จดหมาย/ฉบับประจำวันที่ 17-23 ธันวาคม 2564

จดหมาย

 

แชร์ลูกโซ่

เมื่อเร็วๆ นี้ ได้พบกับท่านสามารถ เจนชัยจิตรวนิช โดยบังเอิญ

เลยได้มีโอกาสนั่งดื่มกาแฟคุยกัน

ท่านสามารถเป็นอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ที่ถูกขาใหญ่ในพรรคพลังประชารัฐ แทงข้างหลัง จนต้องแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่งด้วยตนเอง

โดยไม่ต้องให้ใครไปยืนเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความเรื่องจริยธรรม เหมือนใครบางคน

พบกันวันนั้น คุยกันหลายเรื่อง ที่เห็นว่าน่าสนใจคือ เรื่องแชร์ลูกโซ่

ทุกวันนี้ ปัญหาเรื่องแชร์ลูกโซ่เป็นปัญหาใหญ่

ที่ทางรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังต้องให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที

เพราะมีลูกแชร์ที่ถูกเจ้ามือโกงอยู่บ่อยครั้งมาก

กระทรวงการคลังน่าจะดำเนินการจับกุมบรรดาแชร์ลูกโซ่ที่หลอกลวงประชาชนอยู่ทุกวัน

แต่กลับไม่ดำเนินการทั้งๆ ที่มีระเบียบบังคับอยู่

ชาวบ้านถูกหลอกทุกวันเป็นหนี้เป็นสินจำนวนมาก

 

   กลโกง

 

ปัญหาเรื่องแชร์ลูกโซ่

นับวันโผล่มาให้เห็น

กันมากมายหลายประเด็น

กลายเป็นปัญหาสังคม

 

เพราะแชร์เถื่อนที่เกลื่อนกลาด

กลโกงกวาดเงินไปจม

ลูกแชร์ต่างร้องระงม

เงินสูญขมขื่นหัวใจ

 

ตัวอย่างเช่นแชร์ “ประสิทธิ์

เจียวก๊ก” คิดทำงานใหญ่

หลอกลวงชาวบ้านให้

ร่วมลงทุนแล้วตุ๋นพลัน

 

อีกทั้งแชร์ล็อตเตอรี่

สมรักษ์เจอดีเข้านั่น

เป็นข่าวใหญ่ฮือฮาครัน

เจ้ามือนั้นฆ่าตัวตาย

 

แชร์ทองคำที่เมืองชล

นั่นโกงคนกว่าแปดร้อยราย

หอบเงินหนีไปมากมาย

หลายร้อยล้านสำราญใจ

 

จึงได้มีคำถามมา

จากนายสามารถ เจนชัย

จิตรวนิช ฐานะใน

อดีตประธานต้านแชร์ลูกโซ่

 

ว่าคนในกระทรวง “คลัง”

ทำไมยังนั่งหัวโด่

ไยจึงไม่ออกไปโชว์

ฝีมือจับครับเจ้านาย

 

เพราะมันเป็นหน้าที่ท่าน

ต้องจัดการตามกฎหมาย

ตามระเบียบบังคับไว้

ใช่มิใช่ไหนตอบที

สมโชค พลรักษ์

 

กรณีสามารถ เจนชัยจิตรวนิช

ลาออกจากผู้ช่วยรัฐมนตรียุติธรรมนั้น

เป็นกรณี “สองคนยลตามช่อง”

คงแล้วแต่ใครจะมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างไร

แต่ที่เห็นสอดคล้องกัน

นั่นก็คือในภาวะที่เศษฐกิจตกสะเก็ด

แชร์ลูกโซ่ยิ่งแพร่ระบาดหนัก

เห็นด้วยที่ฝ่ายรับผิดชอบทุกฝ่าย

ต้องตื่นตัวเข้าควบคุม

เพราะ “เหยื่อ” ก็คือชาวบ้านทั้งสิ้น

 

ในนามแห่กฎหมาย

สืบเนื่องจากการที่ศาลสั่งลงโทษจำคุกออง ซาน ซูจี เป็นเวลาสี่ปี

ตามข้อหาที่กุขึ้นมา เป็นตัวอย่างล่าสุดของเจตจำนงของกองทัพเมียนมา ที่จะขจัดการต่อต้านใดๆ และปราบปรามเสรีภาพในเมียนมา

การตัดสินของศาลผ่านกระบวนการที่ขาดความน่าเชื่อถือและทุจริต

เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนที่เลวร้ายของการลงโทษโดยพลการ ซึ่งที่ผ่านมาทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 1,300 คน และถูกจับกุมหลายพันคน นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์

ยังคงมีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนมากซึ่งไม่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแบบออง ซาน ซูจี

มีความเสี่ยงอย่างมากว่าพวกเขาจะถูกคุมขังเป็นเวลาหลายปี จากการใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ

เราต้องไม่ลืมพวกเขาและไม่ปล่อยให้พวกเขาประสบชะตากรรมเช่นนั้น

ในขณะที่ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นฐานหลายพันคน และทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมท่ามกลางการระบาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์ในเมียนมาทุกวันนี้จึงเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง หากนานาชาติไม่หาทางแก้ไขอย่างเด็ดขาด เป็นเอกภาพ และรวดเร็ว

สถานการณ์เช่นนี้อาจจะเลวร้ายมากขึ้น

ประชาคมระหว่างประเทศต้องเพิ่มการดำเนินงานเพื่อคุ้มครองพลเรือน

เป็นเรื่องน่าละอายที่อาเซียนยังไม่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ตามฉันทามติฉุกเฉินของตน หลังมีการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวกว่าครึ่งปีที่แล้ว นอกจากการห้ามไม่ให้นายทหารระดับสูงอย่างมิน อ่อง ลาย เข้าร่วมการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง อาเซียนยังคงแสดงท่าทีอ่อนแออย่างน่าตกใจ

ในขณะที่กองทัพเมียนมาก็ยังปราบปรามผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ เร่งการทำลายล้าง และกวาดล้างเสรีภาพในการแสดงออก

มิงยู ฮาห์

รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์

แอมเนสตี้ินเตอร์เนชั่นแนล

 

ดําเนินการตามกฎหมาย

มักเป็นข้ออ้างของฝ่ายที่มีอำนาจ

ใช้เป็นความชอบธรรม

ในการเล่นงานฝ่ายที่มีจุดยืนตรงข้าม

กรณีออง ซาน ซูจี คือตัวอย่างหนึ่ง

และแน่นอน อาจรวมทั้งในไทยด้วย

ที่หลายกรณีกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ

บดขยี้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

มากกว่าเป็นการอำนวย “ความยุติธรรม”