อาจินต์รำลึก : แปดปีที่แก่งเสี้ยน (6)/บทความพิเศษ แน่งน้อย ปัญจพรรค์

บทความพิเศษ

แน่งน้อย ปัญจพรรค์

 

อาจินต์รำลึก

: แปดปีที่แก่งเสี้ยน (6)

 

อีกภารกิจของความสุข

แท็งก์น้ำฝน

10 มิถุนายน-3 กรกฎาคม

เสร็จจากทางเดินเท้า กลับเข้ากรุงเทพฯ แล้ว อีกสองอาทิตย์ก็กลับมาอีก คราวนี้ มาตัดสินใจทำแท็งก์น้ำ เนื่องจากหลังคาบ้านเรามันกว้างยาวมาก ฝนตกทีไรน้ำฝนไหลทิ้งมากมายน่าเสียดายเหลือเกิน ควรจะทำแท็งก์น้ำเก็บน้ำฝน เราปลูกต้นไม้ไว้ไม่น้อย และยังต้องปลูกอีกมาก รอฝนอย่างเดียวไม่น่าจะพอ ต้องกักน้ำฝนไว้ด้วย

ฉลองกับจักรให้ฉันกำหนดจุดเองว่าจะทำตรงไหน แล้วเขาก็ลงมือ มันจะรองรับน้ำจากชายคาทั้งหน้าหลังของบ้านที่ต่อท่อลงมากับเสา แล้วต่อเลยไปลงแท็งก์ กะให้มันเก็บน้ำได้ราว 20,000 ลิตร หน้าแล้งไม่มีฝน คนที่นี่เขาต้องสั่งน้ำจาก อบต. เอามาใช้ มีรถสีแดงบรรทุกน้ำไปส่งตามบ้านที่สั่ง ถ้าต้องใช้น้ำมากกับการปลูกต้นไม้ รอน้ำ อบต.อย่างเดียวไม่พอ

ทำแท็งก์น้ำ หนักและยากกว่าทำถนนหลายเท่า มันกว้างยาวเท่าห้องห้องหนึ่ง ฐานต้องแข็งแรงมาก ผนังแต่ละด้านก็ก่ออิฐสองชั้น ระหว่างชั้นนอกกับชั้นในเว้นว่างไว้ใส่เหล็กผูกเต็มพื้นที่ แล้วเทปูนลงไปจนเต็มช่องว่าง ทำยังไงก็ไม่มีวันรั่ว

ปกติอาจินต์เป็นคนชอบงานช่าง ที่บ้านที่กรุงเทพฯ เมื่อแรกก็ดูแลจัดการต่อเติมเอง ตอนนี้ก็ยังชอบ ชอบดู ไม่ค่อยออกความเห็นอย่างคึกคักอะไรแล้ว ส่วนมากออกมาดูนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็เข้าไปดู TV จากจานดำในบ้าน

ตั้งแต่อยู่มาอาจินต์ยังไม่เคยเห็นบ้านนี้ครบทั้งบ้านเลย เห็นแต่หน้าบ้าน ขึ้นลง ฉันอยากให้อาจินต์เห็นหลังบ้านด้วย วันหนึ่งนั่งอยู่เฉยๆ ทีวีก็ไม่ดู เลยชวนไปเดินเล่นหลังบ้าน อาจินต์ก็ไป ฉันก็พาออกประตูหลัง ออกไปก็เป็นลานซักล้าง นอกลานซักล้างเงยหน้าขึ้นไปก็เป็นภูเขาไม้ป่าทั้งนั้น ที่ใกล้ๆ ตัวบ้านก็ปลูกพืชสวนครัวไว้บ้าง มะกรูด มะนาว และอื่นๆ บ้าง ก็ได้ผลดี เดินพ้นลานซักล้างแล้วเลี้ยวขวาลงตามทางเรียบตัวบ้านด้านหลัง ทางนี้ลาดลงด้านหน้า อาจินต์เดินตัวเกร็งมาก จับสองมือฉันแน่น เกร็งจนเหนื่อย เลยพานั่งพักบนก้อนหินใหญ่ข้างทาง

พักหนึ่งจึงเกร็งตัวเดินต่อลงไปจนถึงโรงรถที่อยู่ข้างแท็งก์ที่เขากำลังสร้าง นั่งพักที่เก้าอี้ไม้ซุงตรงนี้อีกพักใหญ่ หายเหนื่อยแล้วจึงพาเดินกลับทางหน้าบ้าน ขึ้นทางลาดหน้าบ้านเกร็งๆ อีกนิดหน่อยก็ขึ้นถึงระเบียงหน้าบ้าน ถอนหายใจเฮือก พอ ไม่ไปอีกแล้ว ทั้งคนเดินตัวเกร็งและคนต้องออกแรงจับดึงไม่ให้ล้ม เหนื่อยเลย

คงจะเหนื่อย คืนนี้หลับดีไม่มีเสียงเรียกใคร เช้าขึ้นเป็นวันอาทิตย์ ไม่มีใครทำงาน เหมือนโลกนี้มีเพียงเราสองคน และโลกทั้งโลกก็หลับใหลไปด้วยกันกับเรา

รุ่งเช้า ได้ยินเสียงอาจินต์ตื่นออกจากห้องไปแล้ว ฉันลุกตามออกไป อาจินต์ยืนหาอะไรสักอย่างอยู่ข้างกาต้มน้ำ อาจินต์ไม่เคยตื่นออกมาก่อนใครแบบนี้

“สายไฟอยู่ไหน”

“พี่จะทำอะไร”

“ต้มน้ำชงกาแฟ ขี้เกียจรอกบ”

ฉันช่วยหาก็ไม่เจอ เหลือบไปเห็นขวดน้ำกลั่น ซึ่งตั้งใจจะเอามาทำอะไรสักอย่างลืมแล้ว แต่บัดนี้มันว่างเปล่า

“พี่เอาน้ำนี้ใส่กาหรือ”

“ใช่”

ฉันยกกาน้ำออกไปหลังบ้าน เทออกมาก็มีสายไฟของกาต้มน้ำไหลตามออกมากับน้ำ

โอ้โอ๋ อาจินต์

 

เขียนมาถึงตรงนี้ฉันก็นึกถึงคำพูดของเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เอื้อเป็นแฟนหนังสือของอาจินต์มาตั้งแต่แรก เขาเคยซื้อหนังสืออาจินต์ที่สำนักพิมพ์อาจินต์ (ซึ่งคนในวงการเรียกกันว่าสำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้ว) พิมพ์มาให้ฉันเล่มหนึ่ง ตอนนั้นยังเรียนกันไม่จบ ฉันก็รู้จักอาจินต์เท่ากับเอื้อนั่นแหละ ตอนนี้เขาเห็นฉันทำบ้าน ทำนั่นทำนี่ ทีนี้เขาเตือนฉันว่า

“น้อย เธออย่าทำอะไรลงไปมากนักนะ ถ้าไม่มีพี่เขาแล้ว เธอจะยังอยากอยู่ที่นี่อีกหรือเปล่า”

ฉันสัมผัสได้ถึงความห่วงใยและหวังดีอย่างจริงใจ แต่ไม่รู้ว่าทำไมเขาจึงคิดอย่างนั้น

วันแล้ววันเล่าผ่านไปด้วยความเหน็ดเหนื่อยของคนทำแท็งก์น้ำสามสี่คน ช่วยอะไรเขาไม่ได้ บางวันฉันก็ได้แต่ออกไปหาซื้ออะไรมาให้เขากิน โดยเฉพาะพวกน้ำอัดลมที่เขาดื่มกินกันอย่างจริงจัง ชดเชยเหงื่อไคลที่ไหลย้อยท่วมตัว

บางวัน ไม่ไกลจากภาพความเหน็ดเหนื่อยของคนหนุ่มแข็งแรง ก็มีภาพนุ่มนวลสดใสมาให้ดูอยู่ใกล้ๆ ผีเสื้อเล็กๆ เหลืองๆ ปีกบางๆ ฝูงใหญ่ยาวมันหยอกล้อกันลงมาจากภูเขาเป็นสายๆ ตกเย็นก็บินกลับ น่าดูเหลือเกิน ผีเสื้อกำลังบินนั้นถ่ายรูปยากพอๆ กับนก แต่ผีเสื้อที่เกาะอะไรอยู่นิ่งๆ ถ่ายง่ายกว่านกที่เกาะอะไรอยู่เฉยๆ ถ้าใกล้หน่อย พอเราเริ่มตั้งท่าจะถ่ายมันก็ไม่เฉยแล้ว แว้บเดียวบินลิ่วไปโน่น ยอดไม้ต้นใดต้นหนึ่ง แต่ผีเสื้อที่เกาะอะไรนิ่งๆ เราถ่ายรูปใกล้ๆ มันก็ไม่หนี

เหน็ดเหนื่อยกันพอสมควรแล้ว วันหนึ่งมันก็ต้องเสร็จ แท็งก์น้ำเสร็จ แล้วเขาถามฉันว่าจะทาสีอะไร… ทาสี? ฉันไม่เคยคิด…ทาสีแท็งก์น้ำด้วยเหรอ…ใช่ ถ้าไม่ทา ใช้ไปมันก็เป็นราดำๆ น่าเกลียด

…เออ เอาไงดีล่ะ ขอคิดก่อนนะ วันนี้ก็เย็นแล้ว พรุ่งนี้จะบอก

 

รุ่งขึ้น ฉันตื่นแต่เช้า บอกจักรว่าเอาลำไผ่มาปิดแท็งก์น้ำ … ลำไผ่? … ใช่ ตัดไผ่บนภูเขาหลังบ้าน เอาลำเท่าๆ กันเหมือนที่คนตัดไผ่เขามาตัดบ่อยๆ เอายาวเท่าความสูงของแท็งก์ ทำเป็นแผงๆ วางปิดแท็งก์ไว้…นายจักรเข้าใจทันที แล้วก็ไปบอกให้นายเกด-คนที่มาตัดไผ่บนภูเขาหลังบ้านเราบ่อยๆ ตัดมาให้ด้วย

เรื่องไผ่รวกบนภูเขานี้ มีชาวบ้านขึ้นไปตัดบ่อยๆ ปีละหนสองหน หนละหลายวัน ฉันเคยคุยกับเขา นึกว่าเขาเอาไปทำอะไร ก็รู้ว่าเขาเอาไปขาย มีบริษัทรับซื้อส่งออกไปญี่ปุ่น สงสัยมาก ญี่ปุ่นไม่ได้มีไม้ไผ่เยอะแยะหรือ เขากลับตอบว่ามีเท่าไหร่ก็ไม่พอหรอก ไม้ไผ่รวกที่นี่เป็นไม้ไผ่ที่เขาว่าดีที่สุดในโลก เวลาตัดต้องเลือกให้ได้สเป๊กที่ต้องการ ไม่แก่เกิน ไม่อ่อนเกิน แก่เกินมันผุง่ายมอดกิน อ่อนๆ มันก็ไม่ทน ต้องเลือกกลางๆ เท่าๆ กัน

พวกตัดไผ่บนภูเขานี้ ทำให้ฉันทึ่งมาแล้ว เขามีวิธีขนลงมาที่น่าดูมาก ตัดได้ขนาดที่ต้องการทั้งความเล็กใหญ่และความยาว แล้วก็ทำเป็นมัดๆ รัดโคนไว้ แล้วก็ดึงออกมาจำนวนหนึ่งให้ปลายมันยื่นออกมามากกว่าลำที่เหลือ ยกส่วนนี้ใส่บ่าแบกแล้วเดินลากทั้งมัดลงมากองไว้ข้างล่างทีละมัด พอเต็มรถแล้วก็ขับไปเสียที ไปส่งขายเลยหรือไปกองรอจำนวนที่ต้องการที่ไหนสักแห่ง มันเป็นภาพแปลกตาน่าดูที่สุด ฉันถ่ายรูปไว้หมดแล้ว

เย็นวันหนึ่งก่อนจะปิดแท็งก์ด้วยลำไผ่ ฝนก็เทลงมาเป็นครั้งแรกในรอบเดือน ดีใจมาก ฉันกับยัยกบเหมือนเด็กบ้านนอกที่ชอบเล่นน้ำฝนจนปากเขียว แล้วแม่ไล่ให้เลิกเล่น แต่เราไม่ได้เล่น เรารองน้ำ โอ่งมังกรนับสิบเรียงเป็นแถวรอฝนมานานแล้ว เราจะรองน้ำไว้กินไว้ใช้ในครัว แต่แท็งก์ล่างใหญ่ที่กำลังทำ เราจะเก็บน้ำฝนไว้รดน้ำต้นไม้ ใช้ในห้องน้ำ ส่งไปตามท่อแบบประปา พอน้ำลงแท็งก์เต็ม นายจักรก็สูบขึ้นไปใส่ลองเก็บน้ำสูงหลังบ้านอีกที แล้วจากลองเก็บน้ำนั้นก็มีท่อประปาปล่อยลงมารดต้นไม้ก็ได้ ปล่อยเข้าไปใช้ในบ้านตามท่อก็ได้

รองน้ำฝนจนเปียกโชกไปทั้งสองคน ทั้งสนุกสนานเพลิดเพลินและมีความสุข

คนแก่กับเด็ก ที่จริงก็มีอารมณ์เดียวกัน