โดดเดี่ยวเหยี่ยวพญา : ภาพจำการทูตกัมพูชา/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

โดดเดี่ยวเหยี่ยวพญา

: ภาพจำการทูตกัมพูชา

 

มันคือจุดอ่อนหรือจุดแข็งกันแน่ สำหรับการทูตแบบอเมริกันของที่นี่ นับแต่ปี ’70 เป็นต้นมา การทูตวอชิงตัน ดูจะมีแต่ตั้งรับให้ผู้นำกัมพูชา

เฉพาะเอกอัครราชทูต แพทริก เมอร์ฟี่ ทูตปัจจุบันนั้น อดีตอุปทูตประจำประเทศไทย ต่างจากทูตก่อนหน้าที่เป็นสายพิราบและทำงานทางวัฒนธรรมแพ็กคู่กับภรรยา แต่เชื่อไหม ทูตเมอร์ฟี่กลับถูกกดสถานะยิ่งกว่า ตั้งแต่เริ่มมาจนเกือบจะครบวาระปีนี้ เขาเพิ่งได้พบกับนายกรัฐมนตรีเขมรอย่างเป็นทางการไปครั้งเดียวกระมัง? และด้วยท่าทีอันเย็นชา

บุพบทการทูตแบบฮุนเซนนั้นร้ายแรงและยิ่งกว่า

ก่อนหน้า ฉันเคยสงสัยว่า ทำไมเขาจึงขอรับบริจาคแอสตร้าเซนเนก้าจากสหรัฐอเมริกา? หือ? จริงๆ สหรัฐเป็นเจ้าพ่อผลิตวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นที่ต้องการของทั่วโลก แต่ผู้นำเขมรจงใจขอแอสตร้าเซนเนก้าซึ่งเป็นของอังกฤษเพื่อด้อยค่าแบรนด์วัคซีนสหรัฐเพียงเพื่อเอาใจประเทศจีนหรือไม่

เปล่า อย่าคิดว่าเขาเอ่ยชื่อวัคซีนผิด! สมเด็จฮุน เซน น่ะ เหนือชั้นกว่าผู้นำเพื่อนบ้านทุกคน เขาไม่เคยอาศัยทีมเขียนสคริปต์ และ รมต.ต่างประเทศทุกวันนี้ มีไว้พอเป็นกระบอกเสียงตอนที่ตนปิดไมค์

ด้วยเหตุนี้ อเมริกาจึงส่ง “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” ที่ผลิตจากเชื้อไวรัส (viral vector) ไม่ใช่วิทยาการใหม่มาให้ แต่มันน่าเจ็บใจ ที่ของบริจาคราคาแพงเหล่านี้ กลับเป็นสินค้าผีที่ทะลักขายตามชายแดน ทิ่มแทงใจผู้ให้ และสมเด็จฮุน เซน ก็ส่ง พล.อ.เตีย บันห์ ไปรับวัคซีนแทนกระทรวงสาธารณสุขด้วย

และเป็นครั้งเดียวที่สองฝ่ายจะเจรจาเรื่องฐานทัพเรือที่เมืองเรียม

เรื่องซับซ้อนแบบนี้ จะสายเหยี่ยวหรือพิราบ แต่หากกระดูกการทูตยังอ่อน ก็มีแต่จะรองช้ำ

ที่อ่าวกำโปดอาจไม่หลงเหลือให้จดจำสำหรับฐานทัพเรืออเมริกัน แต่ด้านวรรณกรรมแล้ว นี่เป็นหลักฐานใหม่ระหว่างไทยก-เขมร, แอ๊กชั่นทูตแพทริก เมอร์ฟี่ หน้าเจดีย์ “ขุนช้าง-ขุนแผน” เครดิตภาพ @USAmbCambodia

สมัยเพิ่งรับตำแหน่งหมาดๆ ที่พนมเปญ ทูตแพทริก เมอร์ฟี่ มักออกมาจ๊อกกิ้งตอนเช้า และถ้าเป็นวันหยุดยาว กิจกรรมเอ็กซ์ตรีมในระยะหลัง คือปั่นจักรยาน วิ่งเทรลและเดินป่า แบบจัดเต็มโปรไฟล์

หนหนึ่ง เขาออนทัวร์พนมโบกอร์ที่วิวสวยจัด อากาศดี มองลงมาจากพนมจะเห็นทิวทัศน์อ่าวกำโปดและเมืองเรียมสุดสายตา แค่นี้ก็จินตนาการกันไปไกล

นักวิเคราะห์การเมืองกัมพูชาบางท่านพลันคิดว่า มันคือซีนถวิลหาอดีตของมรดกยุทธศาสตร์ทางทะเลที่อเมริกันทิ้งไว้ต่างหน้า และฝันไปว่ากัมพูชาจะรักษามันไว้ โดยไม่คิดว่าจะกล้าทุบทิ้งทำลายในวิทยสถานกองทัพเรือซึ่งตนเชื่อว่ามีคุณค่าพิเศษสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ฝรั่งเศสก็เคยคิดแบบนั้นสินะ ตอนทิ้งปราสาทโบกอร์ไปอย่างสุดแสนเสียดาย และทุกวันนี้ก็เป็นเพียงตึกใหม่บนซากเก่าที่เหนือจินตนาการ ก็อย่างนี้แหละ ที่วันเวลาช่างกลืนกินทุกอย่าง

แต่ทูตสหรัฐไม่ได้ใช้วันหยุดแค่พักผ่อน เขาเป็นนักผจญภัย ภายใน 24 ชั่วโมงของการพิชิตป่าชื้น พนมสูงและอากาศเย็น นี่คืออุทยานคีรีรมย์ซึ่งท้าทายแห่งเขตอุทยานที่ รมต.เขมรทั้งคณะไม่มีใครจะย่างกราย และอีกที่หนึ่งคือภาคตะวันตกจังหวัดมณฑลคีรีที่ซึ่งมีชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ และมีชายแดนติดเวียดนาม

ในประวัติศาสตร์ร่วมร้อยปี มีชนเชียดบางกลุ่มเชื่อกันว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกับกลุ่มที่อพยพเข้าไปในป่าลุ่มแม่น้ำโขง เป็นชนเชียดที่ครั้งหนึ่งเคยมีข้อพิพาทกับออกญาของกษัตริย์ ดังนี้ พอทูตเมอร์ฟี่เผยภาพดังกล่าว ฉันจึงทึ่งเขา

และไม่คิดว่านักการทูตสายเหยี่ยวจะเปลี่ยนแนวเป็นนักรบทางวัฒนธรรม

ปากอ่าวกำโปด : มีอารมณ์ความโดดเดี่ยว

นัยที ต้องขอบคุณสมเด็จฮุน เซน นักการทูตเก่าเจ้าของฉายา “จิ้งจอกสองหน้า” ที่มักสะกดโชคชะตาฝ่ายตรงข้ามอย่างบ้าคลั่ง ไม่เว้นล่าสุดที่วอชิงตันประกาศห้ามค้าอาวุธกับเขมรเท่านั้น ฮุน เซน ก็ประกาศย้อนเกล็ดให้กองทัพตรวจสอบอาวุธเก่าทั้งหมดของอเมริกัน จัดเก็บเข้าคลัง หรือไม่งั้นก็ทำลาย!

นี่คือช่วงเวลาแห่งการฉลอง 7 ทศวรรษแห่งความสัมพันธ์กัมพูชา-สหรัฐที่ยากต่อการเริ่มต้น และ มร.เมอร์ฟี่ คือ 1 ในบุคคลที่ต้องทำภารกิจนั้น มีแคมเปญมากมายที่น่าสนใจ ตั้งแต่ส่งคืนวัตถุโบราณ นิทรรศการวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จมากในสหรัฐ แต่ไม่ใช่ในกัมพูชา

แทบไม่มีการฉลองใดๆ ในกัมพูชาที่ผู้นำประเทศให้ความสนใจ ดูเหมือนความรากความสัมพันธ์นี้ช่างแห้งเหือดจนเกินกว่าจะเยียวยา

ช่างเป็นบทเรียนล้ำค่าที่มหาอำนาจประหนึ่งจะเรียนรู้ว่า ยุคแห่งความยิ่งใหญ่ของตนได้หมดลงแล้วในประเทศเล็กๆ แห่งนี้?

แต่ความพยายามอย่างสุดกำลังของเมอร์ฟี่ไม่ถึงกับล้มเหลวในภารกิจรองของวัฒนธรรม แต่นั่นไม่ใช่เรื่องหลักของวอชิงตัน

หลายปีมานี้ การถูกหักดิบผ่านตัวแทนผู้นำต่อภูมิภาคนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าและกัมพูชาคือแถวหน้าที่เล่า ความไม่สมในประโยชน์ในเรื่องนี้ที่จีนมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง? อย่างเห็นได้ในรูปธรรม ทั้งโครงการลงทุนเมกาโปรเจ็กต์ของเอกชนและภาครัฐที่ปักกิ่งทุ่มเงินสร้าง นับวันคือหมุดปักความมั่นคงของภูมิภาคที่เพนตากอนกังวล

ปฏิกิริยาล่าสุดของผู้นำเขมรหนนี้ ทำให้วอชิงตันฉุนขาดถึงกับมีข่าวเรี่ยราดว่าทูตแพทริก เมอร์ฟี่ จะเรียกตัวกลับประเทศก่อนวาระ

แต่นี่ไม่ใช่เตะหมูเข้าปากหมา แต่เป็นทฤษฎีทางการทูต และเอาเข้าใจริง การเรียกเบอร์หนึ่งกลับประเทศและปล่อยอุปทูตทำหน้าที่แทนนั้น เป็นแค่เทคนิคการทูตแบบอเมริกันที่จงใจแสดงออกต่อประเทศที่ขาดเอกภาพในระบอบประชาธิปไตย แต่ช่างไม่เคยได้ผล

และนับวันยิ่งมีแต่จะขาดทุนไปในทางเตะหมูเข้าปากเผด็จการ-รักษาอำนาจให้แก่รัฐท้องถิ่น

 

หลายปีมานี้ นักการทูตตะวันตกรวมทั้งสหรัฐ ที่มากัมพูชา พากันเป็นฝ่ายตั้งรับจัดกระบวนพล และทำกิจกรรมด้านซอฟต์พาวเวอร์อย่างมากมาย ขณะที่ตั้งแต่ทศวรรษ ’70 จุดบอดของความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนภายใต้หลูปเดิมๆ คือการทูตฉบับสหรัฐที่ยังคงรักษามาตรฐานเก่า ขณะที่ความทะเยอทะยานของผู้นำเขมรยุคใหม่ คือความสำเร็จในพริบตาจากโครงการร่วมทุนกับต่างชาติด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน

และโครงการ “วันเบล-วันโรด” ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนตอบโจทย์ทั้งหมดได้ นอกจากนี้ มันยังเอื้อต่อทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่มีรัฐบาลท้องถิ่นอยู่ฉากหลัง ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งเนื้อเดียวกันกับความมั่นคงของภูมิภาค ที่ “อินโด-แปซิฟิก” ของอเมริกันทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่วิสัยทางนโยบาย

และเมื่อมองย้อนกลับไป มันคือหน้ากระดานแห่งความล้มเหลว โดยเฉพาะมาตรการสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐไม่เคยลงดาบจริงจัง นั่นยิ่งทำให้ผู้นำกัมพูชามองข้ามความสำคัญ โดยเฉพาะท่าทีของการลดสถานะความสัมพันธ์กับสหรัฐทั้งในระดับนโยบาย ที่แม้แต่รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่ทูตอเมริกันเข้าพบ จะตกอยู่ในหมวดหวาดระแวงเหมือนยุคสงครามเย็น

ให้ข้อสังเกตว่า กัมพูชาไม่ได้ถนัดแต่ทำเหยี่ยวให้เป็นพิราบเท่านั้น แต่ยังทำให้ทูตอเมริกัน กลายเป็นเพียงตัวละครที่ไม่สลักสำคัญในสายตาของรัฐท้องถิ่น และบนเวทีที่ภาครัฐในการพบปะระหว่างนักการทูต

 

ปกติแคมโบเดียเป็นประเทศท้าทายอาชีพนักการทูตอเมริกัน ที่หมายมั่นจะทำภารกิจ “พนมเปญ-ฮาร์ดชิป” เพื่อแลกกับเงื่อนไขพิเศษที่ตนจะได้จากการรับราชการ

เมื่อเทียบกับโพสต์อย่างกรุงเทพฯ ที่ได้ชื่อว่าสะดวกสบายในแง่ของการทำงานและเป็นโพสต์ในฝันที่เอื้อต่อการทำงานเมื่อเปรียบเทียบกัน

ฉันไม่แน่ใจว่า ตอนนี้มันเปลี่ยนไปเช่นใดกัน หลายปีมานี้ แคมโบเดียเจริญขึ้นมากและพนมเปญก็น่าจะปลดล็อกสถานะ “ฮาร์ดชิป” ที่เคยถูกแขวนป้าย แต่มากกว่าสถานะประเทศสงครามเช่นในอดีต กัมพูชาวันนี้ ก็ยังเป็น “ฮาร์ดชิพโพสต์” ที่มาจากลักษณะอันพิเศษอันเกิดจากผู้นำที่ท้าทายของนักการทูตอเมริกัน

พวกเขาถูกส่งตัวมาที่นี่ เพียงเพื่อฝึกปรือวิชาชีพทางการทูต โดยมีสมเด็จฮุน เซน เป็นกรณีศึกษา

และเท่าที่ผ่านมา พวกเขาต่างพากันเลือดโชก