ธงทอง จันทรางศุ | ผู้บังคับบัญชา

ธงทอง จันทรางศุ

สองสามวันที่ผ่านมาผมมีเวลามานั่งทบทวนกับตัวเองว่า ได้ใช้ชีวิตอยู่ในระบบราชการแบบที่เป็นข้าราชการประจำเต็มตัวนานกี่ปี

บวกลบคูณหารแล้วก็ได้ตัวเลข 35 ปีมาเป็นคำตอบ

โดยผมเริ่มทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอาจารย์ประจำตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2523

และมาเกษียณอายุในตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายนปี 2558

ตลอดระยะเวลาดังกล่าวก็ได้เป็นทั้งลูกน้องและเป็นทั้งผู้บังคับบัญชาของใครหลายคน

วันนี้พอมีเวลาว่าง เรามาคุยกันถึงเรื่องการเป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีในสายตาของผมดีไหมครับ

ส่วนวิธีเป็นลูกน้องที่ดีนั้น ผมไม่แน่ใจว่าผมจะเขียนแนะนำอะไรได้มากนัก เพราะขึ้นต้นก็ควรไปถามอดีตผู้บังคับบัญชาของผมทั้งหลายเสียก่อนว่าผมเป็นลูกน้องที่ดีหรือไม่

ข้อนี้ขอไปทำแบบสอบถามก่อนก็แล้วกันนะครับ

และอันที่จริงว่าไปทำไมมี ผมเองก็ยังไม่แน่ใจเลยครับว่าผมได้ทำหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาที่ดีหรือไม่ เพราะไม่เคยทำแบบสอบถามลูกน้องเหมือนกัน

แต่เอาเถอะสมมุติว่ามีใครสักคนมาถามผมว่า ผมมีหลักในการเป็นผู้บังคับบัญชาหรือในการทำงานร่วมกับคนอื่นอย่างไร

ผมก็พอมีคำตอบจะสาธยายครับ

ในการทำหน้าที่การงานอะไรก็แล้วแต่ ผมนึกว่าคนเราจะเก่งคนเดียวไม่ได้ ในโลกแห่งความเป็นจริงเราต้องทำงานร่วมกันกับคนอื่น เอาความเก่งจากแต่ละคน คนละนิดคนละหน่อยมารวมกัน

สุดท้ายก็ได้ความเก่งจำนวนมากที่จะช่วยผลักดันทำให้งานสำเร็จเป็นผลสัมฤทธิ์

เมื่อนึกเช่นนี้เสียเป็นเบื้องต้นแล้วเรื่องอย่างอื่นก็จะตามมาติดๆ ขึ้นต้นตั้งแต่การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น การสร้างสปิริตของการทำงานเป็นทีม การแบ่งมอบงานหรือแบ่งความรับผิดชอบตามความถนัดของแต่ละคน

ตลอดไปจนแม้กระทั่งการให้เกียรติผู้อื่นที่เป็นเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะอยู่ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นผู้ร่วมงานระดับใกล้เคียงกันหรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา

ผมเคยได้ยินว่า ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีบางท่าน เวลาอ่านแฟ้มที่ลูกน้องนำมาเสนอแล้วไม่พอใจ ท่านก็เรียกลูกน้องมาต่อว่าปึงปัง มีแต่ถ้อยคำที่ระคายหู จบด้วยการเหวี่ยงแฟ้มลงบนพื้นแล้วส่งเสียงดังให้ไปทำมาใหม่

ใจเขาใจเรานะครับ ใครเลยอยากจะโดนคนเป็นนายทำอย่างนั้นกับตัวเรา

ผมอาจจะติดนิสัยคนเป็นครู เขายังไม่ทันอาราธนาก็ขึ้นธรรมาสน์เทศน์เสียแล้ว

ในสมัยที่ยังอยู่ในราชการเมื่อเห็นแฟ้มที่มีหนังสือส่งงานขึ้นมาให้ตรวจให้ลงนาม มีอะไรขาดตกบกพร่องยังไม่ถูกใจ ผมจะหาจังหวะเวลาแล้วเชิญผู้ที่รับผิดชอบงานชิ้นนั้นมาพูดคุยกันเป็นการส่วนตัว สอบถามความเข้าใจว่าเขาคิดอย่างไรเป็นเบื้องต้นเสียก่อน

เมื่อฟังเจ้าตัวพูดแล้วคราวนี้เราอยากจะแนะนำหรือขอให้เขาแก้ไขอะไรก็บอกไปโดยอธิบายเหตุผลประกอบ

ทำอย่างนี้แล้วส่วนมากเจ้าตัวก็จะไม่ทำผิดพลาดอีกเป็นครั้งที่สอง เพราะเข้าใจเหตุผลต้นปลายดีแล้ว

ผมจะไม่ทำตัวโกรธเป็นฟืนเป็นไฟแล้วให้ลูกน้องไปคลำทางหาคำตอบเองเป็นอันขาด

เคล็ดของวิธีการที่เล่ามาข้างต้นมีสาระอยู่สองอย่างครับ

อย่างที่หนึ่ง คืออย่าทำให้ใครต้องเสียหน้าขายหน้าในที่สาธารณะ การเชิญเขามาพบปะพูดคุยในห้องทำงานของผม ผมเห็นว่าจะทำให้เจ้าตัวรู้สึกเป็นมิตรกับผมในระยะยาวมากกว่าการที่ผมจะพูดจาโผงผางตำหนิติเตียนเจ้าตัวต่อหน้าคนอื่น ซึ่งไม่ได้เกิดผลดีอะไรงอกเงยขึ้นนอกจากความสะใจของตัวผมเอง

ประการที่สอง คือ ลูกน้องรายนั้นก็จะได้มีความรู้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้นจากการที่ผมอธิบายอย่างครูกับศิษย์ เป็นครูเป็นศิษย์กันแล้วจากนี้ไปก็สบายล่ะครับ

พูดถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเราแล้วก็ต้องนึกต่อไปอีกเรื่องหนึ่งคือ กรอบของการใช้เวลาทำงานร่วมกันกับคนอื่น

ในส่วนตัวเราจะทำงานขยันขันแข็งค่ำมืดดึกดื่นอย่างไร ไม่มีใครว่าครับ แต่พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาแล้วก็ต้องนึกถึงคนอื่นขึ้นมาให้จงหนัก

ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น ถ้าผมผู้เป็นปลัดกระทรวงนั่งเป็นประธานที่ประชุมโดยเชิญใครต่อใครมานั่งประชุมร่วมกัน ประชุมตั้งแต่บ่าย 4 โมงเย็นยืดเยื้อไปจนถึงทุ่มครึ่งก็ยังไม่เสร็จ

ถ้าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย โลกจะแตกในวันในพรุ่ง ในความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว การทำงานยืดเยื้อและล่วงเวลาไปยาวนานเช่นนั้นดูจะหย่อนความเห็นอกเห็นใจคนเป็นลูกน้องไปสักหน่อย

เราผู้เป็นนาย ประชุมเสร็จก็เดินออกจากห้องประชุมไปขึ้นรถที่มีคนขับพากลับบ้าน ถึงบ้านก็มีสำรับคับค้อนวางไว้เรียบร้อยแล้ว เหนื่อยมากนักระหว่างนั่งอยู่บนรถจะงีบเสียหน่อยก็ยังได้

แต่คนที่เข้าร่วมประชุมทั้งหลายตลอดไปจนถึงฝ่ายเลขานุการที่ต้องทำงานทางธุรการหรือคุณแม่บ้านที่ต้องคอยเสิร์ฟน้ำท่าอาหารการกิน ผมคิดอยู่เสมอว่า เมื่อเลิกประชุมแล้วเขายังต้องนั่งรถเมล์ฝ่าการจราจรแสนสาหัสกลับบ้าน ต้องแวะซื้อแกงถุงที่ปากซอย หรือกลับไปหุงข้าวต้มแกงให้ลูกผัวกิน

ถ้าเป็นผู้ชายก็ควรกลับไปเห็นหน้าเมียให้ชื่นใจ ไม่ใช่เห็นแต่หน้าผมอยู่ในห้องประชุมยาวสามชั่วโมงครึ่ง

เห็นหน้าผมแล้วเครียดครับ ท้องไส้พาลจะผูกเอา ฮา!

แต่ถ้างานราชการมีความจำเป็นจริงๆ หากล่าช้าไปแล้วจะเสียหาย จะทำงานล่วงเวลายาวนานหน่อยก็ไม่ว่ากัน แต่อย่าให้มันบ่อยนักครับ และเราผู้เป็นผู้บังคับบัญชาก็ต้องร่วมหัวจมท้ายอยู่กับเขาด้วย

ไม่ใช่ว่าสั่งงานยาวเป็นบัญชีหางว่าวแล้วเราก็กลับบ้าน บอกว่าพรุ่งนี้เช้าต้องเสร็จนะ ส่วนลูกน้องจะกินจะอยู่หรือจะกลับบ้านอย่างไรก็ไม่ต้องดูดำดูดี ถือหลักตัวใครตัวมัน

เป็นนายแบบนี้ใครเขาจะรัก ใครเขาจะอยากทำงานด้วยครับ

เหนือกว่าอื่นใดของคนเป็นผู้บังคับบัญชาคือความเป็นธรรมที่ต้องมอบให้กับลูกน้อง การพิจารณาความดีความชอบหรือการประเมินผลการทำงานในแต่ละรอบก็ดี การแต่งตั้งโยกย้ายเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ก็ดี ต้องมีเหตุผลที่อธิบายได้และมีหลักที่เรียกว่า ธรรมาภิบาล

ตำแหน่งไหนว่างก็อย่าไปรีรอลังเลจนเกินควรครับ

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมเป็นอธิบดี ในกรมของเรามีตำแหน่งผู้อำนวยการกองว่างหนึ่งตำแหน่ง ผมเห็นว่าควรรีบดำเนินการสรรหาหรือคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยไม่ปล่อยทิ้งว่างไว้ช้านานหรือตั้งคนรักษาการแทนชั่วนาตาปี

เพราะคนรักษาการแทนอย่างไรเสียก็ทำงานไม่ได้เด็ดขาดเท่ากับคนที่เป็นคนดำรงตำแหน่งตัวจริง เสียหายต่อราชการครับ

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ไม่แต่งตั้งผู้อำนวยการกองจะทำให้การเลื่อนไหลของลูกน้องที่รอต่อแถวอยู่ติดขัดเป็นงูกินหางไปหมด

การไม่แต่งตั้งผู้อำนวยการกองหนึ่งคนจึงทำให้ความก้าวหน้าของคนอีกหลายคนในกรมของเราพลอยสะดุดหยุดลงไปด้วย

วิธีทำงานของผู้บริหารอีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมากคือ ต้องอารมณ์ดี อย่าหงุดหงิดง่าย ถ้าปลัดกระทรวงหรืออธิบดีหน้างอใส่คนทุกคนแล้ว ใครเขาอยากจะทำการงานด้วยเล่า การพูดจาก็ต้องให้เกียรติคน เห็นคนเป็นคนเสมอกัน การงานจึงจะเดินหน้าได้ดี

แม้แต่ตัวเราเอง ถ้าเป็นคนมักโกรธแล้ว ความคิดอะไรก็ตีบตันไปหมด เพราะเพ่งโทษแต่ความผิดของคนอื่น ตัวเองถูกอยู่ฝ่ายเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วโอกาสจะพัฒนาก็มีน้อยเพราะเห็นว่าตัวเองดีเลิศประเสริฐศรีแล้ว

ตัวอย่างก็มีเห็นอยู่ทนโท่แล้ว

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ผมได้ลองทำดูแล้วเห็นว่าได้ผลดีจึงขอนำมาแบ่งปันครับ ส่วนใครจะถ่ายสำเนาไปแจกใครบ้างนั้น

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป