หลังเลนส์ในดงลึก : ‘บนฟ้ากว้าง’ / ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
นกยูงไทย - แม้ว่าจะตัวโต และมีประสาทในการระวังภัยดี แต่นกยูงก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อของเหยี่ยว

 

‘บนฟ้ากว้าง’

 

ตั้งแต่บ่ายโมง จนกระทั่งเกือบสามโมงเย็น เหยี่ยวต่างสีตัวหนึ่ง ต้องเผชิญหน้าอยู่กับนกยูงสาม-สี่ตัว ที่เข้ามาวอแวหลายครั้ง มันกางปีก พร้อมเตือนให้นกยูงรู้ว่า อย่าเข้ามาใกล้ บางครั้งมันกระโดด ใช้ขาแข็งแรงฟาด นกยูง ทำเพียงขยับหลบ ผลัดกันเข้ามาใกล้ คล้ายจะหยอกล้อ ชักชวนให้เล่น อยากรู้อยากเห็น

แต่ดูเหมือนเหยี่ยวต่างสีไม่อยู่ในอารมณ์จะเล่นสนุกด้วยเลย

ที่ใต้ตีน ติดกับเล็บแหลมของเหยี่ยวเป็นซากลูกเหี้ยตัวหนึ่ง ที่เหยี่ยวโฉบจับมาได้ ลูกเหี้ยตัวไม่โตนัก แต่ก็ใหญ่และมีน้ำหนักมากเกินกว่าเหยี่ยวจะบินไปได้ไกล

มันพยายามหาที่สงบๆ เพื่อกินอาหาร แต่ความสงบนี้ถูกทำลายลงด้วยความอยากรู้อยากเห็นของนกยูงพวกนี้

 

เหยี่ยวคือนักล่าที่มาจากเบื้องบนผู้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง พวกมันได้รับการออกแบบร่างกายและทักษะมาอย่างวิเศษ มีความคล่องแคล่วว่องไว ปากและเล็บแหลมคม สายตาดีเยี่ยม

ไม่ผิดนัก หากเปรียบพวกมันเป็น เสือบนอากาศ

การกินของพวกมันเป็นผลพลอยได้จากการทำงานเช่นกัน

เหยี่ยวหลายชนิดล่านก บางชนิดล่าสัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งสัตว์เล็กๆ ขณะอีกหลายชนิดเลือกและถนัดกับการล่าสัตว์น้ำ

เหนือทะเลสาบกว้าง เหยี่ยวนกออก, เหยี่ยวแดง, เหยี่ยวออสเปรย์ บินร่อนสายตา เสาะหาเหยื่อเบื้องล่าง เมื่อพบ การโฉบลงจับอย่างรวดเร็วจะเกิดขึ้น พอใกล้ถึงน้ำ มันจะเหวี่ยงขาทั้งสองข้างไปข้างหน้า เพื่อใช้ตีนซึ่งมีเล็บแหลมแข็งแรงขยุ้มเหยื่อ ขาและตีนแข็งแรงพอสำหรับรับแรงกระแทก แต่กระนั้นบางครั้ง มันก็จมหายไปทั้งตัว

นอกจากเล็บแหลมคม ใต้ฝ่าตีนของเหยี่ยวยังมีเงี่ยงเล็กๆ ช่วยให้จับปลาซึ่งต้องดิ้นรนสุดชีวิตให้มั่นคงตอนบินขึ้น เพื่อไปหาที่เหมาะๆ ฉีกเหยื่อกิน ในตอนนั้นหัวปลาจะถูกจับหันไปด้านหน้า ทั้งนี้ เพื่อลดแรงต้านจากกระแสลม

รายละเอียดเล็กๆ แบบนี้เป็นทักษะที่เหยี่ยวมี

งานของเหยี่ยวเหมือนกับนักล่าตัวอื่นๆ เป็นผู้ควบคุมปริมาณสัตว์ ทำหน้าที่เหมือนนักล่าทั่วไป

แต่วิถีชีวิตเหยี่ยวเป็นแบบเดียวกับเสือ

 

ส่วนใหญ่เหยี่ยวออกล่าเพียงลำพัง อาหารไม่จำเป็นต้องแบ่งปันผู้อื่น

วิธีการเลี้ยงดูลูกมีวิธีการต่างจากนกตัวอื่นๆ ขณะนกอื่นๆ เลี้ยงดูลูกอย่างทะนุถนอม เมื่อนำอาหารมาให้ มักคาบส่งให้ถึงปาก ป้อนให้ลูกๆ ทุกตัวอย่างเท่าเทียม บางชนิดอย่างพวกนกยางให้ลูกเอาหัวมุดเข้าไปล้วงอาหารจากในคอ

เหยี่ยวไม่ทำอย่างนั้น เมื่อพ่อหรือแม่นำอาหารมาให้ บินถึงรังก็โยนเหยื่อไว้บนรัง ลูกๆ ต้องแย่งกันกิน

ด้วยวิธีนี้แน่นอนว่าลูกตัวใดอ่อนแอแย่งอาหารไม่ทัน คงต้องผอมโซ เติบโตไม่ทัน อาจถึงตาย

คล้ายเป็นวิธีเลี้ยงลูกอย่างไม่รักเอาเสียเลย เป็นพ่อ-แม่ร้ายๆ

แต่นี่คล้ายเป็นความรักลูกมากๆ อีกวิธีหนึ่ง ฝึกฝนลูกให้เข้มแข็ง เพราะเมื่อเติบโต ภาระหน้าที่ งานของเหยี่ยวไม่ใช่ง่าย เป็นงานที่หนัก

เหยี่ยวที่เข้มแข็งและพร้อมจึงจะเอาชีวิตรอด และทำงานได้ผล

 

ก่อนหน้าที่โควิดจะมาเยือน และปรับเปลี่ยนความเป็นไปของวิถีบนโลก วิถีชีวิตปกติของผมคืออยู่ “ข้างนอก” ในป่าทึบ ทิวเขาสูง ลัดเลาะตามริมหน้าผา บนต้นไม้สูงลิบ

บางครั้งฝากร่างกายไว้กับเชือกเส้นเล็กๆ ขณะไต่ลงจากหน้าผาในความมืด

ผมรู้สึกได้ว่าด่านทดสอบคล้ายจะรกทึบสูงชันขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเดินไปได้ไกลแต่ละก้าวยิ่งช้าลง

หนทางในป่าใช่ว่าจะเดินลุยไปในที่ทางรกๆ ในป่ามีทาง ที่เรียกว่าด่าน ซึ่งเหล่าสัตว์ป่าสร้าง และใช้สัญจร

ผู้บุกเบิกทางคือช้าง สัตว์ป่าใช้และเดินทางตามฤดูกาล ไปตามแหล่งอาหาร ด้วยด่านเหล่านี้

ในความเป็นคน การเดินไปตามด่าน บางครั้งเป็นความสะดวก แต่ส่วนใหญ่จุดหมายที่จะไปไม่ใช่ด่านโล่งๆ นั้นหรอก มักจะต้องเลี้ยวไปใช้ด่านเล็กๆ หรือต้องขึ้นชันๆ

มีหลายด่าน ที่เมื่อเดินไปครึ่งทางก็รู้ว่าไม่ใช่ทางสู่จุดหมาย ต้องย้อนกลับ

มีบางด่านพาไปจนถึง แต่จุดหมายก็ไม่ได้มีสภาพอย่างที่คาดหวังเอาไว้

การปีนหน้าผาชัน พร้อมอุปกรณ์ในเป้ค่อนข้างยุ่งยาก แต่ตอนลงจะยุ่งยากกว่า เช่นเดียวกับปีนต้นไม้ด้วยอุปกรณ์ปีนความยุ่งยากก็อยู่ขณะเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อลงสู่พื้น

ชีวิตที่เวลาส่วนใหญ่เดินไปตามด่านของสัตว์ป่า

สอนผมว่า ผมไม่ได้บุกเบิก ไม่ได้พิชิตอะไร

ที่ทำคือ เดินตามสัตว์ป่า ที่ดูเหมือนว่าพวกมันจะเดินไปไกลแล้ว

 

ตอนที่เหยี่ยวต่างสีตัวนั้นนำเหยื่อที่ล่ามาได้มาถึง ผมมีโอกาสได้สบสายตากับมัน บรรยากาศรอบๆ อยู่ในความเงียบ

ผมนึกถึงวิถีที่เหยี่ยวตัวนี้เติบโต วิถีที่พ่อ-แม่ฝึกฝน

ลูกเหี้ยใต้อุ้งตีน บอกให้รู้ว่ามันเข้มแข็งและทำงานได้ผล

ในความเงียบผม สบตากับเหยี่ยว ก่อนนกยูง ผู้ซึ่งอยากรู้อยากเห็นกลุ่มนั้นจะเข้ามา และความสงบหายไป

 

ลักษณะการทำงานของเหยี่ยว คือ บินวนเสาะสายตามองหาเหยื่อเบื้องล่าง

ในความเป็นเหยี่ยว มักจะไม่เห็นว่าท้องฟ้าสีครามเข้มนั้นแลดูกว้างใหญ่ คล้ายจะอ้างว้าง

แต่ในสายตานกยูง ที่มีเพื่อนๆ ยืนข้างๆ ซึ่งแหงนหน้ามอง

สิ่งที่เห็นคือ “บนท้องฟ้า” นั้นกว้างเกินไป จนกระทั่งเหยี่ยวเป็นเพียงจุดเล็กๆ มองแทบไม่เห็น…