ปริศนาโบราณคดี : 230 ปี รัตนกวี “สุนทรภู่” (จบ) เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว จรูญจรัสรัศมีพราว พร่างพร้อย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

บทความตอนสุดท้ายขอปิดฉากด้วยการไขปริศนาว่าด้วย “นิราศเก้าเรื่อง” อันลือลั่น ว่าตกลงมีทั้งหมด 9 เรื่องจริงหรือ ก็ไหนว่าบางเรื่องพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่สำนวนของสุนทรภู่จริง หลักสูตรวิชาวรรณคดีที่สอนกันอยู่ทุกวันนี้บางสถาบันยังยืนพื้นไว้ว่ามี 9 เรื่อง

แต่บางสถาบันบอกว่าเหลือแค่ 7

ควรแล้วหรือที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างพูด ต่างคนต่างเชื่อ แล้วแต่จะคิดเช่นนี้ไปเรื่อยๆ น่าจะใช้วาระพิเศษครบรอบชาตกาล 230 ปีของสุนทรภู่ ระดมปราชญ์มาชำระสะสาง เพื่อหาข้อสรุปเรื่องนี้ให้ชัดเจน

 

นิราศ 9 เรื่อง ทำไมจึงมีปัญหา

ปัญหาของความสับสนว่านิราศเรื่องไหน ใช่-ไม่ใช่ ผลงานของสุนทรภู่นั้น เกิดจากบางชิ้นงานไม่ระบุนามผู้ประพันธ์ บางชิ้นงานสุนทรภู่เขียนจริง แต่ต้นฉบับกระจัดกระจายไปอยู่ในมือของคนรอบข้าง

นิราศบางชิ้นเคยเชื่อกันมานานว่าเป็นของสุนทรภู่ แต่อยู่ดีๆ ก็เกิดระแคะระคาย รู้สึกขัดเขินต่อสำนวนภาษา ตีความใหม่ ลงความเห็นว่า “ไม่ใช่งานของสุนทรภู่เสียแล้ว”

นอกเหนือไปจากปัญหาเรื่องใช่-ไม่ใช่แล้ว ยังมีนิราศที่ยังหาไม่พบอีกหลายชิ้น ดังเช่น “นิราศพิษณุโลก” ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าสุนทรภู่เคยไปพิษณุโลก เหตุเพราะได้หายสาบสูญไปแล้ว โดย”นายกลิ่น” ลูกบุญธรรมของสุนทรภู่ได้นำไปเผาพร้อมกับศพของสุนทรภู่ด้วยอารามเสียใจ!

นิราศชิ้นไหนบ้างที่ “นิ่ง” แล้ว หรือได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่อย่างไม่มีข้อแม้ ขณะนี้เหลืออยู่เพียง 7 เรื่อง

นิราศเมืองแกลง แต่งเมื่อ พ.ศ.2350 ตอนอายุ 21 ปี บ้างว่าสุนทรภู่ตั้งใจจะไปอุปสมบทกับบิดาที่เป็นพระ บ้างว่าเป็นการหลบหนีคดีชู้สาวกับแม่จันทร์

นิราศพระบาท แต่งหลัง 2350 เพียงปีเดียว ชิ้นนี้สุนทรภู่ร่วมขบวนไปในนามข้าราชบริพาร

นิราศสองชิ้นแรกนี้ แต่งสมัยรัชกาลที่ 1 ในช่วงที่สุนทรภู่ยังเป็นหนุ่มรุ่นกระทง แต่สิ่งที่ต้องถือว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก ก็คือการไม่พบนิราศของสุนทรภู่ที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 2 แม้แต่ชิ้นเดียว

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ เมื่อสุนทรภู่ได้รับการอุปถัมภ์ให้เป็นกวีในราชสำนัก ก็ย่อมได้รับมอบหมายให้รจนางาน “ตามสั่ง” ของเจ้าเหนือหัว งานยุคนี้จึงเน้นหนักไปในเชิงถวายความสำราญบรรโลมภิรมย์ แด่เจ้านายน้อยใหญ่พระองค์ต่างๆ อาทิ เห่กล่อมพระบรรทม สวัสดิรักษา (แต่งเมื่อเป็นครูของเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ 2) เพลงยาวถวายโอวาท นิทานคำกลอนเรื่องสิงหไตรภพ เสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม และนิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณี (เริ่มแต่งขณะติดคุก) ฯลฯ

กระทั่งมาพรั่งพรูผลิต “นิราศ” ชิ้นโบแดงอีกหลายเรื่อง เอาเมื่อตอนที่สุนทรภู่ออกจากราชการ ในสมัยรัชกาลที่ 3 คือสามารถทำงานตามเข็มทิศชีวิตตัวเองมากขึ้น งานนิราศช่วงนี้ ได้แก่

นิราศภูเขาทอง แต่งปี 2371 เป็นนิราศที่ได้รับการกล่าวขวัญว่า “กินใจ” ที่สุด ตั้งแต่บทแรกจนถึงบทสุดท้าย แตะวรรคไหนก็โดนวรรคนั้น เกือบเป็นวรรคทองได้ทุกวรรค ไม่ว่า “ถึงหน้าวัง” “ถึงโรงเหล้า” หรือ “ถึงบางพูด” รวมทั้ง “นักเลงกลอนนอนเปล่าก็เศร้าใจ”

โคลงนิราศเมืองสุพรรณ บ้างว่าแต่งปี 2379 บ้างว่า 2384 โคลงนิราศหนึ่งเดียวที่สุนทรภู่ตั้งใจโชว์ลีลาสารพัดโคลงกลบท สลับกับโคลง 4 สุภาพ ที่มีลักษณะเฉพาะตัว นั่นคือการโยนลูกสัมผัสสระใส่ในทุกห้องตามแบบลีลากลอน แม้จะโดนค่อนขอดว่า “เขียนโคลงประสาอะไร ทำไมแต่งโคลงเป็นกลอน” หารู้ไม่ว่าสุนทรภู่ต้องการโชว์ฝีมือความยากถึงสองชั้น

รำพันพิลาป แต่ง พ.ศ.2384 พรรษาสุดท้ายของชีวิตนักบวช เป็นนิราศที่หัวเรื่องไม่มีคำว่า “นิราศ” เป็นงานเขียนที่สุนทรภู่แอบซุกซ่อนไว้ไม่กล้าเปิดเผยชั่วชีวิต (เพิ่งมาค้นพบต้นฉบับในกุฏิวัดเทพธิดาช่วงที่กรมศิลปากรเข้าไปบูรณะราวปี 2504 นี่เอง) ด้วยเกรงพระราชอาชญา เนื้อหามีนัยสื่อว่าตกหลุมรัก กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 3อย่างสุดจะรัญจวนใจ แม้บทขึ้นต้น สุนทรภู่จะออกตัวอย่างแรงว่าเขียนขึ้นตามนิมิตฝันเพ้อพร่ำรำพันไปเรื่อยเปื่อย แต่ผู้อ่านก็พอจะจับพิรุธได้ว่า “ดอกฟ้า” “แก้วฟ้า” “นางฟ้า” “เทพธิดา” ในเรื่องนี้หมายถึงใคร

นิราศพระประธม แต่ง พ.ศ.2385 หลังจากสึกใหม่ๆ

นิราศเมืองเพชร แต่งระหว่าง พ.ศ.2388-2392 เป็นนิราศเรื่องสุดท้าย เป็นนิราศเรื่องเดียวที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ 4

ที่กล่าวมาทั้งหมด 7 เรื่องนี้ เป็นนิราศที่ไร้ข้อกังขาว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่จริงหรือไม่

 

นิราศ 2 เรื่องนี้ใครแต่งกันแน่

นิราศเจ้าปัญหา 2 เรื่องที่สร้างความสับสนว่าใช่งานของสุนทรภู่หรือไม่ ได้แก่นิราศวัดเจ้าฟ้า กับ นิราศอิเหนา

นิราศวัดเจ้าฟ้า แต่งปี 2375 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 ข้อสงสัยที่ทำให้คลางแคลงใจว่า “อาจไม่ใช่” ผลงานของสุนทรภู่จริงก็เนื่องมาจากบทเริ่มต้นที่เขียนว่า

                                           “เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร
เป็นเรื่องความตามติดท่านบิดร       กำจัดจรจากนิเวศเชตุพน”

 

แม้กระนั้นหลายท่านก็ยังมองว่า นี่คือ กลวิธีการแต่งรูปแบบหนึ่งของสุนทรภู่ ที่ประสงค์จะใช้ตัวละคร “สามเณรหนูพัด” ผู้เป็นบุตรชาย เป็นผู้เล่าเรื่องแทนตน

กรณีนิราศวัดเจ้าฟ้านี้ มีความเห็นแตกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งมองว่า หากไม่คิดซับซ้อนว่าสุนทรภู่จะต้องมาแกล้งแทนตัวละครเดินเรื่องให้เป็นลูกชายแล้วไซร้ (เพราะไม่เคยปรากฏกลวิธีเช่นนี้ในนิราศเรื่องอื่นใดเลย) เมื่อเชื่อเช่นนั้น นิราศวัดเจ้าฟ้าก็น่าจะเขียนโดย สามเณรหนูพัดจริง ในวัยเพียง 19-20 ปี

แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับมองว่า เหตุที่สุนทรภู่ต้องหาตัวละครมาเดินเรื่องแทนตนนั้น เพราะท่านไม่อยากอาบัติหรือผิดวินัยสงฆ์ที่เที่ยวตามหายาอายุวัฒนะ เพราะขณะแต่งเรื่องนี้ สุนทรภู่ยังอยู่ในสมณเพศ หากออกหน้าออกตาว่าเป็นพระแต่เที่ยวมาเสาะแสวงหาสิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ดูไม่ดี จึงเลี่ยงบาลีเสีย

นิราศวัดเจ้าฟ้า ณ วันนี้ บางสถานศึกษาก็ด่วนปลดออกจากทำเนียบนิราศ 9 เรื่องไปนานแล้วตั้งแต่ 20 ปีก่อน

แต่หลายสำนักก็ยังลังเลสงสัยว่า เหตุไฉนสำนวนสามเณรน้อยจึงคารมคมคายเกินวัย

จึงขอเก็บไว้ก่อน ยังไม่รีบถอดถอนจากบัญชี

นิราศอีกเรื่องที่ถูกตั้งข้อสงสัยคือ นิราศอิเหนา สันนิษฐานว่าแต่งราว พ.ศ.2385 ปีเดียวกันกับที่แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า

เป็นนิราศที่พรรณนาถึงความโศกเศร้าเสียใจของอิเหนา คร่ำครวญถึงความรักที่มีต่อนางบุษบา

ผู้เปิดประเด็นเรื่องนี้คือ อ.เทพ สุนทรสารทูล ผู้ได้ทำการศึกษาวิจัยผลงานทุกชิ้นของสุนทรภู่อย่างละเอียด นานกว่า 35 ปี ตั้งข้อสังเกตว่า นิราศอิเหนา ใช้ภาษาที่หวานหยดย้อยหยาดเยิ้ม อ้อยสร้อยละเมียดละไมเกินกว่าจะเป็นสำนวนของสุนทรภู่ได้

เพราะบุคลิกภาษาของสุนทรภู่ต้องดูแกร่ง มีลูกเบรก ลูกหยอด ลูกหักมุม สลับสับเปลี่ยนกันไป มากกว่าจะใช้ลีลาอิดเอื้อนอ่อนหวานเนิบนาบตอกย้ำไปตลอดทั้งเรื่องเช่นนี้

อาจารย์เทพ เสนอว่า บุคคลที่แต่งนิราศอิเหนา ควรเป็น กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ (ต้นสกุล “ทินกร”) มากกว่า กรมหลวงพระองค์นี้เป็นพระราชโอรสของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 2 เดิมชื่อพระองค์เจ้าทินกร ในวัยเยาว์ได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ฝึกเขียนกลอนกับสุนทรภู่ จนเลียนแบบจังหวะลีลาได้คล้ายคลึง แต่เป็นกวีที่เขียนกลอนได้โรแมนติกกว่า เน้นภาษาที่หวานกว่าสุนทรภู่

การกล้าฟันธงเช่นนี้ เพราะอาจารย์เทพได้ศึกษาเปรียบเทียบกับผลงานชิ้นอื่นที่กรมหลวงภูวเนตรนรินทร์ฤทธิ์ทรงนิพนธ์จำนวนหลายชิ้น

กรณีของ “นิราศอิเหนา” นี้ ยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดถอดถอนออกจากทำเนียบนิราศ 9 เรื่องของสุนทรภู่ แม้ว่าอาจารย์เทพจะตั้งข้อสังเกตไว้นานแล้วตั้งแต่ปี 2530 ผิดกับนิราศวัดเจ้าฟ้า เหตุเพราะนิราศวัดเจ้าฟ้า ประกาศชัดตั้งแต่บทแรกเองว่า “เณรหนูพัดหัดประดิษฐ์คิดอักษร”

แต่นิราศอิเหนาไม่ปรากฏชื่อผู้ประพันธ์ที่พอจะทิ้งร่องรอยอันใดให้คลำทาง ทำให้หลายท่านยังไม่ปักใจเชื่อว่าจะไม่ใช่ผลงานของสุนทรภู่ การที่นิราศอิเหนาเขียนได้หวานลึกถึงเพียงนี้ อาจเป็นเพราะธีมของเรื่องมีเพียงธีมเดียวคือความดื่มด่ำโศกาดูรต่อความรัก ต่างจากนิราศเรื่องอื่นที่ต้องมีหลายธีม

สุนทรภู่จึงสามารถเค้นอารมณ์พิศวาสทั้งหมดที่เขามีใส่ในนิราศอิเหนาได้อย่างไม่บันยะบันยัง ก็เป็นได้


เมื่อ “จิตร ภูมิศักดิ์” เลียนแบบนิราศอิเหนา

นิราศอิเหนาจะใช่-หรือไม่ใช่งานของสุนทรภู่ คงต้องสืบค้นถกเถียงกันต่อไป แต่ในที่นี้อยากหยิบยกงานช่วงวัยหนุ่มน้อยของนักคิดนักเขียนชื่อก้อง “จิตร ภูมิศักดิ์” มาให้ดู ซึ่งจิตรเคยเขียนบันทึกไว้ในทำนองว่า “จะลองเขียนจดหมายถึงหญิงคนรักดูสักที… แบบไม่จืดมลืดชืดเหมือนจดหมายรักที่ลงตามหน้าหนังสือพิมพ์ในสมัยนั้น”

วิชัย นภารัศมี เรียกนิราศที่จิตรไม่ได้ตั้งชื่อนี้ว่า “นิราศหญิง” เพื่อให้สะดวกในการอ้างอิง ทันทีที่อ่านว่า พบว่าจิตรใช้ภาษาคล้ายจะเสียดล้อ นิราศอิเหนาแบบเต็มๆ แต่อีกมุมหนึ่งจิตรอาจแอบปลื้มสุนทรภู่อยู่ไม่น้อยก็เป็นได้

“พระองค์หญิงมิ่งมิตรของจิตรเอ๋ย     อย่าหวาดเลยพรายปอบจะลอบหลอน
จะเฝ้านั่งระวังภัยให้งามงอน           จงหญิงนอนเสียเถิดหนายอดนารี
เอาท่อนแขนแทนเขนยที่เคยหนุน     จะกอดอุ่นต่างผ้านะยาหยี
จะลาดใบไม้หญ้าประดามี              ต่างพระยี่ภู่เชยเคยสำราญ
เอาดอนดินหินผาสุธาเถื่อน            ต่างฟากเรือนห้องหับทับสถาน
เอาฟากฟ้านภาพางต่างเพดาน        วิสูตรม่านคือพุ่มซุ้มพระไทร
นิสากรจรกระจ่างกลางเวหา           ต่างชวาลาทองส่องไสว
เคยอบกลิ่นประทินทาผ้าสไบ          เอาเอื้อไพรอบงามเจ้าทรามเชย
จักจั่นกรีดหรีดผสมระงมเสียง         ต่างสำเนียงกล่อมหญิงอิงเขนย
พระพายเรื่อยเฉื่อยฉิวพลิ้วรำเพย     เหมือนเรียมเคยโบกขวัญให้บรรทม”


ทีนี้มาอ่าน “นิราศอิเหนา” บทกวีสุดคลาสสิค เพื่อเปรียบเทียบกัน ไม่ว่าจะแต่งโดยสุนทรภู่หรือไม่ก็ตาม

“นอนเถิดหนายาหยีพี่จะกล่อม        งามละม่อมมิ่งขวัญอย่าหวั่นไหว
คิรีรอบขอบเคียงเหมือนเวียงชัย       อยู่ร่มไม้เหมือนปราสาทราชวัง
เคยสำเนียงเสียงนางสุรางค์เห่         มาฟังเรไรแซ่เหมือนแตรสังข์
มีวิสูตรรูดกั้นบนบัลลังก์                มากำบังใบไม้ในไพรวัน
หนาวน้ำค้างกลางคืนสะอื้นอ้อน      จะกางกรกอดน้องประคองขวัญ
เอาดวงดาราระยับกับพระจันทร์      ต่างช่อชั้นชวาลาระย้าย้อย
จักจั่นหวั่นแว่วแจ้วแจ้วเสียง           ต่างสำเนียงขับครวญหวนละห้อย
พระพายเอ๋ยเชยมาต้องพระน้องน้อย เหมือนนางคอยหมอบกรานอยู่งานพัด
โอ้เวลาปานฉะนี้เจ้าพี่เอ๋ย              กระไรเลยแลเงียบเชียบสงัด
นำค้างเผาะเหยาะเย็นกระเซ็นซัด    ดึกสงัดดวงจิตจงนิทรา”