จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : มาลัยรัก / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ขอบคุณภาพจาก pinterest โดย Paramet Sangkakun

 

 

มาลัยรัก

 

ดอกไม้กับสตรีเป็นของคู่กัน วรรณคดีหลายเรื่องบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับสตรีนำดอกไม้หลายชนิดมากรองร้อยเป็นมาลัย อาทิ บทละครเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงนางจินดาส่าหรี เมืองสิงหัดส่าหรีว่า

“พระบุตรีเลือกบุหงาสารพัน                     ชวนกำนัลร้อยกรองสุมามาลย์”

 

ไม่ต่างจากตอนนางเกนหลงหนึ่งหรัดชมสวน

 

“จึงเสด็จหยุดยั้งนั่งเล่น                           ในตำหนักที่นั่งเย็นเกษมศานต์

ร้อยกรองบุปผาสุมามาลย์                       กับพี่เลี้ยงนงคราญกำนัล”

 

แม้นางบุษบาขณะครองเพศเป็นแอหนัง หรือนางชี ชื่อ ‘ติหลาอรสา’ ก็ยังร้อยดอกไม้อย่างเพลิดเพลิน

 

“แล้วชวนสองกัลยามานั่ง                        ที่ร่มไม้ใกล้ฝั่งสระศรี

ร้อยพวงบุปผามาลี                               กับพี่เลี้ยงนารีสำราญ”

 

ดอกไม้เหล่านี้ล้วนมีกลิ่นหอม เช่น มะลิ พิกุล พุทธชาด จำปี จำปา ลำดวน ประยงค์ กุหลาบ ฯลฯ

 

กาพย์ห่อโคลง “นิราศธารโศก” พรรณนาว่า

 

มาลุดีดอกน้อยน้อย                             คิดเจ้าร้อยพวงมาไลย

เวลามานอนใน                                   สวมมือพี่ที่ไสยา ฯ

มาลุดีกลกลิ่นเกลี้ยง                             เอาใจ

เจ้ายอมร้อยมาไลย                               แต่งตั้ง

เพลงเข้านอนใน                                  ไสยาสน์

สวมข้อมือพี่ทั้ง                                   คู่ให้หอมรวย ฯ”

 

ตอนแรกที่เห็นคำว่า ‘มาลุดี’ ก็ไม่แน่ใจว่าคือ ‘มะลุลี’ หรือไม่ เพราะทั้งพจนานุกรมและสารานุกรมมิได้เอ่ยถึง แต่คำนี้มีในเรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” เป็นระยะๆ

 

“การเกศและเกดแก้ว                           มลิมาลุดีแซม

บุนนาคเนืองแนม                               มลิวัลย์และวรรณวาร”

“จิกแจงทรแมงจันทน์                          และสกรรณิกากร

การเกศกำจรสมร                              สุรมาลุดีศรี”

 

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนได้ความกระจ่างจาก ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ อธิบายว่า

“มะลุลี มาลุดี มาจาก มาลตี ซึ่งแปลว่า มะลิ”

สอดคล้องกับความหมายของ ‘มะลุลี’ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

“มะลิซ่อม – ชื่อไม้พุ่มรอเลื้อยชนิด Jasminum multiflorum ( Burm.f.) Andrews ในวงศ์ Oleaceae ในวรรณคดีเรียก มะลุลี”

ข้อความว่า ‘มาลุดีดวงน้อยน้อย คิดเจ้าร้อยพวงมาไลย’ จึงให้ภาพของพวงมาลัยมาลุดี หรือพวงมาลัยดอกมะลิสวมข้อมือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ยามเข้าบรรทม ดังที่บรรยายว่า

‘เพลาเข้านอนใน ไสยาสน์

สวมข้อมือพี่ทั้ง คู่ให้หอมรวย”

 

ในวรรณคดีเรื่องเดียวกันยังกล่าวถึงมาลัยดอกพุทธชาดสีขาวอีกด้วย

พุทธชาตดวงน้อยน้อย                        คิดเจ้าร้อยพวงมาไลย”

 

ดอกไม้ชนิดนี้แม้มีขนาดเล็กแต่กลิ่นหอมชื่นใจ ดังข้อความที่ว่า

 

พุทธชาตดวงน้อยกลิ่น                         เปรมใจ

เจ้าช่างกรองมาไลย                              เลิศแล้ว”

 

นอกจากนี้ ยังร้อยทั้งดอกพุทธชาดและมะลิไว้ด้วยกัน ดังจะเห็นได้จาก “กาพย์เห่เรือ”-เห่ชมสวน พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

พุดทชาดแกมมลิ                              น้องช่างริหาไหนเทียม

ร้อยกรองต้องจิตต์เรียม                        วางให้พี่ข้างที่นอน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

นอกจากดอกมะลิและพุทธชาด ยังมีลำดวน ดอกไม้ที่มีเอกลักษณ์และวิธีการร้อยโดยเฉพาะ ดังที่กาพย์ห่อโคลง “นิราศธารโศก” บรรยายว่า

 

ลำดวนเจ้าเคยร้อย                           กรองเปนสร้อยลำดวนถวาย

เรียมชมดมสบาย                              พี่เอาสร้อยห้อยคอนาง ฯ

ลำดวนปลิดกิ่งก้าน                            สนสาย

กรองสร้อยลำดวนถวาย                      ค่ำเช้า

ชูชมดมกลิ่นสบาย                             ใจพี่

เอาสร้อยห้อยคอเจ้า                          แนบหน้าชมโฉม ฯ”

 

อาจารย์ศุภร บุนนาค เล่าถึง ‘ดอกลำดวน’ ที่นำมา ‘ร้อยกรองเปนสร้อยลำดวน’ ไว้โดยละเอียดในหนังสือสมบัติกวีชุด “อิเหนา” และ “สุนทรียภาพจากเจ้าฟ้ากุ้ง” ดังนี้

“การฝีมือช่างดอกไม้ของไทยควรยกเป็นหนึ่งในโลกนี้…ดอกไม้ไทยพื้นเมืองนั้นคนไทยโบราณเขามีวิธีประดิษฐ์ตามลักษณะของดอกไม้นั้น เช่น ดอกลำดวนรูปร่างกลมเหมือนหม้อตาลใบเล็กๆ มีกลีบหนาแข็งสี่กลีบ มีปุ่มกลางกลมเล็กนิดหนึ่ง ใต้ขั้วดอกมีรอยคอดหยัก คนโบราณก็มีวิธีกรองดอกลำดวน…เขาใช้ ‘กรอง’ จริงๆ คือไม่ได้ใช้เข็มร้อย ใช้ด้ายสองเส้นมัดไขว้กันไปมาใต้กลีบดอก เพราะดอกลำดวนตรงที่กลีบกับขั้วดอกต่อกันนั้นมีรอยคอด ใช้ด้ายมัดตรงนี้แหละ มัดแล้วก็ผูกเชือกทีละดอก กรองเป็นมาลัยสวมข้อมือก็ได้ เป็นเกี้ยวสวมตัวจุกเด็กก็ได้”

หรืออาจะใช้เชือกก็ได้เช่นกัน

“โดยใช้เส้นเชือกสองเส้นขึงขนานกัน แล้วสอดดอกลำดวนดอกหนึ่งลงไปโอบเส้นเชือกมัดใต้ดอกแล้วสอดดอกต่อๆ ไปตามวิธีนี้ เมื่อสุดเส้นเชือกก็จะได้สายสร้อยดอกลำดวนเรียงดอกกันอย่างงามหอมฟุ้ง…เป็นเรื่องของการมีเวลาเหลือมาก ใช้เวลาประดิษฐ์ของพื้นบ้านให้มีค่าด้วยฝีมือ…พวกช่างทองเห็นลักษณะงามก็จำลองไปทำด้วยเงินทองเป็นสร้อยดอกลำดวน”

โดยเฉพาะ ‘จำปา’ นั้นนำมาร้อยเป็น ‘สร้อยสน’ ดังที่บรรยายว่า

จำปาป่าบานบน                          คิดสร้อยสนเจ้าเคยกรอง

นอนแนบแอบอิงสอง                      เจ้าถวายพี่ที่บรรทม

จำปาบานชื่นช้อย                          เนืองนอง

คนึงสร้อยสนนางกรอง                    เกี่ยวแหน้น

นอนแนบแอบองค์สอง                    ไสเยศ

ถวายพี่วางบนแถ้น                        แว่นฟ้าบรรทม ฯ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

รายละเอียดเกี่ยวกับ ‘สร้อยสนดอกจำปา’ มีอยู่ใน “สมบัติกวี ชุด อิเหนา” และ “สุนทรียภาพจากเจ้าฟ้ากุ้ง”

“ดอกจำปานี้ เพราะเหตุที่ลักษณะกลีบมีรูปร่างยาวอ่อนและปลายกลีบแหลม จึงใช้ประโยชน์ในการร้อยกรองเป็นเครื่องห้อยประดับประดาได้หลายชนิดสมกับทรงของดอกไม้เป็นอุบะ หรือเป็นสร้อยสนซึ่งต้องการคนมือเบาใจเย็น มีฝีมือประณีตบรรจงเป็นอย่างเอก เพราะต้องปลิดกลีบจำปาจากขั้วดอกเสียก่อน แล้วค่อยแหวะกลางกลีบแต่ละกลีบเป็นช่อง พับอีกกลีบหนึ่งค่อยสอดเข้ากลางช่องที่แหวะไว้นั้น สรวมกันทีละกลีบเป็นวงกลม ชั้นที่สูงจะได้ช่องที่จะสอดกลีบเพิ่มขึ้นเป็นสองช่อง เพราะเมื่อสอดเข้าไปแล้ว ชายที่สอดมีสองชาย หรือค่อยลดกลีบลงถ้าต้องการให้เรียวเข้า ถ้าต้องการให้กลมเสมอกันก็ส่งดอกไม้เท่ากันตลอดเส้น คนมือหนักใจร้อนทำไม่ได้ กลีบจำปาช้ำดำหมด แม้แต่เคยหัดทำแล้ว ถ้าทิ้งไปนานๆ มาทำใหม่ก็ต้องตั้งต้นใหม่กันนาน เป็นวิธีช่างดอกไม้โบราณ”

จะเห็นได้ว่า การกรองสร้อยสนดอกจำปานั้นไม่ง่ายเลย ต้องมีหลายอย่างประกอบกัน ดังที่อาจารย์ศุภรตั้งข้อสังเกตว่า

“มีเหลือน้อยคนที่รู้จักและทำได้แล้วทุกวันนี้ คือ วิธีสอดกลีบเข้าในช่องที่แหวะไว้ตามกลีบ ยิ่งมากกลีบออกไป รัศมีของวงกว้างก็ยิ่งกว้างออกทีละชั้น สวยและหอมอย่างแปลก เสียแต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยจะมีใครทำกัน”

น่าเสียดาย