วิรัตน์ แสงทองคำ/Central-Selfridges

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/https://viratts.com/

Central-Selfridges

 

เชื่อว่า การซื้อกิจการห้างอังกฤษ เป็นเป้าหมายที่สำคัญมากๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล

ดีลฮือฮาปลายปีอีกกรณีหนึ่ง ผ่านสื่ออังกฤษ (เมื่อ 2 ธันวาคม 2564) ข้ามฟากฟ้ามาไทย ฟันธงว่า “ตระกูลจิราธิวัฒน์” แห่งกลุ่มเซ็นทรัล ประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อห้างหรูของอังกฤษ-Selfridges ด้วยราคาสูงถึง 4 พันล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 180,000 ล้านบาท

แม้ว่า บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันเดียวกัน “ขณะนี้บริษัทไม่มีส่วนในการดำเนินการตามรายละเอียดของข่าวดังกล่าว”

แต่สำหรับนักลงทุนและผู้คนซึ่งเข้าใจโครงสร้างธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล คิดว่าไม่ใช่เป็นการปฏิเสธข่าว

หากเป็นคำตอบเชิงเทคนิค

 

เมื่อพิจารณาโครงสร้างธุรกิจของ CRC ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพบว่ามีเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในยุโรปเฉพาะบางประเทศเท่านั้น “ห้างสรรพสินค้า 9 แห่งใน 8 เมืองของประเทศอิตาลี” (https://www.centralretail.com/th/what-we-do/our-coverage)

ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัล (https://www.centralgroup.com/th) ให้ภาพที่กว้างกว่ามาก ในฐานะบริษัทแม่ ที่มีเครือข่ายบริษัทย่อยๆ ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และไม่อยู่ เฉพาะที่เกี่ยวกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้าในยุโรประบุไว้มีมากกว่า CRC นัก

ความจริงแล้ว กลุ่มเซ็นทรัลเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวพอสมควร (ผ่าน https://www.centralgroup.com ที่อ้างไว้) ทำให้เห็นภาพได้ว่ามีแผนการขยายเครือข่ายสรรพสินค้าในยุโรปอย่างแข็งขันอย่างต่อเนื่อง เริ่มแต่ตั้งแต่ปี 2554 จะเรียกว่าเป็น “ทศวรรษแห่งยุโรป” ก็คงได้

ดีลล่าสุดก่อนหน้า เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2563 ขณะวิกฤตการณ์ COVID-19 เริ่มลุกลามทั่วยุโรป คือการซื้อห้างในประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“กลุ่มเซ็นทรัลร่วมกับซิกน่า เข้าซื้อกิจการ ‘โกลบัส’ (Globus) เชนห้างสรรพสินค้าสุดหรูในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จำนวนทั้งหมด 8 แห่งที่ตั้งอยู่ในสุดยอดโลเกชั่นตามเมืองต่างๆ จากบริษัท Migros-Genossenschafts-Bund (MGB) โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 50 : 50” ประเด็นข่าวสำคัญทางการจากกลุ่มเซ็นทรัล (เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2563)

 

ถ้อยแถลงข้างต้นให้ภาพใหญ่ เครือข่ายธุรกิจห้างสรรพสินค้าของกลุ่มเซ็นทรัลในยุโรปไว้อย่างน่าสนใจด้วย

การซื้อกิจการ La Rinascente ประเทศอิตาลี เมื่อปี 2554 ถือเป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลในยุโรป “ปัจจุบันกลุ่มเซ็นทรัลบริหารธุรกิจใน 5 ประเทศ 19 เมืองในยุโรป รวมถึงอีก 2 เมือง คือ D?sseldorf และ Vienna ที่โครงการอยู่ในระหว่างการพัฒนา เรามีห้างสรรพสินค้าที่เป็นแฟลกชิปสโตร์ทั้งหมด 8 แห่ง ทำให้กลุ่มเซ็นทรัลเป็นหนึ่งในผู้นำค้าปลีกระดับลักชัวรี่ที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป” ทศ จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเซ็นทรัล กล่าวไว้ (บางส่วนของถ้อยแถลงอ้างถึงข้างต้น)

เท่าที่สำรวจห้างสรรพสินในยุโรป อยู่เครือข่ายกลุ่มเซ็นทรัล ล้วนเป็นห้างที่มีตำนานของวิถีชีวิตผู้คน ผู้บริโภคในยุโรป ในยุคการกำเนิดขึ้นของห้างสรรพสินค้า (โปรดพิจารณาปีก่อตั้ง จาก TIME-LINE) ทั้งนี้ เชื่อว่ามีอิทธิพลต่อเนื่องมาจากเกาะอังกฤษ อย่างที่ผมเคยนำเสนอไว้เมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ว่าด้วยเซ็นทรัลยุคต้น ผู้ให้กำเนิดโมเดลห้างสรรพสินค้าอย่างเป็นแบบแผนในประเทศไทย จากกรณีการเปิดตัวห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สีลมเมื่อปี 2511

ห้างเซ็นทรัล สีลม ตึกสูง 9 ชั้น บนเนื้อที่ 2 ไร่ ตกแต่งภายในอย่างหรูหรา “แต่ปรากฏว่า คนเกรงกันว่า ราคาสินค้าจะแพง เพราะเป็นห้างสรรพสินค้าติดแอร์ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น ฉะนั้น ผลคือความเงียบเหงา มาพร้อมกับการขาดทุนถึง 2 ปีเต็ม” (อ้างจากหนังสือ “70 ปีจิราธิวัฒน์ Central ยิ่งสู้ยิ่งโต” โดยผมเป็นผู้เขียนร่วม)

แผนการปรับตัวทางธุรกิจมีขึ้น โดยเฉพาะการจัดการแสดงสินค้าต่างประเทศจากยุโรป ทั้งอิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษ ถือเป็นการส่งเสริมการขายครั้งแรกที่ได้ผลดีต่อเซ็นทรัล สีลม

ไปสู่บทสรุป “…มีความทันสมัย ทำให้มีคนนิยมไปจับจ่ายซื้อของมากที่สุดในสมัยนั้น”

 

“ห้างสรรพสินค้า (Department store) คำนิยามพื้นๆ – เป็นร้านค้าขายปลีกขนาดใหญ่ซึ่งมีสินค้าหลากหลายประเภทแยกตามแผนก เป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นครั้งแรกในยุโรป เชื่อว่าอิทธิพลมาจากห้างสรรพสินค้าในกรุงลอนดอน อังกฤษ โดยเฉพาะ Harrods และ Selfridges ส่งผ่านมายังสังคมกรุงเทพฯ ด้วย เท่าที่ทราบ หลังจากเปิดห้างเซ็นทรัล วังบูรพาไม่นาน เตียง จิราธิวัฒน์ ได้ส่งบุตรชาย 2 คน (สุทธิชัย และสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์) ไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ เมื่อจบการศึกษากลับมา ทั้งสองได้มีโอกาสร่วมงานสร้างเซ็นทรัลสาขาสีลม ในปี 2511 ถ้าจำไม่ผิดที่สีลมมีป้ายชื่อห้างเป็นภาษาอังกฤษ-Central Department store เป็นครั้งแรก” บางตอนที่เคยเสนอไว้ เชื่อว่ายังพอมีเหตุมีผล

เชื่อว่า Harrods (ก่อตั้งปี 2377) เป็นต้นแบบ และบุกเบิกโมเดลห้างสรรพสินค้ายุโรป ขณะที่ Selfridges (ก่อตั้งปี 2451) มาพร้อมกับกระแสทั่วยุโรป มาทีหลังราวๆ 7 ทศวรรษ มีบทบาทเปิดโฉมหน้าใหม่ห้างสรรพสินค้า

สารคดีเรื่อง Secrets of Selfridges (เคยเสนอทางทีวีบอกรับของไทย) ได้เล่าเรื่องราวห้างสรรพสินค้าใหม่ในกรุงลอนดอนเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว ลงทุนสร้างโดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน ผู้มีประสบการณ์ไม่ดีนัก กับห้างหรูในลอนดอน

Selfridges ได้เปิดศักราชใหม่ สร้างแรงกระตุ้นต่อผู้บริโภคอย่างเข้มข้น จนผู้คน 1 ใน 4 ของกรุงลอนดอนเข้าร่วมงานเปิดตัวครั้งแรกอย่างครึกโครม เป็นไปตามแนวคิดห้างสรรพสินค้าเพื่อตอบสนองลูกค้า ทุกระดับ ท้าทายกับวัฒนธรรมชนชั้นดั้งเดิมของอังกฤษ ที่สำคัญมีแนวทางธุรกิจและการตลาดที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าการจัดแสดงสินค้า การลดราคาประจำปี ให้ความสำคัญในการจัดแต่งหน้าร้าน ฯลฯ ล้วนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกห้างสรรพสินค้า

นอกจากนี้ Selfridges เป็นโมเดลห้างสรรพสินค้าที่ปรับตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าการเปลี่ยนมือหลายต่อหลายครั้ง และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย

บทเรียนการพัฒนาต่อเนื่องสู่ยุคใหม่ เป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายสาขาเพิ่มขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ของสหราชอาณาจักรในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จาก Manchester มีถึง 2 แห่งที่ Trafford Centre (ปี 2541) และที่ Exchange Square (ปี 2545) จนมาถึงสาขาใหม่ออกแบบอย่างแตกต่างที่ Birmingham (ปี 2546)

 

 

TIME-LINE

 

2554

ซื้อกิจการ La Rinascente (ก่อตั้งปี 2408) กลุ่มห้างสรรพสินค้า 9 สาขา ตั้งอยู่ใน 8 เมืองในประเทศอิตาลี “ด้วยชื่อเสียง ความมีระดับ และประวัติที่สืบทอดมายาวนาน” โดย Flagship store อยู่ใน Milan และ Rome

2556

เข้าสู่ภูมิภาคสแกนดิเนเวีย ซื้อกิจการ Illum (ก่อตั้งปี 2434) ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่สุดในประเทศเดนมาร์ก ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง Copenhagen

2558

เข้าสู่เยอรมนี ร่วมลงทุนกับพันธมิตร (SIGNA Group กลุ่มบริษัทใหญ่ในยุโรป ถือครองอสังหาริมทรัพย์จำนวนมาก) เพื่อเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ใจกลางเมืองใหญ่ในประเทศเยอรมนี 3 แห่ง KaDeWe Berlin (ก่อตั้งปี 2450) Oberpollinger Munich (ก่อตั้งปี 2448) และ Alsterhaus Hamburg (ก่อตั้งปี 2455)

2563

ร่วมมือกับ SIGNA Group เข้าซื้อกิจการ Globus (ก่อตั้งปี 2435) เชนห้างสรรพสินค้าและอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ จำนวน 8 แห่ง ตั้งอยู่ในทำเลสำคัญๆ ตามเมืองต่างๆ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์