หัวลำโพงควรพัฒนาอย่างไร/พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด / ชาตรี ประกิตนนทการ

 

หัวลำโพงควรพัฒนาอย่างไร

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นหัวข้อ “อนาคตสถานีหัวลำโพงประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา”

ซึ่งผลจากวงเสวนา ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการนี้ต่างยืนยันว่า จะไม่มีการปิดการเดินรถไฟแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงการลดบทบาทของสถานีหัวลำโพงลง เนื่องจากปัจจุบันมีการสร้างสถานีกลางบางซื่อเสร็จแล้ว

หากเป็นเช่นนั้นจริง (ซึ่งเรายังไม่ควรปักใจเชื่อการพูดบนเวทีดังกล่าวที่ไร้ข้อผูกมัดใดๆ มากนัก จนกว่าจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ) สิ่งที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้น คือ การปรับบทบาทของสถานีหัวลำโพงให้กลายมาเป็นการบริการรถไฟชานเมืองแทน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอจากหลายฝ่ายก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเดินรถจะยังคงอยู่ แต่การนำหัวลำโพงมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพื่อชดเชยการขาดทุน ก็น่าจะยังคงดำเนินต่อไปตามเดิม เนื่องจากปริมาณการเดินรถที่ลดลงอย่างมาก ย่อมทำให้มีพื้นที่และอาคารเป็นจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่หมดความจำเป็นในการใช้งาน พร้อมที่จะถูกรื้อลงหรือปรับปรุงใหม่เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาเชิงพาณิชย์

คำถามสำคัญที่สังคมควรช่วยกันคิดต่อไปข้างหน้าก็คือ พื้นที่หัวลำโพงที่นอกเหนือไปจากพื้นที่สำหรับการเดินรถไฟ ควรที่จะนำมาพัฒนาในทิศทางใด

ส่วนตัวมีความเห็นและข้อเสนอเบื้องต้นใน 2 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก หัวลำโพงไม่ควรหยุดเพียงแค่การให้บริการรถไฟชานเมืองเพียงเท่านั้น แต่ควรพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการขนส่งมวลชนระหว่าง “ราง” และ “เรือ” สำหรับผู้มีรายได้น้อย ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

เป็นที่ทราบดีกันอยู่แล้วว่า รถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งนับวันจะถูกพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะระบบขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ นั้น มิได้เป็นระบบที่ตอบสนองมวลชนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริง

ผู้มีรายได้น้อยมหาศาลที่ต้องใช้ชีวิตในเมืองกรุงไม่สามารถเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้ มีเพียงรถเมล์ (ซึ่งก็มีสภาพและการบริการที่ย่ำแย่ลงทุกวัน) เป็นเพียงการขนส่งมวลชนเพียงทางเดียว

ดังนั้น หากเราสามารถสร้างระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น เพื่อรองรับคนที่มีรายได้น้อยได้ คงจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนอย่างแท้จริง

ข้อเสนอคือ จะดีไหม หากเราใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟชานเมืองเข้ากับโครงการเรือขนส่งมวลชนในคลองผดุงกรุงเกษม เรือหางยาวคลองแสนแสบ และเรือด่วนเจ้าพระยา

ปัจจุบัน มีโครงการเรือไฟฟ้าคลองผดุงกรุงเกษมจากบริเวณสถานีหัวลำโพง เดินทางไปยังท่าเรือเทเวศร์ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ผมเห็นว่า ควรที่จะพัฒนาต่อยอดมากขึ้นทั้งปริมาณเที่ยวเรือ และการเชื่อมต่อที่สะดวกมากขึ้นจากตัวสถานีหัวลำโพง

ที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงต่อเนื่องไปยังระบบเรือหางยาวคลองแสนแสบบริเวณท่าเรือตลาดโบเบ๊ และการเชื่อมยาวไปสู่ระบบเรือด่วนเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือเทเวศร์

ซึ่งหากมีการพัฒนาจุดเชื่อมต่อทั้ง 2 จุดดังกล่าวให้ดี สะดวก และรองรับคนเป็นจำนวนมากได้ จะช่วยให้คนมีรายได้น้อยที่เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ามาด้วยรถไฟ สามารถเดินทางเข้าถึงพื้นที่เมืองเก่าชั้นในได้สะดวก รวดเร็ว และประหยัดมากขึ้น

 

ประเด็นที่สอง พื้นที่เป็นจำนวนมากที่หมดการใช้งานลงและพร้อมเปลี่ยนมาพัฒนาเชิงธุรกิจนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยควรพิจารณาโมเดลธุรกิจที่คำนึงถึงการสร้างสมดุลระหว่าง โครงการพัฒนาที่เน้นประโยชน์ใช้งานของประชาชน กับโครงการพัฒนาที่พุ่งเป้าหากำไรสูงสุดในแบบบริษัทเอกชน

ไม่มีใครปฏิเสธหรอก เรื่องการหารายได้และหากำไร แต่ภายใต้พื้นที่ขนาด 120 ไร่ ซึ่งเมื่อตัดพื้นที่สำหรับการเดินรถไฟออกแล้วก็คงยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมากนั้น ควรอย่างยิ่งที่จะมีการจัดสรรอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะมีต่อประชาชนไปพร้อมๆ กันด้วย

ผมอยากขอยกตัวอย่างการปรับการใช้งานของ Temora railway station ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียขึ้นมาให้ลองพิจารณา

สถานีแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1893 ในพื้นที่เมือง Temora เมืองเล็กๆ ที่อยู่ห่างออกไป 418 กิโลเมตร ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซิดนีย์

สถานีแห่งนี้ทำการเดินรถไฟอย่างยาวนานมากกว่า 80 ปี จนเมื่อการเดินทางโดยรถยนต์และด้วยระบบขนส่งมวลชนรูปแบบอื่นมีมากขึ้น ได้ทำให้ความนิยมในการใช้งานรถไฟ ณ สถานีแห่งนี้ลดลง จนสุดท้าย ในช่วงราวกลางทศวรรษ 1980 สถานีได้ปิดการใช้งานลงอย่างถาวร

ตัวสถานีถูกทิ้งร้างไว้ยาวนานมากกว่า 20 ปีโดยปราศจากการใช้งาน

แต่ด้วยความรู้สึกผูกพันทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของคนในชุมชน ได้ทำให้ในเวลาต่อมาเกิดการรวมตัวกันของชุมชน เพื่อช่วยกันหาทางออกที่จะทำให้สถานีรถไฟแห่งนี้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ชุมชนและสภาท้องถิ่นของเมืองใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปีในการปรึกษาหารือและต่อรองกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่และอาคารสถานี จนสุดท้ายตัวสถานีได้รับการบูรณะและปรับปรุงสภาพ เปลี่ยนการใช้งานมาสู่โครงการ mixed use ที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน มิใช่แสวงหากำไร

ภายในประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์รถไฟที่รวบรวมเรื่องราวและความทรงจำต่างๆ ของผู้คนที่มีต่อตัวสถานีรถไฟ, ศูนย์เยาวชน, พื้นที่ในการจัดนิทรรศการ และพื้นที่สำหรับกิจกรรมของชุมชน

โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก และท้ายที่สุดได้รับรางวัลชนะเลิศ NSW Heritage Awards ในหมวด Adaptive Reuse เมื่อปี ค.ศ.2017

 

ตัวอย่างข้างต้น คือแนวทางที่ผมคิดว่าควรจะเป็นในการพัฒนาพื้นที่สถานีหัวลำโพง

ในความเห็นผม พื้นที่และอาคารภายในหัวลำโพงที่จะหมดการใช้งานหลังจากการปรับการเดินรถเหลือเพียงรถไฟชานเมือง ควรถูกพิจารณานำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์โดยแยกออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่หนึ่ง ควรคำนึงถึงการพัฒนาไปสู่พื้นที่ของประชาชนโดยไม่คำนึงถึงกำไรสูงสุด

การพัฒนาอาจประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์รถไฟ ที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสถานีและประวัติศาสตร์สังคมของผู้คนทุกกลุ่มที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับสถานีแห่งนี้ (อย่าจัดแสดงเฉพาะเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติและชนชั้นนำเท่านั้น)

พื้นที่ในการจัดกิจกรรมสำหรับประชาชน ในรูปแบบและลักษณะที่คล้ายกับโครงการของ Temora railway station

และที่สำคัญอย่างมากคือ พื้นที่เชิงพาณิชย์สำหรับผู้มีรายได้น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่ร้านค้าราคาถูก หรือร้านอาหารราคาประหยัด

การคำนึงถึงผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ คือ หัวใจสำคัญหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่หัวลำโพง

เพราะนับตั้งแต่หลังปี พ.ศ.2500 เป็นต้นมา ภายใต้แผนการพัฒนาเมืองที่เน้นถนนมากกว่ารางรถไฟ ได้ทำให้รถไฟ จากที่เคยเป็นระบบขนส่งของคนมีรายได้สูง ก็ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านมาสู่ระบบขนส่งสำหรับผู้มีรายได้น้อยโดยลำดับ จนถึงปัจจุบัน

กว่า 60 ปีของความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทำให้พื้นที่บริเวณหัวลำโพงกลายเป็นที่พึ่งพาของคนเล็กคนน้อย กิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับรากหญ้า คนไร้บ้าน และคนหาเช้ากินค่ำ

ลักษณะของผู้คนและสังคมในพื้นที่หัวลำโพงดังกล่าว ไม่ควรถูกทำลายทิ้งไปอย่างง่ายๆ ด้วยการพัฒนาพื้นที่ที่มุ่งหากำไรสูงสุด หรือโครงการพัฒนาที่มุ่งแต่จะตอบสนองคนชั้นกลางระดับบน หรือคนรวยเพียงอย่างเดียว

เมืองที่ดี น่าอยู่ และเป็นของทุกคน ควรมีพื้นที่สำหรับผู้คนรากหญ้าดังกล่าวให้สามารถอยู่อาศัยและทำมาหากินได้ ซึ่งพื้นที่บริเวณหัวลำโพงควรจะเป็นหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าว ดังนั้น เราไม่ควรที่จะเปลี่ยนลักษณะโครงสร้างของผู้คนและสังคมในบริเวณนี้ไปทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุนี้ การคำนึงถึงการพัฒนาที่ตอบสนองสำหรับคนมีรายได้น้อย จึงควรเป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้

 

ส่วนที่สอง คือ พื้นที่ที่พุ่งเป้าหมายไปสู่การพัฒนาทางธุรกิจเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างรายได้กลับมาสู่การรถไฟแห่งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โรงแรมห้าดาว หรือการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบอื่นๆ ที่ตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฯลฯ

พื้นที่ลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องอธิบายมากนัก เพราะเป็นโมเดลที่ทำกันเกลื่อนในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่การรถไฟแห่งประเทศไทยวางแผนจะดำเนินการอยู่แล้ว

การสร้างส่วนผสมของการพัฒนาพื้นที่ ในรูปแบบที่หลากหลาย ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากทำได้จริง ผมเชื่อว่าจะทำให้หัวลำโพง เป็นพื้นที่ต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มได้อย่างแท้จริงในอนาคต