, หมอลำ, เพลงลูกทุ่ง มาจากไหน?” (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2563 โดยสำนักพิมพ์นาตาแฮก หนา 440 หน้า ราคา 400 บาท สั่งซื้อ inbox ของ facebook : ituibooks หรือโทร. 08 8919 4516)

เครื่องแต่งตัวโนราสวมเทริดและอาภรณ์กับ “ตัวเปล่า” ไม่ใส่เสื้อและไม่มีลูกปัดหลากสี ซึ่งเห็นได้จากโนราสมัย ร.5 เล่นในงานสมโภชพระบรมธาตุ ที่วัดพระบรมธาตุ จ.นครศรีธรรมราช (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)