E-DUANG : ภูมิทัศน์ การเมือง เชิงปริมาณ กับ แรงสะเทือนใหม่ ความคิด

การทำความเข้าใจต่อลักษณะแห่งประชากรในกรุงเทพมหานครจะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจว่าเหตุใดการตัดสินใจในทางการเมืองจึงออกมาในลักษณะที่เห็นและเป็นอยู่

นั่นก็คือ หากมิใช่คนแบบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ก็จะเป็นคนในแบบของ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง

การปรากฏขึ้นของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ การปรากฏขึ้นของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือแม้กระทั่งการปรากฏขึ้นของ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร จึงมิได้อยู่เหนือความคาดหมาย

เว้นแต่ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 นั้นหรอกที่เกิดมี พรรคอย่างพรรคอนาคตใหม่ มีคนอย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มี คนอย่าง นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช

กระนั้น พรรคในแบบพรรคอนาคตใหม่ก็ยังเป็นความแปลกและมิอาจยอมรับให้ดำรงคงอยู่ต่อไปจึงจำเป็นต้อง”ยุบ”

มองในขอบเขตทั่วประเทศพรรคอนาคตใหม่จึงเล็กจ้อยยิ่ง

ยิ่งมองอย่างเจาะลึกลงไปในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครก็ยิ่งสัมผัสได้ในความแปลกแยกและยากจะแจ้งเกิดได้

 

หากมองผ่านผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กล่าวสำหรับกรุงเทพมหานครมีอยู่ทั้งสิ้น 4.5 ล้านคน

ภายใน 4.5 ล้านส่วนใดที่ถือว่าเป็นประชากร”ส่วนใหญ่”

คำตอบก็คือ ประชากรในกลุ่มอายุระหว่าง 46 ปีขึ้นไปต่างหาก ที่มีจำนวนมากที่สุด 2.3 ล้านคน รองลงมาเป็นกลุ่มอายุระหว่าง 18-45 จำนวน 1.3 ล้านคน

แนวโน้มของคนอายุ 46 ปีขึ้นเป็นแนวโน้มที่มีลักษณะอนุรักษ นิยมอย่างเด่นชัด คือมีความโน้มเอียงที่จะชมชอบคนแก่

มองด้าน”ปริมาณ” อายุ 46 ปีขึ้นคือด้านที่ครอบงำ คือส่วนข้างมากของประชากรซึ่งจะมีผลสะเทือนต่อการเลือกตั้ง

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มใหม่อย่างหนึ่งจากการปรากฏของพรรคอนาคตใหม่ได้สร้างภูมิทัศน์และผลสะเทือนใหม่อีกผลสะเทือนหนึ่ง ในทางการเมือง จากที่”ผู้ใหญ่”มีส่วนกำหนดทิศทางและ”การเลือก”

แต่ที่เริ่มกลายเป็นโรคระบาดคือ บรรดาลูกๆกลับส่งแรงสะเทือนทำให้การตัดสินใจของ”ผู้ใหญ่”เปลี่ยน

นั่นคือผลสะเทือนจาก 1.3 ต่อ 2.3 ล้านอย่างมีความหมาย