ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กรกฎาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | ปริศนาโบราณคดี |
เผยแพร่ |
ยศถาบรรดาศักดิ์ของสุนทรภู่
สมัย ร.2 สูงสุดที่ “ขุน” หรือ “หลวง”
เส้นทางชีวิตราชการของสุนทรภู่ ก่อนจะเข้าสู่ตำแหน่ง “อาลักษณ์” กวีคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 นั้น ท่านเคยทำหน้าที่อะไรมาบ้าง
ตลอดระยะเวลายาวนานถึง 4 แผ่นดินของสุนทรภู่ ซึ่งนิยมเรียกกันแบบย่อๆ ให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “วังหลัง-วังหลวง-อยู่วัด-วังหน้า”
กล่าวคือ ยุควังหลัง (สมัย ร.1) ยุควังหลวง (สมัย ร.2) ยุคอยู่วัด (สมัย ร.3) และยุควังหน้า (สมัย ร.4) นั้น
สุนทรภู่เริ่มต้นทำงานในวัย 18 ปี ฐานะ “มหาดเล็ก” เป็นข้าราชบริพารภายใต้ร่มเงาของสมเด็จกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศ
มีตำแหน่งเป็นเสมียนนายระวางหรือ “เสมียนเดินสวน” ในกรมพระคลังสวน มีหน้าที่ตรวจรังวัดที่ดินทำบัญชีแสดงจำนวนต้นผลไม้ที่มีอยู่ในสวนของราษฎร
เมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคตแล้ว สุนทรภู่ได้ฝากตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้ “พระองค์เจ้าปฐมวงศ์” ผู้เป็นพระราชโอรสในสมเด็จกรมพระราชวังหลังสืบมา
ในช่วงนั้นเอง สุนทรภู่ได้ติดตามเจ้านายในขบวนเสด็จเพื่อกราบนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรี เป็นโอกาสให้ได้แต่ง “นิราศพระบาท” เป็นนิราศเรื่องที่สองในชีวิต (นิราศเรื่องแรกคือนิราศเมืองแกลง)
ตำแหน่ง “เสมียนเดินสวน” มิได้สร้างความน่าอภิรมย์ใจให้แก่สุนทรภู่แต่อย่างใดเลย ทำอยู่ไม่นานราวปีเศษๆ ท่านก็เบื่อหน่าย จึงลาออกมายึดอาชีพรับจ้างเขียนบทกลอนและจดหมายเพลงยาวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
เรียกภาษาปัจจุบันก็คือเป็น “กวีอิสระ” นั่นเอง (แต่สมัยนั้นไม่ได้ใช้คำว่า “กวี” แต่เรียกว่า “นักกลอน”) จนมีชื่อเสียงโด่งดังตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่น มีลูกศิษย์ลูกหามาฝากตัวเป็นบริวาร
เห็นได้จากตัวละครในนิราศเมืองแกลง ซึ่งสุนทรภู่แต่งเมื่ออายุเพียง 21 ปี แต่มีชายหนุ่มที่มาฝึกเขียนกวี 2 คน ชื่อ น้อย กับ พุ่ม ติดตามสุนทรภู่ไปถึงเมืองแกลงด้วย
ชีวิตของสุนทรภู่ไม่ต่างไปจากแมวเก้าชีวิต ทั้งๆ ที่ออกจากราชการไปแล้วตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 แต่ก็ยังกลับมาผงาดกลายเป็น “กวีเอก” ในสมัยรัชกาลที่ 2 อีกครั้งจนได้
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ.2352 ขณะนั้นสุนทรภู่มีอายุ 23 ปี ยังคงใช้ชีวิตแบบ “กวีอิสระ” เวียนวนอยู่กับเรื่องเพศรส รักๆ ใคร่ๆ และผจญภัยเดินทางไปตามหัวบ้านหัวเมืองจังหวัดต่างๆ เพื่อหาประสบการณ์ชีวิตประสากวีหนุ่ม
กระทั่งผ่านแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ไปได้ 7 ปี เมื่อสุนทรภู่มีอายุครบ 30 พอดิบพอดี มีหลักฐานว่าท่านได้หวนกลับเข้ามารับราชการอีกครั้ง คราวนี้สังกัด “กรมพระอาลักษณ์” น่าจะเป็นตำแหน่งที่ถูกอกพึงใจมากกว่าตำแหน่งเดิมในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งต้องนับแต่ตัวเลขทั้งวันอย่างแน่นอน
คำถามที่ตามมาก็คือ จาก “กวีอิสระ” ทำไมจึงสามารถหวนกลับมารับราชการอีกครั้งได้?
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า ในปี 2359 ได้เกิดการปล่อย “บัตรสนเท่ห์” อันมีเนื้อหาพาดพิงถึงเจ้านายหลายพระองค์ในเชิงว่าอาจมีการช่วงชิงอำนาจ เนื้อหามีอยู่ว่า
“ไกรสรพระเสด็จได้ สึกชี
กรมเจษฎาบดี เร่งไม้
พิเรนทรแม่นอเวจี ไป่คลาด
อาจพลิกแผ่นดินได้ แม่นแม้นเมืองทมิฬ”
บัตรสนเท่ห์ดังกล่าว ถูกจับได้ว่าผู้ก่อการต้นคิดคือ กรมหมื่นศรีสุเรนทร พระโอรสองค์ที่ 20 ในรัชกาลที่ 1 ถูกลงอาญาโบยเฆี่ยนจนถึงสิ้นพระชนม์ พร้อมด้วยลิ่วล้อบริวารก็ถูกชำระโทษถึงแก่ชีวิตอีกหลายราย
สุนทรภู่จะมีส่วนในการช่วยเขียนคำโคลงบทนั้นด้วยหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยซัดทอดไปยังท่านด้วยในฐานะกวีผู้มีฝีไม้ลายมือฉกาจฉกรรจ์แห่งยุคสมัย
ทำให้สุนทรภู่ต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ดังที่ได้กล่าวในฉบับที่แล้วว่า เมืองเพชรเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของบิดามารดา จึงน่าจะมีญาติจำนวนมากคอยให้ที่พักพิงหลบภัยได้ไม่ยาก
ทว่า วิกฤตกลับเป็นโอกาส ภายหลังจากที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 ทรงสำเร็จโทษกรมหมื่นศรีสุเรนทรแล้ว ก็ไม่ทรงติดใจที่จะลงอาญา “มือโคลง” ผู้รับเขียนบัตรสนเท่ห์นั้น ยิ่งเมื่อนำบัตรสนเท่ห์มาพินิจพิเคราะห์อ่านสำนวนอีกหลายครั้ง พร้อมกับมีผู้สำทับว่า “น่าจะเป็นผลงานของสุนทรภู่”
ยิ่งกลับกลายเป็นชนวนเร่งเร้าให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 รับสั่งให้ตามหาตัวสุนทรภู่ กลับมารับใช้พระองค์ในฐานะอาลักษณ์ที่วังหลวงเป็นการด่วน เนื่องจากทรงทราบกิตติศัพท์ของสุนทรภู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่ามีฝีปากคารมคมคาย กอปรกับพระองค์เองทรงติดๆ ขัดๆ สำนวนหลายบทหลายตอน ขณะทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์
ถือว่าเป็นการหวนกลับคืนสู่สังเวียนข้าราชบริพารแบบค่อนข้างพิสดารทีเดียว
จากข้อมูลเดิมที่เรารับทราบกันนั้น ล้วนระบุว่าในสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่เลื่อนฐานะจากกวีกระฎุมพีขึ้นมาเป็น “กวีหลวง” ได้รับตำแหน่งสุดท้ายก่อนหนีราชภัยไปบวชในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็น “ขุนสุนทรโวหาร”
เพราะหลังจากที่รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคตในปี 2368 ขณะที่สุนทรภู่อายุได้ 38 ปี เรื่องราวช่วงนั้นได้ปรากฏในเรื่อง “รำพันพิลาป” ว่า
“แต่ปีวอกออกขาดราชกิจ บรรพชิตพิศวาสพระศาสนา”
สุนทรภู่อยู่ในผ้าเหลืองตลอดที่รัชกาลที่ 3 ครองราชย์นานถึง 26 ปี (แต่มีผู้ศึกษารายละเอียดว่าในระหว่างนั้น สุนทรภู่เองบวชๆ สึกๆ ออกมาเป็นฆราวาสสลับกันไปช่วงสั้นๆ ก็มี)
กระทั่งเข้าสู่สมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สุนทรภู่ได้รับการอุปถัมภ์อีกครั้งจาก พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระราชบวร (วังหน้า) อันมีฐานะเทียบเท่าพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงแต่งตั้งให้สุนทรภู่เป็น “พระสุนทรโวหาร” ดำรงตำแหน่ง “เจ้ากรมพระอาลักษณ์” ของวังหน้า ขณะที่สุนทรภู่อายุได้ 65 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้ได้อีกเพียง 5 ปี ก็ถึงแก่กรรมในวัยย่าง 70
ในขณะที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ก็ทรงมี “พระสุนทรโวหาร” นามเดิม “ฟัก” (อดีตพระภิกษุ ผู้ช่วยรัชกาลที่ 4 ร่วมก่อตั้งธรรมยุติกนิกาย) ขึ้นเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ของวังหลวงด้วย
เห็นได้ว่าตำแหน่ง “พระสุนทรโวหาร” เป็นนามที่ซ้ำกัน แต่พระสุนทรโวหาร (ฟัก) นั้นไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่ลูกหลานของท่านก็ยังคงเป็นกวีสืบต่อมา คือ พระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล สาลักษณ์) และพระยาศรีสุนทรโวหาร (ผัน สาลักษณ์) ผู้แต่งอิลราชคำฉันท์ในรัชกาลที่ 6 เป็นต้น
คำถามที่ตามก็คือ หากตำแหน่งสุดท้ายของสุนทรภู่ในสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นแค่ระดับ “ขุน” แล้วไซร้ ไฉนเมื่อหวนกลับมารับราชการอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงไม่เริ่มจากตำแหน่ง “หลวง” ก่อนตามขั้นตอน อยู่ๆ ก็เป็น “พระ” เลย มิเป็นการข้ามขั้นผิดกฎมณเฑียรบาลไปล่ะหรือ
ผู้มาไขปริศนาเรื่องบรรดาศักดิ์ของสุนทรภู่ขั้นสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 2 ก่อนจะถูกถอดและต้องหนีราชภัยไปบวช ก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค 2351-2425) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 เคยเป็นมหาดเล็กในสมัยรัชกาลที่ 2 และเป็นหลวงนายสิทธิ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีอายุร่วมสมัยกับสุนทรภู่ เกิดหลังสุนทรภู่ร่วมสองทศวรรษ
ท่านมิได้กล่าวถึงประวัติของสุนทรภู่ตรงๆ แต่เป็นการกล่าวถึงทางอ้อมโดยมิได้ตั้งใจ สืบเนื่องมาจาก “นายทิม สุขยางค์” ต่อมาคือ หลวงพัฒน์พงศ์ภักดี ได้แต่ง “นิราศหนองคาย” ขึ้น (เคยเป็นหนังสือต้องห้ามถูกสั่งเผา) โดยมีเนื้อหาที่กระทบกระเทียบเปรียบเปรย จนสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ กล่าวว่าเป็นการใช้ถ้อยคำที่ก้าวร้าวจ้วงจาบพาดพิงถึงท่านให้ได้รับความเสียหาย
สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงทำหนังสือกราบบังคมทูลฟ้องแด่พระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ในข้อความหนังสือที่ร้องเรียนนั้น ได้มีการอ้างถึงชื่อกวีหลายคน ว่าไม่เคยมีใครแต่งนิราศได้ก้าวร้าวเหมือนอย่าง “นิราศหนองคาย” มาก่อนเลย
หนึ่งในกวีที่ถูกอ้างอิงถึงว่าแต่งนิราศไม่หยาบคายก็คือ “หลวงสุนทรภู่” อันเป็นบรรดาศักดิ์ที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ใช้เรียกสุนทรภู่ ซึ่งเราไม่เคยพบหลักฐานในเอกสารอื่นใดมาก่อนเลย (คือมีแต่ขุนสุนทรโวหาร ในสมัยรัชกาลที่ 2 จากนั้นก็ข้ามไปเป็น พระสุนทรโวหารในสมัยรัชกาลที่ 4 เลย)
สุนทรภู่เคยเป็น “หลวงสุนทรโวหาร” ก่อนถูกปลดในรัชกาลที่ 3 จริงหรือไม่ ต้องศึกษากันต่อไป อย่างน้อยที่สุดข้อเขียนของสมเด็จเจ้าพระยาฯ ในกระทู้ที่แก้ต่างปกป้องเกียรติยศและศักดิ์ศรีของพระองค์ท่าน กับนิราศหนองคาย ก็น่าจะเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญสำหรับการนำไปชำระสะสางประวัติสุนทรภู่หน้านี้ให้กระจะกระจ่างต่อไป