เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /เสน่ห์เสียงคำในกาพย์กลอน

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

เสน่ห์เสียงคำในกาพย์กลอน

 

ทํานองเพลงของดนตรีนั้นมีเสียงกับจังหวะกำหนดไว้ชัดเจน เช่นเดียวกับกาพย์กลอนก็มีเสียงกับจังหวะกำหนดชัดเจน และก็เหมือนกับศิลปะทุกสาขาไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรมตลอดจนคีตกรรม และนาฏกรรม ย่อมมีเสียงกับจังหวะกำหนดอยู่แล้วด้วย

หากจิตรกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรมนั้นอาจเรียกเป็นอย่างอื่นในความหมายเดียวกัน เช่น การจัดวางองค์ประกอบ (composition) ก็คือท่วงทำนองหรือเสียงในภาษาของกาพย์กลอนและดนตรีนั่นเอง

ขณะที่แสงเงาหรือมิติในจิตรกรรม ปฏิมากรรม สถาปัตยกรรมก็คือเสียงหรือความเหลื่อมล้ำเช่นกัน

 

เพื่อพักผ่อนนอนหลับในทับทิพย์

ชมดาววิบแวมวอมในอ้อมสรวง

ระรื่นรินกลิ่นผกาบุปผาพวง

ลิ้มผึ้งรวงหวานลิ้นด้วยยินดี

กลอนของที่ประยอม ซองทอง บทนี้จำได้ติดใจจนเป็นแบบให้ฝึกเขียนตามเรื่องเสียงกับจังหวะโดยไม่รู้ตัว

เสียงภาษาไทยมีห้าเสียงดังรู้กัน คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา หากลำดับตามเสียงดนตรี ไล่จากต่ำไปสูงจะได้ดังนี้

จัตวา-เอก-สามัญ-โท-ตรี

จัตวาต่ำสุด ตรีสูงสุด เหมือนเสียงโน้ตโด เร มี ฟา ซอล ห้าเสียงพอดีเช่นกัน

เสียงท้ายวรรคของกลอนไทยใช้กันมาแต่ดึกดำบรรพ์ ก็จะเป็นเช่นนี้ คือ

ท้ายวรรคแรกได้ทุกเสียง

ท้ายวรรคสองห้ามเสียงสามัญ-ตรี

ท้ายวรรคสาม-สี่ต้องเสียงสามัญ-ตรี

กลอนตัวอย่าง ท้ายวรรคแรกคือคำ “ทิพย์” เป็นเสียงตรี (ได้ตามกฎคือทุกเสียง) ท้ายวรรคสองคือคำ “สรวง” เป็นเสียงจัตวา (ไม่ใช่เสียงต้องห้ามคือสามัญ-ตรี)

ท้ายวรรคสาม-สี่คือคำ “พวง” กับ “ดี” เป็นเสียงสามัญ ถูกต้องตามบังคับคือต้องสามัญ-ตรี

ผู้แต่งกาพย์กลอนพึงต้อง “แม่นเสียง” ห้าเสียงนี้คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา จนเป็นอัตโนมัติกระทั่งรู้ด้วยว่าแม้วรรณยุกต์กำกับเสียงเองบางทีก็หาใช่บอกเสียงแท้จริงไม่ เช่นคำ

แม่ค้า

จริงอยู่วรรณยุกต์เอก โท แต่ไม่กำหนดว่าคำแม่กับคำค้าจะเป็นเสียงเอก โท ซึ่งในที่นี้คำแม่กลับเป็นเสียงโท และคำค้ากลับเป็นเสียงตรี หาได้เป็นเสียงตามเครื่องหมายไม่

ทั้งนี้ พื้นเสียงของอักษรนั่นเองกำหนดให้วรรณยุกต์ต้องแปรผันเสียงไป

 

มีวิธีจำง่ายๆ ว่าคำใดเสียงอะไรโดยการใช้อักษรกลางเข้าเทียบ อักษรกลาง เช่น ก.ไก่ เข้าเทียบจับคำ “แม่ค้า” ว่าเป็นเสียงอะไรได้เลย เอา ก.เทียบแม่ค้าก็ต้องเป็น “แก้ก๊า” รู้ทันทีเลยว่า แม่เป็นเสียงโท ค้าเป็นเสียงตรี จากวรรณยุกต์ที่มากำหนดเทียบกับอักษรกลางคือ ก.ไก่นั้น

เสียงท้ายวรรคกลอนกับท้ายวรรคกาพย์นั้นก็ต่างกัน โดยเฉพาะทุกท้ายวรรคกับท้ายวรรคท้ายของกาพย์ทุกประเภท มีสุรางคณางค์ 27 ฉบัง 16 ยานี 11

กลอนจะมีสี่วรรคซึ่งกำหนดเสียงไว้แล้วตามนั้น แต่กาพย์ไม่กำหนดเสียงตายตัวทุกวรรค

ยกเว้นคำ “ท้ายวรรคท้าย” ของกาพย์ทุกประเภทว่าต้องไม่หรือไม่นิยมใช้เสียงเอกกับเสียงโท เป็นเสียงคำ “ท้ายวรรคท้าย”

นอกนั้นใช้ได้หมดทุกเสียง บางทีเสียงจัตวายิ่งทำให้ไพเราะเป็นพิเศษ ดังกาพย์ “เปิบข้าว” ของจิตร ภูมิศักดิ์ บทนี้

ข้าวนี้นะมีรส

ให้ชนชิมทุกชั้นชน

เบื้องหลังสีทุกข์ทน

ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ

เข็ญเป็นเสียงจัตวา ต้องห้ามในคำท้ายวรรคสี่ของกลอน แต่ในกาพย์กลับใช้ได้ รวมทั้งคำ “ชน” ในท้ายวรรคสองซึ่งเป็นเสียงสามัญต้องห้ามในกลอนก็ใช้ได้ในกาพย์

นี้เป็นแบบแผนฉันทลักษณ์ของกาพย์กลอนซึ่งผู้รักจะเขียนกาพย์กลอนพึงรู้เป็นพื้นฐานเบื้องต้น เหมือนผู้รักเขียนรูปพึงฝึกให้ชำนาญเป็นเบื้องต้น คือ

ขีดเส้นให้ตรงเขียนวงให้กลม

จากนี้จึงขยายไปถึงเรื่องของเนื้อหา ซึ่งสำคัญยิ่งไม่แพ้กันจากเนื้อหาก็ไปถึง “ศิลปะการนำเสนอ” ซึ่งแต่ละคนต่างมีลีลาท่าทีเป็นของแต่ละคนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเฉพาะตน

 

เคยไป “เขียนแผ่นดิน” ที่บางแสนกับภรรยา ซึ่งเป็นคนเขียนรูป เธอตั้งแผ่นผ้าใบบนขาหยั่ง แล้วเราต่างเขียนไปพร้อมกันจนเสร็จได้รูปได้กลอนแทบว่าจะลอกเป็นพิมพ์เดียว

ดังกลอนที่นำมาประกอบนี้

พิเศษโดยไม่ตั้งใจเพิ่งมาสังเกตได้เมื่อเร็วๆ นี้เอง คือบทท้ายวรรคสองที่ว่า

น้ำท้นท่วมทรายแดดสายส่อง

วรรคนี้เรียงเสียงไล่เสียงจากสูงลงต่ำไปโดยไม่ตั้งใจ คือ จากตรี (น้ำท้น) โท (ท่วม) สามัญ (ทราย) เอก (แดด) จัตวา (สาย) แล้วลงหนักด้วยเสียงเอก (ส่อง)

เรียงลำดับตัวโน้ตจากสูงเป็น ซอล ฟา มี เร โด เร มาลงต่ำสลับซ้อนเสียงพอดี…นี่ไง

เสน่ห์บางแสน

 

บางแสน

 

ใครหนอ ทอทะเลให้ลายเลื่อม

ทอคลื่นให้กระเพื่อมเพียงแพรวไหม

ใครหนอ เขียนนกให้บินไป

และใครหนอใคร ขึงขอบฟ้า

 

แตะแต้มตรงนั้น และตรงนี้

เป็นสีเป็นสัน อันเจิดจ้า

แดงจัด ขาวแจ่ม กระจ่างตา

เคลื่อนไหวไปมา มีชีวิต

 

ใครหนอ โปรยทองเป็นทางทราย

ก่อกองหินราย เรียงต่อติด

เรือเคลื่อนคลื่นคลี่ ทีละนิด

ทีละน้อย ค่อยชิดค่อยฉาบฟอง

 

แมลงปอบินทัก กับทิวสน

น้ำท้นท่วมทรายแดดสายส่อง

สีแปลงแสงเปลี่ยนประกายทอง

ใครหนอ เฝ้าประคอง ความเปลี่ยนแปลง ฯ

 

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์