ครัวอยู่ที่ใจ l ทางรอดอยู่ในครัว : มื้อเช้าหลักสิบอันเกรียงไกร / อุรุดา โควินท์

 

ทางรอดอยู่ในครัว

: มื้อเช้าหลักสิบอันเกรียงไกร

 

จู่ๆ ก็หนาว อุณหภูมิลดลงเร็วจนฉันตกใจ ดีที่เอาเสื้อไหมพรมออกจากตู้ ตากแดดเตรียมไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน

ฤดูหนาวมาถึงในวันที่เราได้วัคซีนเข็มแรก หลังกลับถึงบ้าน เราต่างก็เพลีย ปวดแขนข้างที่ฉีด เราจึงรีบกินอาหารง่ายๆ แล้วนอนพัก หลับไม่หลับไปรู้ เอนกายไว้ก่อน

พักอีกหนึ่งวัน จึงได้ร่างกายกลับมา เขามีไข้เล็กน้อย แต่ปวดแขนมาก กินยาพาราก็ดีขึ้น ส่วนฉัน ปวดไม่มาก ไม่มีไข้ แต่ความเพลียสิงร่าง ไม่มีแรงทำอะไรทั้งสิ้น

เช้านี้ฉันสดชื่นเป็นพิเศษ รู้สึกรักร่างกายตัวเองมากขึ้น อยากดูแลมันมากขึ้น เพราะดูเหมือนว่า ตราบเท่าที่แข็งแรง เราก็ยังพอสร้างความหวังขึ้นมาได้

สุขภาพเป็นสิ่งเราควรแคร์ให้มาก ทั้งของเราเอง และคนใกล้ตัว

พร้อมกับการได้รับวัคซีน (ซื้อเอง) เข็มแรกของเรา เชียงรายประกาศปิดตลาดเทศบาล ตลาดใหญ่สุดของจังหวัด เพราะมีพ่อค้าแม่ค้าติดโควิดเป็นวงกว้าง

สาธารณสุขแจ้งเตือนว่าผู้ที่ไปจ่ายตลาดวันที่ 10-24 พฤศจิกายน ให้กักตัว

ฉันอ่านประกาศนั้นซ้ำสองครั้ง

ให้ตายเถอะ 14 วัน มีใครบ้างที่ไม่ได้ไปกาดหลวง ไม่วนเวียนอยู่ในกาดหลวง และนั่นอาจหมายถึง ตั้งแต่วันที่ 10 เรื่อยมา พบแม่ค้าป่วย แต่ตลาดยังเปิด เปิดกระทั่งไม่ไหวจะเคลียร์ จึงจำต้องปิด (หลังจากชาวเชียงรายไปเดินเสี่ยงในตลาดมาแล้ว 14 วัน)

เชียงรายมีแผนจะเปิดถนนคนเดิน มีงานดอกไม้ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

ค่ะ โดยที่ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มสองราว 50 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่าครึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตาย

เราอ่านประกาศแล้วมองหน้ากัน เป็นอันว่าจ่ายตลาดไม่ได้ ซึ่งต่อให้เปิดตลาด เรากับตลาดก็ควรห่างกันสักพัก

 

โชคดีที่หนาว พอถึงฤดูหนาว หลายเมนูจะกลับมาอร่อย

เช่น ข้าวต้มหมู ข้าวต้มกุ้ง ข้าวต้มปลา ข้าวต้มหมูกุ้งปลา (ใส่มันให้หมด)

แกงจืดกินกับข้าวร้อนๆ ก็เข้าท่า

จะว่าไป ในฤดูหนาวขอให้มีอะไรก็ได้ที่ลงท้องแล้วอุ่น ฉันจะเจริญอาหารขึ้น

“เสียดายจัง ไม่ได้กินข้าวนุ้กงาเจ้าอร่อยแล้ว ขายหลังกาดหลวง ลากันไปเลยปีหนึ่ง” ฉันบอกเขา

“ถ้าตลาดเปิด ป้าเค้าไม่ป่วย เราซื้อมาอุ่นกินได้มั้ย”

ฉันส่ายหัว ประเด็นคือ ข้าวนุ้กงา หากเอามาอุ่นด้วยการนึ่ง กลิ่นจะเปลี่ยน น้ำมันงาสุก และไม่น่ากินเลย

“ทำเอง” ฉันบอกเขา “ไปหางามาติดบ้าน ตำแป๊บเดียวแหละ ใส่เกลือ ใส่ข้าว เรื่องมีอยู่แค่นี้”

เขาอมยิ้ม เป็นยิ้มที่อ่านได้ว่า ก็แล้วทำไมไม่ทำเอง

“เข้าใจมั้ยว่ากินคนเดียวน่ะ ไม่อยากทำ อะไรที่ทำแล้วกินคนเดียว มันไม่สนุก” ฉันว่า

เขาไม่ชอบข้าวนุ้กงาเอาเลย ไม่ยอมเข้าใจความอร่อยของมัน (น่าตีนัก) และเขาไม่เคยเข้าใจว่า ข้าวนุ้กงา กาแฟหนึ่งแก้ว และไข่ลวก ถือเป็นมื้อเช้าได้อย่างไร

เขาหัวเราะ “ทำข้าวต้มเถอะเช้านี้ มีข้าวเย็นอยู่ในตู้เย็นเพียบ”

เราควรกินข้าวต้ม เพื่อเหมาะกับ 19 องศา เรายังไม่ได้ไปตลาด ยังไม่มีแผนจะไปตลาด ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ฉันแน่ใจ-ฉันหากับข้าวต้มได้แน่

อันที่จริง มีเต้าหู้ยี้อร่อยๆ ฉันก็อิ่ม ถ้าไม่คิดถึงโภชนาการ

เรามีผักกาดดองกระป๋อง และมีอกไก่ คิดว่าสองอย่างนี้ บวกกับเต้าหู้ยี้สักก้อน เราก็ได้มื้อเช้าในฤดูหนาวแล้ว

อกไก่ ฉันเอามาต้มให้สุก สุกแบบจริงจัง จากนั้นก็หั่นเป็นชิ้นเต๋าเล็กๆ หนังไก่ทิ้งไป ไม่อยากกิน ฉันจะทำไก่กระเทียมแบบที่บ้านของเขาชอบทำ เมื่อมีไก่ต้มเหลือจากการไว้เจ้า

ได้ไก่ต้มหั่นแล้ว ตำกระเทียมไทยเยอะๆ ใส่พริกไทยขาวลงไปด้วย

ตั้งกระทะ ใช้น้ำมันน้อยสุดๆ เอาไก่ลงผัดให้ร้อน ตามด้วยกระเทียมกับพริกไทย ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว น้ำหอมหอย และเกลือ ใช้ไฟอ่อนๆ ผัดให้กระเทียมสุก ไก่แห้ง ชิมแล้วได้รสเค็ม แอบหวานจากน้ำมันหอย หอมกระเทียมกับพริกไทย ถือว่าใช้ได้

ปิดเตา ตักใส่ถ้วยใบเล็ก แต่งหน้าด้วยผักชี

ผักกาดดองกระป๋องรสอร่อยอยู่แล้ว แต่หั่นกินเลย มันก็ดูเฉยไป ฉันจะยำมันสักหน่อย

หาชามอีกใบ เป็นชามดินสีขาวที่ดูเข้ากัน หั่นผักกาดดองกระป๋องใส่ชาม เทน้ำผักกาดดองลงไปด้วย ซอยพริกขี้หนูโรยหน้า ตามด้วยหอมแดง บีบมะนาวสักนิด

เท่านี้ผักกาดดองก็ดูดีขึ้นมา

จานใบน้อยใส่เต้าหู้ยี้

หาถ้วยข้าวต้ม ที่วางตะเกียบ ที่วางช้อน

เขาชงชา

เราช่วยกันจัดโต๊ะ ถอยออกมาดูคนละก้าว ต่างยิ้มให้กัน

 

ฤดูหนาวได้นำมื้อเช้าแบบที่เราเคยกินกับตายายกลับมาอย่างเกรียงไกร มันน่ากินเหลือเกิน และมันอร่อยยิ่ง เมื่อข้าวต้มทำจากข้าวใหม่

“คิดถึงตาเลย” ฉันว่า ตักข้าวต้มชามที่สอง “ตาชอบเต้าหู้ยี้แบบนี้ที่สุด”

“ทำบ่อยๆ สิ กินได้ทุกวัน ถ้าอากาศดี”

“เชื่อมั้ย ทั้งโต๊ะไม่ถึงร้อย แถมไก่กระเทียมยังเหลือ ทำสองอกหมดเลย ต้องแบ่งเก็บไว้” ฉันหัวเราะ “กินแบบนี้ทุกเช้า เราคงรวยเละ”

ข้างนอกนั่น แดดฉายมาถึงห้องทำงาน แดดซึ่งช่วยให้ยามเช้าอุ่นขึ้น

แดดในฤดูหนาว ซึ่งงามกว่าทุกฤดู