ปริศนาโบราณคดี : 230 ปี รัตนกวี “สุนทรภู่” (3) อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุดซ่อนไว้เสียในฝัก

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

พระอภัยมณีแต่งเมื่อไหร่
ทำไมเอาภูมิศาสตร์ฝรั่งปนกับแขก

 

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วรรณคดีที่สร้างชื่อเสียงให้แก่สุนทรภู่มากเป็นอันดับหนึ่งคือ “นิทานคำกลอน” (อันที่จริงควรเรียก “นิยายคำกลอน” มากกว่า) เรื่อง “พระอภัยมณี”

สุนทรภู่เริ่มแต่งเรื่องพระอภัยมณีตั้งแต่เมื่อไหร่ สมัยรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3?

เป็นอีกหนึ่งคำถามที่นักวรรณคดีศึกษาเคยถกเถียงกันมานาน

จนได้ข้อพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า สุนทรภู่เริ่มแต่งพระอภัยมณี ในสมัยรัชกาลที่ 2 ขณะติดคุก (เพราะมีเรื่องวิวาททะเลาะกับญาติ)

และแต่งต่อข้ามรัชกาลไปเฟื่องฟุ้งรุ่งเรือง แฟนคลับติดงอมแงมในสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งๆ ที่เป็นระยะที่ดูเหมือนว่าสุนทรภู่หน้ากลบพื้นที่สุดแล้วในชีวิต เพราะต้องออกจากราชการหนีราชภัยไปบวชนานถึง 26 ปี

ทว่า กระแสความนิยมหลงใหลในเสน่ห์ของพระอภัยมณีก็มิอาจกีดขวางให้กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ต้องทรงย่อท้อต่อการตามไปยื่นมืออุปถัมภ์สุนทรภู่ได้เลย

ค่าจ้างที่สุนทรภู่ได้รับพอประทังชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ ในช่วงที่เขียนพระอภัยมณีขายนั้น พบหลักฐานว่าเมื่อเขียนเต็ม 1 เล่มสมุดไทย นำไปถวายขายแด่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ จะได้อัตราค่าเหนื่อยเล่มละ 4 บาท ซึ่งถือว่าเป็นเรตที่สูงมากในสมัยนั้น (ไม่ทราบเหมือนกันว่าสุนทรภู่ใช้เวลารจนานานแค่ไหนกว่าจะได้คราวละ 1 เล่มสมุดไทย)

หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุ รัชนี กวีเอกย่านท่าช้าง ได้อ้างถึงหนังสือเรื่อง “ยุคกลางในยุโรป” ที่เขียนโดยพระบิดาของท่านคือ “น.ม.ส.” ว่าเป็นผู้แรกที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าตัวละคร “แปลกถิ่น” ในพระอภัยมณีนั้น หาใช่จินตนาการของสุนทรภู่ไม่ หากหยิบยกมาจากบุคคลร่วมสมัยจริงเกือบทั้งหมด

น.ม.ส. กล่าวว่า บรรยากาศช่วงที่สุนทรภู่เขียนพระอภัยมณีนั้น สังคมสยามเริ่มมีชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อสัมพันธ์ เจ้านายชั้นสูงมักปรารภถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชย์ของ “ควีนวิกตอเรียแห่งอังกฤษ” ในปี ค.ศ.1834 (ตรงกับ พ.ศ.2377) เมื่อผ่านพิภพไปได้ 13 ปี ทรงวิวาห์กับเจ้าชายเยอรมันนาม “ชาลมาญ”

สุนทรภู่ได้แรงบันดาลใจ ผูกเรื่องให้มี “นางลเวง” (บ้างเขียน “ละเวง”) เป็นกษัตริย์หญิงครองนครลังกา (แท้จริงต้องการสื่อถึงประเทศอังกฤษ) ส่วนพระเจ้าชาลมาญ ถูกแผลงเป็น “ท้าวลมาน” เป็นเจ้ากรุงยักษ์ คุมทัพยักษ์มักกะสันมาช่วยนางลเวงรบกับพระอภัย

นอกจากนี้ ยังมีตัวละครชื่อ “ท้าวอุสเรน” ท่านจันทร์กล่าวเสริม น.ม.ส. ว่า ชื่อนี้มีเสียงคล้ายกับ “วอเรน เฮสติงส์” ผู้มีบทบาททำให้อังกฤษได้อินเดียเป็นเมืองขึ้น

บรรยากาศ “ตื่นฝรั่ง” ในครั้งนั้น เห็นได้จาก สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชื่นชม “ยอร์ช วอชิงตัน” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมิรกาคนแรกเป็นอย่างมาก ถึงขนาดตั้งชื่อพระโอรสองค์แรกว่า “พระองค์ชายยอร์ช วอชิงตัน”

แต่เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4) เกรงคนไทยจะเรียกยาก จึงทรงขอร้องให้เปลี่ยนเป็น “พระองค์เจ้ายอดยิ่งประยูรยศ” แทน

อนึ่ง การเชิดชูวีรกรรมของขัติยนารี (นางลเวง หรือควีนวิกตอเรีย) ที่ดูเด่นเป็นสง่าเช่นนี้ สุนทรภู่อาจมีนัยทางอ้อมที่ต้องการสรรเสริญยกย่องกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในเชิงสัญลักษณ์ว่าเป็นผู้หญิงเก่งแฝงอยู่ด้วยเช่นกัน

 

เป็นวิสัยในพิภพจบธรณิน
ไม่สร่างสิ้นเสน่หาประเวณี

ทําเนียบชายาของพระอภัยมณี เคยมีผู้พยายามเปรียบเทียบกับชีวิตจริงของสุนทรภู่ ซึ่งมีภรรยาหลายสิบคนว่าพอจะมีบุคลิกที่ละม้ายคล้ายคลึงกับตัวละครใดได้บ้าง

นางสุวรรณมาลี (ซึ่งดูเหมือนพระอภัยมณีจะรักมากที่สุด) ผู้มีนิสัยขี้หึงอย่างรุนแรง

“มเหสีขี้หึงเหมือนหนึ่งเสือ จะฉีกเนื้อน้องกินเหมือนชิ้นหมู”

ขี้หึงเลือดขึ้นหน้าเช่นนี้จะเป็นใครอื่นใดไปไม่ได้ นอกเสียจาก “แม่จันทร์” สุดรักสุดสวาทรักแรกตั้งแต่สมัยยังเอ๊าะๆ

นางเงือก น่าจะเป็น “แม่ศรีสาคร” เพราะชื่อเกี่ยวข้องกับน้ำ

นางลเวงวัณลา น่าจะหมายถึง “แม่งิ้ว” ผู้หญิงที่ในนิราศหลายเล่มสุนทรภู่ชมว่ามีความงามเป็นเลิศ “งามเสงี่ยมเอี่ยมอิ่มดูพริ้มพักตร์” หรือ “เหมือนโฉมงิ้วงามราวกับชาววัง”

ส่วนหญิงอื่นๆ คือแม่สร้อย แม่นิ่ม (1) แม่ม่วง แม่นกน้อย แม่ลูกอิน แม่ขำ แม่ปรางทอง แม่ฉิม แม่นิ่ม (2) แม่แก้ว แม่นวล แม่ทองมี ฯลฯ นั้น ยังมิรู้ว่าจะนำใครไปเปรียบเปรยกับตัวละครนางไหนอย่างไรดี เหตุเพราะตัวละครในชีวิตจริงมีมากล้น เกินกว่าจะจับยัดใส่ให้พอดีกับตัวละครในพระอภัยมณี เกรงเทียบไปก็อาจจะผิดฝาผิดตัว

ดังเช่นกรณีของผีเสื้อสมุทร ที่พระอภัยมณีได้เป็นเมียแบบจับพลัดจับผลู คงไม่มีเมียในชีวิตจริงนางใดของสุนทรภู่ยอมให้เปรียบเทียบอย่างแน่นอน

“สมพาสยักษ์รักร่วมภิรมย์สม   เหมือนเด็ดดอกหญ้าดมพอได้กลิ่น!”

 

สุดสาคร ขี่ม้ามังกรตามหาพ่อ

ตัวละครเอกรุ่นลูกในพระอภัยมณีที่โดดเด่นมากที่สุด เห็นจะไม่มีใครเกิน “สุดสาคร” ผู้เป็นบุตรพระอภัยมณีลำดับที่ 2 ซึ่งเกิดจากแม่นางเงือก ส่วนพี่ชายต่างมารดาชื่อ “สินสมุทร” เกิดจากแม่ผู้เป็นยักษิณี

การได้นางเงือกมาเป็นเมียของพระอภัยมณี สุนทรภู่บรรยายบทอัศจรรย์ให้ดูดีกว่าการได้สมสู่กับนางผีเสื้อสมุทรเล็กน้อย ดังนี้

“สมพาสเงือกเยือกเย็นเหมือนเล่นน้ำ    ค่อยชื่นฉ่ำด่ำสมอารมณ์หมาย”

ได้เสียกันแล้วก็ทิ้งกันไปตามระเบียบ นางเงือกต้องคลอดสุดสาครอย่างเดียวดาย ณ แผ่นหินแห่งวังวน ริมเกาะแก้วพิสดาร อันเป็นที่อยู่ของพระฤๅษี ผู้ได้รับฝากฝังจากพระอภัยมณี ขอให้ช่วยคุ้มครองดูแม่สองแม่ลูกแทนตน

สุดสาครจึงเกิดมาแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก เป็นทารกครึ่งคนครึ่งเงือก มีม้ามังกรเป็นพาหนะ มีพระฤๅษีคอยสั่งสอนเตือนสติตลอดเวลา

“แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์     มันแสนสุดสึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด   ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”

เมื่อพอจะมีวิชากล้าแกร่ง “รู้รักษาตัวยอดเป็นยอดดี” ได้ในระดับหนึ่งแล้ว สุดสาครก็ลาแม่เงือกและพระฤๅษีออกร่อนเร่ผจญภัยตามหาพ่อ แม้ต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ทรมาน ความหิวโหย อุปสรรคนานัปการ

 

มาตาธิปไตย
คุณย่าทองประศรีของพลายงาม

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม เป็นงานชิ้นโบแดงอีกหนึ่งเรื่อง ที่สุนทรภู่แต่งถวายให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2

ทำไมต้องมาจำเพาะเจาะจงแต่งตอน “กำเนิดพลายงาม” หรือว่าเป็นตอนที่สุนทรภู่สามารถสอดใส่อารมณ์รันทดถวิลหาบิดาของตนได้อย่างเต็มที่ ภายใต้การใช้พลายงามเป็นตัวขับเคลื่อน

พลายงามเป็นลูกพ่อขุนแผนกับแม่วันทอง แต่ช่วงนั้นชะตากรรมผลักไสให้นางวันทองต้องตกเป็นเมียของขุนช้าง ส่วนขุนแผนกำลังติดคุกเพราะถูกใส่ร้าย

แค่พล็อตง่ายๆ ที่ว่า พลายงามถือกำเนิดขึ้นมา ในช่วงที่มารดาต้องทนอยู่กับชายอื่นที่ไม่ใช่พ่อของตน

แต่เวลาจะลงมือเขียนจริงๆ กลับยากเย็นชนิดปราบเซียน เพราะผู้ประพันธ์ต้องสอดใส่อารมณ์ “หวั่นหน้าภวังค์หลัง” หรือ “เพลงรักในเพลิงแค้น” ประเดประดังอารมณ์เชือดเฉือน ทั้งบทนางวันทอง ขุนช้าง และพลายงาม

ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 ทรงเล็งเห็นแล้วว่า มีเพียงกวีเอกคนเดียวเท่านั้นคือสุนทรภู่ที่จะสามารถช่วยปรุงรสชาติฉากนี้ให้ออกมาได้อย่างพริกถึงขิง

สุนทรภู่แต่งบทตอนที่ขุนช้างจับได้ว่าพลายงามไม่ใช่ลูกของตัวจึงลวงไปฆ่าในป่า แต่ผีพรายของขุนแผนมาช่วยไว้ นางวันทองตามหาลูกจนพบ จำต้องพาพลายงามหนีขุนช้างไปอยู่กับย่าทองประศรีที่เมืองกาญจนบุรี

“ลูกก็แลดูแม่แม่ดูลูก                        ต่างพันผูกเพียงว่าเลือดตาไหล
สะอื้นร่ำอำลาด้วยอาลัย                    แล้วแข็งใจจากนางตามทางมา
เหลียวหลังยังเห็นแม่แลเขม้น              แม่ก็เห็นลูกน้อยละห้อยหา
แต่เหลียวเหลียวเลี้ยวลับวาบวิญญาณ์    โอ้เปล่าตาต่างสะอื้นยืนตะลึง”

 

เด็กน้อยวัย 9 ขวบต้องเดินทางจากสุพรรณบุรีไปกาญจนบุรีอย่างเดียวดาย สุดท้ายได้พบกับ “ย่าทองประศรี” มารดาของขุนแผน

บุคลิกของย่าทองประศรี มีลักษณะแคล่วคล่อง จริงจัง สามารถบริหารจัดการข้าทาสบริวาร และอะไรต่อมิอะไรได้ด้วยตัวเอง ในลักษณะที่เป็นหญิงมีความรู้อย่างดีผิดไปจากหญิงชาวบ้านในสมัยเดียวกัน ชนิดที่ว่าไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเพศชาย

เช่น ฉากจัดพิธีรับขวัญหลาน ต่อมาเมื่ออายุได้ 13 ปี ทำพิธีโกนจุก (โสกันต์) แล้วพาไปหาพ่อขุนแผนที่อยุธยาด้วยตัวเอง จากนั้นเจ้ากี้เจ้าการเป็นธุระฝากพลายงามเข้าทำงานในวัง

ภิญโญ ศรีจำลอง เชื่อว่าบุคลิกและนิสัยใจคอของย่าทองประศรีเช่นนี้ สุนทรภู่น่าจะถ่ายทอดมาจากการคลุกคลีตีโมงกับญาติฝ่ายมารดา ซึ่งสุนทรภู่เติบโตมาแบบไม่มีพ่อ มีแต่แม่เป็นผู้นำครอบครัว กับญาติของแม่ ซึ่งเกี่ยวดองกับพระอัครชายา คือเจ้าครอกทองอยู่ ในกรมพระราชวังหลัง

สุนทรภู่จึงเรียนรู้ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ มาจากการใช้ชีวิตท่ามกลาง “กุลสตรีวังหลัง” ทั้งหลาย

ความปรารถนาอย่างแรงกล้าของสุดสาครก็ดี พลายงามก็ดี ที่จะได้พบหน้าพ่อ ซึ่งไม่เคยได้เห็นกันมาก่อนตั้งแต่ลืมตาดูโลกนั้น เป็นภาพสะท้อนของตัวสุนทรภู่เองที่ต้องการปลดปล่อย ตัวเองให้เป็นอิสระจากระบอบ “มาตาธิปไตย” หรือการที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ในครอบครัว

การที่บิดามารดาหย่าขาดจากกัน บิดาหนีไปบวช มารดามีสามีใหม่ เชื่อกันว่าสุนทรภู่ย่อมไม่ลงรอยกับ “พ่อเลี้ยง” เท่าใดนัก ดังที่สุนทรภู่ได้ทะเลาะวิวาทกับ “ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายมารดาคนหนึ่ง” จนถึงกับต้องยอมติดคุก แม้ไม่ระบุชื่อว่าญาติผู้นั้นเป็นใคร แต่ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่า คือสามีใหม่ของแม่นั่นเอง

เมื่ออ่านฉากการแรมรอนร่อนเร่ตามหาพ่อของสุดสาครและพลายงามเสร็จแล้ว ต้องย้อนหวนกลับมาอ่าน “นิราศเมืองแกลง” อีกครั้ง แล้วจะพบว่าทั้งสามเรื่องได้อารมณ์เดียวกัน

เป็นการพรรณนาฉากเด็กหนุ่มพเนจร มีเจตจำนงที่จะต้องบุกบั่นฟันฝ่าอุปสรรคความทุรกันดารทุกวิถีทางอย่างไม่ย่อท้อ เพียงเพื่อจะรอพบหน้าพ่อ